Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ล้อ : สิ่งบ่งชี้ “อารยธรรม”(1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 

ปัญหาจึงมาอยู่ที่เรื่องเดียวคือถนน ไม่ว่าจะเป็นถนนสำหรับคาราวานล่อ-ลา หรือสำหรับล้อ

ชาวบ้านย่อมไม่สร้างถนน เพราะไม่มีความจำเป็น ส่วนใหญ่ของชุมชนในภาคกลางตั้งอยู่ริมทางน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ กลายเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันได้กว้างขวาง แต่แม้ในชุมชนที่ไม่ติดทางน้ำ ก็มีเหตุที่จะต้องสื่อสารคมนาคมกับชุมชนอื่นน้อย

ฉะนั้น ถนนนอกชุมชนจะมีขึ้นได้ก็เพราะรัฐสร้างเท่านั้น เช่นเดียวกับคลองระยะไกล ก็เกิดขึ้นเพราะรัฐเกณฑ์ไพร่มาขุด รัฐบนภาคพื้นทวีปของภูมิภาคแถบนี้ล้วนพึ่งพาอาศัยทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างถนน

แม้กระนั้นก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า อาณาจักรกัมพูชาเคยสร้างถนนมาถึงพนมรุ้ง, พิมาย และเมืองหลักอื่นๆ ในภาคอีสานเป็นอย่างน้อยมาแล้ว เรื่องถนนอันยืดยาวเหล่านี้จะจริงหรือไม่ ผมไม่มีความรู้พอจะบอกได้ แต่ที่ผมอยากรู้มากกว่าก็คือ อะไรที่วิ่งหรือเดินบนถนนสายดังกล่าว หรือถนนหากมีจริงถูกใช้อย่างไร

ดังนั้น ความคิดเรื่องการขนส่งคมนาคมด้วยถนนในราชอาณาจักรขนาดใหญ่หรือบางส่วนของมัน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยทำกันมาในภูมิภาคแถบนี้ ยิ่งหากมองไปนอกภูมิภาค ก็ยิ่งจะเห็นว่า ถนนได้นำกองทัพ, คำสั่ง, การค้า, ภาษี และภาษาขยายไปได้กว้างขวางในหลายรัฐ เช่น จีน, อินเดียตอนเหนือ ยังไม่พูดถึงรัฐอื่นๆ อีกมากในแถบตะวันออกกลาง เช่น เปอร์เซียและอียิปต์

ถนนจะเปลี่ยนอยุธยาไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ รวมทั้งเปลี่ยนลูกหลานคือบางกอกให้ไม่เหมือนกับที่เรารู้จักในทุกวันนี้ ผมขอยกให้ดูเพียงบางเรื่องเท่านั้น

ถนน (ที่ใช้ได้ตลอดปี) น่าจะทำให้การผลิตนอกภาคเกษตรกลายเป็นอาชีพถาวรแก่คนจำนวนมาก เหตุผลหลักที่ทำให้ช่างฝีมือ เช่น ช่างตีเหล็ก, ปั้นหม้อ, ช่างแกะสลัก, ครูเพลง ฯลฯ สามารถผลิตได้ตลอดปีโดยไม่ต้องหยุดไปทำนาก็คือตลาดที่กว้างใหญ่ ตราบเท่าที่ช่างสามารถขายสินค้าของตนได้ในละแวกที่ไม่กว้างขวางนัก รายได้ของเขาย่อมไม่พอเลี้ยงตัวและครอบครัว จึงต้องหยุดงานเพื่อผลิตอาหาร

