Skip to main content
sharethis
  • หลังการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 มีความพยายามผลักดันศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC รับไว้พิจารณา แต่ติดขัดกับเงื่อนไขที่ทางรัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้ให้สัตยาบันไว้ โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาค้านการให้สัตยาบันคือการที่ประมุขของประเทศจะไม่ได้รับการคุ้มครองและสามารถถูกดำเนินคดีใน ICC ได้
  • แม้คดีที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตทั้ง 94 ศพเป็นไปอย่างล่าช้าแต่ระหว่างทางก็มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปฏิบัติการของทหารในการสลายการชุมนุมปรากฏในชั้นศาล แต่เมื่อ คสช.ทำรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ทุกอย่างก็หยุดไป อีกทั้งพยานที่อยู่ในการสลายการชุมนุมครั้งนั้นรวมถึงครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ออกมาทวงความยุติธรรมต่างก็ถูกดำเนินคดีเสียเอง
  • ในหลายประเทศที่เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงแบบเดียวกันนี้ การแสวงหาความจริงและทวงคืนความยุติธรรมในขณะที่ผู้สั่งการและปฏิบัติการยังมีอำนาจทั้งทางการเมืองและระบบราชการล้วนเจอขวากหนามให้สะดุดบางครั้งก็ล้มเหลวไม่ต่างกัน
  • สำหรับไทยถึงสถานการณ์จะดูน่าสิ้นหวัง แต่ความพยายามในการแสวงหาและสถาปนาความจริงยังคงมีอยู่โดยครอบครัวผู้เสียชีวิต นักวิชาการและภาคประชาชนที่ยังคงเรียกร้องและย้ำเตือนถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อยู่สม่ำเสมอ แต่การเคลื่อนไหวและผลักดันจากประชาชนล้วนสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยหรืออาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนสำเร็จ อย่างเช่น หลังรัฐบาลเผด็จการในเกาหลีใต้หมดอำนาจลงในช่วงปลายทศวรรษ 1980

รายงานตอนที่แล้วนำเสนอคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 ที่ไม่มีความคืบหน้าในทุกช่องทางภายในประเทศ แม้ตามกฎหมายคดีเหล่านี้ยังไม่หมดอายุความแต่ก็ไม่เห็นความหวังที่จะหาผู้กระทำผิดหรือผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสีย 94 ชีวิต

รวมทุกความตีบตัน: 10 ปีคดีคนตายจากการสลายชุมนุมปี 53 ไปถึงไหน

เมื่อหันมองช่องทางระหว่างประเทศ เรื่องนี้เคยเป็นหัวข้ออภิปรายกันอยู่บ้างว่าพอจะเรียกร้องความเป็นธรรมได้ที่ไหนบ้าง โดยหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ที่มีผู้เสียชีวิต 25 คน ผ่านไปไม่กี่วัน จาตุรนต์ ฉายแสง พูดถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) เป็นครั้งแรกๆ ว่า ผู้สั่งการสลายการชุมนุมอาจถูกดำเนินคดีที่นั่น

ICC รัฐไทยไม่ให้สัตยาบัน เกรงกระทบความคุ้มกันประมุข

ICC เป็นศาลที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ตามธรรมนูญกรุงโรมและมีเขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศบน 4 ฐานความผิด 

  • การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
  • อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
  • อาชญากรรมสงคราม
  • อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

และใน 3 เงื่อนไข

  • เป็นกรณีร้ายแรงเพียงพอหรือไม่
  • รัฐภาคีไม่ต้องการดำเนินคดี หรือไม่มีความสามารถเพียงพอ
  • ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกศาลอื่นพิพากษาให้รับโทษในความผิดเดียวกันนั้น

ศาลนี้มีอำนาจในการพิจาณณาคดีย้อนหลังไม่เกินไปจากวันที่ศาลก่อตั้ง คดีที่เป็นที่รู้จักและมีการพิจารณาใน ICC เช่น อาชญากรรมสงครามในลิเบีย ซูดาน อิรัก เป็นต้น

แม้ว่าไทยจะได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมไปแล้วตั้งแต่ 2 ต.ค.2543 แต่รัฐยังไม่ดำเนินการให้สัตยาบันซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และทำให้ ICC มีเขตอำนาจพิจารณาคดีในประเทศไทยได้

เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแทนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2554 การรณรงค์ให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันสนธิสัญญานี้ก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันจากผู้สูญเสียอย่าง นปช.และรัฐบาลไทยยังถูกทวงถามการเข้าร่วมเป็นภาคีบนเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ที่สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ในปีเดียวกันด้วย แต่รัฐบาลไม่มีการตอบอะไรในเรื่องนี้

1 ก.ค.2554 ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน คนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมฟังปราศรัยครั้งสุดท้ายของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นและเป็นความหวังของคนเสื้อแดงที่กระแสเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53

เมื่อรัฐบาลยังนิ่ง โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความจากสำนักงานทนายความอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ที่ทักษิณ ชินวัตร จ้างมาให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่กลุ่ม นปช. จึงดำเนินการเอง โดยทำข้อมูลเหตุการณ์สลายการชุมนุมและยื่นคำร้องต่ออัยการ ICC เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนเบื้องต้น และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นฟ้องต่อ ICC อีกทางหนึ่ง แต่ความพยายามเหล่านี้ก็ติดอุปสรรคสำคัญคือ ตราบใดที่รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีกับ ICC ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้

ในช่วงเวลานั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาส่งเสียงเช่นกัน โดยเน้นย้ำประเด็นที่ประมุขของประเทศจะต้องไปอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้ ตามมาตรา 27 ของธรรมนูญกรุงโรมที่ให้บุคคลทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่สามารถอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการและฐานประมุขแห่งรัฐมาคุ้มกันตนได้และประมุขของประเทศไทยหมายถึงพระมหากษัตริย์

1 ต.ค.2556 คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภามองว่า การรับ ICC เป็นการลดการคุ้มกันในการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ในกฎหมายไทย หากมีผู้ไม่หวังดีฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ กล่าวหาประมุขของไทยในฐานความผิดต่างๆ อาจมีผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์ของไทยได้ ทั้งที่พระองค์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งใดๆ ทั้งปวง และประเทศไทยจะไม่สามารถป้องกันได้เลย นอกจากนั้นกรรมาธิการยังมองว่ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศยังสามารถดำเนินการได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ ICC เข้ามาเสริมกระบวนการยุติธรรมไทย

ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. เล่าว่าหลังการสลายการชุมนุมตัวเธอ พร้อมอัมสเตอร์ดัม รวมถึงนักวิชาการอย่าง ธงชัย วินิจจะกูล เดินทางไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของไทย และชี้แจงว่าแม้การเสียชีวิตของไทยจะไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่สำหรับไทย จำนวนไม่สำคัญเท่ากับความถี่ของการเกิดเหตุความรุนแรงลักษณะนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ธิดาเล่าต่อว่า ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2555 ฟาตู เบนโซดา(Fatou Bensouda) อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยและเข้าพบกับสุรพงษ์ โตวิจักรชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการยอมรับเขตอำนาจ ICC ท่ามกลางข้อถกเถียงว่า การให้สัตยาบันต้องผ่านความเห็นชอบของสภาก่อนหรือไม่ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่สุดท้ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ดำเนินการอะไร จนกระทั่งถูกรัฐประหารไปเมื่อพฤษภาคม 2557

“ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมให้สัตยาบันร่วม ICC ในเวลานั้นอาจจะไม่เกิดการรัฐประหารก็ได้” ธิดากล่าว

อดีตประธาน นปช.เชื่อว่า การรัฐประหารในปี 2557 เกี่ยวพันกับการสังหารประชาชนในปี 2553 เนื่องจากในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คดีของผู้เสียชีวิตเข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตายได้ถึง 30 กว่าศพ แม้ยังไม่มีคดีใดฟ้องเป็นคดีอาญา แต่ระหว่างขั้นตอนไต่สวนการตายก็มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการของทหารและชื่อของทหารและผู้เกี่ยวข้องกับปฎิบัติการในหลายคดี บางคดีศาลวินิจฉัยว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของทหารด้วย เช่น คดีของพัน คำกองและ 6 ศพวัดปทุมวนาราม นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กองทัพต้องหยุดกระบวนการดังกล่าว

“พอเราจะเป็นฝ่ายกระทำบ้างในทางคดีความมันมืดมิดมาก แต่ในส่วนที่เราเป็นฝ่ายถูกกระทำ เขาฟ้องเราคดีนู้นคดีนี้ตลอด” อดีตประธาน นปช.กล่าวว่า หลังกองทัพยึดอำนาจ ช่องทางในการหาความยุติธรรมก็ถูกปิดประตูใส่หมด ดีเอสไอไม่ส่งสำนวนต่อ อัยการเงียบ การโยนไปมาระหว่างศาลยุติธรรม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การยุติการสอบสวนของ ป.ป.ช. ไปจนถึงขั้นการยกฟ้องทหารระดับปฏิบัติการ โดยชี้ว่าหลักฐานไม่พอ

24 พ.ค.2557 หลัง คสช.ทำรัฐประหารสองวัน ประชาชนจำนวนหลักพันรวมตัวกันประท้วงต่อต้านอย่างต่อเนื่องแต่ก็ถูกกองกำลังทหารเข้าขัดขวางและจับกุมตัวผู้ต่อต้านจากที่ชุมนุม

ประทับจิต นีละไพจิตร อดีตนักวิจัยด้านสันติภาพ มีความเห็นว่า แม้ ICC จะไม่สามารถนำการสลายการชุมนุมปี 2553 มาพิจารณาได้ตราบใดที่รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบัน แต่ก็ยังมีกลไกระหว่างประเทศอื่นอีก และที่ผ่านมายังไม่มีการส่งข้อมูลไปตามกลไกเหล่านี้ เช่น ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะมีการส่งคำถามกลับมาให้รัฐบาลไทยตอบ

