Skip to main content
sharethis

13 ม.ค. 2564 วานนี้ (12 ม.ค.) เว็บไซต์มติชนรายงานว่า ฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการเครือมติชน นักข่าว นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ด้วยวัย 59 ปี แวดวงนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักการเมืองร่วมไว้อาลัย


ฐากูร บุนปาน ภาพจาก เพจ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล

ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เขียนข้อความไว้อาลัย ระบุว่า

ด้วยรักและอาลัย…ฐากูร บุนปาน   ทราบข่าวการเสียชีวิตของ “โต้ง -ฐากูร บุนปาน”ผู้บริหารสื่อในเครือมติชน-ข่าวสดด้วยความอาลัยรัก และเสียใจอย่างยิ่งยวด โต้ง…เป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจ ของวงการสื่อมวลชนไทย เป็นคนทำงานสื่อที่มีหัวใจหนักแน่น ยืนหยัดอยู่เคียงข้างผู้ที่เสียเปรียบในสังคม และมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยม ที่อยากเห็นสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ล่าสุดที่ได้พบกัน ผมได้โทรไปคุยและชวนโต้งมาทำกลุ่มC A R E ร่วมกัน ช่วยกันระดมความคิดเห็นในสังคม เพื่อหาทางออกให้สังคมไทย โต้งป่วยและกำลังต่อสู้กับโรคร้าย แต่เมื่อทราบว่าเรากำลังช่วยกันแสวงหาทางเลือกและทางออกให้สังคม โต้งก็ปาวารณาตัวเข้าร่วมอย่างไม่ลังเล พวกเราทุกคนชื่นชมและศรัทธาในความมุ่งมั่นของโต้ง และจิตใจที่เข้มแข็งของโต้ง …แม้นในวันที่เจ็บป่วยก็ยังเข้มแข็งและอยากทำสิ่งดีๆ เท่าที่จะมีกำลังให้ทำได้ ขอให้โต้งไปสู่สุคติ พวกเราทุกคนจะจดจำแบบอย่าง และความเข้มแข็งที่โต้งมีตลอดไป

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ  เขียนข้อความอาลัย ระบุว่า

ในช่วงปี 2559 ผมได้ให้สัมภาษณ์กับทางมติชนเกี่ยวกับการทำประชามติและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จนเป็นที่มาของการได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่โต้งครั้งแรกในเฟสบุ๊ค ผมยังจำได้แม่นยำว่า พี่โต้งบอกกับผมว่า พี่เขาได้เขียนบทความๆ หนึ่ง ณ ตอนนั้นโดยนำเอาประเด็นที่ผมหยิบยกไว้ในบทสัมภาษณ์มาเขียนและพูดวิเคราะห์ต่อ ซึ่งผมได้กล่าวขอบคุณพี่โต้งที่ให้เกียรติผม  ภายหลังจากวันนั้น ผมและพี่โต้งก็ได้สนทนาและเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านกฎหมายและการเมืองกันผ่านเฟสบุ๊กเป็นระยะๆ หน้าไมค์บ้าง หลังไมค์บ้างสลับกันไป ครั้งหนึ่งผมบ่นเบื่อเหนื่อยและท้อแท้กับสภาวะทางกฎหมายและการเมือง พี่โต้งเองได้คุยและให้กำลังใจผม คำพูดของพี่โต้งนั้นนอกจากเป็นการให้กำลังใจแล้ว มันสะท้อนตัวตนของเขาที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้สังคมและการเมืองไทยดีขึ้น เป็นประชาธิปไตยขึ้น  ทั้งนี้ผมขออนุญาตนำเอาข้อความของพี่โต้งที่ให้กำลังใจผมดังกล่าวมานำเสนอครับ  “ช่วยกันคนละไม้ละมือครับ อจ. ดูกราฟจาก ปวศ. ถึง ปจบ. ผมว่ามันก็ดีขึ้นมาก แต่ยังไม่ดีเท่าที่เราคิด/อยากให้เป็น ก็ต้องทำงานกันต่อ”  อุดมการณ์ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และคุณค่าที่พี่ได้สร้างไว้จะคงอยู่เสมอครับ ขอร่วมแสดงความเสียใจและอาลัยกับการจากไปของพี่โต้ง ฐากูร บุนปาน ด้วยครับ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  เขียนข้อความแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ฐากูร บุนปาน รองประธานกรรมการมติชน นักข่าว นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ จากโรคมะเร็ง โดย ระบุว่า