เพราะไม่ใช่ช่างเต็มเวลา โอกาสจะพัฒนาฝีมือก็เป็นไปได้ยาก การพัฒนาฝีมือนำมาซึ่งการประดิษฐ์ คือดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่เคยทำมาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอันกว้างใหญ่ ในขณะที่การช่างและการค้าขยายตัว ตลาดข้าวภายในก็คงขยายตัวขึ้นด้วย และย่อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันที่จริงเหตุผลหนึ่งที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอังกฤษก่อน (แทนที่จะเป็นประเทศอื่น) ก็เพราะตกถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 อังกฤษมีเส้นทางคมนาคมไปทั่วถึงแทบจะทุกหมู่บ้านแล้ว ตลาดที่กว้างใหญ่ผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าชนิดต่างๆ อยากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของตน และพร้อมจะยอมรับเทคโนโลยีใหม่ใดๆ ก็ได้ที่ทำให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว

ถนนน่าจะทำให้ความมั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้น อย่างน้อยทุพภิกขภัยเฉพาะถิ่นก็คงแก้ได้ง่าย โดยรัฐหรือโดยพ่อค้าก็ตาม ความมั่นคงด้านอาหารสูงขึ้น ประชากรก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ตลาดภายในยิ่งขยายใหญ่ขึ้น เร่งเร้าให้การผลิตทั้งสินค้าและอาหารยิ่งขยายตัว ความมั่งคั่งโดยรวมก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากการดูดทรัพยากรไปเลี้ยงราชสำนักเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่า (เปรียบเทียบยุโรปตะวันตกกับรัสเซียในศตวรรษที่ 19)

อำนาจควบคุมของรัฐผ่านถนนก็คงเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ถนนไม่เป็นหลักประกันว่า รัฐจะใช้อำนาจที่เพิ่มขึ้นนี้ไปในทางที่ดีแก่ประชาชนมากน้อยเพียงไร แต่อย่างน้อยการปราบปรามโจรผู้ร้ายก็คงทำได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาดยิ่งขึ้น เพิ่มความปลอดภัยในทรัพย์สินให้แก่ประชาชน

ในขณะเดียวกัน อยุธยาก็น่าจะเป็นศูนย์กลางการค้าที่ดึงดูดการค้านานาชาติได้มากกว่าที่เคยเป็นอย่างเทียบกันไม่ได้

ในบรรดาเมืองท่าใหญ่ๆ ของภูมิภาค อยุธยาไม่ใช่เมืองท่าที่ได้เปรียบกว่าเมืองท่าอื่น แท้จริงแล้วออกจะด้อยกว่าเมืองท่าส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ เช่น อยู่นอกเส้นทางเดินเรือหลักระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับจีน-ญี่ปุ่น อยุธยาดึงดูดสำเภา-กำปั่นให้มาแวะได้ด้วยสองวิธี หนึ่งคือเที่ยวรังควานเมืองท่าคู่แข่ง โดยเฉพาะบนคาบสมุทรมลายูฝั่งตะวันออกจากนครศรีธรรมราชไปถึงปัตตานี แต่แสนยานุภาพของอยุธยาก็มีจำกัด จึงทำได้ไม่เต็มที่นัก

วิธีที่สองคือทำให้อยุธยาเป็นตลาดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตกว้างขวาง ที่สำคัญคือจากตะวันตกได้แก่อินเดียไปถึงตะวันออกกลาง ทางตะวันออกคือจากจีนและญี่ปุ่น และทางที่สามคือจากส่วนในของแผ่นดิน การแวะอยุธยาทำให้ได้สินค้าที่ต้องการโดยไม่ต้องเดินทางไปถึงแหล่งผลิต

แต่บทบาทเดียวกันนี้ มีเมืองท่าตลอดชายฝั่งเวียดนามลงมาถึงกัมพูชาและก้นอ่าวไทย รวมทั้งบนคาบสมุทรมลายูแข่งขันอยู่เป็นอันมาก นับตั้งแต่ต้นคริสตกาลเป็นต้นมา นอกจากนี้อยุธยายังไม่สามารถควบคุมปัจจัยให้สินค้าจากหลายตลาดหลั่งไหลมาสู่ตนได้หมด เช่นเมื่อญี่ปุ่นปิดประเทศ สินค้าจากญี่ปุ่น (ทองแดง, เหล็กเนื้อดี, ผ้าไหมและผ้าทอชั้นดี) ก็หยุดไหลออกนอกประเทศ หรือราชวงศ์ชิงตอนต้นห้ามพ่อค้าเดินทางออกนอกประเทศ หรือเมื่อสูญเสียมะริดและตะนาวศรี สินค้าจากมหาสมุทรอินเดียก็ไหลเข้าอยุธยาได้ยากขึ้น ฯลฯ

นอกจากนี้ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าสินค้าจากส่วนในแผ่นดินจำเป็นต้องไหลลงอยุธยาเสมอไป มีหลักฐานที่บาทหลวงฝรั่งเขียนถึงเวียงจันทน์ในศตวรรษที่ 17 ว่า แต่เดิมพ่อค้าลาวนำสินค้าลงมาขายยังอยุธยา แต่เพราะนโยบายผูกขาดและการรีดทรัพย์ของกรมพระคลังสินค้าทำให้พ่อค้าขาดทุนหรือได้กำไรไม่คุ้ม พ่อค้าลาวจึงนำสินค้าของตนลงแม่น้ำโขงเพื่อไปขายยังเมืองละแวกแทน

และเท่าที่เข้าใจจากหลักฐานกระท่อนกระแท่น สินค้าของเชียงใหม่ไหลลงไปยังเมาะตะมะมากกว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ดังนั้น หากอยุธยามีถนนที่ใช้ได้ดีเชื่อมต่อไปยังส่วนในของแผ่นดิน สินค้าจากส่วนใน เช่น ครั่ง, ไม้กฤษณา, ไม้ฝาง, ชะมดเช็ด, นอแรด, เครื่องเขิน, สมุนไพรบางชนิด ฯลฯ ก็จะไหลลงอยุธยา ดึงสำเภาจีนให้ต้องจอดแวะมากขึ้น มีเสน่ห์แก่สำเภาและกำปั่นจากตะวันตก ความเป็นเมืองท่าส่งผ่าน (entrepot trade) ของอยุธยาอยู่ในสถานะเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน

แต่คุณสมบัติที่เหนือกว่าซึ่งได้จากถนนชั้นดีเหล่านี้ก็จะสูญสลายไปหมด หากนโยบายผูกขาดการค้าของราชสำนักยังอยู่ หากยังปล่อยให้ระบบราชการอาศัยประโยชน์ของพระคลังสินค้าเป็นข้ออ้างในการรุมเขมือบการค้าต่างชาติ หากกษัตริย์อยุธยาไม่ยอมลดตัวลงมาอยู่ใต้กฎหมาย อย่างน้อยก็กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ซึ่งหมายความว่าฝ่ายตุลาการอาจพิพากษาปรับพระคลังสินค้าเพื่อชดเชยค่าเสียหายแก่พ่อค้าต่างชาติได้) ฯลฯ เพราะแม้การขนส่งทางบกจะมีราคาต่ำลง แต่ต้นทุนการค้าที่อยุธยาก็ยังสูงเกินไปอยู่นั่นเอง

โดยปราศจากการปรับปรุงแก้ไขระบอบและระบบปกครองของอยุธยา ถนนย่อมทำให้หัวเมืองบางเมืองมีอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองซึ่งการขนส่งคมนาคมทางบกและทางน้ำมาบรรจบกัน กษัตริย์อยุธยาจะรักษาอำนาจไว้เหนือหัวเมืองเหล่านี้ด้วย “บารมี” ได้ยาก ครั้นจะสร้างระบบราชการที่มีสมรรถภาพ ระบบราชการนั้นย่อมโน้มเอียงไปเป็นองค์กรอิสระมากขึ้น และถ่วงดุลพระราชอำนาจไปพร้อมกัน

ไม่เพียงแต่หัวเมืองมีอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่อำนาจการเมืองเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น แต่หัวเมืองบางเมืองจะกลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมไปด้วย สร้างแบบอย่างกวีนิพนธ์, นาฏกรรม, ดุริยางคศิลป์, หลักการทางศาสนาบางอย่าง ฯลฯ ที่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆ แข่งกับอยุธยาเอง

ในทำนองเดียวกัน ถนนจะไม่เป็นทางเดินทัพอันแสนสะดวกของฝ่ายข้าศึก ก็ต่อเมื่ออยุธยาต้องมีกองทัพที่มีสมรรถภาพ เช่น ต้องมีทหารประจำการ มีการฝึกซ้อมอาวุธสม่ำเสมอ มีคณะเสนาธิการที่สามารถวางแผนการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีงบประมาณประจำที่จะรักษากำลังรบนี้ไว้ตลอดเวลา ฯลฯ เดิมพันกันได้ด้วยขี้หมากองเดียว กองทัพอย่างนี้ย่อมยึดอำนาจและสถาปนาราชวงศ์ใหม่ทันที แล้วอยุธยาก็จะกลายเป็นรัฐทหารที่ผู้ปกครองใส่ใจแต่เรื่องแย่งและรักษาอำนาจมากกว่าปกป้องอยุธยาจากข้าศึก และด้วยเหตุดังนั้นจึงกดขี่ปราบปรามไพร่ฟ้าประชาราษฎร์อย่างหนัก จนกระทั่งประชาชนอยุธยาต่างดีใจที่พระเจ้าปดุงสามารถตีกรุงแตกเสียที

ถนนจึงกลายเป็นเส้นทางเดินทัพที่วิเศษสุดสำหรับข้าศึกมากกว่าสำหรับอยุธยาเอง

ถนนหรือเทคโนโลยีใดๆ ก็ตาม แม้มีอยู่ ก็ใช่ว่าจะสวมลงไปในสังคมใดก็ได้ สังคมต้องมีความพร้อมที่จะรองรับด้วย และในบรรดาปัจจัยด้านต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งความพร้อม ปัจจัยด้านการเมืองการปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง

ในสมัยอยุธยา เรามีความพร้อมจะใช้ถนนอยู่พร้อมมูล ด้านระดับพัฒนาการของเทคโนโลยี เราใช้ล้อมานานแล้ว ระดับกำลังทางเศรษฐกิจ การเกณฑ์แรงงานเพื่อสร้างถนนที่พอใช้ได้ตลอดปีหรือเกือบตลอดปีก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงไพร่ไทย (หากเทียบกับที่ฝรั่งเศสเกณฑ์แรงงานชาวลาวสร้างถนนเลขที่ต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อทั้ง “อินโดจีน” ของตน) การค้านานาชาติทำให้เกิดเครือข่ายที่จะส่งสินค้าจากแดนไกลมาถึงเมืองท่าอยู่แล้ว

ไม่พร้อมอยู่ด้านเดียวคือการเมืองการปกครอง เพราะไม่อาจปล่อยให้ถนนมาทำลายโครงสร้างของอำนาจที่กระจายอยู่ในวงแคบๆ ของพวก “นาย” เท่านั้น

อันที่จริงจะพูดก็ได้ว่า ในสมัย ร.5-7 ความจำเป็นที่ต้องนำเทคโนโลยีหลายอย่างเข้ามาโดยระบอบการเมืองไม่พร้อมจริง แม้จะปรับตัวไปอย่างมากแล้วก็ตาม คือสาเหตุหนึ่งของการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม แม้ในปัจจุบันก็ว่ากันว่า เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลกำลังบ่อนทำลายโครงสร้างอำนาจครั้งใหญ่ในสังคมไทยอีกเช่นกัน

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า นับจาก ร.4 เป็นต้นมา อำนาจของชนชั้นปกครองไทยในการกำกับการเข้ามาของเทคโนโลยีลดลงจนเกือบหมดไปโดยสิ้นเชิง ยิ่งทำให้โครงสร้างอำนาจเปราะบางลงมากขึ้นกว่าครั้งอยุธยาอย่างเทียบกันไม่ได้

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_390488

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net