Skip to main content
sharethis

หลังจากปีที่ผ่านมา This Land No Mine ได้นำเสนอ 5 เรื่องเด่นประเด็นเหมืองแร่ ปี 2563 ไปแล้ว ในปี 2564 นี้ This Land No Mine ได้คาดการณ์ว่า สถานการณ์เหมืองแร่ในประเทศไทยมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงของปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน และยังมีความท้าทายภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 อีกด้วย จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในแต่ละพื้นที่ This Land No Mine พบว่า มีหลายกรณีที่เป็นประเด็นน่าสนใจและต้องจับตาสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งแน่นอนว่า สถานการ์เหมืองแร่ในปี 2564 นี้ ยังคงร้อนแรงไม่แพ้ปีที่ผ่านมา และอาจจะหนักหนากว่าปีที่ผ่านมาก็เป็นไปได้

จับตาสถานการณ์ร้อน ‘เหมืองแร่’ ปี 2564

1. จับตาเหมืองทองคำคิงส์เกตกลับมาเปิดใหม่ แลกประยุทธ์แพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ

2. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ชี้ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ขัด พ.ร.บ.แร่ 60 จ่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หาก กพร. ไม่ดำเนินการแก้ไข

3. ละลายงบฟื้นฟูเหมืองตะกั่ว ยิ่งทำสารเคมียิ่งกระจาย ล่าสุดยิงปิดปากลูกชายเจ้าของเหมือง ชาวบ้านเชื่อเหตุเคยวิจารณ์มาตรการการฟื้นฟูฯ

4. SEA โปแตชอีสาน

5. พื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองโดโลไมท์ที่ลำทับทับลงไปในโครงข่ายน้ำใต้ดิน

 

1. จับตาเหมืองทองคำคิงส์เกตกลับมาเปิดใหม่ แลกประยุทธ์แพ้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ

ถ้าจะยกเว้นการออกคำสั่ง คสช. ที่ทำลายนิติรัฐนิติธรรมโดยกฎหมายสักฉบับหนึ่ง  คำสั่งนั้นคือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ที่สั่งให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองทองคำ  เพราะว่า 3 ปีหลังปิดเหมืองทองของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด  บริษัทแม่สัญชาติออสเตรเลีย  ภายใต้การบริหารของบริษัทลูกสัญชาติไทยในนามบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)  ที่พิจิตรและเพชรบูรณ์  เด็กที่นั่นมีสารหนูลดลง 12 เท่า  มีความบกพร่องทางการเรียนรู้น้อยลง

แต่ประเด็นคือไม่ควรยกเว้น  เนื่องจากว่าใช้กฎหมายปกติและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็สั่งปิดและฟื้นฟูเหมืองทองได้แล้ว

สาเหตุหลักที่ต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดเหมืองทอง  ก็คือ  ระบบราชการ  เนื่องจากระบบราชการเป็นตัวการสำคัญในการต่อต้านการใช้กฎหมายปกติปิดเหมืองทอง  เพราะเกรงความผิดจะถึงตัวข้าราชการ

เหตุเพราะรัฐประหารไม่ได้ทำให้ระบบราชการคล้อยตามทุกอย่างได้  เพราะข้าราชการกังวลว่าความผิดจะถึงตัวเอง  และตัวเองก็รับสินบนจากเหมืองไว้เยอะ  ข้าราชการในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงดื้อต่อรัฐบาลรัฐประหารด้วยการไม่ยอมใช้กฎหมายปกติสั่งปิดเหมืองทอง

ดังนั้น  สิ่งที่ประยุทธ์ทำด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดเหมืองทอง  ก็เพื่ออุ้มระบบราชการให้ค้ำจุนรัฐประหารให้คงอยู่อย่างดีต่อไป  ไม่ทำให้ระบบราชการสั่งสมความไม่พอใจต่อรัฐประหาร

จึงเป็นการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อปกปิดและปล่อยให้ระบบราชการอยู่กับสินบนและคอร์รัปชั่นเหมืองทองกัดกินสังคมไทยต่อไป

นี่คือประการแรกที่ไม่ควรยกเว้นนิติรัฐนิติธรรมโดยกฎหมาย  แม้จะเป็นคำสั่งที่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักการสูงสุดที่รัฐพึงรับผิดชอบก็ตาม

ประการต่อมา  การที่ประยุทธ์ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษา  ดังนั้นแล้วประยุทธ์เอาสถานะอะไรไปออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้ปิดเหมืองทอง

ดังนั้น  สิ่งที่สังคมควรเรียกร้องไม่ใช่แค่ว่าประยุทธ์ต้องใช้เงินตัวเองชดใช้ค่าแพ้คดีที่อาจจะสูงถึง 40,000 ล้านบาท (เป็นตัวเลขที่อัคราฯประเมินการเสียโอกาสทำเหมืองทองบริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร  เพชรบูรณ์และพิษณุโลก  ซึ่งคาดว่าจะผลิตทองและเงินใน 8 - 10 ปีข้างหน้า  แบ่งเป็นทอง 8.9 แสนออนซ์  มูลค่า 37,020 ล้านบาท  และเงิน 8.3 ล้านออนซ์  มูลค่า 3,984 ล้านบาท  รวมเป็น 41,004 ล้านบาท, ที่มาหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 9 ธันวาคม 2563)  จากคำตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการเท่านั้น  แต่ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นผีโม่แป้ง  โดยที่ไม่มีสถานะอะไรไปออกคำสั่ง  ด้วยการลาออกด้วย

แต่แม้จะเป็นอำนาจจากรัฐประหารก็ไม่จีรังยั่งยืน  ประยุทธ์รู้ดีว่าถ้าสู้คดีก็น่าจะแพ้อย่างแน่นอน  แนวทางจึงขอประนีประนอมในชั้นอนุญาโตตุลาการ  เพื่อไกล่เกลี่ยให้เหมืองทองกลับมาดำเนินการใหม่  ด้วยการที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอนุญาตให้อัคราฯขนสินแร่ทองคำคงค้างในระบบผลิตเดิมเข้าสู่กระบวนการถลุงโลหะทองคำและเงินในโรงถลุงภายในประเทศไทยได้

และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563  กพร. ได้จัดประชุมคณะกรรมการแร่  ครั้งที่ 10/2563  เพื่อพิจารณาอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้อัคราฯสำรวจแร่ทองคำสี่สิบกว่าแปลงคำขอ  เพื่อหวังจะยุติคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ

และเมื่อคราวประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563  รัฐบาลค่อนข้างมีแนวทางชัดเจนขึ้นโดยต้องการให้เรื่องนี้จบให้ได้ก่อนที่คดีจะไปสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้  ด้วยการยื่นข้อเสนอให้คิงส์เกตหลายประการ  อาทิเช่น  การไม่ขึ้นบัญชีดำคิงส์เกต/อัคราฯในการประมูลงานภาครัฐ  การเปิดโอกาสให้คิงส์เกต/อัคราฯเข้ามาขออาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ  และคืนสิทธิให้คิงส์เกต/อัครากลับมาทำเหมืองทองในพื้นที่เดิม  เป็นต้น

นี่จึงเป็นสิ่งที่พวก NGOs  ประชาสังคม  นักวิชาการ  หรือใคร/องค์กรใดก็ตาม  ซึ่งเป็นพวกที่ชอบสร้างบทบาทและสถานะให้ตัวเอง/องค์กรตัวเองยืนเหยียบอยู่ส่วนบนของขบวนประชาชน  สมควรโดนตำหนิอย่างรุนแรง  เพราะไปล็อบบี้ให้รัฐบาลรัฐประหารออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดเหมืองทองได้แล้ว  แต่กลับไม่ลงทำงานระดับลึกกับประชาชนในพื้นที่จนทำให้คำสั่งเสียของ  ทั้ง ๆ ที่คำสั่งดังกล่าวมีมิติและบรรทัดฐานที่สูงกว่ากฎหมายปกติด้วยซ้ำ  นั่นคือ  สั่งให้ 'ปิด' และ 'ฟื้นฟู' เหมืองทองไปพร้อม ๆ กันด้วย  ซึ่งสูงกว่ากฎหมายแร่  กฎหมายสิ่งแวดล้อม  กฎหมายควบคุมมลพิษ  และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย  ที่ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องฟื้นฟูเหมืองโดยตรง

ตลอดระยะเวลาของการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดเหมืองทองที่นั่น  ตั้งแต่ปลายปี 2559  พวก NGOs  ประชาสังคม  นักวิชาการ  หรือใคร/องค์กรใดก็ตาม  ซึ่งเป็นพวกที่ชอบสร้างบทบาทและสถานะให้ตัวเอง/องค์กรตัวเองยืนเหยียบอยู่ส่วนบนของขบวนประชาชน  ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล็อบบี้รัฐบาลรัฐประหารให้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ปิดเหมืองทอง  ไม่เคยมีกระบวนการพูดคุยใด ๆ กับชาวบ้านที่นั่นเกี่ยวกับการผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูเหมืองทองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เลย

ถ้ามีกระบวนการและปฏิบัติการเพื่อกดดันบังคับให้ กพร. และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้อง 'ฟื้นฟู' เหมืองทองด้วย  ไม่ใช่ 'ปิด' เหมืองทองเฉย ๆ  รับรองได้ว่าไม่ว่ารัฐบาลไทยจะไกล่เกลี่ยเกี้ยเซียะกับ ‘คิงส์เกต’ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอัคราฯให้กลับมาเปิดเหมืองทองทำการผลิตได้ใหม่  เพื่อแลกกับการยุติคดี  ก็เป็นเรื่องยากที่การกลับมาเปิดเหมืองทองเพื่อทำการผลิตใหม่จะประสบผลสำเร็จ

 

2. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ชี้ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ ขัด พ.ร.บ.แร่ 60 จ่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หาก กพร. ไม่ดำเนินการแก้ไข

นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติแร่ฉบับ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 กฎหมายได้ระบุให้มีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ และให้กำหนดพื้นที่ ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ให้ชัดเจนและเพื่อสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคม และต้องพิจารณาเรื่องผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนด้วย

และพ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่นี้เอง ก็ได้มีการระบุพื้นที่หวงห้าม ที่ต้องกันออกจาก ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ อย่างเด็ดขาดโดย มาตรา 17 วรรค 4 ระบุให้ “พื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตแห่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” และมาตรามาตรา 188 ,189 ความว่า บรรดาคำขอทุกประเภทที่ได้ออกก่อน พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้ และ บรรดาอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ออกตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.แร่ 2560

หากพิจารณาจากบทบัญญัติข้างต้น จะเห็นว่า พ.ร.บ.แร่ฉบับนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างมาก หากมีการปฏิบัติตามกฎหมายจริง นั่นหมายถึงพื้นที่ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย จะต้องถูกนำมาวิเคราะห์ใหม่อีกครั้ง ว่าพื้นที่ดังกล่าว เหมาะสมกับการเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ หรือไม่ และได้มีการกันพื้นที่อ่อนไหวออกจากพื้นที่ที่มีการสำรวจหรือทำเหมืองแร่หรือไม่  ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการเหมืองแร่ทั่วทั้งประเทศไทย ย่อมได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมาพื้นที่อ่อนไหว โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ได้ถูกทำให้กลายเป็นข้อยกเว้นสำหรับหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่ทำเหมืองหินเพื่อทำปูนซีเมนต์ ที่ได้รับข้อยกเว้นภายหลัง พ.ร.บ.แร่ใหม่ประกาศใช้

วิธีแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการคือการออกยุทธศาสตร์แร่ และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2561 - 2564 ที่สร้างข้อยกเว้นมากมาย เช่น ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยได้ประทานบัตรมาแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 17 วรรค 4 และการสำรวจแร่ ก็ไม่ต้องสำรวจภายใต้เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์แร่ และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ กำลังมีอำนาจเหนือกว่า พ.ร.บ.แร่ 60 เพราะสามารถสั่งให้ไม่ต้องทำตามบทบัญญัติของกฎหมายในลำดับศักดิ์พระราชบัญญัติได้

จากการประชุมเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ จากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และตัวแทนภาคประชาสังคม ซึ่งได้ยื่นหนังสือต่อนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์แร่และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ดังกล่าว รวมถึงการออกอนุบัญญัติต่าง ๆ ที่มีปัญหาในเชิงปฏิบัติ

ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดในปีนี้ หากปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไข  และหากยังปล่อยให้กฎหมายลูกอยู่เหนือกฎหมายแม่เช่นนี้ต่อไป ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ทั่วประเทศ จะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อให้มีการเพิกถอนยุทธศาสตร์แร่ และแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ อย่างแน่นอน


3. ละลายงบฟื้นฟูเหมืองตะกั่ว ยิ่งทำสารเคมียิ่งกระจาย ล่าสุดยิงปิดปากลูกชายเจ้าของเหมือง ชาวบ้านเชื่อเหตุเคยวิจารณ์มาตรการการฟื้นฟูฯ

ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซัง และมีแนวโน้มว่าปัญหาจะยังคงบานปลายอย่างต่อเนื่อง สำหรับการฟื้นฟูมลพิษในลำห้วยคลิตี้ ที่ได้รับผลกระทบจากการแต่งแร่ตะกั่ว ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จนทำให้ลำน้ำเกิดการปนเปื้อนไปทั่วทั้งสาย จนเกิดการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู โดยตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี (ชาวบ้านคลิตี้ล่าง) เป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท ทั้งนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยกรมควบคุมมลพิษได้ใช้วิธีว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูดังกล่าว โดยใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน 454,762,865.73 บาท และเริ่มทำการฟื้นฟูตั้งแต่ ปี 2560

ซึ่งปัจจุบันปี 2564 ผ่านไป 3 ปีแล้ว กลับพบว่า การดำเนินการฟื้นฟูดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ลำน้ำคลิตี้ กลับมาใช้ได้อีกครั้งตามที่ตกลงกันไว้ ซ้ำร้ายกระบวนการในการฟื้นฟู ยังไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ไม่มีการทำตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการฟื้นฟูแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นฝายหินที่ไม่สามารถดักตะกอนปนเปื้อนสารตะกั่วได้จริง และทำลายระบบนิเวศน์ หรือแม้แต่การนำตะกอนดินขึ้นมาใส่ถุงแต่ก็รีดน้ำที่เต็มไปด้วยสารตะกั่วกลับลงสู่ลำห้วยคลิตี้อีกครั้งโดยไม่มีมาตรการกำจัดสารเคมีก่อนปล่อยลงน้ำ จนเกิดการปนเปื้อนอย่างมหาศาลอีกรอบหนึ่ง นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด สำหรับการตั้งคำถามว่าประเทศไทยเหมาะแก่การอนุญาตให้ทำเหมืองแร่จริง ๆ หรือไม่? เพราะการฟื้นฟูภายหลังจากการทำเหมืองตะกั่วที่คลิตี้ เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนถึงการไม่มีศักยภาพในการควบคุมดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถกำกับดูแลให้เหมืองแร่ทำตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ และไม่สามารถดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาเหมือนเดิมได้จริง

นอกจากนี้ เรายังพบสัญญาณของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา วันที่ 29 ธันวาคม 2563 คงสิทธิ์ กลีบบัว ทายาทเจ้าของเหมืองตะกั่วถูกยิงเสียชีวิต ภายในหมู่บ้านคลิตี้บน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แม้ทางตำรวจจะสันนิษฐานว่า เป็นการยิงจากเหตุทะเลาะวิวาท แต่หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะผู้เสียชีวิต ถึงแม้จะเป็นทายาทเจ้าของเหมืองตะกั่ว แต่ก็เคยออกมาวิจารณ์ถึงกระบวนการฟื้นฟูหลายครั้ง ซึ่งได้ให้ความเห็นถึงการฟื้นฟูในครั้งนี้ว่า หลายขั้นตอนของการฟื้นฟู ไม่ตรงตามข้อตกลงการว่าจ้าง จนส่งผลให้การฟื้นฟูไม่มีประสิทธิภาพ และไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป ทั้งยังมีบทบาทในการประชุมไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาผู้เสียชีวิต ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหลายเรื่อง โดยเป็นการพูดแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จนทำให้คณะกรรมการหลายคนไม่พอใจ  จากวันเวลาที่เกิดเหตุ กับวันเวลาในการประชุมครั้งล่าสุดที่ไม่ได้ห่างกันมากนัก หลายคนจึงเชื่อว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้เขาถูกยิง ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า ในพื้นที่มีเรื่องของผู้มีอิทธิพลและผลประโยชน์เข้ามาพัวพันกับกระบวนการฟื้นฟู

บทเรียนแห่งความล้มเหลวของการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ที่เกิดการตั้งคำถามต่อหน่วยงานของรัฐในเรื่องของกระบวนการฟื้นฟู ซึ่งพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลยก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่ศาลได้มีคำสั่งให้ทำการฟื้นฟูพื้นที่หลังทำเหมืองแร่ทองคำ และบริษัทก็ได้ใช้วิธีการปล่อยให้ตัวเองล้มละลายเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ทำให้ภาระของการฟื้นฟูตกมาที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ ก็ได้ยืนยันว่า กระบวนการฟื้นฟูของพื้นที่นี้ จะต้องดำเนินการโดยประชาชนเป็นหลัก และหน่วยงานรัฐต้องมีหน้าที่เข้ามาหนุนเสริม เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีก และเพื่อให้การฟื้นฟูครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริง และคลอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตที่ถูกทำลายไป 

นี่จึงเป็นบทพิสูจน์สำคัญของหน่วยงานของรัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำเหมืองแร่ ว่าจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไรเพื่อให้การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และสุขภาพ ภายหลังการทำเหมืองแร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีเรื่องของการใช้อิทธิพลเถื่อนและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงท่าทีต่อแผนการฟื้นฟูฉบับประชาชน ที่ถูกเสนอโดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ว่าจะนำไปปฏิบัติหรือไม่อย่างไร หากยังคงปล่อยปัญหาเหล่านี้ให้คาราคาซังต่อไป คงไม่มีชาวบ้านที่ไหนในประเทศไทย ยินยอมให้เกิดการทำเหมืองแร่ขึ้นอีก เพราะการฟื้นฟูพื้นที่หลังการทำเหมืองแร่ไม่เคยปฏิบัติได้จริงในประเทศไทย


4. SEA โปแตชอีสาน

ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งได้มีการกำหนดให้แหล่งแร่โปแตชและเกลือหินในภาคอีสานและบรรดาคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช และประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองทั้งหมด โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ต้องทำกระบวนการตามมาตรา 16 วรรคสอง มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่เสียก่อน

ซึ่งในปีที่ผ่านมาสถานการณ์การสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตชในหลายพื้นที่ของภาคอีสานได้มีบริษัทเอกชนยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชทั้งแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครกว่า 380,000 ไร่ และมีบริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชและเกลือหินไปแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 9,005 ไร่ และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 9,707 ไร่

แต่ทว่าการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และไร้การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงทำให้ประชาชนรวมตัวกันลุกขึ้นมาคัดค้านการสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตชในหลายพื้นที่ เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จ.อุดรธานี กรณีการคัดค้านคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท เอเชียแปรซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เนื้อที่ 74,474 ไร่ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กรณีการคัดค้านประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชและเกลือหินของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เนื้อที่ 9,707 ไร่ กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ จ.นครราชสีมา กรณีการคัดค้านคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จํากัด เนื้อที่ 35,000 ไร่ และกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กรณีการคัดค้านการสำรวจแร่โปแตชของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า คอร์เปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เนื้อที่ 120,000 ไร่

แต่ถึงอย่างนั้นกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ก็ยังคงพยายามผลัดดันให้เกิดการทำเหมืองแร่โปแตชและเกลือหินมากขึ้น ทว่าจะมีหลักประกันอะไรให้บริษัทเอกชนที่ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชมั่นใจว่าหลังจากยื่นคำขอประทานบัตรไปแล้วจะได้รับใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชอย่างแน่นอน และประเด็นปัญหาสำคัญ คือ ต้องไม่ถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ จนนำไปสู่การที่กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ได้มีการว่าจ้างบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษา โดยให้ดำเนินการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์แร่โปแตช (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อการพัฒนาทรัพยากรแร่ที่ยั่งยืน เพื่อพิจารณาทางเลือกในการบริหารจัดการแร่โปแตชอย่างยั่งยืน และเพื่อพิจารณามาตรการในการบริหารจัดการแร่โปแตชที่ยั่งยืน แต่ทว่ากระบวนการจัดทำ SEA ดังกล่าวกลับเป็นกระบวนการในการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของประชาชน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ลิดรอนสิทธิชุมชน และเปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้าแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประชาชนและชุมชนอย่างน่าละอายใจ จนนำไปสู่การคัดค้านกระบวนการจัดทำ SEA ดังกล่าวในที่สุด 

โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ได้จัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง ‘แผนบริหารจัดการทรัพยากรแร่โพแทชเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ในโครงการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อบริหารจัดการแร่โปแตช ณ โรงแรมมณฑาทิพย์ฮอลล์ อ.เมือง จ.อุดรธานี แต่ถูกชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 70 คน เดินทางไปคัดค้านเวทีดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี ได้มีการจัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง ‘แผนบริหารจัดการทรัพยากรแร่โพแทชเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ อีกครั้ง ณ โรงแรมกรีนโฮเทล อ.เมือง จ.ขอนแก่น แต่ถูกกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน จ.ขอนแก่น เดินทางไปคัดค้านเวทีดังกล่าวและถูกล้มเวทีจนไม่สามารถดำเนินการจัดเวทีประชุมดังกล่าวได้

ภายหลังจากที่ บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดทำ SEA ที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตชมากกว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น แต่บริษัทดังกล่าวรวมถึงกรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ยังคงไม่ลดละความพยายามในการผลัดดันให้เกิดรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการระดมความคิดเห็นของประชาชนด้วยการส่งแบบสอบถามไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่คัดค้านการสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตช เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกระบวนการและวิธีการดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) แต่ทว่าเป็นกระบวนการในการสร้างความชอบธรรมให้เกิดการสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตชมากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งก่อนที่จะนำไปสู่การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สมควรที่จะต้องยกเลิกเพิกถอนให้แหล่งแร่โปแตชและเกลือหินทั่วทั้งภาคอีสานออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง รวมทั้งต้องยกเลิกเพิกถอนคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช และประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชทั้งหมดเสียก่อน จึงค่อยมาดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรกก่อนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าว แต่ทว่ากระบวนการที่ บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และสมรู้ร่วมคิดกันกับกรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กำลังดำเนินการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เป็นกระบวนการเอื้อผลประโยชน์ให้เกิดการทำเหมืองแร่โปแตชเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ตามหลักสากลที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่ สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนสากล และหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย

โดยสถานการณ์ในการจัดทำ SEA โปแตชอีสาน ยังคงน่าเป็นห่วงอย่างมากและมีความเป็นไปได้ว่า SEA ฉบับนี้เป็นฉบับหนุนให้เกิดการทำเหมืองแร่โปแตชเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งถือได้ว่า แหล่งแร่โปแตชเป็นแร่ชนิดแรกที่ได้เริ่มต้นกระบวนการจัดทำ SEA โดยต่อไปอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการจัดทำ SEA ในชนิดแร่อื่น ๆ ที่กำลังเรียกร้องให้ดำเนินการจัดทำ SEA ด้วย ซึ่งต้องจับตากระบวนการจัดทำ SEA โปแตชอีสานดังกล่าวอย่างใกล้ชิด


5. พื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองโดโลไมท์ที่ลำทับทับลงไปในโครงข่ายน้ำใต้ดิน

ที่หมู่บ้านควนลูกรัง หมู่ 3  ในท้องที่ตำบลดินแดง อ.ลำทับ จ.กระบี่ เป็นพื้นที่รอยต่อโดยมีสันปันน้ำแบ่งจังหวัดกระบี่กับนครศรีธรรมราชในเขต อ.บางขัน  ภูเขาที่เป็นพื้นที่คำขอประทานบัตรเหมืองโดโลไมต์มีลักษณะเป็นกลุ่มภูเขาลูกโดดขนาดไม่ใหญ่มาก  ถูกเรียกว่าเขาพลู  โดยมียอดภูเขาอยู่สามลูก  ซึ่งพื้นที่คำขอประทานบัตรดังกล่าวครอบยอดภูเขาทั้งสามลูก  ลักษณะพิเศษของเขาพลูจะมีถ้ำน้ำใต้ดินเป็นโครงข่ายน้ำใต้ดิน  ซึ่งชาวบ้านได้ทดลองโดยโยนเปลือกข้าวลงไป  และเปลือกข้าวจะไปโผล่อีกที่หนึ่งที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตรจากพื้นที่คำขอประทานบัตร

ในเขาพลูมีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก  เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของทั้งสองจังหวัด  ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงไม่เห็นด้วยที่จะเปิดให้ประทานบัตรทำเหมืองโดโลไมต์  เนื่องจากเกรงว่าการแปรสภาพเขาพลูที่เป็นฐานทรัพยากรธรรมชาติในการรับใช้ชุมชนโดยรอบ  ซึ่งส่วนใหญ่ดำรงวิถีชีวิตและมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวชุมชน  การเกษตรและแปรรูปเกษตรจากสวนปาล์ม  กาแฟ  กล้วย  และพืชไร่อื่น ๆ  เปลี่ยนไปเป็นการทำเหมือง  จะส่งผลกระทบในหลายมิติ  ฉะนั้นการทำเหมืองจึงไม่อยู่ในวิสัยทัศน์ของการพัฒนาหมู่บ้าน  รวมทั้งรถบรรทุกหนักและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เข้ามาทำเหมืองจะส่งผลกระทบเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่มากขึ้นจากการใช้ถนนของคนในชุมชน  เสียงและแรงสั่นสะเทือนก็เป็นผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนในแถบถิ่นนี้เช่นกัน

สถานภาพปัจจุบัน  อุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ได้รับจดทะเบียนคำขอประทานบัตรทำเหมืองโดโลไมต์ของบริษัท ภูทองอันดา จำกัด  เป็นคำขอประทานบัตรที่ 5/2560  และได้จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563  ณ ลานกีฬาประจำหมู่บ้านควนลูกรัง  ซึ่งเป็นการจัดเวทีโดยนำคนนอกพื้นที่คำขอประทานบัตรเข้ามาร่วมในเวที  จนทำให้เวทีผ่านไปได้

แต่อีกเกือบหนึ่งเดือนต่อมาสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดินแดงได้มีมติสวนทางกับการจัดเวทีรับฟังฯ  โดยมีมติไม่เห็นด้วยที่จะให้บริษัทภูทองฯดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่โดโลไมต์ต่อไปด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 0 

จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในปี 2564 นี้  บริษัทภูทองฯและอุตสาหกรรมจังหวัดพังงาจะผลักดันการขอประทานบัตรสวนทางกับมติ อบต. ดินแดง  หรือไม่

และเป็นพื้นที่ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากความสวยสดงดงามของเขาพลู  ที่มีโครงข่ายน้ำใต้ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

 

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก :

77 ข่าวเด็ด

Workpoint Today

Sarakadee

Prachachat



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net