Skip to main content
sharethis
  • 'ธนาธร' ไลฟ์อภิปรายเปิดข้อมูลประเทศต่างๆ-ชี้ไม่มีใคร 'แทงม้าตัวเดียว' เลือกบริษัทเดียวมาผลิตวัคซีนล็อตใหญ่ให้ พร้อมเปิดผังธุรกิจ Siam Bioscience-บริษัทในเครือ ขาดทุนสะสม เหตุใดเลือกให้เป็นผู้ผลิต-หรือเพราะแค่จะใช้หาคะแนนนิยมให้ใคร?
  • ฟันธง ดีลนี้เสี่ยงไม่คุ้ม-เอาความอยากได้คะแนนนิยมเป็นตัวตั้ง ถามถึง 'ประยุทธ์' ปล่อยดีลนี้ออกมารับผิดชอบในหลวงได้หรือไม่?
  • ด้าน ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ชี้คอนเนคชันดี พร้อมแหล่งรวมนักวิจัยหัวกะทิ

18 ม.ค. 2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดทางเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทย ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง, ทำไมประเทศไทยได้วัคซีนช้า, และทำไมรัฐบาลถึงจัดหาวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม

ธนาธร ระบุว่า การที่คนไทยได้วัคซีนช้าและไม่ครอบคลุมจำนวนประชากร จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในปี 2564 เป็นอย่างมาก หลายประเทศวันนี้เร่งมือฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้ว แต่การที่ประเทศไทยได้วัคซีนช้า ย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ การเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน การเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากต่างประเทศเริ่มได้ล่าช้า และเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ที่ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

เหตุผลที่รัฐบาลหาวัคซีนได้ช้า ก็เพราะประมาท ไม่ได้ใส่ใจในการเร่งจัดหาวัคซีนอย่างเหมาะสมทันท่วงที สมัยพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบใหม่ๆ ได้เคยเสนอกับรัฐบาลไปแล้ว ว่าต้องจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอ ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศโดยเร็วที่สุด แต่ความความประมาททำให้เกิดการเจรจาช้า และเมื่อเจรจาได้เพียงบริษัทเดียวก็ไม่มีความพยายามเจรจากับบริษัทอื่นๆอีกเท่าที่ควร ต่างจากหลายประเทศที่ล้วนแสวงหาวัคซีนจากเอกชนหลายราย

โดยบริษัทเดียวที่ไทยฝากความหวังไว้ก็คือ AstraZeneca ซึ่งมีการจ้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยก็คือ Siam Bioscience ไม่มีการเจรจากับบริษัทอื่นเพิ่ม จนเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีการประกาศว่าได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มกับ Sinovac ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก คือ 2 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากร 1.5% เท่านั้น

“กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว วันนี้กำลังการผลิตของบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆ ได้ถูกจับจองไปเสียมากแล้ว นั่นก็เพราะรัฐบาลเอาปัญหาการฉีดวัคซีนมาเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างความนิยมทางการเมือง จนละเลยการหาหนทางที่เหมาะสมที่สุดให้กับประเทศ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่ารัฐบาลพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากการฝากอนาคตของชาติไว้กับบริษัทรายเดียวหรือไม่?” ธนาธร ตั้งคำถาม

เปิดข้อมูลประเทศต่างๆ-ชี้ไม่มีใคร 'แทงม้าตัวเดียว' เลือกบริษัทเดียวมาผลิตวัคซีนล็อตใหญ่ให้

จากนั้น ธนาธรได้ยกตัวอย่างของการจัดสรรวัคซีนในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างประเทศในเอเชียด้วยกัน อย่างเช่นมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 มีการเข้าโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตามมาด้วยการเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าจาก Pfizer 12.8 ล้านโดส เซ็นสัญญาซื้อเพิ่มจาก AstraZeneca 6.4 ล้านโดส และเพิ่มเติมจาก Sputnik V อีก 6.4 ล้านโดส ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 และในเดือนมกราคม 2564 ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac อีก 14 ล้านโดส ซื้อวัคซีนจาก Pfizer เพิ่มอีก 12.2 ล้านโดส ทำให้ปัจจุบันมาเลเซียมีจำนวนวัคซีนครอบคลุมประชากรถึง 71% ไปแล้ว

ด้านไต้หวัน เมื่อเดือนธันวาคม มีการประกาศว่าจะซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca 10 ล้านโดส และจาก Covax 4.76 ล้านโดส จนปัจจุบันสามารถจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ถึง 42% ส่วนฟิลิปปินส์ มีการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับ AstraZeneca 2.6 ล้านโดสตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เซ็นสัญญาซื้อล่วงหน้ากับ Covax 30 ล้านโดส และเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนล่วงหน้าจาก Sinovac อีก 25 ล้านโดส จนฟิลิปปินส์มีวัคซีนครอบคลุม 45.1% ของจำนวนประชากรไปแล้ว

เมื่อกลับมาดูทางประเทศไทย ตอนนี้ที่เราเจรจาได้แล้วคือวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca และ Sinovac คิดเป็น 21.5% ของจำนวนประชากรเท่านั้น และเมื่อไม่นานมานี้เอง คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติพิจารณาสั่งซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca เพิ่มอีก 36 ล้านโดส แต่ก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อเพิ่ม เท่ากับว่าตอนนี้เราจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า และช้ากว่าประเทศอื่นๆที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน

ปัจจุบัน ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 อิสราเอล ฉีดไปแล้ว 2.3 ล้านโดส คิดเป็น 25.91% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดไปแล้ว 1.9 ล้านโดส คิดเป็น 17.52% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 3 บาห์เรน ฉีดไปแล้ว 1.42 แสนโดส คิดเป็น 9.54% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 4 สหราชอาณาจักร ฉีดไปแล้ว 4.3 ล้านโดส หรือคิดเป็น 6.45% ของจำนวนประชากร, และอันดับที่ 5 สหรัฐอเมริกา ฉีดไปแล้ว 14 ล้านโดส คิดเป็น 4.36% ของจำนวนประชากร

จะเห็นได้ว่าหลายๆประเทศในโลกเริ่มฉีดวัคซีนกันไปแล้ว คาดว่าภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 หลายประเทศจะสามารถฉีดวัคซีนให้ครบจำนวนประชากรได้ แต่ทว่าในส่วนของประเทศไทย หากดูจากไทม์ไลน์ในปัจจุบัน กว่าเราจะได้เริ่มฉีดล็อตแรกจาก Sinovac ก็คือเดือนมีนาคม ซึ่งมีจำนวนเพียง 2 ล้านโดสเท่านั้น และกว่าที่เราจะได้วัคซีนจาก AstraZeneca ก็ครึ่งหลังของปี 2564 ไปแล้ว

“ประเทศไทยมีวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ความรวดเร็วในการฉีดก็น้อยกว่าประเทศอื่น ก็เพราะการฝากความหวังไว้กับบริษัทใดหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีเลย เรามีตัวเลือกอื่นๆที่สามารถเจรจาได้มากมาย ประเทศส่วนใหญ่บนโลก ไม่มีประเทศใดที่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และส่วนใหญ่จะใช้การจัดซื้อจัดหาคละบริษัทกันไป” ธนาธรกล่าว

เปิดผังธุรกิจ Siam Bioscience-บริษัทในเครือ ขาดทุนสะสม เหตุใดเลือกให้เป็นผู้ผลิต-หรือเพราะแค่จะใช้หาคะแนนนิยมให้ใคร?

จากนั้น ธนาธรได้พาย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์และโครงสร้างการบริหารจัดซื้อวัคซีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้วางการจัดหาวัคซีนสนับสนุนแบ่งเป็นสองทาง นั่นคือ 1) การซื้อจากต่างประเทศ และ 2) การผลิตเองในประเทศ โดยในส่วนของการซื้อจากต่างประเทศ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วสองบริษัท ก็คือ AstraZeneca 26 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม CP เข้าไปถือหุ้นอยู่ 15.03%

กรณีที่สำคัญก็คือกรณีของบริษัท AstraZeneca เพราะมีปริมาณการสั่งซื้อมาก มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ในการเซ็นสัญญาขายวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือการที่ AstraZeneca ทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization - CMO) กับบริษัท Siam Bioscience ที่มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นอยู่ 100% โดยมีบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย SCG สนับสนุนการดำเนินงานเซ็นสัญญา โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว Siam Bioscience จะต้องจัดให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดย 174 ล้านโดสจะส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีก 26 ล้านโดส ขายในประเทศไทย

AstraZeneca เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต้องการหาผู้ผลิตในหลายภูมิภาคทั่วโลก กระจายวัคซีนออกไปให้ได้มากที่สุด โดยมีคู่ค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ Siam Bioscience ที่เป็นฮับของการผลิตวัคซีนในครั้งนี้

Siam Bioscience มีบริษัทที่เกี่ยวข้องสองบริษัท คือ บริษัท Siam Bioscience ที่ดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และผลิต กับบริษัท APEXCELA ที่ดูแลด้านการขาย การตลาด และการกระจายสินค้า ทั้งสองบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ ซึ่งก็เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ในยุคก่อตั้ง บริษัท Siam Bioscience เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท ทุนลดาวัลย์ กับมหาวิทยาลัยมหิดล มีทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตยา ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้ผลิตวัคซีน

ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากบริษัท ทุนลดาวัลย์ เป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรง เมื่อเราไปดูผลประกอบการ จะพบว่า Siam Bioscience ขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 581 ล้านบาท ส่วน APEXCELA มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 112.4 ล้านบาท

นอกจากนี้ Siam Bioscience ยังมีบริษัทลูกที่เราค้นเจออย่างน้อย 3 บริษัท ประกอบไปด้วย

1) Abinis ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 70% โดยมีบริษัท CIMAB S.A. จากคิวบาถือหุ้นอยู่ 30% ทุนจดทะเบียน 2,270 ล้านบาท รายได้ปีล่าสุด 1.2 ล้านบาท ขาดทุน 9.1 ล้านบาท และมีผลดำเนินการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้ง

2) Inno Bio Cosmed ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 100% ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท รายได้ปีล่าสุด 17 ล้านบาท ขาดทุน 13 ล้านบาท และมีผลดำเนินการขาดทุนมาตลอดทุกปีเช่นกัน

3) Apsalagen ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 51% โดยมีบริษัท ฮาเซอร์ อินเวสเมนต์ ของเยอรมนี ถือหุ้นอยู่ 49% ทุนจดทะเบียน 42 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้ว 22.5 ล้านบาท

เหตุที่ต้องพูดเรื่องนี้ ก็เพราะว่าเมื่อเราไปดูประวัติการทำธุรกิจของ Siam Bioscience และทุกบริษัทในเครือ จะพบได้ว่านับตั้งแต่ก่อตั้งมาใน 2552 ยังไม่มีบริษัทใดประสบความสำเร็จในทางธุรกิจเลย ขาดทุนสะสมเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะตัว Siam Bioscience เองที่ขาดทุนไปแล้ว 581 ล้านบาท

แม้จะเป็นไปได้ว่าวงจรในการผลิตยา จำเป็นต้องลงทุนในการวิจัยพัฒนาอย่างสูง และยังต้องรอผ่านการรับรองจากองค์กรอาหารและยาจากประเทศต่างๆ จึงอาจคืนกำไรได้ช้า แต่อย่างน้อยจากข้อมูลที่เราสามารถหามาได้ จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา บริษัทในเครือ Siam Bioscience ยังไม่มีบริษัทไหนที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเลย จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าบริษัทสมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนเกือบ 100% ที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาให้ประชาชน

นอกจาก Siam Bioscience จะได้ทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างผลิตวันซีน 200 ล้านโดสต่อปีให้กับ AstraZeneca แล้ว ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector 1,449 ล้านบาทอีกด้วย เรียกว่านอกจากจะเสียเงินค่าวัคซีน รัฐบาลยังนำภาษีของประชาชนไปสนับสนุนเอกชนรายเดียวในการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนอีกด้วย

จนมีข้อคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5/2563 ในวันที่ 5 ต.ค. 2563 ซึ่งมีกรรมการท่านหนึ่งได้ตั้งประเด็นขึ้นมา ถึงข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest) เนื่องจากเป็นการนำงบประมาณจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน และขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ให้ประชาชนทราบด้วย

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเมื่อดูไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ากลางปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 มีการสร้างเครือข่ายและทำสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเริ่มในไตรมาสที่ 2 จบในไตรมาสที่ 3 แต่ทว่าในมติของ ศบค. ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนเลย นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้ว่าเมื่อเจรจากับ AstraZeneca จบลง ในรายงานการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ยังไม่มีการแสดงให้เห็นเลยว่ารัฐบาลไทยได้มีความพยายามเจรจาจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากกว่า 20% จนกระทั่งมาแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนมกราคมว่ามีการจัดหาวัคซีน Sinovac มาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับความต้องการในประเทศ

ขณะเดียวกัน ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการเริ่มชุมนุมของนักศึกษาประชาชน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก, แก้รัฐธรรมนูญ, และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“นำไปสู่ข้อสงสัย ว่าการที่เราแทงม้าตัวเดียว หรือพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนคนไทย เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมือง มากกว่าการหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดสำหรับคนไทยหรือไม่ ตกลงมันเป็นเรื่องคะแนนนิยมทางการเมืองหรือไม่?” ธนาธรกล่าว

ฟันธง! ดีลนี้เสี่ยงไม่คุ้ม-เอาความอยากได้คะแนนนิยมเป็นตัวตั้ง ถามถึง 'ประยุทธ์' ปล่อยดีลนี้ออกมารับผิดชอบในหลวงได้หรือไม่?

ธนาธรกล่าวต่อไปอีก ว่าถ้าย้อนมาดูเดือนเมษายนปีที่แล้ว มีการอนุมัตินโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2563-2565 ชื่อของ AstraZeneca และชื่อของ Siam Bioscience ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนนี้มาก่อนเลย มีการเสนอชื่อองค์กรเข้ามาหลายองค์กร คือ 1) สถานเสาวภา, 2) Bionet-Asia, 3) องค์การเภสัชกรรม,

4) บริษัทร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP), 5) ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล, 6) โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, และ 7) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เท่านั้น ชื่อของ Siam Bioscience เพิ่งจะโผล่ขึ้นมาในไตรมาส 2 หลังจากแผนนี้ออกมาแล้ว

นี่จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าการจัดหาวัคซีนในลักษณะนี้ จะเป็นการฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับ AstraZeneca และ Siam Bioscience มากเกินไปหรือไม่ จะเป็นการลดโอกาสในการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้วัคซีนครอบคลุมประชากรที่สุดหรือไม่

“และนำมาซึ่งคำถามสุดท้าย ว่าในเมื่อผู้ถือหุ้น Siam Bioscience เป็นในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรงเช่นนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์อนุมัติข้อตกลงอย่างนี้ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าวัคซีนมีการผลิตช้ากว่ากำหนดเวลา หรือมีปัญหาในการแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม หรือถ้าประชาชนเกิดอาการแพ้ หรือถ้ามีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา ประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท Siam Bioscience ที่ถือหุ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 10” ธนาธรกล่าว

จากนั้น ธนาธรได้กล่าวทิ้งท้าย ว่าหากรัฐบาลได้ทำตามสิ่งที่เราเสนอตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ที่ว่ารัฐบาลจะต้องเจรจาหาวัคซีนให้เร็ว ให้ครอบคลุม ฉีดให้ประชาชนได้เร็วที่สุด ไม่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่สร้างความนิยมทางการเมืองบนผลประโยชน์ของประชาชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเร็วกว่านี้ ประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ เดินเกมตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ไม่ใช่การยึดเอาการสร้างความนิยมทางการเมืองมาเป็นปัจจัยหลักมากกว่าชีวิตของประชาชน จนทำให้เกิดทั้งความล่าช้าและไม่ครอบคลุมเช่นนี้

ด้าน ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ชี้คอนเนคชันดี พร้อมแหล่งรวมนักวิจัยหัวกะทิ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย รายงานประเด็นเหตุที่ทำไม Siam Bioscience จึงถูกเลือกให้เป็นผู้ผลิตและรับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าสำหรับแจกจ่ายในไทยและส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยนำคำอธิบายของ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เป็น 1 ใน 3 แนวทางในการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ตามยุทธศาสตร์ของสถาบันฯ นอกจากการจัดซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ และการพัฒนาวิจัยวัคซีนเองภายในประเทศ แนวทางนี้มีความพิเศษตรงที่ว่า หน่วยงานเอกชนของเราคือ เอสซีจี กับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดมีความสัมพันธ์กันในเชิงการวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยี (technology innovation research) มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี 

ดังนั้นเอสซีจีจึงสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวิจัยวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะได้วัคซีนประสิทธิภาพดี ซึ่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดชี้แจงว่าหากสนใจเรื่องดังกล่าวจะต้องประสานงานผ่านแอสตร้าเซนเนก้าเพราะเป็นผู้ดูแลการผลิตวัคซีนในต่างประเทศ และเป้าหมายของทั้งสองคือการสร้างซัพพลายการผลิตวัคซีนจำนวนมากให้เกิดขึ้นทั้งโลก ในกำลังการผลิต 3,000 ล้านโดสต่อปี

"ดังนั้น แอสตร้าเซนเนก้าก็ต้องไปหาพันธมิตรในต่างประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย เขาก็กำลังมองหาฮับในการผลิตในอาเซียนได้ ซึ่งคือที่ไทย"

ในรายงานประจำปี 2563 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเติบโต (emerging markets)

นอกจากนี้ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากจะต้องพันธมิตรที่มีศักยภาพแล้ว ยังต้องเป็นแหล่งของนักเรียนหัวกะทิที่พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และเมื่อประเมินแล้วทั้งในแง่บุคลากร ศักยภาพ เครื่องมือทั้งโรงงานที่มีและที่ลงทุนมาแล้วกว่า 4,500 ล้านบาท รวมทั้งทุนการผลิต สยามไบโอไซเอนซ์ จึงเหมาะสม

พล.อ.อ. สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวในเอกสารข่าวในวันที่บริษัท ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ศูนย์การผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์ มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ซึ่งเครื่องจักรดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้า

ทั้งนี้ เมื่อ 24 ต.ค.63 สำนักข่าวอิศรา รายงานประเด็นนี้ไว้ผ่านคำอธิบายของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ตอบในลักษณะเดียวกัน โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีของบริษัทสยามไบโอไซเอนส์นั้น ต้องชี้แจงว่าบริษัทปูนซีเมนต์ สยาม ซีเมนต์ กรุ๊ป หรือว่าเอสซีจี เขามีสายสัมพันธ์กับทางออกซ์ฟอร์ด ก็เลยช่วยให้เราได้เป็นผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งถ้าหากไม่มีความรู้จักทางธุรกิจที่ว่ามานั้น เขาก็ไม่ให้เราเหมือนกัน เพราะมันก็มีประเทศอื่นที่ใกล้ๆ เช่นประเทศสิงคโปร์เช่นกัน และอีกประเด็นนอกเหนือจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจแล้วก็คือว่าต้องดูด้วยว่าประเทศเรานั้นมีโรงงานที่จะผลิตวัคซีนได้หรือไม่ ซึ่งทางเขาก็ได้มีการมาสำรวจทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แล้ว พบว่ามีอยู่ 2 ประเทศที่มีความสามารถจะผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมากให้เขาได้ ซึ่งแห่งแรกก็คือบริษัทสยามไบโอไซเอนส์ ที่ประเทศไทย ส่วนอีกประเทศนั้นจำไม่ได้จริงๆ

อย่างไรก็ตามในครั้งนั้น (24 ต.ค.63) วีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวกับสำนักข่าวอิศราด้วยว่า "เท่าที่ทราบมาก็คือในประเทศไทยนั้นมีคณะวิจัยของประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าสามารถคิดค้นวัคซีนไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำว่าสำเร็จนั้นอยู่ที่ขั้นไหน อีกทั้งกรณีการเซ็นสัญญากับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อให้ผลิตวัคซีนนั้นที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ได้พูดอะไรออกมาเลย และอยู่ดีๆก็มีข่าวปรากฎว่าบริษัทสยามไอโอไซเอนซ์ได้เป็นคู่สัญญาวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ดนั้น ใช้วิธีการอะไร ออกซ์ฟอร์ดใช้วิธีการอะไร ถึงข้ามมาให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้เป็นคู่สัญญา ก็อยากให้ชี้แจงตรงนี้ด้วยว่ามีกระบวนการเป็นอย่างไร"

"ในประเด็นเรื่องที่ระบุว่าประเทศไทยนั้นมีขีดความสามารถในการคิดค้นวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 และต้องการห้องแล็บที่มีความพร้อมสำหรับการทดลองวัคซีนนั้น ส่วนตัวก็เห็นว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้นก็เป็นบริษัทที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้เขาไปช่วยทำการทดลองและสนับสนุนวัคซีนของประเทศไทยด้วย แต่กลับใช้ในการสนับสนุนวัคซีนของต่างประเทศแทน ซึ่งส่วนตัวตั้งคำถามไปว่า เพราะว่าการไปดีลเรื่องวัคซีนกับต่างประเทศนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ส่วนตัวบางประการมากกว่าวัคซีนของประเทศไทยใช่หรือไม่ ก็อยากจะให้มีความชัดเจนตรงนี้ด้วยเช่นกัน"  

วีระ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ส่วนตัวแล้วไม่ได้ต้องการที่จะมาโจมตีใครในเรื่องนี้ แต่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงเท่านั้น จะได้คลายข้อสงสัยในประเด็นเรื่องการหาวัคซีนให้กับคนไทยว่าไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง 

ที่มาของคำว่า 'วัคซีพระราชทาน'

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก รายงานไว้ตั้งแต่ 27 พ.ย.63 ว่า ในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีน COVID-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัท AstraZeneca จำกัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นประธานในพิธีกล่าวว่า สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทานความร่วมมือบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลพร้อมน้อมนำพระราโชบายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10  รักษา สืบสาน ต่อยอด เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้แก่ประเทศชาติ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยไม่ให้มีโรคภัยไข้เจ็บเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net