Skip to main content
sharethis
  • วัฒนธรรมแฮชแท็กกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งแต่การตั้งชื่อกิจกรรมผ่านแฮชแท็ก การติดเทรนด์ทั้งของไทยและของโลก ย้อนดูแฮชแท็กการเมืองก่อนความเคลื่อนไหวปรากฏผ่านตัวอย่างที่ติดเทรนด์สำคัญๆ
  • กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ ชวนสนทนาไปกับ 1 ผู้วิจัยการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ กับอีก 1 ผู้ใช้ทวิตเตอร์มา 11 ปีโดยเริ่มจากเรื่องการเมืองก่อนที่จะกลายเป็นแฟนคลับเกาหลี กับบทวิเคราะห์ชนวนใหญ่ ยุบอนาคตใหม่-บทบาทสถาบันกษัตริย์ คุณสมบัติของทวิตเตอร์ที่มีลักษณะ Democratization, Decentralization, Participatory และ Empower 
  • ส่องปรากฏการณ์ 'จากแฟนด้อมสู่การเคลื่อนไหวในคิงด้อม' ตั้งแต่ K-Pop สู่การเมือง จากความไม่เป็นธรรมต่อศิลปิน สู่ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง บทบาทของกลุ่ม ‘แอคเห็บ’ ในฐานะตัวเปิด ‘แฟนเบส’ ผู้เป็นดั่งหอกระจายข่าว สัญชาตญาณทำเทรนด์แฮชแท็ก ปรากฏการณ์ IO ปลอมตัวเข้ามาในด้อมผิด และพลังเปย์
  • มองดูฝั่งปฏิกิริยาที่เข้ามาใช่ ทั้งจากรัฐ IO และการโต้กลับของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล-สถาบันฯ การจัดการ IO ของทวิตเตอร์ ปิดท้ายด้วยการประเมิน IO ในเวอร์ชั่นเนียน

ภาพจากที่ Twitter Thailand ประมวล

ปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ถือได้ว่าเป็นช่องทางการสื่อสารที่โดดเด่นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ใช้งานในประเทศไทยมีมากถึง 7 ล้านกว่า และเป็นที่รับรู้กันว่ามันเป็นพื้นที่ของคนหนุ่มสาวและวัยรุ่น ช่วงส่งท้ายปี  Twitter Thailand เปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2563 แฮชแท็กที่ถูกทวีตมากที่สุดมีความแปลกตา เพราะไม่ใช่เพียงประเด็นเกี่ยวกับวงการบันเทิง แต่ #โควิด ก็มี แฮชแท็กการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มา แถมยังมีประเด็นทางสังคมที่ค่อนข้างหลากหลายทะยานติดอันดับ เช่น  #whatishappeninginthailand #สมรสเท่าเทียม  #15ตุลาไปราชประสงค์ 

1. วัฒนธรรมแฮชแท็กกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง

หากพิจารณารายละเอียดของการใช้ทวิตเตอร์ขับเคลื่อนประเด็นการเมือง เราจะพบว่า หลังสลายการชุมนุม 14 ต.ค.2563 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แฮชแท็กในรูปแบบ ม็อบวันที่เดือน แพร่หลายอย่างรวดเร็วกว้างขวาง เช่น #ม็อบ14ตุลา #ม็อบ17ตุลา #ม็อบ18พฤศจิกา ฯลฯ ติดเทรนด์ต่อเนื่องล้อไปกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นทุกวันในหลายพื้นที่ ก่อนหน้านั้นหลายจังหวัดก็มีส่วนร่วมจัดม็อบต่อต้านเผด็จการโดยใช้แฮชแท็กเป็นตัวอธิบายเอกลักษณ์ของพื้นที่ เช่น #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป #ขอนแก่นบ่ย่านเด้อ (ดูตาราง)

1.1 ตั้งชื่อกิจกรรมผ่านแฮชแท็ก

ภาพที่ประมวลไว้โดยประชาไท

ย้อนไปต้นปี 2563 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มจัดแฟลชม็อบแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อความไม่เป็นธรรมทางการเมือง ก่อนจะหายไปประมาณต้นเดือนมีนาคม เนื่องจาก COVID-19 ระบาดหนัก ในช่วงที่แฟลชม็อบเบ่งบานมีการตั้งชื่อ # ของแต่ละสถาบันราวกับจะประชันกันต่อต้านเผด็จการ  

ภาพที่ประมวลไว้โดยประชาไท

1.2 การติดเทรนด์ทั้งของไทยและของโลก

นี่ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวตามช่วงที่มีการชุมนุมเท่านั้น หากดูแฮชแท็กตลอดทั้งปีของประเทศไทยที่ติดเทรนด์ 100 อันดับแรกจากเว็บ getdaytrends.com (สืบค้นเมื่อ 6 ธ.ค.63) พบว่ามีถึง 29 แฮชแท็กที่เกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะแฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ค.63 มียอดทวีตสูงถึง 12.4 ล้าน นับเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ขณะที่ถ้าดู 15 เทรนด์ Worldwide  พบว่ามีถึง 5 แฮชแท็กที่เป็นประเด็นการเมืองไทย และ #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ติดอันดับ 3 Worldwide ด้วย (การนับทวีตระหว่างเทรนด์ไทยกับ Worldwide มีความแตกต่างกัน ไม่ทราบเหตุผล)

1.3 ย้อนดูแฮชแท็กการเมือง ก่อนความเคลื่อนไหวปรากฏ

ก่อนความเคลื่อนไหวในโลกจริงจะเริ่มขึ้น โลกทวิตเตอร์โหมโรงกระแสการถกเถียงทั้งการเมืองทั่วไปและประเด็นอ่อนไหวอย่างสถาบันกษัตริย์มาก่อนแล้ว โดยมีแฮชแท็กเกี่ยวกับสถาบันติดเทรนด์ทวิตเตอร์เป็นระยะ ตาราง ด้านล่างช่วยทำให้เราเห็นว่าโลกทวิตเตอร์ตื่นตัวเรื่องการเมืองมานานพอสมควร

ตัวอย่างแฮชแท็กติดเทรนด์

วันเดือนปี

 # ติดเทรนด์/เป็นกระแส

ที่มาที่ไป

6 มี.ค.61

#ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค

ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ภายหลังกระแสข่าว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ มีทั้งเนื้อหาแบบจริงจังและเอาฮา

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2018/03/75730

3 ม.ค.62

#เลื่อนแม่มึงสิ

เป็นกระแสร้อนหลังรองนายกแถลงอาจเลื่อนวันเลือกตั้งจาก 24 ก.พ.62 ออกไป ทั้งที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์วัยมัธยมต้องเลื่อนสอบเร็วขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนหน้านี้เพื่อหลบวันเลือกตั้ง แต่แล้ววันเลือกตั้งก็ตั้งเค้าจะเลื่อนไปอีก

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2019/01/80375

9 ก.พ.62

#ฟ้ารักพ่อ

กรณีงานบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ มีผู้ทักธนาธรในงานว่า “ฟ้ารักพ่อ” ซึ่งเป็นคำจากละครเรื่องดอกส้มสีทองฉากที่นางเอก “ฟ้า” แสดงโดยชมพู่ อารยา เรียกแฟนที่อายุมากกว่าในเรื่องว่า “พ่อ”

อ่านที่  https://hilight.kapook.com/view/183731

23 มี.ค.62

#โตแล้วเลือกเองได้

เป็นกระแสทันทีหลังมีพระบรมราโชวาท “เลือกคนดี” ในคืนหมาหอนหรือก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2019/03/81668

9 มิ.ย.62

#Savepannika #อีช่อหนักแผ่นดิน

สืบเนื่องจากโฆษกพรรคอนาคตใหม่ถูกขุดรูปและโพสต์เก่ามาวิจารณ์ว่าเป็นหมิ่นประมาทกษัตริย์

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2019/06/82914

28 ก.ย.62

#แบนเมเจอร์

กระแสตอบโต้หลังมีผู้ใช้บริการโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ร้องเรียนมาตรการเข้มงวดให้ลูกค้ายืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญ

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2019/09/84527

1 ต.ค.62

#ขบวนเสด็จ

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ภาพที่อ้างว่าเป็นมาตรการปิดเส้นทางการจราจร เพื่อขบวนเสด็จ โดยเฉพาะแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนส่งผลกระทบต่อประชาชน

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2019/10/84568

6 ต.ค.62

#6ตุลา

กระแสร่วมกันแชร์ข้อมูลต่างๆ ของเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ต.ค.2519 รวมทั้งรายงานข่าวกิจกรรมรำลึกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2019/10/84651

22 ต.ค.62

#ใหญ่กว่าที่คิส

เกิดขึ้นหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง ให้ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหารพ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี (สำหรับ #ใหญ่กว่าที่คิส เดิมเป็นการขายของของ Shopee)

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2019/10/84846

17 ต.ค.62

#ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง

เป็นคำพูดวรรคตอนหนึ่งของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่กล่าวในสภาขณะอภิปรายเพื่อลงมติกรณีพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

อ่านที่  https://waymagazine.org/the-constitutional-monarchy/

13 ธ.ค.62

#ขบวนเสด็จ

วิจารณ์มาตรการจัดการพร้อมโพสต์ภาพคนจำนวนมากรอขึ้นเรือท่าเรือข้ามฟาก เช่น ท่าเรือข้ามเกาะล้าน ท่าเรือแหลมบาลีฮาย ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์ ฯลฯ ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและทรงรับเรือ AZIMUT 77S หรือเรือยอร์ชแบรนด์อะซิมุท

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2019/12/85528

14 ธ.ค.62

#ไม่ถอยไม่ทน

#กลัวที่ไหน

กิจกรรม "ส่งเสียงประชาชน" แสดงพลังต่อต้านรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ที่บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นอกจากจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากแล้ว ในทวิตเตอร์ แฮชแท็ก #ไม่ถอยไม่ทน เกิดขึ้น เป็นการบอกเล่าความรู้สึกและรายงานการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และติดเทรนด์อันดับ 1 ด้วยยอดเกินล้านทวีต เช่นเดียวกับวันที่ 13 ธ.ค.62 #กลัวที่ไหน ก็ติดเทรนด์ด้วยเช่นกัน

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2019/12/85547

1 ม.ค.63

#ปิดเกาะ

วิจารณ์มาตรการจัดการเส้นทางในจุดท่องเที่ยวของจ.กระบี่เมื่อ 29 ธ.ค.62 จ.พังงาเมื่อ 30 ธ.ค.62 และจ.ภูเก็ตเมื่อ 1 ม.ค.63 โดยอ้างถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่เสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นการส่วนพระองค์ โดยจะทรงกิจกรรมดำน้ำลึกในบริเวณดังกล่าว

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/01/85743

3 ม.ค.63

#สาวน่าน

หลังมีข่าวลือในโซเชียลว่าอดีตเจ้าคุณพระสินีนาฏอาจเสียชีวิตแล้ว

https://twitter.com/PavinKyoto/status/1213013731539439618

20 ก.พ.63

#saveนิรนาม

19 ก.พ.63 ศูนย์ทนายความฯ ได้รับร้องเรียนจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ นิรนาม_ ระบุว่า ตำรวจเข้าค้นห้องพักและพาตัวไปสภ.เมืองพัทยาโดยไม่มีหมายจับ ต่อมานิรนาม_ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการทวีตภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก่อนที่ 24 ก.พ.63 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะให้ประกันวางหลักทรัพย์ 2 แสนบาท ระหว่างนั้นในทวิตเตอร์มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจนติดเทรนด์ประเทศไทย เนื้อหาเรียกร้องการประกันตัวหรือยุติการดำเนินคดี รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์สถานบันกษัตริย์ด้วย

‘นิรนาม_’ หรือ @ssj_2475 มักทวีตข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีการติดตามราว 149.5K

อ่านที่  https://thematter.co/brief/brief-1582273165/101469

24 ก.พ.63

#Freeนิรนาม

ช่วงลุ้นประกันตัว นิรนาม_

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/02/86499

21 มี.ค.63

#กษัตริย์มีไว้ทำไม

หลัง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทวีตตั้งคำถามเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 พร้อมใส่แฮชแท็กดังกล่าว แฮชแท็กนี้ก็เป็นที่นิยมทันที

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/03/86933

28 มี.ค.63

#ไม่รับปริญญาจากกษัตริย์

หลังมีคนเปิดประเด็นความสำคัญของพิธีรับปริญญาจากกษัตริย์

อ่านที่  https://twitter.com/hashtag/ไม่รับปริญญาจากสถาบันกษัตริย์

มี.ค.63

#เว้นเซเว่นทุก​Wednesday

แม้แฮชแท็ก​ #เว้นเซเว่นทุก​Wednesday จะไม่ได้มาแรงติดอันดับ​ของประเทศ แต่หากลองเข้าไปดูจะพบว่าในทุก​ๆ​ วัน​ ผู้ใช้ทวิตเตอร์​ยังคงแชร์ประสบการณ์​ของการงดเข้าร้านนี้​และช่วยกันปักหมุดร้านโชห่วยในแอปพลิเคชันต่าง​ๆ อย่างต่อเนื่อง​

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/03/86815

3 เม.ย.63

#ถือเป็นโอกาสที่ดีของแม่

หลังแม่แบมแบม GOT7 ประกาศแจ้งความ ม.112 ผู้ที่โรลเพลย์เป็นตนเอง

อ่านที่  https://twitter.com/hashtag/ถือเป็นโอกาสที่ดีของแม่

เมษายน 63

#MilkTeaAlliance

แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance หรือ "สัมพันธมิตรชานม" และแฮชแท็ก #nnevvy ซึ่งเป็นชื่อบัญชีผู้ใช้ของนิว กลายเป็นแฮชแท็กต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ มีทั้งชาวไทย ฮ่องกง ไต้หวัน เข้ามาโต้ตอบด้วยมีมต่างๆ ในขณะที่ฝ่ายจีนพยายามด่าฝ่ายไทยด้วยการบอกว่าคนไทยจนหรือกระทั่งโพสต์ถึงสถาบันสำคัญของไทย คนไทยก็โต้ตอบกลับด้วยรูปตึกที่กำลังก่อสร้างในจีนเกิดถล่มเนื่องจากใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อเป็นการวิจารณ์การทุจริตคอร์รัปชันในจีน ฯลฯ

11 พ.ค.63

#ตามหาความจริง

มีผู้โพสต์และแชร์ภาพ 'Projection Bombing' ชื่อว่า Photo Series #ตามหาความจริง ตามจุดสำคัญต่างๆ เช่น วัดปทุมวนาราม กระทรวงกลาโหม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและรางรถไฟฟ้า ฯลฯ เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและทหาร เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/05/87593

3มิ.ย.63

#NoCPTPP

กลับมาติดเทรนด์อีกครั้งแบบข้ามคืน หลังสภาผู้ส่งสินค้าฯ หนุนไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/06/87949

7 มิ.ย.63

#ยกเลิก112

#saveวันเฉลิม

#RIPวันเฉลิม

ยอด 352K ทวีต ข่าววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่อาศัยอยู่ประเทศกัมพูชาถูกอุ้มหายตัวไปจากหน้าคอนโดที่กรุงพนมเปญ ช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย. สร้างปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องการหาตัวเขา พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก #saveวันเฉลิม และ #RIPวันเฉลิม ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/06/88024

9 มิ.ย.63

#เราจะสู้ด้วยทุนนิยม

สนับสนุนสินค้าที่มี 'มารีญา' เป็นพรีเซ็นเตอร์ หลังเธอแสดงความไม่เห็นด้วยกรณีอุ้มหายวันเฉลิม

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/06/88067

19 มิ.ย.63

#saveโรม

หลังข่าวลือ 'รังสิมันต์ โรม' ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงจากการเดินหน้าติดตามปม 'วันเฉลิม-หมู่อาร์ม'

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/06/88215

24 มิ.ย.63

#24มิถุนา

วันครบรอบ 88 ปี การปฏิวัติเปลี่ยนปกครอง 24 มิถุนายน 2475

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/06/88293

13 ก.ค.63

#อีแดงกราบตีนคนไทย

ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ ยอดกว่า 9 แสนทวีต หลังมีข่าวทหารอียิปต์ติดโควิดที่ระยอง

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/07/88570

14 ก.ค.63

#saveทิวากร

หลังมีข่าวทิวากร วิถีตน ผู้สวมเสื้อ 'เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว' ถูกจับเข้า รพ.จิตเวช

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/07/88573

22 ก.ค.63

#saveทิวากร

กลับมาติดเทรนด์อีกครั้งหลังมีผู้นำภาพทิวากรขณะอยู่ที่โรงพยาบาล​จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์มาเผยแพร่

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/07/88690

22 ก.ค.63

#อีสานสิบ่ทน

ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) นัดหมายชุมนุม 'สารคามเผด็จการบ่ต้อง' #อีสานสิบ่ทน ที่ลาน 8 เหลี่ยม มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก แม้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/07/88702

14 ส.ค.63

#SaveParit

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกจับตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1172/2563 ตำรวจเข้าจับกุมตัวหลังอ่านข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ ความผิด ม.116 และอื่นๆ จากการชุมนุมของ #เยาวชนปลดแอก 18 ก.ค.

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/08/89041

16 ส.ค.63

#ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ #ประชาชนปลดเเอก #แท๊กเพื่อนไปม๊อบ

ติด Top 4 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย โดยแฮชแท็กแรกมียอดกว่า 2M ทวีต จากกิจกรรมประชาชนปลดแอกจัดชุมนุมขีดเส้นตายไล่เผด็จการที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/08/89075

24 ก.ย.63

#ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา

#RepublicofThailand

อันแรกเป็นชื่อกิจกรรมที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้กดดันให้สภามีมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผู้ทวีตมากถึง 1.13 ล้าน

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/09/89685

วันเดียวกัน รอยเตอร์รายงานว่า ระหว่างวันที่ 25 ก.ย.มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ติดแฮชแท็กเป็นภาษาอังกฤษว่า RepublicofThailand หรือแปลว่า สาธารณรัฐไทย กว่า 820,000 ครั้ง ติดอันดับ 1 เทรนด์ประเทศไทยตั้งแต่กลางดึกวันที่ 24 ก.ย. หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล์ไทมส์ รายงานว่า #RepublicofThailand กลายเป็นแฮชแท็กอันดับต้นของวันที่ 25 ก.ย. ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่สมาชิกรัฐสภาสร้างความขุ่นเคืองให้ผู้ประท้วงรุ่นเยาว์โดยไม่ยอมรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/09/89685

5 ต.ค.63

#เบญคอน

ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ด้วยจำนวนกว่า 30k ทวีตในคืนวันที่ 5 ต.ค. จากคลิปนักเรียน ม.2 พูดแสดงความรู้สึกต่อกิจกรรมปลูกฝังรักชาติต่อหน้านายทหารที่เป็นวิทยากรบรรยาย ‘โครงการเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ’ ให้กับนักเรียนชั้น ม.1-2 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 1 ต.ค. 63

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/10/89841

13 ต.ค.63

#กษัตริย์ขยะสังคม, #ม็อบ14ตุลา, #หยุดคุกคามประชาชน, #ปล่อยเพื่อนเรา และ #กษัตริย์มีไว้ทําไม

ยอดอันแรก 1852K ทวีต ยอดอันต่อมา 2773K 812K 107K และ 80K ตามลำดับ หลังสลายชุมนุม คณะราษฎรอีสานที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อ้างเพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับขบวนเสด็จ

นอกจากนี้ยังมีแฮชแท็ก #WhatHappenIngThailand #คณะราษฎร2563 #ไอดอลปลดแอก #ปล่อยเพื่อนเรา #หยุดคุกคามประชาชนและ  #คืนความยุติธรรมให้ศรีรัศมิ์ ที่ได้รับความนิยมจำนวนมากด้วย

17 ต.ค.63

#Saveสมยศ #ปล่อยตัวคุณลุงสมยศ

ติด 2 ใน 5 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย หลังศาลอนุมัติฝากขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มราษฎรในคดีตามมาตรา 116

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/10/90003

 

19 ต.ค.63

#saveสื่อเสรี

หลังมีเอกสารหลุดว่าจะสั่งระงับการออกอากาศและเผยแพร่ข่าวของช่อง VoiceTV, The Reporters, ประชาไท, The Standard, และเยาวชนปลดแอก

อ่านที่ https://prachatai.com/journal/2020/10/90028

2 พ.ย.63

#ต้องช่วยกันเอาความจริงออกมา

ฮิตทันทีที่หมอวรงค์ กลุ่มนิยมกษัตริย์ เปิดเผยว่า ร.10 ตรัสกับเขาด้วยคำนี้ โดยคนในทวิตเตอร์ได้นำข้อมูลจำนวนมากมาเสนอและวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/11/90253

8 พ.ย.63

#มันจบแล้วชนชั้นนำ

ผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 เริ่มรวมตัวกันและปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเขียนจดหมายส่งถึงกษัตริย์หวังให้เกิดการปฏิรูปสถาบันฯ

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/11/90345

21 พ.ย.63

#ยกเลิก112

ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังมีข่าวว่าจะเอามาตรานี้กลับมาใช้

อ่านที่  https://prachatai.com/journal/2020/11/90502

 

2. กว่าจะเดินมาถึงวันนี้

วันนี้ทวิตเตอร์กลายเป็นโลกอีกใบที่ถูกจับตามองและกลายเป็นวัตถุแห่งการศึกษาจากหลากหลายมุม เพื่อทำความเข้าใจกับความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ในรายนี้เราพูดคุยกับผู้ศึกษาโลกทวิตเตอร์ 2 คน คือ

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มต้นศึกษามันอย่างรวดเร็วผ่านการสัมภาษณ์ตัวอย่างคนรุ่นใหม่ 350 คนที่เข้าร่วมชุมนุมแฟลชม็อบต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อีกคนหนึ่งคือ Pat (นามสมมติ) ผู้ใช้ทวิตเตอร์มา 11 ปีโดยเริ่มจากเรื่องการเมืองก่อนที่จะกลายเป็นแฟนคลับเกาหลีในที่สุด !?

กนกรัตน์บอกว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์ล้วนระบุช่องทางการสื่อสารหลักของพวกเขาว่าคือ ‘ทวิตเตอร์’ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กมัธยมที่เริ่มใช้ทวิตเตอร์ก่อนไปสู่แพลตฟอร์มอื่น เช่น หนังสือ การค้นใน google ฯลฯ ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยมีช่องทางสื่อสารหลายทาง ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์

กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2.1 ชนวนใหญ่ ยุบอนาคตใหม่-บทบาทสถาบันกษัตริย์

กนกรัตน์ อธิบายถึงจุดที่นำพลังในทวิตเตอร์ออกมาสู่การชุมนุมบนถนนว่า มี 2 เรื่องที่สำคัญ

1. พลังนี้เติบโตมาตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 2562 โดยเริ่มขยับตั้งแต่ประท้วง single gateway โพสต์ด่ารัฐบาลมาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ออกมาบนท้องถนน เนื่องจากความต้องการนั้นไปจบที่กล่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาถูกนับอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อเกิดการยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้เขาออกมาบนท้องถนน 2. สำหรับเด็กมัธยม มีม (meme) จำนวนมากในทวิตเตอร์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้ปลุกเด็กมัธยมอย่างยิ่ง

“คนทั้งสองกลุ่ม (มัธยม มหา’ลัย) ‘ปั่น’ แฮชแท็กทวิตเตอร์มายาวนาน แต่สิ่งที่พวกเขาปั่นไม่เคยไปอยู่ในกระแสหลัก พวกเขาจึงรู้สึกเดือดมากเมื่อปั่นในทวิตเตอร์จนติดเทนด์แต่ตื่นเช้ามาโลกไม่รับรู้อะไรเลย ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาและเพื่อนของเขา มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาออกมาเพราะเสียงของเขาบนโลกออนไลน์มันไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้แล้ว” กนกรัตน์กล่าว

การประท้วงที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตองครักษ์ (25 ก.พ.63) ตัวเลข 6265950 ที่ถูกขีดฆ่าหมายถึงจำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 15 มี.ค.61 พรรคนี้ได้ 81 ที่นั่งจาก 500 คะแนนกว่า 6 ล้านเสียงคิดเป็นราว 18% ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อ 21 ก.พ.63 (ที่มาภาพ วิกิพีเดีย)

สอดคล้องกับที่ Pat มองว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนในทวิตเตอร์ทวีตเรื่องการเมืองมากขึ้นมี 2 ปัจจัยคือ

1.การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ช่วงก่อนคนอาจทวีตด่ารัฐบาล คสช.บ้าง แซะพล.อ.ประยุทธ์บ้าง แต่ช่วงก่อนเลือกตั้งจนถึงอนาคตใหม่ถูกยุบ เลเวลของการพูดถึงการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ทวีตเรื่องการเมืองคือ วัยรุ่น พวกเขามองพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวแทนที่เขาเลือกเข้าไปในสภา เมื่อสิ่งที่เขายึดโยงด้วยโดนกระทำจึงกลายเป็นจุดที่ทำให้เขารู้สึกว่าการเมืองใกล้ตัว

2.กระแส Me too ทำให้คนหันมาทวีตเรื่อง sexual harassment กันเป็นจำนวนมาก พื้นที่ทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่ที่สื่อสารปัญหาสังคม จากเดิมที่มีเพียงประปราย

Pat เล่าด้วยว่า ช่วงแรกๆ ในทวิตเตอร์เคยเถียงกันด้วยว่า “เราควรจะลงถนนไหม” ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ไปรับฟังข้อกล่าวหาคดีจัดแฟลชม็อบที่ สน.ปทุมวัน 10 ม.ค.63

“ตอนนั้นคนจำนวนมากบอกว่า อย่าลงถนน เราต้องไม่สร้างเงื่อนไขความรุนแรง จากวันนั้นถึงวันนี้ หน้ามือเป็นหลังมือ ตอนนี้ทุกคนลงถนน มีอะไรนิดเดียวก็เรียกคนไปลงถนนได้เร็วมากสำหรับคนในทวิตเตอร์ นี่เป็นกระบวนการที่ชาวทวิตเตอร์เรียนรู้จากการที่เขาได้พบกับความอยุติธรรมทางการเมืองด้วยตัวเอง คนกลุ่มนี้โตไม่ทันเสื้อแดง สมัยยุคไทยรักไทย เขาไม่ค่อยรู้สึกถึงความอยุติธรรมพวกนั้น แต่มาเจอจังๆ กับตัวเองรอบนี้ เลยเปลี่ยนพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ” Pat กล่าว

2.2 Democratization, Decentralization, Participatory และ Empower 

ทวิตเตอร์มีผลอย่างไรต่อการสร้างการตระหนักรู้และการเคลื่อนไหวทางการเมือง กนกรัตน์ อธิบายการทำงานไว้ 3 ประการ

1. เป็น Gateway to Information สื่อสารกับคนที่เราไม่รู้จัก สามารถเข้าถึงข้อมูลมากมายที่ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มที่เราสนใจ กนกรัตน์ตอบโต้ทฤษฎี echo chamber (สื่อสารหรือได้ยินแต่กลุ่มคนที่คิดเหมือนกัน) ที่มองว่า การรีทวีตในทวิตเตอร์นั้นส่วนมากมาจากแหล่งที่มาไม่กี่คน มีความกระจุกตัว กนกรัตน์มองว่าหากเปรียบเทียบกับไลน์หรือเฟซบุ๊กแล้ว ทวิตเตอร์สร้าง echo chamber น้อยกว่ามาก

อีกประการคือ ทำให้ผู้ใช้เป็นพลเมืองโลกเพราะสามารถดูเทรนด์แฮชแท็กได้ทั้งเทรนด์ประเทศไทย เทรนด์โลก หรืแม้กระทั่งเทรนด์ตามความสนใจส่วนบุคคล ทวิตเตอร์จึงเป็น gateway to information  ที่กว้างขวาง รอบด้านกว่าเฟซบุ๊กและไลน์ ทำให้ธรรมชาติของคนรุ่นนี้แตกต่างจากคนรุ่นก่อน

กนกรัตน์อธิบายเพิ่มเติมว่า เธรด (Thread) ทำให้ข้อมูลมีความลึกซึ้งมากขึ้น หลายคนอาจเห็นว่าทวิตเตอร์สื่อสารเรื่องซับซ้อนได้ยากด้วยข้อจำกัดของจำนวนคำในการทวีตแต่ละครั้ง แต่นั่นส่งผลด้านกลับในการฝึกทักษะ Conceptualization (การสรุปประเด็น) ตัวอย่างกลุ่ม Anti One China ซึ่งเป็นนักศึกษาจุฬาฯ ปี 2 เริ่มต้นด้วยการเป็นติ่งดารานักร้องฮ่องกง แล้วค้นพบว่าดาราคนนั้นสนับสนุน One China เขาจึงโกรธมากแล้วพยายามทำให้ดารารู้ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้โดยทำเธรด Anti One China แปลบทความต่างๆ จำนวนมากเพื่อให้คนอ่านได้เข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งหลายมิติ

ด้าน Pat แย้งในเรื่องนี้ว่า ทวิตเตอร์มีความเป็น echo chamber แต่หน้าตาของ echo chamber เป็นคนละแบบกับเฟซบุ๊ก

“เราไปตีกับพวกมินเนี่ยนในเฟซบุ๊กเยอะว่าในทวิตเตอร์อีก ในทวิตเตอร์บางทีมันก็หลอกตาเราว่าไม่ใช่ แต่จริงๆ ก็เป็นแอคโค่แชมเบอร์นั่นแหละ ในเฟซบุ๊กถ้าเราดูแต่คอมมูนิตี้มวลหมู่ที่เราติดตามก็จะรู้สึกว่าทุกคนพูดเรื่องการเมืองกันหมดเลย ถ้าเราเล่นอย่างนั้นในทวิตเตอร์ก็จะให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน เช่นถ้าคนใช้ทวิตเตอร์เลือกตามแต่เฉพาะคนในแฟนด้อมตัวเอง บางทีก็อาจเข้าใจไปว่า ตอนนี้คนแอคทีฟเรื่องการเมืองสูงมากๆ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ มันไม่ได้สะท้อนภาพความเป็นจริงด้วยว่าคนข้างนอกแอคทีฟทางการเมืองขนาดไหน”

2. เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ทุกวินาที  กนกรัตน์อธิบายว่าทวิตเตอร์เป็นกลไก agenda setting ทำให้ประเด็นข้อเรียกร้องหนึ่งๆ เป็นประเด็นสาธารณะ เป็นกลไกในการปกป้องเพื่อนของเขาที่ถูกคุกคามหรือมีปัญหาใดๆ  นอกจากนี้ยังเป็นกลไกในการเผยแพร่ความเข้าใจและความสนใจที่หลากหลาย รวมทั้งที่ไม่สามารถอยู่ในสื่อกระแสหลักได้ เครื่องมือนี้มีกลไกที่น่าสนใจอย่าง รีทวีต เทรนด์แฮชแท็ก ซึ่งทำให้ทุกคนกลายเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (content creator)ได้ เมื่อเป็นผู้ผลิตเนื้อหาได้ก็สามารถทำแคมเปญได้

“อย่าง Anti One China อยู่ดีๆ เขาก็เป็นที่รู้จักภายในไม่กี่วัน ฟังก์ชั่นเธรดทำให้เราเป็น content creator รณรงค์เรื่องที่ตนเองสนใจได้ หรือจะทำตัดต่อรูปหรือมีมก็ได้ เมื่อมีคนรีทวีตเยอะ จากคนธรรมดาก็กลายเป็นเซเลปได้ หมายความว่าทุกคนถูก empower ให้ตัวเองรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้จริง เสียงเราสามารถถูกนับได้จริง” กนกรัตน์กล่าว

3. ทำให้ mobilize (นัดรวมตัว) ม็อบประสบความสำเร็จ กนกรัตน์เห็นว่ากรณีของไทยรูปแบบมีลักษณะคล้ายกับฮ่องกง เพราะทวิตเตอร์ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า leaderless movement (ขบวนการไร้หัว) ได้ จากเดิมที่จะใช้เฟซบุ๊กแจ้งคนในยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เป็น One-Way Communication (การสื่อสารทางเดียว) คนถืออำนาจในการสร้างเนื้อหาคือแกนนำที่เป็นแอดมินของเพจเหล่านั้น แต่ในโลกทวิตเตอร์มีสิ่งที่เรียกว่า เทรนด์แฮชแท็ก ทำให้ใครก็สามารถเป็น ownership (เป็นเจ้าของ) ในการทำม็อบแบบรายวันได้ 

“ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการจับกุมแกนนำผู้ประท้วงกลางเดือนตุลาคม เมื่อกวาดจับไปหลายคนก็กังวล แต่สิ่งที่ทวิตเตอร์เป็น ทำให้ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้จัดม็อบได้ ใครๆ ก็ระดมทุนได้ ใครๆ ก็สร้างเนื้อหาได้ หรือจัดการเวทีของตัวเองได้ คนอื่นมองเห็นได้ตลอดเวลา” กนกรัตน์กล่าว

อีกกลไกหนึ่งคือ ฟังก์ชั่น ‘ยอดนิยมล่าสุด’ ซึ่งต่างจากไลน์หรือเฟซบุ๊กที่จะมีเฉพาะ ‘ล่าสุด’ นั่นทำให้ชาวทวิตเตอร์รู้เลยว่าอันไหนเป็นเนื้อหาที่ดี คนรีทวีตกันเยอะ เป็นสิ่งที่จะช่วยอธิบายภาพรวม อธิบายรายละเอียดบางมุมที่ไม่ใช่เพียงการบ่นด่ากัน กนกรัตน์เห็นว่านี่เป็นกลไกที่ช่วยให้การจัดม็อบหรือการรณรงค์ในแต่ละวันมีประสิทธิภาพมาก เช่น ม็อบที่ SCB ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อ 24 พ.ย. นักข่าว THE STANDARD ไลฟ์รายงานตามปกติขณะนั้นมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นด้านหลัง ตัวผู้รายงานยังไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ภายในไม่นานมีคนแค็ปภาพจากคลิปถ่ายทอดสดเอาไปทวีตทันที และขึ้นเป็นยอดนิยมเพราะคนรีทวีต

ภาพคนร้ายปาระเบิดและใช้อาวุธปืนยิงกลุ่มการ์ดปรากฏอยู่ด้านหลัง ขณะที่นักข่าว THE STANDARD ไลฟ์เฟซบุ๊ก (อ่านรายละเอียด)

ส่วนประเด็นการปล่อยข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จในทวิตเตอร์นั้น กนกรัตน์เห็นว่า แพลตฟอร์มอย่างไลน์และเฟซบุ๊กก็มี แต่ส่วนมากมักไม่ถูกตรวจสอบ แพลตฟอร์มอย่างทวิเตอร์ต่างหากที่มีการตรวจสอบข่าวปลอมตลอดเวลาและเรียลไทม์ มีการตรวจสอบโดยคนที่มีความคิดหลากหลาย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ รถขบวนเสด็จผ่านผู้ชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. ภายในวันเดียวข้อมูลแผนผังเส้นทางขบวนเสด็จออกมาจำนวนมาก

“ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่มีลักษณะ Democratize (ทำให้เป็นประชาธิปไตย) decentralization (กระจายอำนาจ)และ participatory (มีส่วนร่วม) มาก มัน empower (เสริมพลัง) ให้กับทุกคนสามารถรู้สึกว่าแอคชั่นและเสียงของพวกเขาถูกนับ ทุกอย่างที่พวกเขาทำส่งผลสะเทือนทันที ทำให้หลังเหตุการณ์จับกุมแกนนำกลางเดือน ต.ค.63 ความเคลื่อนไหวยังเดินหน้าต่อเพราะคนถูก empower มาก่อนหน้าแล้ว” กนกรัตน์สรุป

3. จากแฟนด้อมสู่การเคลื่อนไหวในคิงด้อม

เดือนกันยายน 2563 Twitter Data (อ้างถึงในเวิร์คพอยด์ทูเดย์) ระบุว่าประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุดในการทวีตเกี่ยวกับ K-pop โดยมีเกาหลีใต้เป็นอันดับ 2 และอินโดนีเซียเป็นอันดับ 3 สำหรับอิทธิพลของกลุ่มผู้นิยมใน K-pop ในทางการเมืองนั้น กนกรัตน์กล่าวว่า หากสังเกตจะเห็นว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สอดคล้องกับผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเช่นกัน และจำนวนมากเป็นด้อมเกาหลี ติ่งเกาหลี ซื้อขายเครื่องสำอางตามเทรนด์อยู่ในทวิตเตอร์ ทำให้เข้าถึงข้อมูลการเมืองได้มากกว่าเช่นกัน นี่เป็นคำอธิบายที่เขาอธิบายกันเอง อีกประเด็นคือ แคมเปญประเด็นทางสังคมปรากฏในด้อมเกาหลีมาตั้งแต่ก่อนจะมีเรื่องการเมือง เขามีความตื่นตัวมากกับการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากดาราที่พวกเขาชื่นชอบถูกเอาเปรียบโดยต้นสังกัด ถูกควบคุมโดยอำนาจของ one china พวกนี้ทำแคมเปญตลอด ที่สำคัญคือเขาดูซีรีส์เกาหลีซึ่งมีมิติที่ซับซ้อนทางการเมืองสูง และนั่นนำไปสู่การเป็นนักถามและนักสู้

3.1 จากการเมืองสู่ K-Pop และจาก K-Pop สู่การเมือง

Pat ใช้ทวิตเตอร์มา 11 ปี นั่นคือราวปี 2553 โดยทวีตเรื่องการเมืองเป็นหลักก่อนที่จะกลายเป็นแฟนคลับเกาหลี เธอเล่าพัฒนาการของเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อ 10 ปีก่อน คอมมูนิตี้แรกในทวิตเตอร์ที่ไม่ใช่พวกคนไอที ก็คือพวกที่ใช้ทวิตเตอร์รายงานสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

“เราใช้ทวิตเตอร์ครั้งแรกคือ เมษายน ปี 2552 ที่เสื้อแดงเข้ามาชุมนุมที่กรุงเทพฯ แล้วใช้มาเรื่อยๆ เมื่อก่อนบรรยากาศต่างมากจากตอนนี้ คนใช้เป็นผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้เป็นเด็กมาก มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย หรือพวก first jobber อายุ 20 กว่าก็ใช้ทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารเรื่องการเมืองเยอะ พวกนี้ไม่ใช่คนที่สนใจการเมืองมาแต่เดิม”

Pat ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ตื่นตัวและรณรงค์ทางการเมืองตอนนี้ในทวิตเตอร์ส่วนมากจะเป็นคนที่สนใจ K-Pop มาก่อน เป็นแฟนคลับเกาหลี และเป็นผู้หญิง โดยเทรนด์ของแฟนคลับเกาหลีที่หันมาสนใจการเมืองเพิ่งเปลี่ยนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้แฟนคลับเกาหลีมีความสนใจประเด็นทางสังคม แต่ยังไม่ค่อยเชื่อมโยงประเด็นทางสังคมกับประเด็นการเมืองนัก

“ก่อนหน้านี้อาจมีเด็กทวีตบ่นกฎในโรงเรียน บ่นพ่อแม่ บ่นสรรพสิ่ง แต่ยังไม่มีคนเชื่อมให้เห็นว่า สิ่งที่คุณบ่นคือการเมืองในชีวิตประจำวัน คือวัฒนธรรมอำนาจนิยม จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนมาทวีตเรื่องการเมืองมากขึ้นคือการเกิดและยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งกระแสช่วง Me too”

3.2 จากความไม่เป็นธรรมต่อศิลปิน สู่ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง

Pat เล่าต่อว่า ในแวดวงบันเทิงของเกาหลีบางทีมีข่าวที่ทำให้ชาวทวิตเตอร์หัวร้อนอยู่ไม่น้อย เช่น ไอดอลผู้หญิงถูกโจมตีเพราะเป็นเฟมินิสต์ พอมีคนแปลข่าวเป็นภาษาไทยก็เกิดวิพากษ์วิจารณ์กันหนักและมีคนคอยนำขุดข้อมูลต่างๆ มานำเสนอเป็นชุดๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้ง่ายภายในคอมมูนิตี้แฟนคลับเกาหลี

“ประเด็นความไม่เป็นธรรมของค่ายเล็ก-ค่ายใหญ่ ค่ายที่เอาเปรียบศิลปิน แฟนคลับคุยกันอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครโยงเรื่องนี้กับการเมือง ไม่ได้มองว่านี่คืออำนาจนิยม ช่วงหลังมีคนจุดประกายว่ามันก็คือการเมืองนั่นแหละ แฟนคลับสั่งสมความเข้าใจประเด็นความอยุติธรรมต่างๆ มาอยู่แล้ว พอมาได้เรื่องการเมืองเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ทำให้เห็นภาพอะไรๆ ได้ชัดขึ้น ก็เลยเทิร์นมาแสดงออกทางการเมืองแบบนี้” Pat กล่าว

3.4 ‘แอคเห็บ’ ตัวเปิด

Pat เล่าถึงกลุ่มที่มีอิทธิพลยิ่งในโลกทวิตเตอร์ นั่นคือ "แอคเห็บ" แอคก็คือแอคเคาน์ เห็บก็คือเห็บหมา นี่เป็นประเภทหนึ่งของแอคเคาน์ที่เปิดขึ้นมาโดยปกปิดตัวตนเพื่อตามศิลปินเกาหลี

“มันจะต่างจากแฟนคลับตรงที่แอคแห็บจะด่ากราดทุกคน ใช้คำพูดไม่ค่อยดี เวลาวิจารณ์ศิลปินไอดอล หยาบคาย ตอนแรกที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องการเมือง คนที่เริ่มพูดเรื่องการเมืองบ่อยๆ ก็คือกลุ่มแอคเห็บ กลุ่มนี้ด่ารัฐบาล พูดเรื่องสถาบัน พูดประเด็นแรงๆ แต่ตอนนี้เรื่องการเมือง คนที่ไม่ใช่แอคเห็บก็กลายเป็นแรงเท่าแอคเห็บหมดเลย (หัวเราะ) พวกแอคเห็บเหมือนตัวเปิดในช่วง 1-2 ปีที่แล้ว แต่ทุกอย่างพัฒนาไปเร็วมาก”

3.5 ‘แฟนเบส’ หอกระจายข่าว

Pat อธิบายกลไกอื่นในแฟนด้อมว่า ปกติในแฟนด้อม (อาณาจักรของคนที่ชอบศิลปินร่วมกัน) หนึ่งๆ จะมีคนที่เป็น แฟนคลับ คือ ผู้ที่ติดตามข่าวสารศิลปินใกล้ชิดและคอยสนับสนุน, แฟนไซต์ (fansite) คือ คนที่ตามถ่ายรูปมาลงโซเชียลเป็นช่องทางสื่อสารและโปรโมทศิลปิน, แฟนเบส (fanbase) คือ คนที่ทำตัวเป็นศูนย์กระจายข่าวสาร คอยแปลข่าว ทวีตข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับวง

แฟนเบส BTS ที่เคยทวีตข้อมูลเรื่อง CPTPP ต่อด้วยทวีตเรื่องการเมืองคือ Saveวันเฉลิม 

“ปีนี้ (2563) แฟนเบสเริ่มมีบทบาทในการทวีตเรื่องการเมือง ปัญหาสังคม หลายๆ แฟนด้อมออกมาทวีต อย่างแฟนด้อมที่เราอยู่คืออาร์มมี่ซึ่งเป็นแฟนคลับ BTS บ้านแฟนเบสซึ่งเป็นบ้านใหญ่สุดคนตาม 300,000 กว่าคนในไทย ช่วงกลางปีเขาทวีตเรื่อง black live matter เคยทวีตข้อมูลเรื่อง CPTPP ด้วย จุดเริ่มต้นที่เขามาทวีตเรื่องการเมืองคือ Saveวันเฉลิม เขามาขออนุญาตคนที่ติดตามว่าขอทวีต 1 ครั้งเพราะมีคนถูกอุ้มหายและมันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน หลักกฎหมาย ทวีตนี้สปาร์กข้อถกเถียงภายในด้อมด้วยว่าเป็นสิ่งที่แฟนเบสควรพูดถึงไหม เพราะโดยปกติแฟนเบสจะไม่ทวีตเรื่องอื่นเลย เหมือนเป็นแอคเคาน์องค์กร มีคนด่าเหมือนกันว่าทำไมทวีตเรื่องนี้ ไม่อยากรับรู้เรื่องการเมืองในพื้นที่นี้ ขอพื้นที่ไม่เครียดได้ไหม สุดท้ายตัวแอดมินเลยทำโพลว่า อยากให้เขาทวีตเรื่องการเมืองที่เขาคิดว่าสำคัญกับทุกคนไหม คนส่วนมากโหวตว่าต้องการให้ทวีต” Pat ยกตัวอย่างจุดเริ่มต้นและการหาทางออกร่วมกันของคนในชุมนุม  และหลังจากนั้นมา หลายๆ บ้านก็เริ่มทวีตเรื่องการเมือง

“เวลามีชุมนุมใหญ่ก็จะทวีตเรื่องการชุมนุม แอดมินบ้านเบสไปชุมนุมก็ถ่ายรูปกลับมา ทีนี้บ้านเบสคนตามเยอะ หลักหมื่น หลักแสน และมันไม่ได้ทำแค่ด้อมเดียว มันทำหลายด้อมมาก นอกจากทวีตแล้ว บางบ้านก็ทำใบปลิวไปเดินแจกวันที่ไปทำเนียบรัฐบาลครั้งแรก เขาทำใบปลิวไปแจกคนที่นั่งบนรถเมล์ คนตามข้างทางเพื่ออธิบายว่าเรากำลังทำอะไรกัน มันมีความพยายามช่วยเหลือแบบนี้ทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ในการกระจาย” อีกตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมติ่งเกาหลี

3.6 สัญชาตญาณทำเทรนด์แฮชแท็ก

Pat อธิบายธรรมชาติของแฟนคลับเกาหลีอีกประการด้วยว่า เมื่อบ้านเบสทวีต คนที่ติดตามเห็นเข้าก็เริ่มรีทวีตเรื่องการเมืองกัน แล้วก็เริ่มขยายวงคนที่สนใจหรือร่วมถกเถียง และด้วยวัฒนธรรมการใช้งานทวิตเตอร์ของแฟนคลับเกาหลี เรื่องการติดแฮชแท็กนั้นเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิดเลยก็ว่าได้

“ถ้าเราตั้งใจจะทำให้แฮชแท็กนี้ติดเทรนด์ ทุกคนก็ไม่มีใครลืมว่าต้องพิมพ์แฮชแท็กนี้ คนทั่วไปเล่นทวิตเตอร์อาจติดแฮชแท็กบ้างไม่ติดบ้าง แต่ถ้าแฟนคลับเกาหลี หากทวีตแล้วขอให้ติดแฮชแท็กอันนี้ๆ จะเข็นให้ขึ้นเทรนด์ประเทศ มันเหมือนสัญชาตญาณที่ไปเอง ไม่มีลืม เพราะเราก็เทรนด์ # ให้ศิลปินเราตลอดเวลาอยู่แล้วเวลามีอีเวนท์อะไร”

“ถ้าถามเรื่อง demographics (สถิติประชากร) ว่าคนใช้ทวิตเตอร์ทั้งหมด มีแต่แฟนคลับเกาหลีไหม มันก็ไม่ใช่ มีกลุ่มอื่นที่ใหญ่เหมือนกันคือ แฟนคลับซีรีส์วาย (Y) ในทวิตเตอร์มันใหญ่มาก แฟนคลับเกาหลีก็เป็นส่วนหนึ่ง ตอนนี้เสียงของแฟนคลับเกาหลีดังกว่ากลุ่มอื่นในเรื่องการเมืองอาจเพราะทวีตกันเยอะแล้วดูเป็นกลุ่มก้อน กลุ่มอื่นๆ ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนขนาดนี้ในสายตาสื่อ และอาจจะลักษณะประชากรด้วย มีผู้หญิงเยอะ เด็กวัยรุ่นเยอะ” Pat อธิบาย

3.7 IO ปลอมตัวเข้ามาในด้อม ผิด!!

Pat เล่าถึงความพยายามของไอโอ (Information Operation) ว่า ก่อนหน้านี้มีไอโอพยายามปลอมตัวเป็นแฟนคลับเกาหลีเพื่อจะทวีตเสี้ยมด้วยเหมือนกัน

“แต่คือมึงปลอมได้ไม่เนียนมากเลย เขียนใน bio ว่า ชอบวง BTA เดาว่าพิมพ์ผิดจาก BTS แล้วรูปโปรไฟล์เป็น Way V ซึ่งเป็นอีกวงหนึ่งแต่มี 7 คนเท่าบีทีเอส เดาว่าคงถูกบรีฟมาว่าเอารูปวงผู้ชายที่มี 7 คน แต่ไม่รู้ว่าวงไหนคือบีทีเอส แล้วรูปก็แตกๆ เข้ามาเสี้ยมอย่างนั้นอย่างนี้ คนเขาก็บอกว่ามึงไม่ต้องเสี้ยม ดูออก ในคอมมูนิตี้มันดูออกจริงๆ ถ้าเป็นคนนอกพยายามปลอมมา คำพูดคำจาที่ใช้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว เช่นเราเรียกแผ่นซีดีว่า บั้ม คนข้างนอกที่ไหนจะเรียกว่า บั้ม (หัวเราะ)”

“แฟนด้อมหนึ่งๆ ก็เป็น วัฒนธรรมย่อย (Subculture) หนึ่งใน K-pop ที่ไม่เหมือนแฟนคลับอื่นๆ มีความเฉพาะตัวของมัน ไม่ใช่แค่ไอโอปลอมมาเป็นแฟนคลับ แล้วแฟนคลับดูออกนะ แต่แฟนคลับด้อม A ปลอมเป็นแฟนคลับด้อม B แฟนคลับด้อม B ก็ดูออกเหมือนกัน (หัวเราะ)”

3.8 พลังเปย์

Pat เล่าว่า วัฒนธรรมการเปย์เป็นเรื่องปกติ แฟนคลับเกาหลีคุ้นชินกับการโดเนทหรือบริจาคอยู่แล้ว ปีหนึ่งมีการโดเนทหลายรอบมากเพื่อจัดวันเกิดให้สมาชิกวง จัดกิจกรรมวันครบรอบวันเดบิวต์ของวง ฯลฯ

ภาพแฟนด้อมเทป้ายโฆษณารถไฟฟ้า วาร์ปไปโผล่ท้ายรถตุ๊กตุ๊ก ที่มาข่าวสดออนไลน์

“ไม่ใช่แฟนคลับทุกคนรวย มีเงิน แฟนคลับเด็กๆ ถึงไม่มีเงิน เขาก็ช่วยเปย์ 10 บาท 20 บาท เวลาโดเนทจะมีสองจุดประสงค์ คือ หนึ่ง ทำโปรเจ็คต์ เช่น เอาไปทำป้าย ทำโปรเจ็คต์ในคอนเสิร์ตอย่างการแปรอักษร  สอง การไปทำการกุศลต่อ โดยใช้ชื่อศิลปินที่ชอบหรือแฟนด้อม ดังนั้น ทุกคนก็ชิน แล้วก็ให้เท่าไหร่ก็ได้ มีความรู้สึกมีส่วนร่วมสูงมาก พอมีคนมาจุดประกายโดเนทรวมเข้าบัญชีศูนย์ทนายฯ บ้าง เข้าบัญชีท่อน้ำเลี้ยงม็อบบ้าง คนก็อยากโดเนท ยอดที่เยอะไม่ใช่คนรวยมาช่วย แต่คนตัวเล็กตัวน้อยในด้อมนี่แหละ” Pat เล่า

ตัวอย่างการบริจาคจากแฟนด้อม
 

ซื้อโฆษณาติดหน่วย CIA หรือหาบเร่แผงลอยที่มักปรากฎเข้าไปขายของในที่ชุมนุมทางการเมือง

มีผู้ซื้อป้ายโฆษณาวันเกิดให้ ‘แม่ยกแห่งชาติ’ ทราย เจริญปุระ ด้วย

3.9 call out

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมที่แฟนคลับเกาหลีมัก call out (เรียกร้อง) ให้ศิลปินที่ชื่นชอบออกมาแสดงจุดยืนต่างๆ โดยเฉพาะศิลปินคนไทยที่ไปทำงานที่เกาหลี

“ถามว่าได้ผลไหม มันมีเคสที่คิดว่าได้ผล แต่เขาไม่ได้ออกมาพูดในแบบที่แฟนคลับต้องการ เช่น มีเคสหนึ่งเป็นศิลปินผู้หญิง ลูกสาวนักการเมือง ออกมาขอโทษที่ไม่ได้พูดเรื่องนี้เพราะติดขัดปัญหาที่ออกมาพูดไม่ได้ ก่อนที่เขาจะออกมาขอโทษ แฟนคลับเกาหลีคนไทยในทุกด้อมพยายาม call out ให้คนนี้ออกมาพูด สำหรับในไทย มันมีแคมเปญในการแบนสปอนเซอร์ของช่องทีวี อันนั้นก็ได้ผล เนชั่นต้องเอาผู้ประกาศชุดเดิมออก เปลี่ยนท่าที ส่วนหนึ่งคนที่พยายามผลักดันเรื่องแบนสปอนเซอร์ก็คือ แฟนคลับเกาหลี”

4. มองดูอีกฝั่งก็ยังเข้ามา

4.1 ปฏิกิริยาจากรัฐ IO และการโต้กลับของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล-สถาบัน

เมื่อทวิตเตอร์เป็นพื้นที่สื่อสาร-ระดมทรัพยากรเพื่อต่อสู้ทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่เพียงฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเท่านั้นที่ใช้มันอย่างถนัดมือ ฝ่ายรัฐหรือผู้สนับสนุนรัฐก็ใช้เครื่องมือนี้ด้วย ปราีกฏการณ์ที่น่าสนใจคือ IO (Information Operations) ปฏิบัติการข่าวสารที่ถูกจับได้ โดยพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าออกมาเปิดเผยรูปแบบปฏิบัติการพร้อมเอกสารทางการที่หลุดออกมา รวมถึงพบการทวีตซ้ำซ้อนจำนวนมาก

ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 พบผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งทวีตภาพพร้อมข้อความเดียวกัน พร้อมทั้งติดแฮชแท็กเดียวกัน บางส่วนมีการปรับข้อความเล็กน้อย ทั้งหมดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เช่น มีการทวีตข้อความพร้อมภาพ ร.9 ซ้ำๆ ว่า "ตั้งแต่เกิดมา 40 ปี เห็นพระองค์ทรงงานตลอด เหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชน แต่ทำไมลูกหลานถึงหมิ่นพระองค์ได้ขนาดนี้ นี่หรือที่เรียกตนว่าคนรุ่นใหม่ #28ตุลาปกป้องสถาบัน" 

ตัวอย่างผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เกิดปีเดียวกัน (เพราะอายุ 44 ปีเหมือนกัน) และโพสต์ข้อความกับภาพเหมือนๆ กัน ราวกับมิได้นัดหมาย แม้แต่คำผิดอย่างคำว่า "ประองค์" ยังเขียนเหมือนกัน

ตัวอย่างทวีตที่ถูกบันทึกไว้ได้เมื่อมีคนแซวเรื่องอายุที่ตรงกันก็มีการปรับอายุ แต่ข้อความยังเหมือนเดิม 

24 ต.ค. 63 พบคนทวีตภาพพร้อมข้อความซ้ำๆ จำนวนมาก ว่า "เมื่อก่อนเราเป็นแค่ #พลังเงียบ แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องออกมาปกป้องสถาบันเพื่อพ่อ ขอให้ให้พระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญ เป็นหลักชัยให้พวกเรา #ในหลวงสู้สู้" 

ตัวอย่างพลังเงียบที่ออกมาทวีตข้อความเหมือนๆ กัน และใช้รูปเหมือนกัน

ข้อสังเกตคือ ทวีตเหล่านั้นจะมีคำผิดคำเดียวกันทั้งหมด ช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้ใช้เฟซบุ๊กนำภาพบันทึกการสนทนาทางกลุ่มไลน์ลักษณะสั่งการปฏิบัติการทวีตแฮชแท็ก ปกป้องสถาบันฯ ในทวิตเตอร์ให้หน่วยงานซึ่งคาดว่าเป็นของรัฐด้วย

ตัวอย่างภาพบันทึกการสนทนาทางกลุ่มไลน์ลักษณะสั่งการปฏิบัติการทวีตแฮชแท็ก ปกป้องสถาบันฯ ในทวิตเตอร์ให้หน่วยงานซึ่งคาดว่าเป็นของรัฐด้วย

 

4.2 ทวิตเตอร์กับการจัดการ IO

ความชัดเจนของการระดมบุคลากรมาใช้ทวิตเตอร์ต่อสู้ทางการเมืองทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือกองทัพดูเหมือนจะชัดเจนขึ้น เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2563 ทวิตเตอร์เผยแพร่รายงานตรวจพบว่า มีบัญชีผู้ใช้งานบางส่วนที่เป็นเครือข่ายปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือที่เรียกว่าไอโอ (IO) จากภาครัฐหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย, คิวบา, รัสเซีย รวมถึงไทยด้วย นอกจากนี้ยังได้ทำการสั่งระงับบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้แล้ว 1,594 บัญชี โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากละเมิดนโยบายเกี่ยวกับ "การบิดเบือนระบบ" (platform manipulation)

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยรายละเอียดที่มาจากการสืบสวนสอบสวนและการวิเคราะห์ของศูนย์สังเกตการณ์อินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่นำเสนอว่า ในการระงับบัญชีทวิตเตอร์ล่าสุดนี้ มี 926 รายที่่เป็นของไอโอกองทัพไทยซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในการไล่ปิดบัญชีปลอมในครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในบันทึกข้อมูลเพื่อความโปร่งใสของทวิตเตอร์ระบุว่า เคยมีกรณีปิดบัญชีครั้งใหญ่กว่านี้คือกรณีไอโอจีนถูกปิดไป 23,750 บัญชีในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งมุ่งสนับสนุนรัฐบาลจีนและสร้างเรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการเมืองระหว่างจีนกับฮ่องกง

ต่อมาปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 รอยเตอร์ (อ้างถึงในโพสต์ทูเดย์) รายงานว่า ทวิตเตอร์ระงับบัญชี @jitarsa_school ซึ่งเกี่ยวข้องกับฝ่ายสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ บัญชี @jitarsa_school เกี่ยวข้องกับโรงเรียนจิตอาสาพระราชทานถูกสร้างขึ้นเมื่อเดือนกันยายน มีจำนวนผู้ติดตามกว่า 48,000 คนก่อนที่จะถูกระงับ โดยตัวแทนของทวิตเตอร์ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากละเมิดกฎของทวิตเตอร์เกี่ยวกับการจัดการสแปมและแพลตฟอร์ม

ผู้ใช้ทวิตเตอร์เองรวมทั้งกลุ่มการเมืองก็มีการออกมาเปิดโปงเรื่องเหล่านี้เป็นระยะเช่นกัน เช่นรายงานของ เว็บไซต์ Blognone เมื่อ 28 ธ.ค.63 ระบุว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @SaraAyanaputra เปิดเผยเอกสารนำเสนอของกองทัพบกแสดงกระบวนการทำงานของกลุ่มไอโอกองทัพที่ประสานงานผ่านแอปสองตัว คือ Twitter Broadcast และ Free Messenger กองทัพบกออกมายอมรับว่าสไลด์ดังกล่าวเป็นของจริง โดยระบุว่าเป็นการเรียนรู้ของกองทัพ "ให้มีความเข้าใจในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม" และการใช้งานแอปพลิเคชันทั้งสองตัวจากบริษัท เอส-แพลนเนต จำกัด ก็ไม่มีค่าใช้จ่าย

ข้อความในสไลด์ระบุถึงกระบวนการประสานงานเพื่อทวีตเรื่องเดียวกันโดยกำลังพลของกองทัพกว่า 17,000 คน โดยระบุช่วงเวลารับผิดชอบ, แบ่งหน้าที่ของกลุ่มเทา/ดำสำหรับทวีตโจมตีฝ่ายตรงข้าม, กระบวนการหลบเลี่ยงการแบนจากทวิตเตอร์ แม้ต่อมาทีมโฆษกกองทัพบกไม่พูดถึงกลุ่มสีเทา/ดำ ในสไลด์นำเสนอแต่พูดเพียงว่าเป็นการจัดหน่วยประชาสัมพันธ์เพื่อกระจายข้อมูลเชิงบวก เช่น กิจกรรมเทิดทูนสถาบัน การสร้างภาพลักษณ์ ภารกิจกองทัพบก และการช่วยเหลือประชาชน และตัวแอปก็เปิดให้ใครดาวน์โหลดก็ได้แสดงว่าทางกองทัพไม่มีเจตนาจะปกปิด ในขณะเดียวกันหากมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลที่บิดเบือนหรือข่าวเท็จ (ข้อมูลที่เป็นสีเทาหรือสีดำ) ที่ก็จะตรวจสอบและเร่งเผยแพร่ข้อเท็จจริงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างทันท่วงที

4.3 ประเมิน IO เวอร์ชั่นเนียน

Pat วิเคราะห์ว่า คนที่สนับสนุนม็อบหรือรัฐอย่างชัดเจนจะไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา การมีหรือไม่มีไอโอไม่ได้ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจ ขณะที่คนกลางๆ ก็ยังคงไม่ค่อยสนใจประเด็นเหล่านี้

“ไอโอจริงๆ แล้วก็เป็น echo chamber ของฝั่งนั้น ทำให้คนฝั่งนั้นรู้สึกว่ามีพวกเยอะ อุ่นใจ มีเพื่อน มีคนถามว่าถ้าไอโอลุ่มลึกมากขึ้น มีชั้นเชิงมากขึ้นจะน่ากลัวไหม ไอโอหน้าตาแบบไหนก็ต้องสู้กับมันอยู่ดี ถ้าเขาใช้เฟคนิวส์มาโจมตี ไม่ว่ามาแบบเนียนหรือทื่อก็ต้องตีกับมันอยู่ดี และยังไงก็ยังต้องทำงานความคิดกับคนกลางๆ อยู่ดี ดังนั้นเลยไม่ได้รู้สึกกังวลว่า หากไอโอมาจากเอเจนซี่จะน่ากลัวขึ้น”

“ยามศึกเรารบ ยามสงบเราก็รบกันเอง ในแฟนด้อมก็แบบนี้ เป็นเรื่องปกติมาก เป็นวัฒนธรรมที่ไอโอไม่เคยรู้ ไม่ต้องมาเสี้ยมให้เสียเวลา พวกเราชินกับการตีกันเอง correct หรือตรวจสอบกันเองอยู่แล้วตลอดเวลา ชินกับการเหม็นขี้หน้ากันเอง ถามว่าไอโอเข้ามาผสมโรงไหม เขาก็มา แต่พอมาปุ๊บทุกคนก็รู้ว่าอีนี่คือไอโอ ทุกคนก็แบบว่า มึงไปเล่นไกลๆ อันนี้คนเขาตีกันอยู่” แฟนคลับเกาหลีผู้ใช้ทวิตเตอร์มากว่า 11 ปี กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

  • พบผู้ทวิตเตอร์ทวีตปกป้องสถาบันกษัตริย์เหมือนๆ กัน แม้แต่อายุและคำผิดก็ยังเหมือนกัน https://prachatai.com/journal/2020/10/90182 
  • ทบ.ระบุสไลด์ IO ที่หลุดในทวิตเตอร์ เป็นการสอนเพื่อพัฒนางานสื่อสารออนไลน์  https://prachatai.com/journal/2020/11/90600
  • เปิดสไลด์ ส.ส.วิโรจน์ อีกครั้ง เพจไหนเป็นเป้า บัญชีไหนเป็นหมายของ IO ทหาร https://prachatai.com/journal/2020/03/86617
  • ทวิตเตอร์ปิดบัญชีไอโอ 926 บัญชี แฉตั้งมาอวยกองทัพ-รุมโจมตีคนเห็นต่าง https://prachatai.com/journal/2020/10/89899

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net