'ก้าวไกล' จ่อตั้งกระทู้ถามสด ปมเจ้าหน้าที่อุ้มหายผู้ชุมนุม - 'เพื่อไทย' ร้องรัฐบาลหาผู้รับผิดชอบ 

'ก้าวไกล' ชี้การควบคุมตัวผู้ชุมนุม-นักกิจกรรม-ประชาชน ในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย ซัด ผบ"ตร. 2 มาตรฐาน สั่งงานลูกน้อง กระทำป่าเถื่อนต่อประชาชน เทียบคดีบ่อนพนันออนไลน์ พร้อมดัน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ 'เพื่อไทย' ร้องรัฐบาลหาผู้รับผิดชอบ – หยุดละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

18 ม.ค.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วันนี้ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองเเละผู้ชุมนุมในอาทิตย์ที่ผ่านมา  อย่างไร้ซึ่งมนุษยธรรม เเละเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น และมีข้อสังเกตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ในระหว่างจับกุมตำรวจไม่ให้สิทธิในการเข้าถึงทนาย ศาลออกหมายค้นได้ในยามวิกาล ศาลออกหมายจับคดี ม.112 แต่บุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างถึงในบันทึกจับกุมไม่อยู่ในความคุ้มครองของ ม. 112 และอีกกรณี ”เดฟ ชยพล” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็น 1 ในผู้ถูกออกหมายจับโดยมีชื่ออยู่ใน หมายค้น แต่มีหลักฐานว่าเขาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ต่อมา เดฟได้มาแสดงตัวต่อหน้าเจ้าพนักงาน แต่ผู้กำกับ สภ.คลองหลวง ยืนยันว่าไม่เคยมีการออกหมายจับ และในวันเดียวกัน  พนง.สืบสวน ก็กลับไปยื่นคำร้องขอยกเลิกหมายจับ หลังจากนั้นศาลก็มีคำสั่งให้ยกเลิกหมายจับ

กรณีการจับกุมประชาชน ขณะทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเข้าจับกุมประชาชนที่ร่วมชุมนุมกดดันให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ชุมนุม ท่ามกลางความชุลมุน และเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมด้วยการกระทำที่เกินกว่าเหตุ หลังจากนั้นก็ได้นำตัวไปควบคุมไว้ที่ บก.ตชด.ภาค1 ท่ามกลางข้อกังขาว่า จนท.ตำรวจกำลังทำผิด กฎหมายหรือไม่ เนื่องจากตามป.วิอาญา ม.83 ต้องพาตัวผู้ถูกจับไปที่ทำการของพนง.สอบสวน แต่กลับไม่แน่ชัดว่า จนท.ใช้อำนาจใดนำตัวไปควบคุมที่ ตชด.ภาค1 เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงถูกยกเลิกไปแล้ว ประกาศกำหนดสถานที่คุมตัวที่ตชด. ก็ได้เป็นอันสิ้นสุดไปด้วย อีกทั้งการเข้าถึงสิทธิในการพบทนายของผู้ต้องหาก็เป็นเรื่องยากลำบากมาก  ซึ่งข้อสังเกตนึงของการจับกุม ที่อนุสาวรีย์ชัยฯและ สามย่านมิตรทาวน์ มาจากการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไฟเขียวให้ตำรวจให้ใช้กำลังจัดการผู้ชุมนุมได้หากจำเป็นโดยไม่ลังเล นำมาสู่การจับกุมประชาชนไปแล้วอย่างน้อย 6 ราย 

“เกิดการอุ้มหาย “เยล” ที่ถูกอุ้มหายไปจากที่พักกว่า 14 ชั่วโมง โดยภายหลังทราบว่าถูกนำตัวมาปล่อยที่บางปู 
การหายตัวไปของ “ทศเทพ” ภายหลังมาทราบถูกจับกุม คุมขังไว้ที่ สภ.บางแก้ว โดยไม่ได้แจ้งไปยังญาติ ไม่แน่ชัดว่าได้แจ้งสิทธิในการเข้าถึงทนายต่อเค้าหรือไม่ อีกทั้งยังควบคุมตัวเกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการเกินกว่าอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าว 

เบญจา ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า การที่ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติไฟเขียว เช่นนี้ นับเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก  เป็นการเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เป็นผู้ถืออาวุธกำลังจะกลายเป็นกองกำลังที่ป่าเถื่อน  สามารถใช้กำลังและอาวุธ ได้ตามใจชอบในการกำจัด และจัดการผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง และถ้าลองเปรียบเทียบการดำเนินการที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนต่อผู้ชุมนุม กับกรณี "บอสกระทิงแดง” หรือกรณี “บ่อนการพนัน”  เรากลับไม่เห็นความขมีขมัน ความตั้งใจจริง และจริงใจในการจับกุมหรือปราบปราม อย่างเช่นการจับกุมผู้ชุมนุมที่เพียงแค่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเลย นี่จึงกลายเป็นการประจานความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ที่น่ารังเกียจอย่างมากอีกด้วย 

ทั้งนี้ เบญจาเปิดเผยว่าพรรคก้าวไกล เตรียมตั้งกระทู้ถามสด ถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมระบุว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างพรบ.ฉบับดังกล่าวต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และพรรคก้าวไกลจะเฝ้าติดตามความคืบหน้ากฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด และหวังว่าประธานสภาฯจะบรรจุวาระและเห็นความสำคัญของกฎหมายที่ปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชน

'เพื่อไทย' ร้องรัฐบาลหาผู้รับผิดชอบ – หยุดละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ขณะที่ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่า อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการชุมนุมทำกิจกรรมของประชาชน 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่มีบุคคลอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ลักพาตัวผู้ทำกิจกรรม หรือกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุม โดยไม่แจ้งหมายจับ ควบคุมตัว คลุมหัวปิดตา ทำเหมือนประชาชนเป็นเฉลยสงคราม ไม่ใช่พฤติกรรมที่รัฐควรทำกับประชาชนคนไทยด้วยกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า “รัฐประหารไม่เสร็จ” รัฐบาลละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างชัดแจ้ง และทำจนเป็นนิสัย อ้างเพียงมิติด้านความมั่นคง โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือควบคุมคน กระทำรุนแรงต่อผู้ที่เห็นต่าง เพราะการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์เด่นติดตาประชาชนมาตลอด คือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ละเลยข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงการละเลยกฎหมายภายในประเทศ

โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า กรณีที่ทีมนักพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ออกมาชี้แจงการส่งต่อการดูแลแอปฯ ให้รัฐบาลเข้ามากำกับดูแลทั้งระบบว่า การที่รัฐบาลนำแอปฯ ไปดำเนินการเอง จะมีความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยรัฐหรือไม่ รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้ หากนำแอปฯไปดำเนินการ ข้อมูลส่วนบุคคลต้องไม่รั่วไหลสู่มือเอกชนที่พร้อมแสวงหาผลประโยชน์ ดังที่เคยเกิดขึ้นกับการเช็คอินด้วยแอปฯไทยชนะที่ปรากฏมีโฆษณาต่างๆ เข้ามาหลังสแกน และรัฐเองต้องไม่ใช้แอปฯเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามตัวประชาชนที่เห็นต่าง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท