Skip to main content
sharethis

เก็บตกเรื่องราวการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองในคิวบาเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาที่เรียกว่าขบวนการ 27N ซึ่งถือเป็นการประท้วงใหญ่ในคิวบาครั้งแรกในรอบหลายปี โดยมีกลุ่มหัวหอกการประท้วงนี้เป็นศิลปินและสื่อในคิวบาที่ไม่ยอมทนต่อการกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาลอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีชาวคิวบาที่ขอร้องฝ่ายก้าวหน้าในประเทศอื่นๆ ไม่ให้ซ้ำเติมวาทกรรมเรื่องเล่าจากรัฐบาลว่าพวกเขาเป็น "ต่างชาติมาทำลายประเทศ" แต่ชาวคิวบาที่ปฏิเสธรัฐบาลอำนาจนิยมมีความคิดเป็นของตัวเอง

ในกลางคืนวันที่ 28 พ.ย. 2563 ศิลปินชาวคิวบาออกมาจากที่ประชุมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเวลา 5 ชั่วโมง พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลคิวบาเลิกกดขี่ข่มเหงศิลปินอิสระ เลิกทำให้การต่อต้านรัฐบาลเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิกใช้ความรุนแรงกับขบวนการซานอิซิโดร กลุ่มศิลปินเหล่านี้ยังทำการอดอาหารประท้วงการจับกุมและลงโทษแร็พเปอร์รุ่นเยาว์รายหนึ่งด้วย ขบวนการประท้วงของพวกเขาประกอบด้วยกลุ่มคน 300 คน ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน, นักเขียน, นักแสดง และคนทำภาพยนตร์ ยืนปักหลักชุมนุมกดดันที่กระทรวงวัฒนธรรมของคิวบาอยู่เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

เว็บไซต์ด้านความเป็นธรรมในละตินอเมริกา NACLA ระบุว่าการประท้วงในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในคิวบา ถึงแม้ว่าคิวบาจะมีประเด็นเรื่องของการขาดแคลนอาหารและการจำกัดเสรีภาพในด้านอื่นๆ ในชีวิตของพวกเขา แต่น้อยครั้งมากที่กลุ่มวิชาชีพเหล่านี้จะเสนอตัวต่อสู้เรียกร้องให้กับคนที่รัฐบาลบอกว่าเป็นพวกต่อต้าน เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลคิวบาออกกฎหมายใหม่จำกัดเสรีภาพทางศิลปะ, ดนตรี, ภาพยนตร์ และสื่อสารมวลชน ทำให้กลุ่มวิชาชีพเหล่านี้จำนวนมากไม่พอใจ เมื่อพวกเขาได้เห็นวิดีโอสดของกลุ่มผู้อดอาหารประท้วงที่อ่อนแรงถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ที่แสร้งปลอมตัวเป็นคนทำงานสาธารณสุข พวกเขาก็ตัดสินใจว่าจะไม่ทนอีกต่อไป

นักประวัติศาสตร์ชาวคิวบา ราฟาเอล โรฮาส กล่าวว่านี่เป็นครั้งแรกที่ปัญญาชนและศิลปินในคิวบาท้าทายรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเอง พวกเขาเน้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม เรียกร้องให้ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ในการเมืองคิวบาผ่านทางระบบกฎหมาย, รัฐธรรมนูญ และสถาบันการเมือง

ทาเนีย บรูเกรา ศิลปินคิวบากล่าวว่าการลุกฮือเกิดขึ้นเพราะกลุ่มศิลปินคิวบาต้องทนกับการถูกข่มเหง คุกคาม และไล่ตามจากตำรวจเพียงเพราะความคิดเห็นทางการเมืองของพวกเรามามากพอแล้ว พวกเขาต้องการเป็นอิสระจากสถาบันของรัฐ

ในที่ประชุมกับนักกิจกรรมรัฐบาลคิวบาก็พูดในเชิงลมปากว่าพวกเขาจะไม่ข่มเหงรังแกผู้ชุมนุม แต่การปฏิบัติหลังจากนั้นอีกแค่ 48 ชั่วโมงก็ผิดกับลมปากที่ให้ไว้ รัฐมนตรีภาคส่วนต่างๆ ของรัฐบาลคิวบาพากันออกสื่อของรัฐโจมตีและให้ร้ายขบวนการของผู้ชุมนุม บางก็กล่าวหาแกนนำบางส่วนว่าเป็น "ทหารรับจ้างที่รับเงินสหรัฐฯ มาทำลายเสถียรภาพของการปฏิวัติ" ผู้ประท้วงบางส่วนถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาลและถูกจับเพราะแค่เดินอยู่ข้างนอก มีการปิดล้อมสถานที่ชุมนุมรอบกระทรวงวัฒนธรรมและมีการสั่งคุมขังนักข่าวอิสระหลายคนไว้ในบ้าน อีกทั้งยังมีการสั่งปิดสถาบันศิลปะนานาชาติ INSTAR ของบรูเกลาด้วย มีการใส่ร้ายผู้ชุมนุมว่าทำลายกระจกของร้านแลกเงินแต่ต่อมาก็มีการเปิดเผยว่าเป็นตำรวจคิวบาที่เข้ามาแทรกซึมทำการยุยงปลุกปั่น

การประท้วงรัฐบาลครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลคิวบากำลังประสบปัญหาจากการสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวเนื่องจากวิกฤตโรคระบาดและได้รับการสนับสนุนจากเวเนซุเอลาลดลง นอกจากนี้ยังเผชิญกับการคว่ำบาตรที่หนักขึ้นจากสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงเพราะกลัวว่าจะเป็นการแสดงความอ่อนแอออกมาให้เห็น

แต่ปฏิกิริยาโต้ตอบกับผู้ประท้วงก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในคิวบารับใช้พรรคคอมมิวนิสต์และหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่ได้รับใช้ประชาชน พวกเขาจึงพยายามใส่ร้ายป้ายสีและคุกคามต่างๆ ผ่านสื่อของตัวเองเป็นเทคนิควิธีการสกัดกั้นไม่ให้ชาวคิวบาลุกฮือ นอกจากนี้รัฐบาลคิวบาก็มักจะปราบปรามประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการล้มเหลวจากการเก็บเกี่ยวในปี 2514 และหลังกำแพงเบอร์ลินแตกในปี 2532

เรื่องเหล่านี้ทำให้กลุ่มศิลปินและสื่อร่วมกันตั้งขบวนการเคลื่อนไหว 27N ถึงแม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะมีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันก็ตาม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเผชิญกับการคุกคมจากตำรวจอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาก็ไม่เลิกล้มและใช้ชื่อ 27N เพื่อรำลึกถึงวันที่พวกเขาต่อสู้ร่วมกันเป็นครั้งแรก การตั้ง 27N ยังทำให้กลุ่มการเคลื่อนไหวของพวกเขามีตัวแทนทางวัฒนธรรมและกรรมการย่อยๆ ที่ทำงานในเรื่องการประสานงานกับสื่อและการบันทึกภาพต่างๆ ไปจนถึงที่ปรึกษาด้านกฎหมายด้วย

การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 27N มีการโพสต์ถ้อยแถลงร้องทุกข์ออนไลน์เรียกร้องให้เสรีภาพทางการเมืองกับชาวคิวบาทุกคน ปล่อยตัวแร๊พเปอร์ เดนิส โซลิส หยุดคุกคามปราบปรามศิลปินและนักข่าวที่คิดต่าง และหยุดใช้สื่อรัฐในการใส่ร้ายป้ายสีศิลปินอิสระเหล่านี้ แต่รัฐบาลก็จัดให้มีการประชุมกับศิลปินบางส่วนที่มีความจงรักภักดีกับรัฐบาลปฏิวัติอยู่แล้วเท่านั้น เรื่องนี้แม้กระทั่งคนที่เคยทำตัวเป็นผู้แก้ต่างให้ความเลวร้ายของรัฐบาลอย่าง ซิลวิโอ รอดริดจ์ ก็บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นสิ่งที่ขาดความชอบธรรมทางศีลธรรมและทางการเมือง และน่าจะมาจากการสั่งหารของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค

การเคลื่อนไหวที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมานอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากศิลปิน และนักวิขาการแล้ว กลุ่มสหพันธ์ศิลปินและนักเขียนคิวบา (UNEAC) ก็แสดงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวและออกแถลงการณ์ต่อต้านรัฐบาลคิวบาที่ใส่ร้ายป้ายสีพวกเขาด้วย นับเป็นการต่อต้านที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ารเมืองคิวบา

NACLA ตั้งข้อสังเกตอีกว่าการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมคิวบายังมีส่วนสำคัญในการประท้วง จากการที่คนรุ่นใหม่ชาวคิวบาที่มีสมาร์ทโฟนได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้นและใช้มันในการป้องกันตัวเองได้ ชาวคิวบาสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างถูกกฎหมายนับตั้งแต่ปี 2561 คนรุ่นใหม่ชาวคิวบาใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ระบายออก สื่อสารในที่สาธารณะ และกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขา พวกเขาดึงความสนใจออกมาจากสื่อของรัฐ ทำให้กลุ่มผู้นำคิวบาถูกลากเข้ามาในข้อถกเถียงโดยกลุ่มชาวเน็ตที่ไม่พอใจ นั่นทำให้รัฐบาลคิวบาพยายามปิดกั้นเว็บไซต์ของกลุ่มผู้ต่อต้าน แต่ชาวเน็ตรุ่นใหม่ในคิวบาก็โต้กลับด้วยการอาศัย VPN และเว็บสำรอง นอกจากนี้ยังมีสื่ออิสระและช่องรายงานสตรีมมิงสดผุดขึ้นมาอีกหลายแห่ง

อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่คนในคิวบาสามารถสื่อสารสิ่งต่างๆ กับชาวคิวบาพลัดถิ่นนอกประเทศได้โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้นจากเดิมที่รัฐบาลคิวบาเคยพยายามสกัดกั้นสิ่งที่อยู่ในและนอกประเทศคิวบามาโดยตลอด ชาวคิวบาในประเทศรู้สึกฮึกเหิมเพราะได้เห็นว่าคนอื่นก็ทำอย่างที่พวกเขาทำและได้เห็นว่ารัฐบาลกระทำอะไรกับชาวคิวบาคนอื่นๆ

นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทในการทำให้เกิดกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นหมอที่แฉเรื่องสภาพการจ้างงานที่โหดร้ายและการถูกจับตาสอดแนมอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสิทธิสัตว์, กลุ่ม LGBTQ, กลุ่มเฟมินิสต์, กลุ่มต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จัดตั้งการประท้วงกลุ่มเล็กๆ ของตัวเองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยอาศัยโซเชียลมีเดียช่วย

ฝ่ายรัฐบาลยังคงโต้ตอบการต่อต้านรัฐบาลทุกรูปแบบว่าเป็นกลุ่มที่ถูกฝึกฝน ได้รับเงินทุน และได้รับการขับเคลื่อน จากรัฐบาลสหรัฐฯ และกลุ่มฝ่ายซ้ายบางกลุ่มนอกคิวบาเองก็ท่องตามที่รัฐบาลคิวบาแถลงหรือเน้นประณามสหรัฐฯ มากกว่าจะเป็นห่วงเรื่องสิทธิพลเมืองในคิวบา แต่ชาวคิวบาและชาวอเมริกันพื้นเพคิวบาต่างก็มองว่ามันเป็นความผิดพลาดที่จะลดความสำคัญหรืออ้างความชอบธรรมให้กับการกดขี่ประชาชนของรัฐบาลคิวบา

NACLA ระบุว่าถึงแม้จะมีหน่วยงานยูเอสเอดที่ให้งบประมาณกลุ่มส่งเสริมประชาธิปไตยในคิวบามาตั้งแต่ปี 2560 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบ่ลจะมาจากแผนการของซีไอเอ หรือเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ พยายามแทรกแซงแต่อย่างใด และฝ่ายต่อต้านเองก็สามารถมีมุมมองวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเองได้โดยไม่ต้องอาศัยสหรัฐฯ

คาร์ลอส มานูเอล อัลวาเรซ นักเขียนชาวคิวบาที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทางการเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2563 เคยเขียนบทความในนิวยอร์กไทม์เอาไว้ว่า สิ่งที่แพร่สะพัดในหมู่ชาวคิวบาคือความโกรธเคืองมากกว่าความกลัว และชาวคิวบาก็รู้สึกเหลืออดกับการต้องอยู่กับความคลั่งชาติแบบถูกฝังหัว "การดำเนินชีวิตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์เสมือนกับการพยายามเดินข้ามถนนโรยหินกรวดด้วยรองเท้าส้นสูงโดยพยายามไม่ให้ล้ม พยายามแสร้งทำให้เหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างยังคงปกติ มีพวกเราบางคนที่หกล้มข้อเท้าแพลง" อัลวาเรซเปรียบเทียบชีวิตภายใต้รัฐบาลคิวบาในบทความ

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ที่ชาวคิวบาเป็นผู้เสนอไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงจากตำรวจ, ความรุนแรงในครัวเรือน, การทารุณสัตว์, การขาดแคลนอาหาร และบริการสาธารณะที่ขาดประสิทธิภาพในคิวบาเป็นสิ่งที่มาจากชาวคิวบาเอง ไม่ได้มาจากการยุยงจากต่างชาติแต่อย่างใด การที่ชาวคิวบาพลัดถิ่นที่ทำงานในต่างประเทศส่งเงินกลับบ้านกลับครอบครัวทำให้ครอบครัวพวกเขาใช้จ่ายกับโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือต่างๆ ทำให้พวกเขารับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ รวมถึงสื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นักกิจกรรมที่เป็นศิลปินอย่างบรูเกราและซานเชซก็ไม่ได้รับทุนจากสหรัฐฯ แต่อาศัยวิธีการระดมทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ

โคโค ฟุสโก ผู้เขียนบทความให้กับ NACLA ระบุว่าถึงแม้ชาวคิวบาจะมีสิทธิตามกฎหมายจำกัด แต่พวกเขาก็มีความคิดอ่านและการตัดสินใจเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ว่าพวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงในแบบที่มีสหรัฐฯ คอยหนุนหลัง แต่ที่เขานำเสนอบทความเช่นนี้เพราะต้องการให้เกิดความเข้าใจพลวัติและมองอะไรแบบไม่ตีขลุมเหมารวมซึ่งจะทำให้เห็นการประท้วงที่บ่อยขึ้นมีให้เห็นมากขึ้นและเกิดการจัดตั้งมากขึ้นในคิวบา

ฟุสโกบอกอีกว่าหลายคนอาจจะส่งสัยว่าเจรจากับรัฐบาลไปจะมีผลอะไร แต่พวกเขาก็เล็งเห็นว่าขบวนการแก้ไขกฎหมายในเชกโกสโลวาเกียในยุคสมัยนั้นก็เริ่มต้นมาจากการที่มีการจับกุมวงร็อคไซคีเดลิกวงหนึ่งเหมือนกัน

"มายาคติเรื่องที่ว่าคิวบาเป็นประเทศอุดมคติทางการเมืองนั้นถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลปฏิวัติเอามาใช้บีบเค้นเท่านั้น มันเรียกเงินจากนักท่องเที่ยวและเรียกเงินสนับสนุนจากต่างชาติ แต่การอ้างความจริงเช่นนี้ถูกทำลายลงโดยสภาพชีวิตจริงของชาวคิวบา 11 ล้านคน ศิลปินและปัญญาชนคิวบาทนอยู่กับมายาคตินี้มา 60 ปีแล้ว การร่วมกันปฏิเสธสิ่งเหล่านี้เป้นสัญญาณที่ชัดเจนว่าความเปลี่ยนแปลงเริ่มจะมองเห็นได้รางๆ แล้ว" ฟุสโกกล่าว


เรียบเรียงจาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net