Skip to main content
sharethis

สมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงสำนักนายกฯ หลังได้รับผลกระทบหนักจากมาตรการห้ามขาย-โฆษณาเบียร์ออนไลน์ ตลอดจนห้ามร้านอาหารขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงโควิด-19 หวังรัฐเปิดช่องให้ผู้ประกอบการขายเบียร์เฉพาะช่วงเวลานี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 หากไม่มีการผ่อนผัน วิกฤตนี้อาจเป็นหมัดน็อกวงการคราฟต์เบียร์ไทย ซึ่งไม่รู้จะกลับฟื้นตัวได้แบบเดิมอีกเมื่อไหร่  

(ซ้าย) อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ และ (ขวา) นายอาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์  สองตัวแทนจากสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย

เมื่อเวลา 9.30 น. วันนี้ (15 ม.ค. 63) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ และ อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ สองตัวแทนจากสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึงภาครัฐ เรื่อง “มาตรการการบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟท์เบียร์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) ระลอกใหม่” โดยผู้มารับหนังสือคือ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

สองตัวแทนสมาคมฯ มองว่า ภาครัฐต้องคำนึงถึงผู้จัดหน่ายและนำเข้าคราฟต์เบียร์อย่างถูกกฎหมาย เนื่องด้วยธุรกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ในไทยนั้น เวลาที่พวกเขานำเข้าเบียร์จากต่างประเทศ ต้องใช้เวลาสั่งล่วงหน้า 3-6 เดือนโดยประมาณ แต่สินค้าถูกนำเข้ามาพอดีกับช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสอง เมื่อสั่งเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะช่องทางจำหน่ายคราฟต์เบียร์มีทางเดียว คือ การขายในร้านอาหาร ผับ หรือบาร์ แต่สถานการณ์โควิด-19 ครานี้ รัฐออกนโยบายห้ามนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร 

สมาคมคราฟท์เบียร์ฯ มองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจคราวนี้รุนแรงกว่าช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกแรก เนื่องจากการระบาดช่วงต้นปี พวกเขายังพอสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านไปได้จากการจำหน่ายคราฟต์เบียร์บนช่องทางอินเทอร์เน็ต แต่หลังจากเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 63 ภาครัฐออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 โดยภาครัฐอ้าง เยาวชนจะสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย 

ผลจากการบังคับใช้ประกาศนี้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถขายบนช่องทางออนไลน์ใด ๆ ได้ เหลือเพียงช่องทางเดียว คือ จำหน่ายตามร้านอาหารกลางคืน ผับ บาร์ แต่ตอนนี้ภาครัฐก็ปิดประตูช่องทางนี้ไปแล้ว เบียร์ที่ถูกนำเข้ามาตอนนี้มีบางส่วนค้างอยู่ที่ท่าเรือ เพราะผู้ประกอบการไม่รู้ว่าไปเอามาแล้ว จะจำหน่ายออกไปยังไง บางรายถึงขั้นไม่ยอมจ่ายเงินค่าสินค้านำเข้าก็มี บางรายสั่งเบียร์สดเข้ามาแล้ว ค้างอยู่ที่ร้าน ไม่สามารถจำหน่ายได้ ก็ถึงขั้นอาจต้องเททิ้งทั้งถัง 

ทั้งนี้ เบียร์สดจะมีช่วงควรบริโภคก่อนที่เบียร์จะเสียรสชาติ หรือหมดอายุ ประมาณ 3-4 เดือน และการเทเบียร์ทั้งถังทิ้งนั้น ผู้ขายจะขาดทุนเต็ม ๆ โดยเบียร์บางถังก็มีราคาหลายหมื่นบาท กรณีที่ขายไม่ได้ ผู้จำหน่ายอาจเลือกวิธีนอกกฎหมาย ของอยู่เต็มมือ ขายไม่ได้ ให้ทำยังไง ก็ต้องขายแบบหลบกฎหมาย 

แน่นอนว่าฝั่งผู้ประกอบการเข้าใจถึงเหตุจำเป็นต่อการควบคุมโรคและยินดีให้ความร่วมมือ แต่การที่ภาครัฐปิดช่องทางจำหน่ายคราฟต์เบียร์ลงทั้งหมด อีกทั้ง ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพวกเขาช่วงวิกฤต จะทำให้ผู้จัดหน่ายคราฟต์เบียร์ทั้งหมด “ตายสนิท” หรือ “ได้แต่รอวันตาย” และความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจมากถึง 150 ล้านบาทต่อเดือน ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผู้ให้เช่าคลังสินค้า ตัวแทนจำหน่าย ตลอดจนบริษัทขนส่ง 

“ตอนนี้มันเสียหายทุกระดับตั้งแต่ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่าย ขนส่ง โลจิสติกส์ มันโดนฟรีซไว้หมดเลย และก็อย่างที่บอก แต่ละร้านพยายามขายอาหาร แต่ว่ามันไม่ใช่ธรรมชาติของพวกเรา ให้ไปขายอาหารแข่งกับร้านปกติ ธรรมชาติของเราคือการขายคราฟต์เบียร์ ตอน เข้าสู่สัปดาห์ที่สองตั้งแต่ปีใหม่ บางร้านเลือกที่จะปิดไปเลยประมาณ 10 กว่าร้าน พวกเราก็เป็นห่วง เพราะว่าในคำสั่ง กทม. เขียนไว้ ลงท้ายไว้ว่าจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายแล้วเราต้องอยู่อย่างนี้ไปอีกนานแค่ไหน”

ดังนั้น ข้อเสนอแนะถึงภาครัฐที่สำคัญ คือ การที่ภาครัฐต้องมีมาตรการผ่อนปรนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจวงการเบียร์ ให้สามารถขายเบียร์ออนไลน์ได้ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย 

ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดลงในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้ ยกตัวอย่าง ทางร้านสามารถนำเบียร์สดบรรจุกระป๋องขายให้ลูกค้า ซึ่งปกติแล้ว ทางร้านไม่สามารถเอาเบียร์สดมาบรรจุกระป๋อง และขายให้ลูกค้าในลักษณะ take away ไปทานที่อื่นนอกร้านได้

อนุญาตให้ธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นร้านอาหาร สามารถจำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายในร้านได้ โดยร้านอาหารดังกล่าวยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เช่น มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน การจัดที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างลูกค้า และปิดการให้บริการนั่งในร้านตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น  

นอกจากนี้ ในหนังสือยังระบุข้อเสนอเรื่องมาตรการผ่อนผันอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้จัดจำหน่ายเบียร์ อย่างการผ่อนผันให้สามารถโพสต์รูป หรืออธิบายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงมาตรการผ่อนผันทางภาษีอื่น ๆ 

“ถ้าดูในหนังสือ เราไม่ได้ขออะไรมาก ขอแค่ให้เราอยู่รอด ขอแค่ประคองตัวผ่าน ไม่ได้หวังกำไรอะไรเลย ก็ขอให้เปิดช่องทำมาหากินได้บ้าง อยากให้ภาครัฐพิจารณาดูผู้ประกอบการด้วย เวลาคุณออกกฎหมาย คุณไม่เคยถามผู้ประกอบการเลย” อาชิระวัสส์ กล่าว 

“ความรู้สึกมันมันทำให้คนทำธุรกิจถูกกฎหมายท้อใจ หมดพลัง เราทำธุรกิจถูกกฎหมาย เสียภาษีถูกต้องให้รัฐ โดยไม่เคยผิดอะไรเลย” อาทิตย์ ตัดพ้อ  

รายละเอียดหนังสือข้อเรียกร้องถึงภาครัฐมีดังนี้ 

เรื่อง ขอเสนอมาตรการการบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟท์เบียร์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) ระลอกใหม่ 

เรียน นายกรัฐมนตรี

เนื่องด้วยคำสั่งของกรุงเทพมหานครในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายในร้านอาหาร ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งประเทศ ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ มีความเข้าใจถึงความปรารถนาดีและความกังวลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส

อย่างไรก็ตามทางสมาคมฯมีความกังวลเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคราฟท์เบียร์จำนวนไม่น้อยกว่า 600 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาทต่อเดือน ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทที่ให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน 

โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญ มีดังต่อไปนี้ 

1.) ร้านค้า ตัวแทนจำหน่าย และผู้นำเข้าไม่สามารถระบายสินค้าเบียร์สด ซึ่งเป็นสินค้าที่ มีต้นทุนสูงและมีอายุสินค้าสั้นได้ 

2.) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สด ในบรรจุภัณฑ์อื่น เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้ เนื่องจากผิดพรบ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 157 ทำให้ต้องสูญเสียสินค้าไปโดยใช่เหตุ

3.) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ แม้ตัวกฎหมายนี้จะยังคงมีปัญหา มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน เช่น ไม่สามารถให้คำนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้ อีกทั้งยังไม่มีคู่มือให้ผู้ประกอบการปฎิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง 

4.) ปัญหามาตรา 32 พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลอกอฮอล์ ที่ไม่เพียงห้ามให้ร้านค้าโพสต์ประชาสัมพันธ์ หรือขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย แต่ยังรวมไปถึง การเขียนถึงสินค้าแม้จะไม่มีรูปประกอบ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่

จากปัญหาข้างต้น จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการไม่สามารถทำธุรกิจได้เลย ไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม ทางสมาคมฯจึงขอเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดังต่อไปนี้ 

1.) อนุญาตให้ธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นร้านอาหาร สามารถจำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายในร้านได้ โดยร้านอาหารดังกล่าวยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เช่น มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน การจัดที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่างระหว่างลูกค้า และปิดการให้บริการนั่งในร้านตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น  

2.) ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดลงในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้ 

3.) ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย 

4.) ผ่อนปรนให้ร้านค้าสามารถโพสรูปสินค้า และอธิบายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อโซเชียลมีเดียได้ 

5.) อนุญาตให้ผู้ประกอบการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม

6.) อนุญาตให้ผู้นำเข้า สามารถแบ่งชำระภาษีสรรพาสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน 

ท้ายที่สุดแล้ว ทางสมาคมคราฟท์เบียร์ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ประกอบอาชีพสุจริตในธุรกิจคราฟท์เบียร์ ได้แต่หวังว่าทางภาครัฐจะมีความเห็นใจ เข้าใจอย่างจริงใจ ถึงสถานการณ์ที่เราได้รับผลกระทบอยู่ และขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเยียวยาตามที่ได้เสนอไป 

 

 

 

 

                                                                           _________________________

                                                                                   อาชิระวัสส์  วรรณศรีสวัสดิ์

                                                                            นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย

 

 

หมายเหตุ : เมื่อเวลา 23.32 น. วันที่ 29 ม.ค. 2564 ประชาไทได้ดำเนินการปรับแก้พาดหัวข่าวมาเป็นพาดหัวที่ใช้อยู่ปัจจุบัน  



 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net