เพิ่งได้รับแจ้งข่าวว่าพี่โต้ง ฐากูร บุนปาน จากไปในช่วงเวลา 13.55 น. ที่ผ่านมาของวันนี้ รู้สึกใจหาย เศร้าใจและเสียใจอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของพี่โต้ง เพราะเป็นบุคคลที่น่ายกย่องของวงการสื่อสารมวลชนและเปรียบเสมือนพี่ชายที่คอยให้คำแนะนำดีๆเสมอมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้ทราบข่าวการป่วยของพี่โต้งและพูดคุยเพื่อให้กำลังใจและสอบถามอาการกันมาอย่างต่อเนื่อง  พี่โต้งเป็นคนที่จิตใจดี ชอบช่วยเหลือ มีความรู้ความสามารถ เป็นนักอ่าน นักคิด นักเขียนและเป็นนักประชาธิปไตยที่ยังคงอุดมการณ์และสนับสนุนหลักการนี้ไม่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่รักใคร่ของพี่น้องในวงการสื่อสารมวลชนและแวดวงการเมือง

ดิฉันต้องขอแสดงความเสียใจอีกครั้งกับครอบครัวของพี่โต้งและผู้บริหารเครือมติชนที่สูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รัก และขอร่วมไว้อาลัยด้วยความรักในคุณงามความดีของพี่ ขออานิสงส์แห่งกุศลกิจที่พี่โต้งได้ปฏิบัติมา จงเป็นพลวปัจจัยน้อมนำให้ดวงวิญญาณของพี่ไปสู่สุคติในสัมปรายภพค่ะ

เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนกลอนไว้อาลัย

เห็นกันอยู่หลัดหลัดมาพลัดพราก
ไม่ทันเอ่ยลาจากน่าใจหาย
รสน้ำคำน้ำใจยังไม่วาย
เป็นหลักหมายสร้างสรรค์สื่อปัญญา
สื่อตัวแทนมติมหาชน
เคารพตนซื่อตรงคงรักษา
กลางอำนาจอามิสมหิทธา
แบบอย่างฐากูรอันบรรเจิดใจ

หนุ่มเมืองจันท์ หรือ สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนชื่อดัง เขียนข้อความไว้อาลัย ระบุว่า

ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้าไปทำงานที่กองบรรณาธิการ”ประชาชาติธุรกิจ” “พี่โต้ง” ก็อยู่ที่นั่นแล้ว ในฐานะ”พี่”
“พี่โต้ง” ฐากูร บุนปาน เป็นรุ่นพี่ที่น่ารัก. มีน้ำใจ และอารมณ์ขัน

ในฐานะ”นักข่าว”  “พี่โต้ง” คือ นักข่าวต้นแบบที่ครบเครื่องที่สุด ทั้งเรื่องการเงิน-การคลัง การเมืองอาชญากรรม ทหาร และสายสัมพันธ์ที่กว้างขวาง ผมไม่เคยเห็นนักข่าวคนไหนครบเครื่องเท่านี้มาก่อน

ในฐานะ”คลังความรู้” “พี่โต้ง” เป็น”คลังความรู้” ระดับ”อับดุล” ถามอะไรรู้…รู้  เขาเป็นนักอ่านตัวยงที่อ่านทุกเรื่อง รอบรู้แบบนึกไม่ถึง ทั้งเรื่องข่าว เรื่องประวัติศาสตร์ ต่างประเทศ. นิยายกำลังภายใน โหราศาสตร์ อาหาร เพลง ฯลฯ  “พี่โต้ง” เป็นคนดีที่น่าเคารพ จะมี”ข้อเสีย” ก็เพียงเรื่องเดียว ..พี่ใช้เวลาอยู่บนโลกใบนี้สั้นจัง

นิตยสาร สารคดี เผยแพร่ข้อความอาลัยคำให้สัมภาษณ์ของฐากูร ในเพจ Sarakadee Magazine ระบุว่า

นิตยสาร สารคดี และ เพจ Sarakdee Magazine ขอแสดงความอาลัยมา ณ โอกาสนี้ครับ

“การทำข่าวคือการนำเสนอความจริง กลางคือให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงเหตุผลข้อมูลทัศนะของตัวเองออกมาให้ครบถ้วนที่สุด เป็นเวทีสำหรับการแสดงข้อมูล ความคิดเห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเลือกจะไม่เชื่ออะไรเลย ไม่ใช่ เราอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เราก็ต้องเลือกเชื่อในสิ่งที่เราคิดว่ามันถูก ในสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่”  ฐากูร บุนปาน

จากบทสัมภาษณ์ ฐากูร บุนปาน บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ ข่าวสด “กัดไม่ปล่อย”  สารคดี ฉบับที่ 168 กุมภาพันธ์ 2542 วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์ ชัยชนะ จารุวรรณากร : ภาพ

บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน เขียนข้อความอาลัย ระบุว่า

เวลาประชุมพ่อครัวใหญ่ สมัชชาคนจนในกรุงเทพ เรามักจะจัดให้มีวิทยากรมาช่วยวิเคราะห์สถานการณ์ให้เป็นประจำ วิทยากรส่วนใหญ่ก็เป็นนักข่าว นักวิชาการที่คร่ำหวอดในวงการ แล้วแต่จะมีใครสะดวกหรือใครที่น่าสนใจในช่วงนั้นๆ บ้าง  พี่โต้งเป็นขาประจำคนหนึ่งที่พวกเราชวนมาวิเคราะห์สถานการณ์ให้ตลอดเวลาที่ว่าง ด้วยลีลาที่คุยสนุก คุยได้ทุกเรื่อง และมีข่าวซีฟมาให้ฟังตลอด จึงเป็นที่ชื่นชอบของพี่น้องสมัชชาคนจนยิ่งนัก และพี่โต้งก็เมตตาพวกเราไม่น้อย

