Skip to main content
sharethis

ส.ส. จากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านรับไม้ต่อภาคประชาสังคม พร้อมผลักดันนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 600 บาทให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ พ.ศ.2564

18 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายวันนี้ (18 ม.ค.64) คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรและคณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้าร่วมกับภาคประชาสังคม 301 องค์กร จัดเวทีเสวนาออนไลน์หัวข้อ หาทางออกเพื่ออนาคตที่เป็นธรรมและยั่งยืน ต้องให้ “เด็กชนะ” เพื่อช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบากอันเป็นผลกระทบซ้ำเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง และสมาชิกรัฐสภาร่วมเสนอแนวคิด อภิปรายแลกเปลี่ยน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและวิธีดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

การเสวนาเริ่มต้นด้วยการนำเสนอข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของรัฐบาลในภาพรวมตั้งแต่ พ.ศ.2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่านโยบายดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแต่อยู่ในกรอบที่จำกัด ระยะแรกของโครงการ รัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0-1 ปี จำนวน 400 บาท/คน/เดือน โดยจำกัดรายได้เฉลี่ยของผู้ปกครองไม่เกินคนละ 36,000 บาท/ปี ต่อมาขยายสิทธิให้แก่เด็กอายุ 0-3 ปี และเพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 600 บาท/คน/เดือน และในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รัฐบาลเตรียมพิจารณาขยายสิทธิเงินสวัสดิการส่วนนี้ให้ครอบคลุมเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนคนละ 600 บาท/เดือน โดยปรับเกณฑ์รายได้เฉลี่ยเป็นครอบครัวละไม่เกิน 100,000 บาท/ปี แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวที่มีเด็กเล็กต้องเผชิญภาวะวิกฤติด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการหลายอย่าง รวมถึงสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กจำนวนนี้ คณะทำงานฯ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐปรับนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้า และเริ่มต้นดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณปัจจุบัน โดยขออนุมัติงบฉุกเฉินเพิ่มเติม 12,000 ล้านบาท เพื่อนำมาแบ่งจ่ายเป็นเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้แก่เด็กเล็กกว่า 2,000,000 คนที่รอการเข้าถึงสิทธิ์ในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นว่างบประมาณจำนวนดังกล่าวไม่ได้มากเกินจนเป็นภาระเมื่อเทียบกับงบฉุกเฉินส่วนอื่นที่รัฐบาลอนุมัติไปก่อนหน้า เพราะเด็กเล็กและผู้ปกครองต่างได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ยังเน้นย้ำให้เห็นข้อดีของการปรับสวัสดิการให้เป็นแบบถ้วนหน้าว่าช่วยให้ภาครัฐดำเนินการได้คล่องตัวขึ้นเนื่องจากลดขั้นตอนการคัดกรองคุณสมบัติผู้ปกครอง ทั้งยังตัดปัญหาเด็กตกสำรวจได้อีกด้วย

ตัวแทน ส.ส. จากฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เข้าร่วมเสวนาเห็นชอบตรงกันว่าจะเร่งผลักดันให้นโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาให้เร็วที่สุดภายในปีงบประมาณ 2564 โดยไม่แบ่งพรรคแบ่งพรรคทางการเมือง มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เสนอว่าตนจะหารือกับ ส.ส.ร่วมพรรค และรวบรวมรายชื่อ ส.ส. และ ส.ว. เสนอต่อประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดการทำงานในนโยบายนี้ ในขณะที่ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอวิธีการแก้ไขปัญหานโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าแบบยั่งยืนด้วยการส่งเสริมรัฐสวัสดิการเกื้อหนุนที่สร้างงานในกลุ่มธุรกิจดูแลสังคม (Caring Business) ให้แก่กลุ่มแรงงานหญิงในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้แรงงานสามารถดูแลตัวเองได้โดยลดการพึ่งพาค่าใช้จ่ายจากภาครัฐ ด้าน รฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์ หัวหน้าพรรคเสมอภาค เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการงบประมาณเงินสวัสดิการเด็กเล็กได้เอง ทั้งยังฝากเรื่องนโยบายส่งเสริมการออมซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กสามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามฉุกเฉิน

ในการเสวนาครั้งนี้ ยังมี ปิยะวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมชี้แจงการดำเนินงานในส่วนของภาครัฐ โดยระบุว่าศูนย์ฯ ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา และกำลังรวบรวมเพื่อส่งต่อไปยังจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงให้ยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยว่าต้องจัดให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และจะพยายามประชาสัมพันธ์รวมถึงประสานงานกับท้องถิ่นให้มากขึ้น พร้อมทั้งน้อมรับข้อเสนอการพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้เป็นระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการดังกล่าวมากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net