กะเหรี่ยงตะวันตกแถลงจี้รัฐแก้ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย หวั่นถูกจับกุมดำเนินคดี-ขอสังคมจับตาใกล้ชิด

 

  • เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมออกแถลงการณ์จี้รัฐแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี หวั่นรัฐใช้วิธีจับกุมดำเนินคดี ขอสังคมร่วมจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
  • P-Move จี้รัฐตั้ง กก.หาทางออกอย่างเป็นธรรมและสันติ ไม่ดำเนินคดีชาวบางกลอย ยอมให้ผู้ที่ยืนยันจะกลับคืนสู่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน สามารถตั้งถิ่นฐานและดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ รวมทั้งต้องยอมรับระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน
  • ทหารทัพพระยาเสือเตรียมลุยป่านำตัวชาวบางกลอยกลับออกมา

 

18 ม.ค.2564 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์กรณีกะเหรี่ยงบางกลอยกว่า 50 ชีวิตเดินเท้ากลับใจแผ่นดิน ณ ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระซู่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี สะท้อนภาพการแก้ปัญหาที่ดินและทรัพยากรที่ล้มเหลว ขอรัฐแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช้วิธีการจับกุมดำเนินคดีหรือความรุนแรงรูปแบบอื่น พร้อมเรียกร้องให้สังคมร่วมจับตาสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในผืนป่าแก่งกระจาน

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุหลักการและแนวทางสำหรับหน่วยงาน ได้แก่ การกลับคืนสู่พื้นที่ใจแผ่นดินอันเป็นพื้นที่ดั้งเดิม ต้องสามารถกระทำได้ ต้องไม่เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีจากหน่วยงานรัฐ ย้ำว่าเครือข่ายฯ ได้พยายามสื่อสารประเด็นปัญหาและความเดือดร้อนของชุมชนให้หน่วยงานรับทราบมาโดยตลอด แต่รัฐละเลยข้อเสนอแนะเหล่านั้น รวมทั้งยังยืนยันหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค.2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 

เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า ยังไม่มั่นใจในแนวทางการจัดของกรมอุทยานฯ หลังจากนี้ เพราะยังไม่มีการสื่อสารออกมาจากหน่วยงานอย่างเป็นทางการ หวั่นเกิดปฏิบัติการแอบแฝงที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็เกิดการจับกุมดำเนินคดีปู่คออี้ หรือการดำเนินการที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตมาแล้ว อย่างกรณีบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นอกจากนั้นยังมีกรณีการเร่งรัดให้ผืนป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วยวิธีการที่ไม่จริงใจต่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ สร้างความอึดอัดใจให้ชาวบ้านอย่างมาก

“ที่ผ่านมาพี่พี่น้องก็พยายามสื่อสารว่ารัฐ โดยการจัดการปัญหาของกรมอุทยานฯ นั้นไม่ได้แก้ปัญหาให้เรียบร้อย แล้วรัฐก็อ้างว่าได้แก้ปัญหาแล้วผ่านสื่อที่รัฐสามารถจ่ายได้ ซื้อเวลาได้ จริงๆ ชาวบ้านก็ยืนยันว่ามันไม่ได้แก้ปัญหา มันยังมีการตกหล่น มันมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชาวบ้านก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามที่อุทยานฯ หรือรัฐเคยรับปาก เช่น ที่ดินทำกิน อันนี้ก็เป็นความอึดอัด เขาเรียกว่าเก็บสะสมความรู้สึกไว้จนวันนี้พี่น้องเลยตัดสินใจกลับขึ้นไป ผมเห็นภาพแล้วก็เข้าใจพี่น้องนะครับ แต่ก็ไม่นึกว่ามันจะมีปรากฏการณ์ในช่วงนี้” เกรียงไกรกล่าว

นอกจากนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมฯ ยังย้ำว่า ต้องการให้สังคมช่วยกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และช่วยกันส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหานี้ด้วยความจริงใจ

