Skip to main content
sharethis

ศาลให้ “นิว สิริชัย” ประกันแล้ว นิวเล่าเหตุการณ์ตำรวจไม่ให้ติดต่อทนาย-คนที่ไว้ใจทันที ถูกจับผ่านไปแล้ว 2 ชม.ถึงให้ติดต่อ และมีการแอบเอาตัวไป ตชด.ก่อนพาไปค้นห้องพัก โดยไม่แสดงหมายค้นทันทีแถมทำบันทึกตรวจค้นย้อนหลัง ศูนย์ทนายฯ ชี้ ตั้งข้อหา 112 ทั้งที่รูปคนที่เสียหายไม่เข้าข่ายเป็นความผิดและศาลยังออกหมายค้นยามวิกาลโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเกิดการบังคับให้สูญหายชั่วขณะหนึ่งที่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิร้ายแรง

สิริชัย นาถึงหลังได้รับการปล่อยตัว ภาพจาก iLaw

14 ม.ค.2564 ศาลธัญบุรี พนักงานสอบสวนสถานี ตํารวจภูธรคลองหลวง นำตัวสิริชัย นาถึง หรือ นิว ที่ถูกคุมตัวไว้ตั้งแต่เมื่อคืนวานมาขออำนาจศาลเพื่อฝากขัง โดยทนายความของสิริชัยได้ยื่นคําร้องคัดค้านการขอฝากขังและขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน แต่ศาลให้ฝากขังโดยไม่ให้ไต่สวนก่อนอนุญาตให้ประกันตัว

หลังจากสิริชัยได้รับการปล่อยตัวได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อที่รออยู่หน้าศาลว่าถูกตั้งข้อหาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 ม.ค.2564 โดยมีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์

จากนั้นสิริชัยได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวานว่า ตนถูกจับกุมตอนเวลาประมาณ 3 ทุ่ม หลังจากเขาขับจักรยานยนต์ออกจากหอเพื่อไปบ้านเพื่อนก็พบแล้วว่ามีคนมาดักรอที่หน้าหอแต่ไม่ได้เอะใจอะไร เมื่อไปถึงบ้านเพื่อนได้สักพักก็ออกไปหาอาหารทานเองคนเดียว แล้วเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบก็ขับรถประกบก่อนแสดงหมายจับและทำการจับกุม

สิริชัยกล่าวว่าขณะถูกจับกุมเขาได้ขอสิทธิพบทนายความกับคนที่ตนไว้วางใจแล้ว แต่ตำรวจไม่ให้ติดต่อ แล้วตำรวจก็เอาตัวเขาไปที่ สภ.คลองหลวงก่อนเพื่อทำบันทึกจับกุมและตรวจร่างกาย แต่กว่าจะได้ติดต่อทนายความก็หลังจากถูกคุมตัวไปแล้ว 2 ชั่วโมงตำรวจถึงได้แจ้งสิทธิว่าเขามีสิทธิในการติดต่อทนายและแจ้งเรื่องกับผู้ที่ไว้วางใจทราบ เขาจึงได้ติดต่อหาทนายความแต่คุยกันยังไม่ทันเรียบร้อยดีตำรวจก็เข้าประกบแล้วยึดโทรศัพท์ไป แล้วก็นั่งรอ

สิริชัยเล่าต่อว่าขณะที่นั่งรออยู่ก็ได้ทราบว่ามีเพื่อนมาให้กำลังใจที่ สภ.คลองหลวง ตำรวจจึงแอบย้ายตัวเขาออกไป ตชด.ภาค 1 แต่อยู่ที่ ตชด.ภาค 1 ได้แค่ราว 10 นาทีตำรวจก็เอาตัวเขากลับไปค้นห้องที่หอพัก หลังจากตรวจค้นแล้วก็ไม่ได้มีการแสดงหมายในทันที แต่มีการตรวจค้นก่อนแล้วถึงแสดงหมายค้น แล้วเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำบันทึกการตรวจค้นที่ห้องพักซึ่งถือเป็นสถานที่มีการตรวจค้นทันที แต่มีการทำบันทึกย้อนหลังที่หลังก็ไม่สามารถระบุได้ว่าของที่ตรวจยึดได้เป็นของที่ยึดได้จากห้องพักของเขาจริงหรือไม่ แล้วจากนั้นก็ถูกนำตัวกลับไปที่สภ.คลองหลวงอีกครั้งแล้วกระบวนการก็ดำเนินมาเรื่อยๆ จนถูกนำตัวมาส่งศาลในเช้าวันนี้

สิริชัยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่เขาทำใจมาแล้วว่ามาทำกิจกรรมก็จะเจอการคุกคาม แต่สำหรับเขาหากยิ่งมีการคุกคามและมีการดำเนินคดีก็จะยิ่งสู้แล้วก็ทำมากขึ้นอีก และเขาไม่ได้มีความกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเขายังกล่าวอีกว่าตอนนี้กฎหมายก็ถูกนำมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายจนหมดความน่าเชื่อถือและศักดิ์สิทธิ์ลง

ตร.จับกลางดึก นศ.สมาชิก 'ธรรมศาสตร์และการชุมนุม' แจ้งข้อหา ม.112

ศาลอนุญาตให้ฝากขังก่อนให้ประกัน

ศาลได้ออกจดหมายข่าวโดยมีเนื้อความระบุว่า สิริชัยที่เป็นผู้ต้องหายื่นคำร้องคัดค้านพนักงานสอบสวนถึงเหตุผลความจําเป็นในการขอหมายขังผู้ต้องหาในกรณีที่พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหามาจะครบ 48 ชั่วโมงเท่านั้น แต่คำคัดค้านของผู้ต้องหาไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน การจับกุมตัวผู้ต้องหาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรและการควบคุมตัวผู้ต้องหาขัดต่อกฎหมายอย่างไร

พนักงานสอบสวนอ้างเหตุจำเป็นในการขอฝากขังสิริชัยว่าจําเป็นต้องสอบสวนพยานอีก 8 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาและรอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง โดยพนักงานสอบสวนยื่นคําร้องขอฝากขังตามหน้าที่ตามกฎหมายเป็นการดําเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87

ศาลจึงเห็นควรให้งดไต่สวนและมีคําสั่งยกคําร้องคัดค้านของผู้ต้องหาและ มีคําสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ตามขอ แต่ศาลได้แจ้งสิทธิการขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทราบและผู้ต้องหาได้ยื่นคําร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลมื่อเวลา 11.00 น.

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิริชัยเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยมีอาจารย์ ในสถาบันที่ผู้ต้องหาศึกษาอยู่เป็นผู้ประกัน หากปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน โดยศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทําการใดในทํานองเดียวกันซ้ำอีก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเมื่อเวลา 12.13 ว่า ศาลให้สิริชัยประกันตัวได้โดยใช้เป็นเงินสดและตำแหน่งอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลักประกัน ในวงเงิน 150,000 บาท

ศูนย์ทนายฯ ชี้ศาลออกหมายจับทั้งที่รูปบุคคลที่เสียหาย 112 ไม่คุ้มครอง

ในรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุอีกว่าในตอนที่แจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.สุชัย แสงส่อง พนักงานสอบสวน ทำการแจ้งข้อกล่าวหานิวในข้อหา “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์”  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 358 จากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุด ซึ่งมีสิริภัทร กาฬสิงห์ เจ้าหน้าที่เทศบาลคลองหลวงเป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีข้อหาทำให้เสียทรัพย์

ภาพสิริชัยขณะถูกตำรวจคุมตัวหลังการตรวจค้น

นอกจากนั้น ตามบันทึกการจับกุม การจับกุมครั้งนี้มีขึ้นภายใต้การอํานวยการและสั่งการของ พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี, พ.ต.อ.สมศักดิ์ นิเต็ม ผกก.สส.ภ.จว.ปทุมธานี และ พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผกก.สภ.คลองหลวง โดยชุดจับกุมประกอบด้วย ตํารวจสืบสวน สภ.คลองหลวง รวมกว่า 30 นาย และกองกำกับการสืบสวน ภ.จว.ปทุมธานี อีก 16 นาย ทำการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีที่ 14/2564 ลงวันที่ 13 มกราคม 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทําให้เสียทรัพย์ พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางรวม 4 รายการ ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 1 คัน, โทรศัพท์มือถือ iphone 1เครื่อง, บุหรี่ไฟฟ้า พร้อมกระเป๋าบรรจุ 1 ชุด

นอกจากนั้น ตำรวจชุดจับกุมได้แจ้งข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจําหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่ง ของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือของต้องจํากัด หรือของต้องห้าม หรือเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร” ด้วย

ทั้งนี้ศูนย์ทนายฯ มีข้อสังเกตต่อการจับกุมครั้งนี้ทั้งหมด 7 ประเด็น โดยประเด็นสำคัญคือศาลออกหมายจับตามมาตรา 112 ทั้งที่บุคคลในรูปที่ถูกทำให้เสียหายไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรานี้ และศาลยังออกหมายค้นยามวิกาลโดยที่ไม่ได้มีเหตุฉุกเฉินใดๆ อีกทั้งการจับกุมโดยไม่แจ้งสถานที่คุมตัวและมีการหลอกล่อให้สับสนยังถือว่าเป็นการบังคับสูญหายไปแล้วในขณะหนึ่ง ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิร้ายแรง

ข้อสังเกตของศูนย์ทนายฯ: สิทธิของผู้ต้องหาที่ถูกละเมิด / คดี 112 คดีแรกที่มีการออกหมายจับ

  1. ศาลได้ออกหมายจับตามมาตรา 112 แม้ว่ารูปบุคคลที่เสียหายจะไม่เข้าข่ายตามตัวความในมาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ก็ตาม

  2. ศาลออกหมายค้นให้เจ้าหน้าที่เข้าค้นได้ในยามวิกาล คือตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้นไป ทั้งที่ตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องค้นในเวลากลางวัน โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 ระบุว่า การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นดังนี้

    1. เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้

    2. ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้

    3. การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

ซึ่งกรณีนี้ การเข้าค้นเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ไม่ได้เริ่มตั้งแต่ตอนกลางวัน อีกทั้งไม่ได้มีกรณีฉุกเฉินใดๆ แม้ว่าจะอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นในเวลากลางคืน อีกทั้งนักศึกษารายนี้ก็ไม่ใช่บุคคลดุร้ายหรือผู้ร้ายแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่นักศึกษาปี 1 เท่านั้น

  1. ตำรวจไม่ให้สิทธิในการเข้าถึงทนายความในชั้นจับกุม ให้ติดต่อเพียงสั้นๆ หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จ ซึ่งยังคุยไม่เสร็จ และภายหลังทนายไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้ เนื่องจากผู้ต้องหาถูกยึดโทรศัพท์

  2. ตำรวจไม่ยอมแจ้งสถานที่คุมตัวผู้ต้องหา หลอกล่อไปมาจนเกิดความสับสน อ้างตอนหลังจากพบตัวผู้ต้องหาแล้วว่ากลัวเป็นอุปสรรคในการตรวจค้น ภาวะการณ์เช่นนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะทำให้บุคคลอยู่นอกความคุ้มครองกฎหมาย เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ทำให้ผู้ต้องหาถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วในขณะหนึ่ง (short term disappearance) เป็นการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรง

  3. เจ้าหน้าที่ไม่สามารถพาตัวผู้ต้องหาไป บก.ตชด.ภาค 1 ได้ เพราะตามกฎหมายต้องควบคุมตัวในที่ทำการพนักงานสอบสวนเท่านั้น

  4. ตำรวจเริ่มตรวจค้นโดยไม่แสดงหมายค้นก่อนเข้าตรวจค้น แต่แสดงหมายค้นภายหลังตรวจค้นเสร็จแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานไปร่วมตรวจค้นด้วย อีกทั้งไม่ได้ทำบันทึกการตรวจค้น ณ สถานที่ตรวจค้น กลับมาทำที่สถานีตำรวจหลังยึดของกลางใส่ถุงไปแล้วหลายชั่วโมง ซึ่งยืนยันไม่ได้ว่าของในซองพยานมาจากห้องผู้ต้องหาจริงหรือไม่

  5. คดีนี้นับเป็นการดำเนินคดี 112 คดีแรก ที่ศาลอนุญาตออกหมายจับ ตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์บังคับใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อจัดการผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่าในช่วงแรก ตำรวจได้ไปขอศาลออกหมายจับในคดีแกนนำบางคดี แต่ศาลไม่อนุญาต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net