Skip to main content
sharethis

ฮุนเซนประกาศรับบริจาควัคซีนจากจีน ขัดกับสัญญาเดิมที่ว่าจะใช้วัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO โดยวัคซีนที่กัมพูชาจะได้รับ 1 ล้านโดสคือ "ซีโนฟาร์ม" ซึ่งทดสอบได้ผลร้อยละ 79 ขณะที่ไทยซึ่งจัดซื้อ "ซีโนแวค" ได้ผลร้อยละ 50

สมเด็จฮุนเซน ภาพเผยแพร่ 29 พ.ย. 2020 (ที่มา: Facebook/Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister)

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาประกาศว่าเขารับบริจาควัคซีนจากจีนเป็นจำนวน 1 ล้านโดส ซึ่งขัดกับคำประกาศเดิมที่เขาบอกว่าจะใช้วิธีการรักษาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

ฮุนเซนแถลงว่าเขารับทราบเรื่องที่เคยประกาศว่าจะใช้วัคซีนที่ได้รับการรับรองมาก่อนหน้านี้ก็จริง แต่ก็อ้างว่าเนื่องจากกรณีผู้ติดเขื้อในไทยที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เขาต้อง "ปกป้องสุขภาพของประชาชนของพวกเรา" จึงมีการรับวัคซีนที่ "บริจาค" มาจากจีน

ฮุนเซนระบุว่าวัคซีนตัวที่เขารับมาเป็นของ "ซีโนฟาร์ม" (Sinopharm) หรือ ไชนาเนชันแนลฟามาซุติคอลกรุ๊ป หรือบริษัทเภสัชกรรมแห่งชาติจีน ซึ่งได้รับการบริจาคผ่านทางกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ ฮุนเซนแถลงอีกว่าสาเหตุที่เขารับวัคซีนนี้เพราะมันไม่ต้องใช้การเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำมาก และวางเป้าหมายว่าจะใช้วัคซีนกับประชากรประมาณ 500,000 คน โดยที่วัคซีนตัวนี้มีการผลิตและส่งต่อให้กับผู้นำระดับสูงของจีน ก่อนที่ทางการจีนจะส่งต่อให้กับประเทศอินโดนีเซีย, อียิปต์ และบราซิล

อย่างไรก็ตามสื่อรัฐบาลกัมพูชาระบุว่าพวกเขาจะจัดสรรวัคซีนให้กับ "กลุ่มที่มีความสัมพันธ์เป็นลำดับต้น" ก่อน เช่น ข้าราชบริพารรอบตัวสมเด็จนโรดมสีหมุนี นายกรัฐมนตรี หัวหน้า ส.ส. และ ส.ว. ไปจนถึงคนทำงานสาธารณสุข, ครู, ตำรวจ, ทหาร และ คนขับแท็กซี่

นอกจากวัคซีนจากจีนแล้ว กัมพูชายังทำการสั่งวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติที่เรียกว่า COVAX จำนวน 1 ล้านโดสด้วย ฮุนเซนบอกว่าเขาจะพยายามหาวัคซีนให้มากพอจะใช้กับประชากรร้อยละ 80 จากทั้งหมด 16 ล้านคนของประเทศได้

อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีของบริษัทซีโนฟาร์มที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลจีนนั้นเคยมีกรณีการลาออกของผู้บริหารด้วยเหตุผลส่วนตัวเมื่อไม่นานนี้ และทางบริษัทก็เคยแถลงว่าจากการทดลองในรอบที่ 3 พบว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพร้อยละ 79.34 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ไทยสั่งมาคือ "ซีโนแวค" (Sinovac) แล้ว พบว่ายังจัดว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า เพราะวัคซีนซีโนแวคจากบริษัทซีโนแวคไบโอเทคของจีนนั้นมีรายงานประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 50.4 เท่านั้น

ทั้งนี้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และ โมเดิร์นนา จัดว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าอยู่ที่ร้อยละ 95 แต่ต้องอาศัยการเก็บรักษาด้วยอุณหภูมิติดลบ โดยที่วัคซีนของบริษัทเหล่านี้อาศัยการใช้รหัสพันธุกรรม RNA ของตัวไวรัสเพื่อใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย ต่างจาก Sinovac ที่ใช้ชิ้นส่วนอนุภาคของไวรัสที่ตายแล้วเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบที่จะไม่ทำให้เกิดโรค

สื่อบีบีซีรวบรวมข้อมูลวัคซีนอื่นอีกสองชนิดคือ วัคซีนของแอสตราเซเนจาจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ต ที่อาศัยไวรัสอ่อนแรงที่ได้รับการดัดแปลงใส่พันธุกรรมขอบโคโรนาไวรัสลงไป มีราคาถูกกว่าของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคและโมเดิร์นนาและสามารถเก็บในอุณหภูมิของตู้เย็นได้แต่จากการทดสอบเบื้องต้นประสิทธิภาพยังอยู่ที่ร้อยละ 62-90 เท่านั้น อีกตัวหนึ่งที่ใช้ไวรัสรูปแบบเดียวกันคือ สปุกนิค หมายเลข 5 ของบริษัทกามาเลยาของรัสเซียที่จากการทดสอบเบื้องต้นระบุว่าได้ผลร้อยละ 92

เรียบเรียงจาก

Two senior managers from one of China’s top vaccine companies have resigned, CNBC, 15-01-2021

Brazil researchers now say China’s Sinovac vaccine is 50% effective — lower than announced earlier, CNBC, 12-01-2021

Cambodia accepts 1m doses of China's Sinopharm vaccine, Nikkei Asian Review, 16-01-2021

Covid: What do we know about China's coronavirus vaccines?, BBC, 12-01-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

อย.ขอข้อมูลวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac มั่นใจไทยใช้ได้ตามแผน, Thai PBS, 14-01-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net