ภาคประชาสังคมแนะรัฐป้องกันผู้ลักลอบเข้าเมือง ‘ปิด-คู่เปิด’ ระยะยาวบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน (2)

ประชาสังคม-นักวิชาการ เสนอภาครัฐ วางมาตรการป้องกันคนลักลอบเข้าเมือง “ปิด-คู่เปิด” พร้อมข้อเสนอระยะยาว บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนทั้งจากนักวิชาการ องค์กรแรงงาน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เพื่อสร้างการจัดการโควิด-19 อย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน และครอบคลุม 

ต่อเนื่องจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายโดยรวมของมติ 29 ธันวา 63 การจดทะเบียนบัตรชมพูของแรงงานข้ามชาติ และนายจ้าง ที่มีราคากว่า 9,180 บาท ส่วนกรณีแรงงานข้ามชาติภาคประมง จะมีค่าทำเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็น 9,380 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ อาจมากเกินไปจนเป็นภาระให้กับนายจ้างและแรงงานสามสัญชาติในยุคที่วิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 รุมเร้า สุดท้าย ถ้านายจ้างปฏิเสธการจ่ายเงินตรงนี้ ก็ดึงแรงงานข้ามชาติกลับเข้ามาไม่ได้ และถ้านายจ้างไม่จ่าย แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายเอง แล้วพวกเขาจะมีเงินจ่ายหรือไม่ 

ในเสวนาออนไลน์ "วิกฤตโควิดในลูกจ้างข้ามชาติและแผนบริหารแรงงาน" จัดเมื่อวันที่ 7 ม.ค.64 โดยสำนักข่าว “The Reporters” ชวนภาครัฐ นักวิชาการ ตลอดจนแวดวง NGO และตัวแทนแรงงานข้ามชาติ มานั่งโต๊ะถกกัน ถึงข้อกังวลว่ามติ 29 ธันวา ของภาครัฐ อาจไม่ทำให้แรงงานข้ามชาติกลับเข้าระบบได้จริง 

ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยตัวแทนหลายภาคส่วน 

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นฤมล ทับจุมพล ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อดิศร เกิดมงคล  ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

คายน์ มิน ลวิน อาสาสมัครกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวพม่า จากมูลนิธิรักษ์ไทย สมุทรปราการ

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ดำเนินการเสวนา 

ดูตอนแรก : ‘ค่าตรวจโควิดแพง’ ข้อกังวลที่อาจทำให้ มติ 29 ธ.ค.63 ดึงแรงงานข้ามชาติกลับเข้าระบบไม่ถึงฝัน

อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดไม่แพ้เรื่องปัญหา “ค่าตรวจโควิด-19” แพง คือเรื่องการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย วันนี้ (14 ม.ค.64) ประชาไทอยากเชิญชวนให้ทุกท่านลองฟังข้อเสนอจากภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ว่าพวกเขามีมุมมองและข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างไรบ้าง
 

ข้อกังวลว่าผู้ลักลอบจะแอบเข้าไทยเพื่อต่อบัตรชมพูตามมติ ครม. 29 ธันวา  

มติเปิดต่อบัตรชมพูนั้น เดิมทีมีการถกเถียงกันมากกว่า การ มติ 29 ธ.ค.63 อาจจะทำให้ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายทะลักเข้าประเทศไทย 

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบประเด็นนี้ว่า ภาครัฐแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยจำกัดเวลาลงทะเบียนทำบัตรสีชมพูให้สั้น คือ 1 เดือนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้วางแผนลักลอบขนแรงงาน มีเวลามากพอที่จะขนแรงงานข้ามชาติเข้ามาได้ ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็มั่นใจว่า นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติ จะมีเวลามากพอในการลงทะเบียน เพราะที่นายจ้างต้องทำมีเพียงการกรอกข้อมูล และถ่ายรูปแรงงานข้ามชาติเท่านั้น 

 

ปัญหาผู้ลักลอบในมุมมองแรงงานข้ามชาติ-นักวิชาการ 

คายน์ มิน ลวิน อาสาสมัครกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวพม่า พูดถึงประเด็นนี้ว่า ตัวเขาเองก็ไม่ทราบว่าจะมีผู้ลักลอบเข้าเมืองมาอีกหรือไม่ ส่วนเรื่องจะสกัดกั้นเข้าได้ไหม เรื่องนี้เกี่ยวกับคนที่มีอำนาจมากกว่า เพราะแรงงานข้ามชาติพม่าคนเดียว ไม่สามารถลักลอบเข้ามาทำงานในไทยถึงกรุงเทพฯ ได้ 

“พูดไทยไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก ไม่ถึงกรุงเทพฯ หรอกครับ” คายน์ กล่าว   

ขณะที่นฤมล ทับจุมพล ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งปันความเห็นว่า มติ 29 ธันวา 63 อาจทำให้มีผู้ลักลอบเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้นนั้น อาจไม่ใช่โจทย์หลัก จริง ๆ อาจจะมีคนลักลอบเข้ามา หรือแรงงานข้ามชาติอยู่ในไทยอยู่แล้ว ตรงนี้เราไม่รู้ ดังนั้น อาจจะต้องมีการคุยว่าจะทำยังไง 

ส่วนโจทย์สำคัญตอนนี้ นฤมล มองว่าการบูรณาการกลไกทุกภาคส่วนเข้ามา ดูเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า 1) การประสานงานภายในภาครัฐต้องดีกว่านี้ แต่ตอนนี้ภาพที่ออกตามสื่อ เราจะเห็นได้ว่ามันขาดการประสานการทำงานร่วมกัน 

“เป็นไปได้ไหม แต่ละหน่วยที่ทำเรื่องนี้อยู่อย่าต่างคนต่างทำ ด้านหนึ่งให้ขึ้นทะเบียน ด้านหนึ่งไล่จับคนผิดกฎหมาย ถ้า Set Zero (ผู้เขียน - นิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย) เราก็ต้อง Set Zero จริง ๆ และก็ภายใต้ Set Zero เรามีเกณฑ์อย่างไร คือปัญหาตอนนี้กระทรวงแรงงานเสนอขึ้นมา แต่ภาพที่ออกไปมันยังไม่ Set Zero จริง ๆ กระทรวงแรงงานตอบอย่างหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยตอบอย่างหนึ่ง ตำรวจตอบอีกอย่างหนึ่ง สาธารณสุขตอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็เลยไม่รู้ว่ายังไงกันแน่”

2) อีกเรื่องที่กระทรวงแรงงานควรแก้ คือ การขาดการบูรณาการการทำงานหลายภาคส่วน เนื่องด้วยการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบหลายมิติ การแก้ปัญหาโดยภาครัฐฝ่ายเดียวอาจยังไม่เพียงพอในการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม ควรจะมีการเปิดให้ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และนักวิชาการ เข้าไปมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหามากขึ้น 

 

“ปิดคู่เปิด” ข้อเสนอป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายจากฝากฝั่งภาคประชาสังคม  

อีกหนึ่งปัญหาที่แก้กันไม่ตกคือการป้องกันผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยเสวนาครั้งนี้ อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ได้เสนอแนวทางการป้องกันผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เรียกว่า “ปิดคู่เปิด”

“ปิด” ในที่นี้คือการลงโทษผู้มีส่วนลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงการประสานงานกับประเทศต้นทางให้มีการเฝ้าระวังการลักลอบ

“เปิด” ในที่นี้ ภาครัฐต้องดึงแรงงานข้ามชาติในกลุ่มที่รอกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยกลับเข้ามาด้วย 

อดิศร อธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องการ “เปิด” ว่า เปิดแรก คือ รัฐไทยควรเปิดให้แรงงานข้ามชาติที่กลับประเทศต้นทาง เพื่อไปต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว และยังมีนายจ้างต้องการจ้างงานอยู่ ให้สามารถกลับเข้ามาทำงานในไทยได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน อยากให้ภาครัฐลดค่าตรวจโควิด-19 และการกักตัว 

“มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย แต่เข้าไม่ได้ ซึ่งตัวเลขกระทรวงแรงงานมี 100,000 คน โดย 60% ของคนรอเข้าไทย คือคนที่เคยทำงานในไทย และตอนก่อนหรือช่วงการระบาดโควิด-19 ทำ Re-entry VISA กลับบ้านไป เพราะเวลานั้นสถานการณ์การจ้างงานไม่ดี ก็เดินทางกลับบ้านไปก่อน พอกิจการในไทยเริ่มฟื้นตัว เปิดขึ้นมา ผู้ประกอบการก็ต้องการดึงคนงานเก่าของตัวเองกลับมาทำงานให้ ปรากฏว่ากลับเข้ามาไม่ได้ เพราะต้องตรวจโควิด-19 ก่อน ต้องกักตัว 14 วัน ค่าใช้จ่ายรวม ๆ กันแล้ว 2 หมื่นกว่าบาท กลุ่มนี้พอปิดช่องไม่ให้เข้ามา เขาก็แอบเข้ามาอยู่ดี ฉะนั้นเวลาเราบอกว่ามีคนลักลอบเข้ามา คือมันอยู่ใน 6 หมื่นคนตรงนี้รึเปล่า” 

อีกหนึ่ง “เปิด” คือ อนุญาตแรงงานข้ามชาติที่ได้ดำเนินการขอนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานกับนายจ้างตามระบบ MOU ที่ได้ดำเนินการตามกระบวนการจนเสร็จสิ้น และรอเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ลดภาระค่าตรวจโควิด-19 ค่ากักตัว เจรจากับประเทศต้นทาง กำหนดมาตรการคัดกรองโรคร่วมกัน

“ขณะที่อีก 40% หรือประมาณ 4 หมื่นกว่าคน คือคนที่ทำตามขั้นตอน MOU จนครบแล้ว เหลือแค่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย แต่พอมีการปิดด่านก็เข้ามาในไทยไม่ได้ คนที่ทำเรื่องจนเสร็จแล้ว คนกลุ่มนี้เสียเงินไปแล้ว กู้หนี้ยืมสินไปเรียบร้อย สิ่งที่เขาทำได้คือต้องหลบเข้ามาในเมืองไทย” 

‘ปิด’ ไม่ให้คนเข้าไทยอย่างผิดกฎหมาย ‘เปิด’ ช่องให้คนที่ต้องได้เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายเข้าเมือง เพราะคนที่ทำเรื่องจนเสร็จขั้นตอน เขากู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจ่ายเงินทำเรื่อง ถ้าไม่ให้เขาเข้าไทย เขาก็จะหาโอกาสลักลอบเข้าไทย เพราะเขามีหนี้ผูกพันต้องจ่าย

“เป็นการส่งสัญญาณบอกว่า คนที่กำลังทำผิดกฎหมาย วันนี้คุณเข้าช่องทางถูกกฎหมายได้แล้ว เพราะฉะนั้น อย่าเลือกช่องทางผิดกฎหมาย เพราะว่าเข้ามาผิดกฎหมาย คุณจะมีโทษอยู่ดี มีความเสี่ยงถูกจับ” อดิศร ระบุ

 

ข้อเสนอระยะยาว สร้างการมีส่วนร่วม มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และมีหลักประกันทางสุขภาพ 

ขณะนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าประเทศไทยจะต้องอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสองนานขนาดไหน อาจจะปีเดียวหรือสองปี ดังนั้น ทางเครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติมองว่าภาครัฐควรมีมาตรการระยะยาวเพื่อรักษาแรงงานข้ามชาติให้อยู่ในระบบดังนี้ 

อดิศร สำทับประเด็นนี้ต่อจากนฤมล ในประเด็นการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน โดยเสนออย่างเป็นรูปธรรมว่า 1) ควรมีการตั้งคณะกรรมการทำงานเฉพาะกิจที่ประกอบด้วยตัวแทนหลายภาคส่วนตั้งแต่นักวิชาการ องค์กรแรงงาน นายจ้าง นักการเมือง และอื่น ๆ เพื่อทำหน้าที่เป็น Think Tank เสนอนโยบายอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมให้รัฐบาลนำไปพิจารณา 

2) ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนให้แรงงานข้ามชาติ-นายจ้าง เผื่อเวลาที่นายจ้าง-ลูกจ้างทำตามมติ ครม. 29 ธันวาแล้ว มันเกิดปัญหา ก็จะได้มีคนช่วยรับเรื่องร้องเรียน และแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น 

3) อยากให้ภาครัฐมียุทธศาสตร์ระยะยาวเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19 

4) อาจจะมีกลุ่มที่เข้ามติ ครม. 29 ธันวา 63 ไม่ได้ คือกลุ่มผู้ติดตาม (เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ติดตามมาพร้อมกับพ่อ-แม่ หรือผู้ปกครอง ที่เข้าเมืองไทยอย่างถูกกฎหมาย) ที่พ่อ-แม่ไม่ได้จดทะเบียนต่อบัตรสีชมพูช่วง 15 ม.ค.64-13 ก.พ.64 กลุ่มผู้ติดตามนี้จะซื้อประกันสุขภาพไม่ได้ ทางอดิศรอยากให้ภาครัฐให้กลุ่มผู้ติดตามที่ว่านี้ มีสิทธิ์ซื้อประกันสุขภาพได้ เพื่อที่คนกลุ่มนี้เวลาป่วยขึ้นมา จะสามารถรับบริการการรักษาในไทยได้

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อเสนอจากฝากฝั่งประชาสังคม ฝากให้รัฐพิจารณาเพื่อปรับใช้ ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น น้อมรับข้อบกพร่อง พร้อมแก้ปัญหา และก็รับปากจะนำข้อแนะนำไปพิจารณา ไม่นิ่งนอนใจอย่างแน่นอน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท