Skip to main content
sharethis

‘คณะที่ปรึกษา รมว.แรงงาน’ รับข้อเรียกร้องขอสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ 9 ข้อ หวังช่วยเหลือจากผลกระทบโควิค-19

14 ม.ค.2564 มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ หรือ HomeNetThailand แจ้งว่า ที่กระทรวงแรงงานวันนี้  (14 ม.ค. 64) เวลา 13.45 น. สมคิด ด้วงเงิน ประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ยื่นข้อเรียกร้องของแรงงานนอกระบบในการเผชิญการแพร่ระบาดของโควิค-19 ระลอก 2

โดยมี ณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับข้อเรียกร้อง พร้อมด้วยบุปผา พันธุ์เพ็ง รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม จรัญชัย ก่อศรีพิทักษ์กุล ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวมถึงผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมสังเกตการณ์และพูดคุยกับตัวแทนของแรงงานนอกระบบถึงแนวทางความช่วยเหลือต่อไป ณ ห้องประชุมกองกฎหมาย ชั้น 11 อาคารกระทรวงแรงงาน

สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน ของสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ(ประเทศไทย) มีดังนี้

  1. หยุดเลือดที่ไหลออกตลอดเวลาของพวกเราโดยการประกาศให้แหล่งเงินกู้ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ พักหนี้ทั้งต้นและดอกไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากเดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป
  2. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยแผนการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ 3,500 บาทเป็นเวลาสองเดือนของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบทุกคน  เพื่อลดปัญหาการตกหล่น เพราะโดยส่วนใหญ่คนที่ตกหล่นคือคนที่มีความลำบากอย่างมาก จนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและความช่วยเหลือใด ๆ ได้
  3. ช่วยสร้างงานอย่างจริงจัง โดยจัดสรรโควตาในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐและสำนักงานกรุงเทพ มหานครอย่างน้อยร้อยละ 30ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตและวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ อาทิเช่น เครื่องนอนในโรงพยาบาล โรงเรียน เครื่องแบบบุคลากร ชุดพนักงานรักษาความสะอาด เสื้อยืด และกระเป๋าสัมมนาต่าง ๆ เป็นต้น
  4. เพิ่มการเข้าถึงการช่วยเหนือจากภาครัฐ โดยขยายขอบเขตการช่วยเหลือภายใต้ “โครงการคนละครึ่ง” จากผู้ประกอบการ ร้านค้า ให้ครอบคลุมคนทำงานภาคบริการด้วยเช่น  แท็กซี่ มอไซด์รับจ้าง ช่างเสริมสวย และพนักงานนวดแผนโบราณ เป็นต้น
  5. ฟื้นฟูการประกอบอาชีพ โดยการจัดตั้ง กองทุนพัฒนาแรงงานนอกระบบ เพื่อสนับสนุนทุนหมุนเวียนแก่กลุ่ม และองค์กรแรงงานนอกระบบรูปแบบต่าง ๆแบบให้เปล่า เป็นจำนวน 100,000-1,000,000 บาท ต่อกลุ่ม หรือในรูปเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดจิ๋วที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าหนึ่งล้านบาท
  6. เสริมพลังในการสู้วิกฤติ โดยจัดให้มีการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ในการค้าขายและงานบริการต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้า และบริการต่าง ๆ แก่กลุ่มหรือเครือข่ายแรงงานที่มีความต้องการ เช่นกลุ่มมอไซด์รับจ้าง กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน กลุ่มช่างเสริมสวยและกลุ่มพนักงานนวดแผนโบราณ เป็นต้น
  7. สร้างความมั่นคงทางอาหารและลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ โดยการคืนพื้นที่ทางการค้าขายให้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง  หาบเร่แผงลอย ถนนคนเดิน ตลาดเขียวและตลาดในหน่วยงานราชการต่าง ๆ 
  8. ลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของลูกหลาน โดยรัฐบาลควรกำหนดให้สถานศึกษาต่าง ๆ ลดค่าเทอม ค่าหน่วยกิตและค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องเพราะสถานศึกษาต่าง ๆกำหนดให้ลูกหลานต้องเรียนออนไลน์ อันเป็นการเพิ่มภาระและเพิ่มค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครอง ในขณะที่สถานศึกษาและผู้สอนมีค่าใช้จ่ายลดลง
  9. เพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ โดย คณะอนุกรรมการประกันสังคมมาตรา 40 และคณะทำงานแรงงานนอกระบบที่กระทรวงแรงงานประกาศว่าจะจัดตั้งขึ้นโดยมีตัวแทนของแรงงานนอกระบบเข้าร่วม จะต้องมีการจัดตั้งและมีการประชุมโดยเร็วที่สุดเพื่อให้การแก้ปัญหาต่าง ๆของแรงงานนอกระบบทันกับสถาณการณ์ที่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net