ล่าสุดเมื่อต้นปีที่แล้ว ผมได้ชวนพี่โต้งมาช่วยคุยให้ฟังอีกครั้ง พี่โต้งตอบรับด้วยความยินดี ก่อนจะลงท้ายว่า “ผมต้องให้คีโมก่อนนะครับ ถ้าไม่เหนื่อยเกินไปผมไปแน่นอน” เล่นเอาผมต้องบอกยกเลิกพี่ด้วยความเกรงใจ ผมไม่ทราบไม่ได้ติดตามเลยว่าพี่ป่วย เพราะเห็นว่ายังเล่นเฟซบุ๊ค ยังกดไลค์กันอยู่ จนกระทั่งเมื่อวานเกิดคิดถึงพี่ขึ้นมา เห็นว่าพี่หายไปเลยเข้าไปส่องดูในเฟซบุ๊คพี่ ถึงเห็นว่าพี่ไม่ได้โพสต์นานแล้ว ก็ให้นึกเป็นห่วงอยู่ในใจ พอมาวันนี้เฟซบุ๊คพี่เด้งขึ้นมา ปรากฎว่าเป็นข่าวว่าพี่จากไปแล้ว เสียใจมากครับ เสียดายด้วย ไม่คิดว่าพี่จะจากไปเร็วอย่างนี้ ขอขอบคุณความเมตตาที่พี่มอบให้พวกเรา รักและอาลัยนะครับ พี่

รุ่งมณี เมฆโสภณ นักคิดนักเขียน โพสต์ข้อความไว้อาลัยการจากไป ระบุว่า แม้จะรู้มาบ้างว่าโต้งป่วย แต่ก็คาดไม่ถึงว่าโต้งจะจากไปเร็วขนาดนี้

โต้งป็นนักข่าวรุ่นน้องไม่กี่คนที่เรียกแม่รุ่งว่า “เจ๊” ในสายตาของคนที่โต้งเรียกว่า “เจ๊” คนนี้ โต้งเป็นเด็กเสมอ เราสองคนสนิทกันราวปี 2527 ตอนนั้นโต้งเพิ่งจบจากรัฐศาสตร์ จุฬา มาเป็นนักข่าวมติชน เราเจอกันบ่อย ช่วงติดตามทำข่าวสันติภาพเขมร ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดความประทับใจที่มีต่อโต้ง เด็กหนุ่มร่างเพรียว หูกาง ไม่ใช่ความสดใสของวัยเยาว์ และความช่างพูดช่างคุย แต่เป็นเพราะความรู้ในเรื่องที่ตัวเองติดตามทำข่าวอย่างดี ดีพอที่จะคุยแลกเปลี่ยนกับ “เจ๊” ได้ เวลาผ่านไป เราต่างมีเส้นทางชีวิตที่ทำให้เจอกันบ้าง ไม่เจอกันบ้าง แต่ทุกครั้งที่เจอกันก็คุยกันสนิทสนมเหมือนเคย โต้งอาจจะเป็น “ผู้ใหญ่” ขึ้นในสายตาของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับพี่ โต้งก็คือโต้ง ช่วงหลัง เราสองคนคุยกันอยู่บ้างผ่านทาง messenger ถามทุกข์สุขกัน คุยกันเรื่องสวน เรื่องของกินอร่อย รวมทั้งเป็นช่องทางอวยพรวันเกิด เมื่อวันเกิดโต้ง 18 ธันวาคม ที่เพิ่งผ่านมา ส่งข้อความอวยพรโต้งไป แต่ข้อความไม่ได้ถูกอ่าน …ไม่มีคำขอบคุณ หรือสติกเกอร์จากโต้ง มาวันนี้ตอนบ่ายถึงได้ข่าวโต้ง หลับให้สบายนะน้อง

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนข้อความไว้อาลัย ระบุว่า

“ฐากูร บุนปาน หรือคนที่รู้จักมักคุ้นกันจะเรียกว่าโต้ง ผมกับโต้งรู้จักกันมานาน โต้งเป็นคนมีไฟในการทำงาน และชอบศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ใหม่ๆ เป็นผู้ที่เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเครือมติชนจนประสบความสำเร็จ ด้วยความที่เป็นคนมีวิสัยทัศน์และมีความรอบรู้ และยังเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยดี จึงเป็นที่รักใคร่ของผู้คนในหลากหลายวงการ   ตั้งแต่โต้งป่วย ผมยังได้พูดคุยให้กำลังใจกันในหลายโอกาส โต้งมีกำลังใจที่ดีอยู่เสมอ เมื่อได้ทราบข่าวการจากไป จึงรู้สึกเสียใจและเสียดายอย่างยิ่งที่วงการสื่อสารมวลชนต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถไปอีกท่านหนึ่ง  ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวบุนปานและผู้ใกล้ชิดกับโต้ง ขอให้ดวงวิญญาณของโต้งไปสู่สุคติในสัมปรายภพครับ

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ เขียนข้อความไว้อาลัยสั้นๆ ระบุว่า ” ขอเกิดเป็นเพือนคุณทุกชาติไป” และ โต้ง…ถ้าผู้มีอำนาจเข้าใจที่คุณสอนผมว่าเราควรพูดแต่เรื่อง “ความ” ไม่ใช่พูดเรื่อง”คน” แล้วเปิดใจกว้างรับฟัง ประเทศเราคงจะเดินไปข้างหน้าได้ดีกว่านี้ ขอบคุณสำหรับคำสอนที่มีค่าน่ะเพือน…

อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เขียนข้อความ ระบุว่า “อาลัยเพื่อนรัก เพื่อนผู้เป็นแบบอย่างคนข่าวที่ยึดมั่นอุดมการณ์และจิตใจเคียงข้างประชาธิปไตยอย่างมั่นคง”

ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนข้อความไว้อาลัย ระบุว่า

วันนี้หลายคนพูดถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ของแวดวงคนอ่านหนังสือ ทำหนังสือ นั่นคือการสูญเสียโต้ง ฐากูร บุนปาน แห่งมติชนไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ผลงานในฐานะสื่อมวลชนตัวจริงที่มั่นคงต่อวิชาชีพของตนเองเป็นเรื่องที่มีใครต่อใครหลายคนพูดถึงและเป็นพยานรู้เห็นกันอยู่โดยถ้วนทั่ว แน่นอนว่าเมื่อผมทำงานด้วยสารพัดเรื่องเกี่ยวข้องกับมติชน ผมย่อมรู้จักค้นเคยกับโต้งด้วยเป็นธรรมดา ทุกวาระโต้งวางตัวอยู่ในฐานะเป็นน้องที่น่ารัก โจ๊กเนื้อแบบฮ่องกงที่โต้งทำให้กินที่ร้านเบรนเวคของปุ้มยังอร่อยติดปลายลิ้น ผมเขียนหนังสือเรื่องใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร โต้งก็ให้กำลังใจและเป็นนักอ่านที่เป็นกองหนุนของผมเต็มที่ พอสนิทกันมากขึ้น โต้งมากระซิบกับผมว่า ภริยาของโต้งนามสกุลเดียวกับสกุลเดิมแม่ผม นั่นคือ สุวรรณทัต ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่มีญาติจำนวนมาก เราเคยกางตำราไล่เรียงกันแล้ว ได้ความว่าโต้งเป็น”น้าเขย”ของผม โต้งปฏิเสธฐานะนั้นเป็นพัลวัน บอกว่าขอเป็นลูกศิษย์ของผมก็เพียงพอแล้ว

โต้งทำงานแบบฝากฝีมือมาตลอดชีวิต แม้วันสุดท้ายในชีวิตมาถึงแล้ว ผลงานของโต้งและน้ำใจไมตรีที่มีให้กับทุกคนรอบข้างจะไม่สูญหายไปข้างไหน พักผ่อนให้สบายนะครับ”คุณน้า”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขียนข้อความไว้อาลัย ฐากูร บุนปาน ดังนี้

วันนี้ได้ทราบข่าวการจากไปของพี่โต้ง ฐากูร บุนปาน ด้วยความอาลัยยิ่ง พี่โต้งเป็นคนเก่ง อัธยาศัยดี มีความรู้มากมายหลายด้าน มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ พี่โต้งเป็นคนทันสมัย ชอบหาความรู้ใหม่ๆ ทุกครั้งที่นัดเจอกัน พี่โต้งจะหอบหนังสือมาฝากถุงใหญ่ๆเสมอ เวลาผมมีคำถามในหลายๆเรื่อง ก็จะยกหูหาพี่โต้งและได้คำตอบที่ตรงไปตรงมาทุกครั้ง ถึงแม้ว่าพี่โต้งจะจากพวกเราไปแล้ว แต่ผมมั่นใจว่าความคิด อุดมการณ์ ความรู้ ที่พี่โต้งได้ฝากไว้ตลอดชีวิตการทำงานยังคงอยู่และ จะเป็นกำลังใจ ไฟส่องทางให้พวกเราเดินหน้าต่อไป
คิดถึงพี่โต้ง หลับให้สบายนะครับ

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน ได้เขียนข้อความอาลัย ว่า

ขอแสดงความเสียใจและอาลัยต่อการจากไปของ คุณฐากูร บุนปาน รองประธานคณะกรรมการบริษัท มติชน ได้มีโอกาสพบ สนทนา แลกเปลี่ยนมุมมองในหลายๆ เรื่องทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งคุณฐากรูมีความรอบรู้และรู้รอบเกือบทุกแง่มุมในแต่ละเรื่องที่สนทนา เสียดายที่วงการสื่อสารมวลชนได้สูญเสียบุคคลสำคัญและมีบทบามต่อวงการสื่อสารมวลชน ขอให้ดวงวิญญาณของคุณฐากรูไปสู่สุคติในสัมปรายภพ

พิภพ ธงไชย อดีตนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวด้านการเมืองและสังคม เขียนข้อความไว้อาลัย ระบุว่า

อาลัยฐากูร บุนปาน  “โต้ง” ฐากูร บุนปาน กับผมรู้จักกันดีสมัยที่ ฐากูร กุมบังเหียนหนังสือพิมพ์ข่าวสด ช่วงปี 2540 เมื่อครั้งที่กลุ่มอนุรักษ์กาญฯต่อต้านท่อก๊าซ ไทย-พม่า ช่วงปลายปี 2540 ถึงต้นปี 2541 สมัยนายกฯชวนเป็นผู้นำรัฐบาล และผมเป็นประธาน ครป.-คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

ฐากูรส่งทีมนักข่าว นสพ.ข่าวสด ไปอยู่กับพวกเราช่วงปิดป่าที่ทองผาภูมิ ที่มีคุณภินันท์ คุณบุญส่ง มดจากสมัชชาคนจน กับ NGO สายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแอ๊ว-รัชนี ธงไชย ครูใหญ่หมู่บ้านเด็กกับทีมงานหมู่บ้านเด็ก ร่วมกับชาวบ้านจรเข้เผือกกับนักศึกษาจาก สนนท. ลงไปตั้งค่ายขวางท่อก๊าซ ปตท.ที่วางพาดภูเขาผ่านป่าลุ่มน้ำ 1A ในป่าลึก ร่วม 3 เดือน หลังจากนั้น ส.ศิวรักษ์ก็ลงไปปิดป่าต่อจากกลุ่มอนุรักษ์กาญฯ จนถูกจับ

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ตีพิมพ์รายงานข่าวจากพื้นที่ทุกวัน อย่างละเอียดนานถึง 3 เดือน และถือได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่รายงานเรื่องสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในยุคสมัยนั้น ทั้งทีม บก.ที่”โต้ง”เป็น บก.บริหาร ใส่ใจรายงานข่าวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่า ดีกว่า หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ

วันนี้ทราบข่าวว่า ”ฐากูร บุนปาน” เสียชีวิตในวัยไม่ถึง 60 ให้เสียใจและเสียดายนัก เพราะเขาเป็นคนหนุ่มที่เป็นดาวเด่นของสื่อมวลชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถยิ่ง ที่ไม่ควรมาเสียชีวิตในเร็ววัน ให้เสียดายนัก

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฏร เขียนถ้อยคำไว้อาลัย ระบุว่า

เสียใจ เสียดาย และอาลัยรักอย่างสุดซึ้ง เสียใจ เสียดายแทนแผ่นดิน แทนครอบครัว “บุนปาน” แทน เครือมติชน แทนมวลมิตรทุกคน ต่อการจากไปของ ฐานันดรที่สี่ที่มีจิตวิญญาณของสื่อมวลชนอย่างเต็มเปี่ยม

เป็นความภาคภูมิใจของชีวิตที่ได้รู้จัก ได้รับน้ำใจไมตรี จาก โต้ง เสมือนเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน ได้มีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตร วิทยาการการพลังงานรุ่นที่1ด้วยกัน เป็นช่วงที่ได้คุยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆกัน รู้ตัวเองครับ ว่า หลากหลายเรื่องราว โต้งได้ให้วิทยาทานที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน ทำให้โลกทัศน์กว้าง และทันความเปลี่ยนแปลงสังคม โต้ง ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว วันนี้จึงไม่มีอะไรที่ โต้งต้องเป็นห่วงกังวล หลับ พักผ่อน ให้สมกับที่เหน็ดเหนื่อยในการรังสรรค์สังคมงามมาทั้งชีวิตของ โต้งเถิดครับโต้งจะอยู่ในใจ และความทรงจำของผู้คนในสังคมตราบนิรันดร์

บรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เขียนข้อความอาลัย ระบุว่า อาลัยฐากูร บุนปาน น้องชายที่น่านับถือ

ผมรู้จักโต้งมาตั้งแต่เขายังเป็นนักข่าวหนุ่มน้อยไฟแรง เมื่อกว่าสามสิบห้าปีก่อน เพราะผมได้รับมอบหมายให้ก่อร่างสร้างฝ่ายและธุรกิจ Investment Banking(วานิชธนกิจ)ของบงล.ภัทรธนกิจในปี2529 ขณะที่โต้งที่ถึงจะจบรัฐศาสตร์แต่ได้รับมอบหมายให้ทำข่าวการเงินและเศรษฐกิจให้กับประชาชาติ

ด้วยความที่เป็นผู้ใฝ่รู้และรับผิดชอบของโต้ง ทำให้โต้งมีแหล่งข่าวที่กว้างขวางมาก โต้งรู้จักคุ้นเคยกับนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจที่สำคัญแทบทุกคนในประเทศไทย เขาจะตระเวนไปพบปะพูดคุยกับผู้คนในวงการอย่างทั่วถ้วนสมทำเสมอ มีผลงานข่าวเศรษฐกิจที่โดดเด่น เรียกได้ว่าเป็นนักข่าวเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้นก็ว่าได้

การได้รู้จักคุ้นเคยกับโต้ง นอกจากจะเป็นปมเขื่องสำหรับนักการเงินตัวเล็กๆอย่างผมในเวลานั้นแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผมเป็นอย่างมากเพราะนอกจากจะได้รู้ถึงข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการ(เท่าที่เขาจะเล่าให้ฟังได้โดยไม่ผิดหลักการ…เพราะถ้าเรื่องอะไรเขาบอกว่าบอกไม่ได้ ผมก็จะไม่เซ้าซี้) ยังทำให้เข้าใจถึงโครงสร้างและโครงข่ายความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยทีเดียว ในระบบทุนนิยมพรรคพวกของไทย

ประโยชน์สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ได้จากความสนิทสนมกับโต้ง ก็คือ ถ้าใครรู้จักโต้งวัยหนุ่ม จะจำได้ว่าเจอโต้งที่ไหนก็ต้องเห็นเขามีนิตยสาร”ดิอีโคโนมิสต์”ติดตัวอยู่ตลอด ผมยังเคยแซวโต้งเลยว่า”เอ็งถือไว้เป็นพร็อพให้ดูเท่เหรอวะ” ซึ่งโต้งก็บอกว่า”เปล่าพี่ ผมอ่านจริงๆ มันเป็นนิตยสารที่ดีที่สุดในโลก อ่านแล้วเปิดโลกทัศน์ เล่มเดียวพอ รู้ทุกอย่างในโลก” ซึ่งนั่นก็เลยทำให้ผมเป็นสมาชิกนิตยสารนี้ไปด้วย เปิดโลกมหาศาล ผมยังเคยพูดเล่นกับโต้งเลยว่าน่าจะบังคับในรัฐธรรมนูญให้นายกทุกคนต้องอ่านดิอีโคโนมิสต์ (ถ้าจำไม่ผิด โต้งเล่าว่าคุณธารินทร์ นิมมานเหมินทร์เป็นคนแนะนำให้โต้งอ่าน)

โต้งเป็นมิตรที่ดียิ่งกับผมมาตลอด ถึงแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง ถึงกับเคยต้องโต้เถียงกันก็มี แต่ต่างก็เคารพในจุดยืนในความแตกต่าง และเชื่อมั่นในเจตนาที่ดีของอีกฝ่ายตลอดมา

เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ บริษัท GMM GRAMMYที่ผมเป็นกรรมการอยู่ได้พยายามเข้าครอบงำกิจการของเครือมติชนอย่างไม่เป็นมิตร(ด้วยความเข้าใจผิด) แล้วเกิดเหตุวิวาทกันใหญ่โต ผมถูกขอให้เป็นคนกลางจัดให้มีการเจรจาที่ห้องทำงานผม โดยโต้งเป็นตัวแทนของเครือมติชน และมีคุณถั่ว สุเมธ ดำรงชัยธรรม CFOของแกรมมี่เป็นตัวแทนอีกฝ่าย ซึ่งเหตุการณ์ก็จบลงด้วยดี แกรมมี่ยอมถอยลดสัดส่วนการถือหุ้นลง เป็นมิตรกันเหมือนเดิม

ตอนต้นปี 2562 ผมป่วยหนักนอนอยู่โรงพยาบาลเดือนครึ่ง โต้งโทรเข้ามาเยี่ยม แล้วบอกว่า”ผมก็ป่วยเหมือนกัน เจอมะเร็งในหลอดอาหาร กำลังให้คีโมอยู่ คงต้องเยี่ยมทางโทรศัพท์นะพี่” หลังจากนั้นทราบว่าโต้งดีขึ้น มาทำงานได้ ผมเลยนัดทานข้าวกันครั้งหนึ่งพูดคุยถึงเรื่องเก่ากัน

โต้งเป็นกวีที่คมคายมาก เขียนโคลงกลอนได้อย่างเฉียบคม ใช้คำได้ดีมากๆ ได้เคยเขียน ให้ผมถึงสองครั้ง เมื่อคราวแซยิดและปีใหม่ครั้งหนึ่ง

ในวาระนี้ ผมจึงขอแต่งโคลงให้โต้งสักบทหนึ่งเพื่อเป็นการระลึกถึงมิตรภาพที่ดีที่มีมายาวนานของเรา

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนอาลัยระลึกถึง ฐากูร ระบุว่า

คิดถึงโต้ง …
คิดถึงนักสื่อสารมวลชนประชาธิปไตยไทย!

วันนี้อยากจะขออนุญาตสักหน่อยที่จะใช้พื้นที่ ที่ผมมักใช้เป็นเวทีในการนำเสนอบทความส่วนนี้ เพื่อเขียนรำลึกถึงเพื่อนผู้จากไปคือ “คุณฐากูร บุนปาน” หรือที่ทุกคนรู้จักกันด้วยชื่อเล่นว่า “โต้ง” … บ่ายวันที่ 12 ที่ผ่านมา หลายคนล้วนส่งข่าวกันถึงการจากไปของโต้ง ผมรับรู้ข่าวนี้ด้วยความตกใจและเสียใจ ทั้งที่รู้ว่า สักวันหนึ่งข่าวนี้ก็คงมาถึง … แล้วในที่สุด ข่าวนี้ก็มาจริงๆ

ผมกับโต้งรู้จักกันมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งโต้งเป็นนิสิตรุ่นน้องที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โต้งห่างจากผม 6 รุ่น ผมจึงไม่ทันได้สอนในชั้นเรียน ดังนั้นความสัมพันธ์ของสองเราจึงเป็นแบบเพื่อนรุ่นน้องสิงห์ดำมากกว่าจะเป็นแบบลูกศิษย์ โต้งเป็นน้องที่ผมสนิทมากคนหนึ่ง และสนิทมากอีกส่วนหนึ่งในความเป็น “ชาวมติชน” ด้วยการที่ผมเองได้มีโอกาสเขียนบทความในมติชนมาตั้งแต่ เมื่อได้รับนิรโทษกรรมออกมาจากการถูกคุมขังที่บางขวางใน “คดี 6 ตุลาฯ” ในปี 2521 [ซึ่งคงต้องขอขอบคุณทั้งพี่ช้าง (พี่ขรรค์ชัย บุนปาน) ที่ให้โอกาสผมอย่างเต็มที่ และพี่เสถียร (พี่เสถียร จันทิมาทร) ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด]

ผมมาเจอกันกับโต้งที่มติชน เมื่อมติชนมีบ้านใหม่ที่ประชาชื่นแล้ว และเจอกันมากจริงๆ ตอนโต้งมาเป็น “หัวเรือใหญ่” ของข่าวสด และโต้งสามารถพา “รัฐนาวาข่าวสด” โต้คลื่นลมแรงจนออก “ทะเลใหญ่ของสื่อสารมวลชนไทย” ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ และที่สำคัญ โต้งได้สร้าง “แบรนด์ข่าวสด” ให้เป็นหนึ่งในวงการสื่อไทยตราบจนทุกวันนี้

ในครั้งนั้นทุกวันศุกร์ พวกเราที่เป็นนักเขียนคอลัมน์มติชนมักจะไปนั่งเล่น … นั่งคุย … นั่งกินกันที่สำนักงานข่าวสด จนถึงขนาดโต้งทำบัตรนักข่าวของข่าวสดให้ผมด้วย เพราะจะได้ไม่ต้องลงชื่อในสมุดบันทึกของ รปภ. ทุกครั้งที่มา จน รปภ.ในขณะนั้นเชื่อว่า ผมเป็นนักข่าวของข่าวสดคนหนึ่ง เพราะมาเป็นประจำทุกศุกร์ เสมือนหนึ่งมาประชุมโต๊ะข่าว

รายการคุยวันศุกร์มักจะเริ่มตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ไปจนเย็น และบางส่วนอาจเลยไปจนค่ำด้วย คุยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่การเมืองไปจนถึงการ… ต่างๆ สำหรับผมแล้ว นี่เป็น “ศุกร์หรรษา” ในช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะเราไม่เพียงคุยกับคนคอเดียวกัน แต่ยังเป็นโอกาสของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และมุมมอง โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกับพี่เสถียร กับโต้ง และกับอีกหลายคน แน่นอนว่า ข้อมูลเรื่องการเมืองเชิงลึกในวงสื่อมักมีมากกว่าพวกเราที่เป็นอาจารย์เสมอ

ทุกเย็นวันศุกร์ ผมจะรับลูกจากโรงเรียนสาธิต จุฬาฯ แล้วรีบตรงมาข่าวสดทันที จนทุกวันศุกร์ ลูกเลยได้มาวิ่งเล่นเป็นประจำอยู่ที่ข่าวสด แทนสนามเด็กเล่นที่โรงเรียนตั้งแต่เล็กๆ และทุกครั้งที่มา โต้งจะทักทายและมาเล่นกับลูกผมอย่างอบอุ่น และต่อมาในทุกครั้งและทุกโอกาสที่เจอกัน โต้งจะถามถึงลูกเสมอ เพราะเห็นมาตั้งแต่เล็ก … โต้งอาจจะเป็นนักเขียนปากกล้า ที่กล้าท้าทายในสื่อ แต่กับลูกผม โต้งเป็น“อาโต้ง” ที่ชวนคุยเล่นคุยหัวอย่างสนุกทุกครั้ง

หลังจากผมย้ายบ้านและลูกเรียนชั้นสูงขึ้น ผมเริ่มไม่ได้ไปเวทีวันศุกร์ที่ข่าวสดบ่อยครั้งอย่างที่เคย จนผมเองห่างหายไปในที่สุด แต่เราก็ยังติดต่อกัน และคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองกันเป็นระยะ ซึ่งอาจจะเพราะเราสองคน และอาจรวมอีกหลายคนที่ต้องคำสาปของ “มนต์การเมือง” ที่ไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไร แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องลงเอยด้วยเรื่องการเมือง

ด้วยความที่รู้จักกันมานาน คุยกันมานาน ผมรับรู้เสมอว่า โต้งอยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศเจริญก้าวหน้าทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และเป็นความอยากที่เป็น “กิเลสละเอียด” ที่มีประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง จนผมกล้ารับรองว่า โต้งเป็น “นักสื่อสารมวลชนประชาธิปไตย” ที่ยึดมั่นในความถูกต้องคนหนึ่งของวงการสื่อไทย … ถ้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้ง “รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นด้านประชาธิปไตย” แล้ว ผมเชื่อว่า โต้งสมควรอย่างยิ่งที่จะได้ขึ้นเวทีรับรางวัลนี้ในงานชุมนุมสิงห์ดำ ที่สนามหญ้าของคณะฯ

อีกทั้งอาจจะต้องขอกล่าวในส่วนของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า โต้งทำหน้าที่เป็นศิษย์เก่าที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ทุกครั้งที่คณะฯ หรือภาควิชาฯ มีเรื่องต้องขอประสานด้วย คำตอบที่ได้เสมอมาก็คือ “พี่บอกมาเลย…” และเราก็ได้รับความอนุเคราะห์จากมติชนและข่าวสดเป็นอย่างดี ผมอาจจะไม่ใช่ตัวแทนที่เป็นทางการของคณะฯ แต่อยากขอกล่าวในความเป็น “รุ่นพี่สิงห์ดำ” ด้วยความขอบคุณในความช่วยเหลือที่ได้รับเสมอมา

วันนี้โต้งตัดสินใจออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อนเวลาอันสมควร ทิ้งสังคมการเมืองไทยที่โต้งเคยห่วงใย และเคยปรารถนาที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าไว้เบื้องหลัง แต่ผมเชื่อเสมอว่าความห่วงใยและความปรารถนาของโต้งเช่นนี้ไม่เคยแปรเปลี่ยน แม้กายสังขารอาจจะต้องเปลี่ยนแปรรูปไปกับความเป็น “อนิจจังแห่งชีวิต” ก็ตาม

ตลอดระยะเวลาของชีวิตที่พวกเราได้เห็น โต้งได้ทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารมวลชนประชาธิปไตยที่ยึดมั่น เช่นเดียวกับที่เป็นศิษย์เก่าฝ่ายประชาธิปไตยของคณะรัฐศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ ที่สำคัญโต้งเป็นเพื่อนที่เสมอต้นเสมอปลายของทุกคน และอุดมด้วยอารมณ์ขันอย่างไม่เคยขาด นอกจากนี้ในทางวิชาชีพ ผมเชื่อว่า โต้งเป็น “กัปตันเรือ” ที่ดีคนหนึ่งสำหรับบรรดาลูกเรือในนาวามติชน-ข่าวสด เช่นที่ผมรับรู้เสมอว่า โต้งเป็น “คุณพ่อ” ที่ดีของครอบครัวเสมอ

แม้วันนี้เราจะไม่ได้ยินเสียงคุย เสียงหัวเราะของโต้งอีกก็ตาม แต่เราจะยังคงรำลึกถึงเขาเสมอ … บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า เทวดาอาจต้องการนักสื่อสารมวลชนที่มีพื้นเพทางรัฐศาสตร์ขึ้นไปช่วยงานสื่อบนสวรรค์ เพราะยุคนี้ “fake news” และ “IO” ถูกปล่อยออกมามากมายเหลือเกิน จนเหล่าทวยเทพไม่อาจรับมือไหว จึงรีบตัดสินใจพาโต้งออกเดินทางไปจากพวกเรา อย่างที่พวกเราไม่ทันตั้งตัว

ขอให้การเดินทางเพื่อไปช่วยงานสื่อบนสวรรค์ของโต้งในครั้งนี้เป็นความสุข และขอให้ทิ้งความเจ็บปวดและป่วยไข้ของสังขารไว้ในภพนี้ …

ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับ “ครอบครัวบุนปาน” สำหรับการจากไปของโต้งครับ

สุรชาติ บำรุงสุข
12 มกราคม 2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net