“ที่เราจำเป็นจะต้องติดตามเรื่องนี้ต่อ เพราะผมคิดว่าที่น่าห่วงกังวลอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กลัวว่ารัฐหรืออุทยานฯ เองอาจพยายามที่จะใช้สื่อกระแสหลัก แล้วก็กล่าวโทษชาวบ้านว่าผิดกฎหมายแล้วดำเนินคดี เพราะเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เลยอยากให้สังคมร่วมกันจับตา รวมทั้งองค์กรสากลด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเครือข่ายภาคีภาคประชาสังคมต่างๆ ช่วยกันส่งสัญญาณให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องได้รับความเป็นธรรมด้วยครับ เราเชื่อมั่นว่าที่ผ่านมาพี่น้องพยายามพิสูจน์สิทธิ์ว่าตนเองเป็นชาวพื้นถิ่นดั้งเดิมมาตลอด” เกรียงไกรย้ำ

เกรียงไกรยังกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นจะช่วยกันระดมข้าวปลาอาหารบริจาคให้ชาวบ้านที่เดินเท้ากลับไปที่ใจแผ่นดิน ซึ่งทราบมาว่ามีทั้งเด็กเล็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ รวมทั้งจะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 20 ม.ค. นี้ เนื่องจากขณะนี้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานห้ามเข้าพื้นที่ และจะมีการผลักดันให้มติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นกฎหมายต่อไปเพื่อรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง

แถลงการณ์ฉบับเต็ม

แถลงการณ์เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

จากสถานการณ์ที่ได้รับทราบว่าพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยมากกว่า 50 ชีวิตได้เดินทางกลับขึ้นไปที่พื้นที่ดั้งเดิม และพยายามที่จะพิสูจน์ความจริงว่าเป็นพื้นที่ของบรรพบุรุษที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ และยังได้ทราบถึงว่า ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานได้ส่งชุดปฏิบัติการไปติดตามนั้น ยังไม่มีข่าวคราวว่าเกิดอะไรขึ้นและจะแก้ไขสถานการณ์ปัญหานี้อย่างไร

แต่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศและภาคีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ได้ติดตามและห่วงกังวลกับปฏิบัติการของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะนำไปสู่ระบบวิธีที่รุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งรูปแบบปัจเจกและหน้าหมู่ สิ่งที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ทราบเบื้องต้นว่า พี่น้องกะเหรี่ยงที่เดินทางกลับขึ้นไปนั้น มีทั้ง ลูกเล็ก เด็กอ่อน มีทั้งผู้หญิงและผู้สูงอายุ จึงยิ่งมีความเป็นห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่ง และจากสถานการณ์นี้ไม่ควรเป็นเงื่อนไขในการกระทำความรุนแรงใดๆ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ที่จะเกิดขึ้นจากอำนาจและปฏิบัติการโดยรัฐ

โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีหลักการแนวทางที่กำหนดให้หน่วยงานรัฐ กลไกโครงสร้างในการจัดการปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตและที่ดิน ดังนี้ 

1.    การที่พี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย รวมไปถึงพี่น้องกะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ภูมิภาค จะกลับไปยังพื้นที่ของบรรพบุรุษเพื่อจะพิสูจน์สิทธิว่าเป็นพื้นที่ดั้งเดิมนั้น เป็นสิทธิที่ควรจะกระทำได้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการต้องไม่ฟ้องดำเนินคดีและจับกุมในรูปแบบของการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

2.    ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงกระบวนการการแก้ไขปัญหาของรัฐที่ล้มเหลว และยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ยังไม่มีการจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรมอย่างที่รัฐกล่าวอ้าง และกระบวนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กลับสร้างความอึดอัด ความกลัว ความไม่มั่นคงในชีวิตและยังก่อรูปความขัดแย้งในชุมชนอีกหลายกรณี จากการขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรและสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและองค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชนได้พยายามสะท้อนและสื่อสารมาอย่างยาวนานแต่รัฐที่เกี่ยวข้องกลับละเลยต่อข้อแนะนำเสนอแนะ

