มองการรับบริจาคเลือด LGBTQ+ ในต่างประเทศ ท่ามกลางวิกฤติคลังเลือดไทยช่วงโควิด

สำรวจการปรับเกณฑ์ ลดข้อห้าม เปิดกว้างรับผู้บริจาคเลือดหลากคุณสมบัติ โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBTQ+ ในต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเลือดหมดคลังในช่วงโรคระบาด ขณะที่ไทยยังมีปัญหาการรับเลือดจากคนกลุ่มนี้ และกลุ่มมีประวัติการรักษาโรคจิตเภท หรือโรคจิตเวชบางโรค

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก ขอรับบริจาคเลือดด่วน เนื่องจากจำนวนผู้บริจาคเลือดลดลง 50% เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หน่วยรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่จำเป็นต้องยกเลิกกิจกรรมรับบริจาคเลือดตามสถานที่ต่างๆ เป็นเหตุให้เลือดในคลังของสภากาชาดไทยมีไม่เพียงพอ จนไม่สามารถจ่ายเลือดไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศได้

ข้อมูลสถิติการจัดหาโลหิตทั่วประเทศในปีงบประมาณ 2561 ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยระบุว่า พ.ศ.2561 สภากาชาดไทยได้รับบริจาคเลือดทั้งหมด 1,109,595 ยูนิต จากผู้บริจาคทั้งหมด 670,869 คน ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 44.7% เพศหญิง 55.3% และเมื่อเปรียบเทียบสถิติการบริจาคเลือดย้อนหลัง 5 ปีพบว่าคนไทยมีแนวโน้มยินดีบริจาคเลือดเพิ่มขึ้น แต่บ่อยครั้งที่ไทยต้องเผชิญภาวะเลือดหมดคลัง ไม่ว่าจะพยายามเปิดรับบริจาคเลือดเท่าไรก็ดูเหมือนว่าปริมาณเลือดที่ได้ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการ หลายคนที่ประสงค์จะบริจาคก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขบางประการ เช่น ยังไม่พ้นกำหนด 12 สัปดาห์จากการบริจาคครั้งล่าสุด หรือหยุดยาบางชนิดยังไม่ครบกำหนด ในขณะที่หลายคนไม่สามารถบริจาคเลือดได้ถาวรทั้งที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะติดเงื่อนไข ‘คุณสมบัติ’ บางประการที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ หรือโรงพยาบาลในไทยไม่ยอมรับ เช่น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+)

ภาพจากกิจกรรม#ไพร่พาเหรด เดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย ความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมในทุกมิติ จัดโดย  กลุ่มเสรีเทยพลัส และผู้หญิงปลดแอก เมื่อวันที่ 7 พ.ย.63 ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวมีการเรียกร้องเรื่องการรับบริจาคเลือดของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

เกณฑ์การรับบริจาคเลือดกับกลุ่ม LGBTQ+

องค์กรรับบริจาคโลหิตในหลายประเทศไม่ได้ห้ามรับเลือดจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย โบลิเวีย หรือแม้กระทั่งอิสราเอล ที่เพิ่งยกเลิกกฎหมายห้ามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบริจาคเลือดไปเมื่อ พ.ศ.2561 ส่วนหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อนุญาตให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบริจาคเลือดได้ แต่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์ก่อนบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 เดือนไปจนถึง 1 ปี หรือนานกว่านั้น เช่น ไต้หวันที่กำหนดให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องงดมีเพศสัมพันธ์ 5 ปีจึงจะบริจาคเลือดได้

เกณฑ์การคัดกรองผู้บริจาคเลือดโดยใช้เพศสภาพเป็นตัวกำหนดทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการเลือกปฏิบัติ กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก รวมทั้งไทย จึงออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้บริจาคเลือด ลดปัญหาเลือดในคลังไม่เพียงพอ

วาทกรรม ‘เลือด LGBTQ+ ไม่บริสุทธิ์’

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์รายงานว่านโยบายไม่รับเลือดจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งขณะนั้นเทคโนโลยีตรวจหาเชื้อไวรัสในเลือดยังไม่ก้าวหน้า ทำให้เกิดโรคเอดส์ระบาดครั้งใหญ่ เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อ HIV จากการบริจาคหรือรับเลือดมากกว่า 20,000 คน ทำให้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของโรคเอดส์ หนึ่งในนั้น คือ การห้ามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศบริจาคเลือด ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีประกาศใช้เป็นมาตรการฉุกเฉิน แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายประเทศกลับบรรจุให้มาตรการนี้เป็นกฎถาวรของการบริจาคเลือด

แม้เป็นเรื่องจริงที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มชายที่ร่วมเพศกับชาย (MSM) มีความเสี่ยงสูงที่จะมีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ในเลือด แต่นี่ไม่ใช่ข้ออ้างทางวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ปฏิเสธการรับเลือดจากคนกลุ่มนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้สามารถตรวจหาเชื้อโรคปะปนในเลือดได้ง่ายและแม่นยำขึ้น เช่น สามารถตรวจหาเชื้อ HIV ได้แม้เพิ่งรับเชื้อมาไม่ถึง 1 เดือน องค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงแย้งว่าการห้ามกลุ่มคนเหล่านี้บริจาคเลือดถือเป็นการเลือกปฏิบัติและต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

โควิด-19 ผลักสหรัฐฯ เปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ให้ LGBTQ+ บริจาคเลือดได้ง่ายขึ้น

เมื่อ พ.ศ.2558 องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) อนุญาตให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถบริจาคเลือดได้ แต่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันก่อนบริจาคอย่างน้อย 12 เดือน จากเดิมที่ห้ามคนกลุ่มนี้บริจาคเลือดตลอดชีวิต ต่อมาในวันที่ 2 เม.ย. 2563 เอฟดีเอแก้ไขเกณฑ์รับบริจาคเลือดเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศที่รุนแรง ทำให้โรงพยาบาลในสหรัฐจำเป็นต้องใช้เลือดจำนวนมากเพื่อรักษาผู้ป่วย โดยปรับแก้เงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่

  1. ปรับลดระยะเวลางดมีเพศสัมพันธ์ก่อนบริจาคเลือดของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จาก 12 เดือน เหลือ 3 เดือน
  2. ปรับลดระยะเวลางดบริจาคเลือดของผู้ที่พำนักหรือเพิ่งกลับจากพื้นที่ระบาดของโรคมาลาเรีย จาก 12 เดือน เหลือ 3 เดือน
  3. อนุญาตให้ผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในทวีปยุโรปช่วง พ.ศ.2523-2539 นานกว่า 6 เดือน สามารถบริจาคเลือดได้ จากเดิมที่ห้ามบริจาคเลือดถาวรเพราะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรควัวบ้า

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐฯ (ซีดีซี) เผยว่าชาวอเมริกันกว่า 13.2 ล้านคนบริจาคเลือดเป็นประจำทุกปี และมีเลือดหมุนเวียนในระบบปีละ 17.2 ล้านยูนิต แต่ผลสำรวจระหว่าง พ.ศ.2554-2556 พบว่าจำนวนผู้บริจาคเลือดในสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การแก้ไขเกณฑ์รับบริจาคอาจช่วยเพิ่มจำนวนผู้บริจาคเลือดในสหรัฐฯ ได้หลายล้านคน

สถาบันกฎหมายวิลเลียมส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส เผยผลสำรวจว่าชาวอเมริกันที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คิดเป็น 4.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ หรือกว่า 13,500,000 คน ซึ่งการรับเลือดจากกลุ่มคนเหล่านี้จะช่วยเพิ่มเลือดในคลังได้อย่างน้อย 2-4%

สหราชอาณาจักรอนุญาตให้ LGBTQ+ บริจาคเลือดได้โดยไม่มีเงื่อนไข

วันที่ 14 ธ.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักรประกาศแก้ไขกฎการบริจาคเลือด โดยอนุญาตให้ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันสามารถบริจาคเลือดได้ โดยไม่ต้องเว้นระยะ 3 เดือนหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกณฑ์นี้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักรระบุว่าจะใช้เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงของผู้บริจาคเลือดเป็นรายบุคคล โดยไม่นำเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง สกอตแลนด์ถือเป็นชาติแรกที่ประกาศใช้กฎใหม่นี้ ส่วนอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือเตรียมบังคับใช้กฎใหม่ในช่วงฤดูร้อนปีนี้

หลายประเทศในยุโรปเริ่มมีการเรียกร้องให้ทบทวนกฎหมายการรับบริจาคเลือด เพราะต้องการเลือดเร่งด่วนในช่วงโควิด-19 เช่น เยอรมนี แต่ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐสภากลางของเยอรมนี

มีประเทศใดบ้างที่รับบริจาคเลือดจากกลุ่ม LGBTQ+

ประเทศ

รับ

รับ (มีเงื่อนไข) *

ไม่รับถาวร

แคนาดา

 

3 เดือน

 

โคลอมเบีย

Checkmark with solid fill

 

 

จีน

 

 

Checkmark with solid fill

ญี่ปุ่น

 

6 เดือน

 

เดนมาร์ก

 

4 เดือน

 

ไต้หวัน

 

5 ปี

 

ไทย

 

 

Checkmark with solid fill

นิวซีแลนด์

 

3 เดือน

 

ฝรั่งเศส

 

4 เดือน

 

ฟิลิปปินส์

 

 

Checkmark with solid fill

บราซิล

Checkmark with solid fill

 

 

โบลิเวีย

Checkmark with solid fill

 

 

มาเลเซีย

 

 

Checkmark with solid fill

เม็กซิโก

Checkmark with solid fill

 

 

รัสเซีย

Checkmark with solid fill

 

 

เยอรมนี

 

12 เดือน

 

สเปน

Checkmark with solid fill

 

 

สหรัฐอเมริกา

 

3 เดือน

 

สหราชอาณาจักร

Checkmark with solid fill  *

(บังคับใช้กลางปี 64)

 

 

สิงคโปร์

 

 

Checkmark with solid fill

ออสเตรเลีย

 

3 เดือน *

(บังคับใช้ 31 ม.ค. 64)

 

ออสเตรีย

 

12 เดือน

 

อาร์เจนตินา

Checkmark with solid fill

 

 

อิตาลี

Checkmark with solid fill

 

 

แอฟริกาใต้

Checkmark with solid fill

 

 

ฮังการี

Checkmark with solid fill

 

 

รับ (มีเงื่อนไข) * หมายถึง ต้องเว้นช่วงจากการมีเพศสัมพันธ์ตามระยะเวลาที่กำหนด

เว็บไซต์ LGBT-Captal.com ระบุว่าจำนวนประชากรของผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยมีกว่า 4,000,000 คน ซึ่งในช่วงปีที่แล้ว มีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายกลุ่มออกมาเรียกร้องให้สภากาชาดไทยทบทวนเกณฑ์การคัดเลือกผู้บริจาคเลือด โดยขอให้พิจารณาประเมินความเสี่ยงเป็นรายบุคคล ไม่ยึดโยงกับเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

นอกจากไม่รับบริจาคเลือดถาวรจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว หลักเกณฑ์ของสภากาชาดไทยยังไม่รับบริจาคเลือดถาวรจากบุคคลที่มีประวัติการรักษาโรคจิตเภท หรือโรคจิตเวชบางโรค แม้ข้อมูลจากสารงานบริหารโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จะระบุว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคไบโพลาร์ สามารถบริจาคเลือดได้หลังหยุดการรักษาและรับประทานยาแล้ว 3 เดือน แต่เมื่อตรวจเช็คบัญชียาตามคู่มือคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทยพบว่ายารักษาอาการทางจิตเวชหลายตัวถูกขึ้นบัญชี ‘ไม่รับเลือดถาวร’ เช่น ยา Sertraline หรือ Prazepam ซึ่งเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลที่จิตแพทย์ทั่วโลกใช้กันทั่วไป ในขณะที่สภากาชาดหรือหน่วยงานรับบริจาคเลือดในประเทศอื่น ไม่ได้ขึ้นบัญชียารักษาโรคทางจิตเวชเป็นยาต้องห้ามในการบริจาคเลือด และไม่กำหนดให้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่กำลังรักษาตัวหรือรักษาหายแล้วเป็นผู้ห้ามบริจาคเลือดถาวร

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 2,000,000 คน เมื่อนับรวมกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้วเท่ากับว่าคนไทยกว่า 6,000,000 คนถูกห้ามบริจาคเลือดถาวร เนื่องจากเกณฑ์การคัดเลือกที่เข้มงวด และไม่ผ่อนปรนแม้ในช่วงวิกฤติที่ขาดแคลนเลือดในคลังจำนวนมาก

ที่มา : 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท