Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' ชี้รัฐบาลจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองเกินกรอบของกฎหมาย - เรียกร้อง 'ประยุทธ์' จัดการปัญหาฝุ่นก่อนตั้งเรื่องซื้อเรือดำน้ำ ชี้ทุกปัญหาแก้ได้ อย่าถนัดแต่ตั้งกรรมการเพื่อยื้อเวลา


นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย | ที่มาภาพ: พรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำกำลังเข้าจับกุมกลุ่มการ์ดปลดแอก ขณะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมกันเขียนป้ายยาว 112 เมตร ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ว่า รัฐบาลควรบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกลุ่มจัดกิจกรรม ในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรค หรือผิดกฎหมายใด อย่างตรงไปตรงมา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายกลุ่มจัดกิจกรรมทุกกรณี ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ถูกตั้งคำถามถึงการดำเนินการเกินกว่าเหตุ ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหาย เป็นภาพลักษณ์ที่ติดลบของรัฐบาลในสายตาประชาชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ขณะที่ปัญหายาเสพติด แรงงานต่างด้าว บ่อนการพนัน รัฐบาลสารภาพว่าแก้ไม่ได้ แต่การบังคับใช้กฎหมายเกินจากกรอบและความจำเป็นขั้นพื้นฐานกับประชาชนในประเทศชนะเลิศ

“รัฐบาลจะสั่งตำรวจบังคับใช้กฎหมายไม่มีใครว่า คนที่ออกมาจัดกิจกรรมพร้อมรับในชะตากรรม แต่การทำร้ายประชาชน ดำเนินการเกินจากกรอบกฎหมายไม่มีใครรับได้” นายอนุสรณ์ กล่าว

เรียกร้อง 'ประยุทธ์' จัดการปัญหาฝุ่นก่อนตั้งเรื่องซื้อเรือดำน้ำ ชี้ทุกปัญหาแก้ได้ อย่าถนัดแต่ตั้งกรรมการเพื่อยื้อเวลา

ด้าน ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานจนถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต บางพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานกว่า 215 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมของทุกปี วนซ้ำกลับมาเหมือนเทศกาลตายผ่อนส่ง จนทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีมลพิษเลวร้ายติดอันดับ 7 ของโลก ขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ค่าฝุ่นในระดับสีม่วงเป็น อันตรายต่อคนป่วยโรคปอดและหัวใจ อาจทำให้ผู้ที่มีสุขภาพดีเกิดโรคปอดและหัวใจได้ แต่รัฐบาลยังไร้มาตรการและการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ต้องตระหนักว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ชีวิตความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย คือหน้าที่รัฐต้องจัดสรรให้ประชาชน

โฆษกพรรคเพื่อไทย จึงเสนอ 3 มาตรการเพื่อลดปัญหาค่าฝุ่น โดย

1. รัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการใช้รถไฟฟ้า ด้วยการปรับลดค่าโดยสารให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาสูง จนประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้

2. รัฐบาลควรเร่งดำเนินการจริงจังเรื่องการวางระบบรถเมล์ไฟฟ้า เพราะในต่างประเทศระบบรถเมล์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ อย่างในจีนราคาอยู่ที่คันละ 9-11 ล้านบาท หรือในยุโรปราคาอยู่ที่ 12-15 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐพิจารณาเรื่อง การซ่อมบำรุงในระยะยาวเมื่อเทียบกับรถเมล์ดีเซลจะถูกกว่า ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าเบรก ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนแบตอย่างเดียวในระยะยาว 15 ปี และยังมีราคาถูกกว่ารถใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ ตัวเลขรถเมล์ในกรุงเทพที่ ขสมก. ดำเนินการเองแบ่งเป็น รถธรรมดา 1,500 คัน ปรับอากาศ 1,400 คัน รวม 2,900 คัน เปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้า จะใช้งบประมาณ 29,000 ล้านบาท แค่ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการซื้ออาวุธเพิ่มแสนยานุภาพ แล้วนำงบประมาณส่วนนั้นมาซื้อรถเมล์ไฟฟ้าเพิ่ม ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า

3. รัฐบาลควรจูงใจประชาชนให้ใช้รถไฟฟ้าด้วยมาตรการทางภาษี ด้วยการสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนที่นำเข้ารถไฟฟ้าหรือทำกิจการรถไฟฟ้าโดยจัดเก็บภาษีให้ต่ำ เพื่อกระตุ้นการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแบบไฟฟ้ามากขึ้น

“ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ยาเสพติด บ่อน ส่วย หรือ PM2.5 แต่อย่าแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะทำงาน เพราะมันสะท้อนว่ารัฐราชการนี้แก้ปัญหาไม่ได้ ทำได้แต่ยื้อเวลา ทุกวันนี้ประชาชนยอมเป็นหนี้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น ไม่ใช่เป็นหนี้เพื่อให้รัฐบาลเอาไปซื้อเรือดำน้ำ” ผศ.ดร.อรุณี กล่าว

ที่มาเรียบเรียงจาก เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net