3.    เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม  ขอยืนยัน โดยหลักการมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภานั้น เป็นหลักการและแนวทางที่รัฐต้องนำมาดำเนินการให้เกิดขึ้นและรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในแนวทาง ทั้ง 5 ด้าน โดยที่สถานการณ์ครั้งนี้ อย่างน้อยรัฐพึงปฏิบัติ ใน 3 ด้านอย่างจริงใจ คือด้านที่1การที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสามารถดำรงวิถีจารีตอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้ ด้านที่ 2 การจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินและทรัพยากรที่เป็นธรรม โดยที่มีมาตราการให้งดเว้นการจับกุมดำเนินคดีแต่ให้มีแนวทางในการหาทางออกที่นำไปสู่ความมั่นคงในชีวิต ด้านที่ 3 การให้สิทธิในการพิสูจน์สัญชาติเพื่อสวัสดิการขั้นพื้นฐานในการเป็นพลเมืองไทยที่มีศักดิ์และสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

นอกจากนั้น เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง อยากจะสะท้อนกับภาครัฐว่าที่ผ่านมา นโยบาย แนวทางปฏิบัติทางกฎหมายที่ไม่สอดคล้อง ไม่เข้าใจ และการขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง จึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์โดยรวมในประเทศไทยได้ จึงเสนอให้การพิจารณา นโยบาย ตรากฎหมายพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ให้การยอมรับในการมีกลไกกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าในการดูแลบริหารส่งเสริมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างมีศักดิ์ศรีที่แท้จริง 

วันที่ 17 มกราคม 2564 ในงานบุญข้าวใหม่ พื้นที่จิตวิญญาณชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระซู่
ด้วยจิตคารวะ และอาลัยดวงวิญญาณปู่คออี้ และบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ)
เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

 

P-Move จี้รัฐตั้ง กก.หาทางออกอย่างเป็นธรรมและสันติ ไม่ดำเนินคดีชาวบางกลอย

รายงานข่าวเพิ่มเติมวันนี้ (18 ม.ค.64) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง  ให้รัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีภาครัฐ นักวิชการและภาคประชาชนขึ้นมาแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกอย่างเป็นธรรมและสันติ ทั้งนี้รัฐต้องไม่อ้างมาตรการทางกฎหมายเข้าไปดำเนินการทางคดีความกับชาวบ้านบางกลอย รวมทั้งต้องยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ รัฐต้องยินยอมให้กลุ่มคนดังกล่าวที่ยืนยันจะกลับคืนสู่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน สามารถตั้งถิ่นฐานและดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ รวมทั้งต้องยอมรับระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน

ในสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งสภาวการณ์ขาดแคลนอาหารของชุมชนนี้ P-Move เรียกร้องให้ รัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูความเข้มแข็งของชุมชนโดยเร็ว รวมทั้งเรียกร้องให้สาธารณชนทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเรียกร้อง ตรวจสอบ และกดดันให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยอย่างแท้จริง และเร่งระดมสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนโดยตรง พร้อมทั้งช่วยกันจับตาสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในผืนป่าแก่งกระจานอีก

โดยมีแถลงการณ์ฉบับเต็มดังนี้

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่อง กลับใจแผ่นดินคือสิทธิอันชอบธรรม ร่วมปกป้อง คุ้มครองสิทธิและวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบางกลอย

ตามที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ประมาณ 30-40 คน ได้เดินเท้าเข้าปในป่าใหญ่ เพื่อกลับขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอยบนที่อยู่ในผืนป่าใจแผ่นดิน อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิม เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจากชาวบ้านบางกลอยทั้งหมู่บ้านได้ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 ปรากฏว่ามีที่ดินไม่เพียงพอต่อการทำกิน จึงได้มีการอพยพชุมชนบางส่วนกลับไปอยู่ที่เดิม กระทั่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ใช้ยุทธการตะนาวศรีเมื่อปี 2554 สนธิกำลังเข้ารื้อถอนพืชผลอาสิน เผากระท่อมและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยร่วม 100 หลัง และกดดันให้ชาวบ้านต้องย้ายมาอยู่หมู่บ้านบางกลอยล่าง-โป่งลึก

อย่างไรก็ตาม ที่ดินทำกินที่รัฐอ้างว่าจัดสรรสำหรับผู้อพยพแล้วนั้นกลับมีไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ชุมชนไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตด้วยการทำไร่หมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ครัวเรือนได้ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจที่ทให้ลูกหลานต้องตกงานและกลับเข้ามาในชุมชน ยิ่งทวีความเดือดร้อน ท้ายที่สุดชุมชนจึงตัดสินใจเดินเท้าคืนสู่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน แม้ตระหนักว่าวิถีทางแห่งการต่อสู้เช่นนี้อาจนำมาซึ่งมาตรการความรุนแรงทางกฎหมาย หรืออาจกระทบต่อสวัสดิภาพทางร่างกาย แต่ก็เป็นวิถีทางสุดท้ายที่ชุมชนจะสามารถดำเนินการได้เพื่อหล่อเลี้ยงปากท้องครอบครัว 

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในนามขบวนการภาคประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมาย นโยบาย และโครงการของรัฐ กระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิในที่ดินทำกิน ได้ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐที่กระทำต่อพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการพยายามผลักดันให้ผืนป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยละเลยการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน ได้สร้างความขัดแย้งที่ฝังรากลึกระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้าน ทวีความอึดอัดใจ และทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนที่สุด

เพื่อเร่งคุ้มครองสิทธิของพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ขปส. มีข้อเรียกร้องต่อรัฐและสาธารณชนดังต่อไปนี้

1.    ให้รัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีภาครัฐ นักวิชการและภาคประชาชนขึ้นมาแก้ปัญหาเพื่อหาทางออกอย่างเป็นธรรมและสันติ ทั้งนี้รัฐต้องไม่อ้างมาตรการทางกฎหมายเข้าไปดำเนินการทางคดีความกับชาวบ้านบางกลอย รวมทั้งต้องยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อเป็นก้าวแรกในการสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน ก่อนจะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

2.    รัฐต้องยินยอมให้ชาวบ้านที่ยืนยันจะกลับคืนสู่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน สามารถตั้งถิ่นฐานและดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ รวมทั้งต้องยอมรับระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

3.    ในสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งสภาวการณ์ขาดแคลนอาหารของชุมชน รัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูความเข้มแข็งของชุมชนโดยเร็ว

4.    สาธารณชนทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเรียกร้อง ตรวจสอบ และกดดันให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยอย่างแท้จริง และเร่งระดมสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนโดยตรง พร้อมทั้งช่วยกันจับตาสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในผืนป่าแก่งกระจานอีก

ขปส. ขอยืนหยัดเคียงข้างพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อปากท้อง สิทธิชุมชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ขอยืนยันว่า “สิทธิทางวัฒนธรรม” คือ “สิทธิมนุษยชน” และสิทธิของชาติพันธุ์คือสิทธิของทุกคน และขอย้ำว่า พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสำคัญในการปกป้อง ช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม และนำความยุติธรรมกลับคืนสู่ผืนป่าแก่งกระจาน ให้พี่น้องชาติพันธุ์สามารถยืนหยัดอยู่บนผืนดินเดียวกับเราได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
18 มกราคม 2564

ทหารทัพพระยาเสือเตรียมลุยป่านำตัวชาวบางกลอยกลับออกมา

วันเดียวกัน (18 ม.ค.64) สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่าตนได้รายงานทางวาจาให้ทางอำเภอทราบแล้ว ซึ่งจากการสอบถามญาติพี่น้องที่ยังอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยล่าง ทำให้ประมาณการจำนวนผู้ที่อพยพกลับไปครั้งนี้มีราว 35 คน และในวันเดียวกันนี้ได้มีนายทหารระดับสูงของหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เดินมาพบเพื่อติดตามเรื่อง โดยขอให้ตนช่วยประสานกับญาติพี่น้องของคนที่อพยพขึ้นไปเพื่อให้ไปบอกให้ชาวบ้านเหล่านั้นกลับลงมา

“เขาแนะนำว่าใครที่มีญาติที่อยู่ด้านล่างให้รีบขึ้นไปบอกญาติที่อพยพขึ้นไปให้ลงมา เพราะผิดกฎหมาย ถ้าลงมาก่อนที่เจ้าหน้าที่ขึ้นไปจะไม่เป็นไร เขาบอกว่าหลังจากนี้อีก 2-3 วันทหารจะขึ้นไปเอาตัวลงมา ผมตั้งใจว่าตอนเย็นจะประกาศให้ญาติขึ้นไปตามก่อนทหารขึ้นไป” นิรันดร์ กล่าว

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักข่าวชายขอบ https://transbordernews.in.th/home/?p=26316

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท