Skip to main content
sharethis

องค์การคนพิการร่วมอ่านข้อเรียกร้องต่อ 'ปารีณา' หลังใช้คำว่า ‘ออทิสติก’ เปรียบเปรยสภาพบุคคล ชี้การแจ้งความประชาชนนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง วอนสื่ออย่าเงียบ เพราะการเอาเปรียบคนพิการเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

13 ม.ค. 2564 วันนี้ จากกรณีที่สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทยได้โพสต์จดหมายผ่านทางเฟซบุ๊กส่งถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้ตักเตือนปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เรื่องการใช้คำเปรียบเปรยสภาพบุคคลหลังปารีณาได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ก้อย อรัชพร คือใคร...ดาราหน้าแบ๊ว หรือออทิสติกกันแน่...จึงได้เล่นเป็นแค่ตัวตลก ตลกหกฉาก และเธอคือใคร ตกอับหรือไม่ จึงต้องมาโหน พล.อ.ประยุทธ์ ดัง” เพื่อพูดถึงก้อย-อรัชพร โภคินภากร ดารานักแสดงนั้น

ล่าสุดสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยจึงร่วมอ่านแถลงการณ์เรื่องข้อเรียกร้องต่อปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใจความว่า

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อสาธารณะเรื่องนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ต่อว่าดาราท่านหนึ่งโดยใช้คำว่า ‘ออทิสติก’ เปรียบเปรยแทนคำในทำนองว่า ‘ดาราท่านนั้นแบ๊วหรือออทิสติก’ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเหยียดหยาม เป็นการทำให้รู้สึกด้อยค่า เป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและอนุสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ รวมทั้งเมื่อเป็นคำพูดที่ออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้แทนปวงชนชาวไทย ยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมเจตคติที่ไม่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับคนพิการว่า เป็นคนไร้ความสามารถ ทั้งนี้บ่อยครั้งที่คนในสังคมยังใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เช่น คนหูหนวกว่าคนใบ้ เรียกคนพิการทางสติปัญญาว่าปัญญาอ่อน เรียกคนพิการทางจิตสังคมว่าบ้า และใช้คำหลังนั้นแทนคำด่า ถึงแม้ท่านจะใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมข้างต้นด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจหรือไม่มีเจตนาดูหมิ่นดูแคลนคนพิการหรือบุคคลออทิสติก แต่ทว่าเมื่อสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสติก บิดามารดาผู้ปกครองบุคคลออทิสติก บุคคลออทิสติกเองและคนอื่นในสังคมมากมายออกมาแสดงความกังวล ไม่สบายใจ ตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะด้วยความบริสุทธิ์ใจ แทนที่ท่านจะรับฟังเสียงของประชาชนโดยเฉพาะพยายามทำความเข้าใจกับประเด็นความอ่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรม ท่านกับประกาศ แก่สาธารณะว่าจะดำเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งให้ถึงที่สุด รวมถึงได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทแก่ประชาชนเหล่านั้นเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง 

สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและองค์กรสมาชิกในฐานะที่มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิคนพิการขอเรียกร้องให้นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ กล่าวคำขอโทษต่อบุคคลออทิสติกและครอบครัวและยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทันที รวมถึงขอให้สังคมมีเจตคติและให้โอกาสคนพิการเพราะคนพิการมีศักยภาพไม่ต่างจากคนทั่วไป จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกันวันที่ 13 มกราคม 2564

ลงชื่อ 

สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย
สมาคมบุคคลออทิซึมไทยสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย 
เสาวลักษณ์ ทองก๊วย ที่ปรึกษาสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ 
วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายกฎหมายสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย 
อนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ
ว่าที่ร้อยตรีสมเกียรติ คุณสุขทวีเลิศ ทนายความ
ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึมไทย
ศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
สุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย
นุจจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย
วิทยุท บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
เอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
สำเริง วิรัตน์ชนัง อุปนายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึมไทย
ปราโมทย์ ธรรมสโรช อุปนายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึมไทย

นูนู๊ บุคคลออทิสติกซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิออทิสติกอาเซียน กล่าวว่า ตัวเองเป็นออทิสติกและคิดว่าการเอาออทิสติกมาล้อเล่นนั้นไม่สนุกเลย เพราะถึงแม้ว่าคนเป็นออทิสติกจะน่ารักจริงตามที่ปารีณากล่าว แต่ชีวิตของพวกเขาไม่ได้มีแค่ความน่ารัก การอยู่กับออทิสทิกนั้นไม่ได้น่ารักเพราะต้องเผชิญความยากลำบากหลายอย่างและคนที่มีภาวะออทิสติกสามารถเป็นอะไรได้มากกว่านั้น ทุกคนไม่เหมือนกัน และมีความเป็นตัวของตัวเอง

เสาวลักษณ์ ที่ปรึกษาสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างสากลว่า การใช้คำพูดดูหมิ่น เหยียดหยาม กลั่นแกล้ง ถือเป็นการเลือกปฏิบัติชนิดหนึ่งที่สร้างอคติและการเหมารวม การทำแบบนี้เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์และเป็นต้นเหตุของการแบ่งแยก กีดกัน ไม่ส่งเสริมการพัฒนาระดับประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ตามมาตราแปด ที่เขียนไว้ชัดเจนว่ารัฐภาคีจะต้องสร้างความตระหนักรู้และป้องกันการสร้างพภาพลักษณ์ที่เหมารวมเพื่อลดการลดทอนศักศรีความเป็นมนุษย์ คนที่เป็นผู้แทนประชาชนอยู่สในสภาฯกลับทำเรื่องนี้เสียเอง เราคงต้องกลับมาคุยกันถึงเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองและไม่สามารถปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไปได้เมื่อภาครัฐเป็นฝ่ายกระทำเสียเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องยุติเรื่องนี้โดยด่วน อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นทำลาย ลดทอนคุณค่า และทำให้คนพิการไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ร้ายแรง 

“จึงขอให้พี่น้องทุกท่านสนับสนุนข้อความในแถลงการณ์ ซึ่งดำเนินการตามมาตราแปด ช่วยสนับสนุนกระตุ้นให้รัฐภาคีหยุดเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะทัศนคติทางลบที่บั่นทอนให้คนไม่สามารถสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้ วอนสื่ออย่าปล่อยเรื่องนี้เหมือนสายลมที่พัดผ่าน การเอาเปรียบคนพิการไม่ควรเป็นเรื่องที่ยอมรับได้”

เธอเสริมกับผู้สื่อข่าว Thisable.me ว่า หลักการของความเป็นมนุษย์นั้นสากลอยู่แล้วว่า เราจะไม่เปรียบเทียบใครว่าดีกว่าใคร ใครเก่งกว่าใคร ใครสวยกว่าใคร ใครหล่อกว่าใคร เพราะการเปรียบเทียบนั้นลดทอนคุณค่าของคนที่ด้อยกว่า ฉะนั้นเหตุการณ์นี้จึงถือว่ายอมรับไม่ได้ เป็นการเลือกปฏิบัติทางตรงที่ลดทอนคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์ไร้ค่าทันทีและแยกคนออกเป็น 2 ฝั่งคือฝั่งที่มีค่ากับฝั่งที่มีค่าน้อย คนจึงถูกให้คุณค่าด้วยคุณค่าจากคำเปรียบเทียบและอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นอกจากนี้ยังลดทอนความสามารถ ศักยภาพผ่านการบูลลี่ ซึ่งไม่ใช่การแกล้งด้วยวาจาอย่างเดียวแต่เป็นการใช้คำที่แฝงไปด้วยเจตนา เช่น เมื่อพูดว่าแบ๊วหรือออทิสติก นัยยะของการพูดว่าออทิตติกก็ตีความได้กับการบอกว่า ปัญญาอ่อน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องคนที่พูดต้องให้คำตอบเอง คุณรู้อยู่แล้วว่าคุณมีเจตนาอะไร คำเดียวมันแสดงเจตนาของผู้พูด เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องการใช้คำกระทบกระเทียบเรียกคนโดยใช้คำถามเหน็บแนมเปรียบเปรยนั้นคนที่รู้ดีที่สุดคือคนพูด

การเปิดเวทีนี้ขึ้นเป็นเพราะต้องการสร้างแกนกลาง สร้างหลักเกณฑ์หลักการในการใช้คำให้ถูกต้อง ให้คุณค่ากับคนเหมือนกันขณะที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นโดยคนที่อยู่ในกลไกรัฐสภาอันทรงเกียรติ ซึ่งมีหน้าที่บริหารประเทศและต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนทั้งประเทศ สิ่งนี้จึงไม่ใช่แค่ความผิดตามหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการหรือหลักการสิทธิมนุษยชนสากลเท่านั้น แต่ผิดหลักการของความเป็นคนที่เป็นผู้นำ คนที่ดูแลเรื่องการบริหารและมีอำนาจในการตัดสินใจที่ต้องเป็นตัวอย่างและสร้างความเคารพ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยที่มีความหลากหลายและเคารพความแตกต่างของคน

แม้ตอนนี้หลายคำเกี่ยวกับสภาพบุคคลถูกสังคมใช้จนเป็นความเคยชิน แต่คนที่จะตัดสินใจได้คือคนที่ถูกกล่าวถึง ถ้าคนที่เขาถูกกล่าวถึงบอกว่าคุณกำลังเปรียบเปรยและลดทอนคุณค่าฉัน ก็ไม่ควรทำ เพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ใช้คำในการตีตราคนทนายอนันตชัยกับน้องนูนู๊เล่าให้ฟังว่าเขาพยายามขนาดไหนในการที่จะยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกและของตัวเองให้ได้มาตรฐานตามที่สังคมวางไว้ว่าคนเก่ง คนดี คนปกติ คนมีความสามารถต้องเป็นแบบไหน ในขณะเดียวกันคนที่มีหน้าที่อันทรงเกียรติกลับใช้คำพูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรยกับอีกสิ่งหนึ่งเพื่อลดคุณค่าสิ่งที่ตัวเองต้องการจะลดคุณค่าผ่นโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นเมื่อเกิดการแบ่งเขาแบ่งเราคนก็ใส่กันเต็มที่ ปารีณาเองก็โดนบูลลี่ไม่ใช่น้อย ซึง่เราก็ไม่เห็นด้วยกับฝั่งที่นำเอาคำเหล่านั้นมาบูลลี่ปารีณาเสียเองแต่แกก็ยอมรับและไม่ได้ตระหนัก อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับการถูกบูลลี่ เรื่องนี้จึงควรถูกแก้ไขก่อนที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น เป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ในเชิงการสร้างความเกลียดชังจากการใช้คำพูดได้เลย


เสาวลักษณ์ ทองก๊วย

เอกกมล นายกสมาคนคนตาบอด ระบุว่า หากจะทำให้คนพิการอยุ่ดีกินดีได้ ความเข้าใจต่อคนพิการนั้นจำเป็นมาก แต่ถ้ายังมีการพูดจาเชิงลบก็ไม่สามารถทำให้คนเข้าใจคนพิการได้ คนพิการเองก็อาจมองตัวเองในแง่ลบ เราในฐานะสังคมจึงควรลดการพูดจาเชิงลบต่อคนพิการ ออกมาช่วยกันพิทักษ์สิทธิของคนพิการและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

สุชาติ นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่มีลูกพิการสิ่งหนึ่งที่ต่อสู้มาตลอดคือเจตคติ ลูกเราไม่กล้าออกนอกบ้านเพราะเจอสังคมกีดกัน เหยียดหยาม และตัวเขาเองก็ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อศักศรีคนพิการ และจะเดินหน้ายืนหยัดไม่ยอมต่อเรื่องนี้เป็นอันขาด

ชูศักดิ์ นายกสมาคมผู้ปกครองออทิติกไทย ระบุว่า น้องออทิสติกและผู้ปกครองหลายคนแจ้งเรื่องมายังสมาคม เพราะรู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายใจมากที่ถูกเปรียบเทียบด้วยคำว่าออทิสติก จนรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าในสังคม ทั้งทั้งที่พยายามทำความดีมาตลอด สมาคมจึงต้องเข้าไปดูแลทำหนังสือไปถึงต้นสังกัดของผู้กระทำ แต่กลับถูกถูกกล่าวหาว่านำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบและหมิ่นประมาท เราไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น ทนายสมเกียรติและทนายอนันตชัยจึงอาสาดูแลเรื่องกฎหมายให้

สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้สำคัญก็คือ คนพูดไม่ใช่คนทั่วไป แต่เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมสูงมาก หากเกิดการเลียนแบบหรือมีคนเข้าใจว่าใช้คำเหล่านี้ได้แล้วจะทำอย่างไร เด็กๆ ก็ต้องเจ็บปวด พวกเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไรการพูดไม่คิดเป็นเรื่องที่อันตราย น้องเพียงฝันที่อยู่ประเทศอังกฤษเขาก็รู้สึกว่าตัวเองถูกบูลลี่ ซ้ำยังถูกขู่อีก ในเบื้องต้นทางสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยจะร้องเรียนไปในเรื่องของการเลือกปฏิบัติ แต่ถ้าคุณปารีณายอมกล่าวขอโทษ เราก็จบ ผมอยากให้สังคมเข้าใจความแตกต่าง ออทิสติกไม่ใช่บุคคลที่น่ากลัวหรือน่ารังเกียจ แม้อาจทำอะไรผิดๆ ถูกๆ แต่ก็ทำด้วยความจริงใจ เราควรจะให้เกียรติกัน เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ควรว่ากล่าวดูถูกแต่ควรให้โอกาสในการทำงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net