ส่วนที่เคยมีการส่งข้อมูลไปตามกลไกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR นั้น มีการทวงถามมาทางรัฐบาลไทยถึงความคืบหน้า แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล ยกเว้นคำตอบว่า มีการชดเชยแก่ผู้เสียหายแล้ว

ประทับจิตเล่าว่าที่ผ่านมายังไม่มีคนทำอัพเดตข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับกรณีนี้ส่งเข้าไปในกลไกระหว่างประเทศด้วย เช่น กรณีของครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ออกมาทวงถามความเป็นธรรมอย่าง พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพและพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด ที่ถูกคุกคามและดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องดังกล่าว และข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคและความคืบหน้าของคดีที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมครั้งนั้น เธอเห็นว่ายังมีกลไกหนึ่งที่ยังไม่ได้ใช้คือ CEDAW (อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ) ที่สามารถส่งข้อมูลเป็นแบบรายบุคคลได้ในกรณีของพะเยาว์ที่เป็นสตรีแล้วต้องพบเจออุปสรรคในกระบวนการยุติธรรมในกรณีของลูกของเธอ

(วัฒนธรรม) ลอยนวลพ้นผิด

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเสนอไว้ในบทความ ‘ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด’ ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง และไม่เคยนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และยังมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองออกมาด้วย

ความรุนแรง

กฎหมาย

ออกโดย

เนื้อหา

14 ตุลาคม 2516
*นิรโทษกรรมให้ผู้ประท้วง

.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ.2516

รัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์

“โดยที่การเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 ได้มีการกระทำที่เป็นความผิดและเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคล และความเสียหายแก่ทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน และความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน กับเจ้าหน้าที่รัฐบาล สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลนั้น เมื่อได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนการกระทำของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนมิได้รับการคุ้มครองดังกล่าว แต่เมื่อได้คำนึงถึงว่ากระทำนั้นได้กระทำไปโดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติย์เป็นประมุขให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงสมควรมีนิรโทษกรรมแก่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว"

"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

6 ตุลาคม 2516

.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521

 

 

รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

18 พฤษภาคม 2535

.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ.2535

รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร

"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าวไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง"

เมื่อ 10 พ.ย.2556 คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าจะทำให้เกิดการนิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วย

สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 พวงทองเห็นว่ารัฐมีวิธีการทำให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดต่างออกไป นอกจากการปฏิเสธความรับผิดชอบและตอบโต้ด้วยการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง มีกองกำลังติดอาวุธและยิงกันเองแล้ว ยังอาศัย ‘องค์กรอิสระ’ เป็นเครื่องมือในการลอยนวลพ้นผิดและหาความชอบธรรมให้กับการกระทำของรัฐบาลในเวลานั้น ทั้งคณะกรรมการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งขึ้นมาเองอย่างคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. รวมไปถึงกลไกที่มีอยู่แล้วอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงศาลยุติธรรมด้วย

นอกจากประเด็นเรื่ององค์กรอิสระแล้ว สถานการณ์ที่เกี่ยวกับการค้นหาความจริงและกระบวนการยุติธรรมก็ชะงักงันหลัง คสช. ทำรัฐประหารในปี 2557 พวงทองชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษชุดใหม่ด้วยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่มาจากทหารจำนวน 7 คน ร่วมในการสอบสวนด้วยเพื่อวางกรอบแนวทางการสอบสวนคดีผู้เสียชีวิต

10 ปี สลายชุมนุมเสื้อแดง ยังเติบโตจนสุดเอื้อมถึง

ความยุติธรรมระยะ (ยังไม่) เปลี่ยนผ่าน

ในช่วง 10 ปีหลังการสลายการชุมนุม ในแวดวงวิชาการและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมักพูดถึงกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” หรือ Transitional Justice

กล่าวอย่างสรุป ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านก็คือการทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นและลงหลักปักฐานในสังคมประชาธิปไตย หลังเกิดการเปลี่ยนผ่านของระบอบการปกครองแบบเผด็จการที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนเอง โดยมีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก

19 พ.ค.2555 วันครบรอบ 2 ปีสลายการชุมนุมปี 53 คนเสื้อแดงเดินขบวนและจัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์เพื่อรำลึกและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยมีการจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่หลังเหตุการณ์โดยเฉพาะในปี 53 มีการจัดรำลึกเกือบทุกเดือนแม้จะอยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ตาม

ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านได้ รัฐมีหน้าที่ 4 อย่างที่จะต้องทำคือ

  1. การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีและลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

  2. เปิดเผยความจริงให้เหยื่อและครอบครัวของผู้สูญเสียรับทราบ

  3. เยียวยาและชดเชยให้กับเหยื่อ

  4. คัดกรองเจ้าหน้าที่รัฐที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนออกจากหน่วยงานของรัฐ และปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน

“ตอนนี้ในไทยทุกกรณีไม่สามารถยุติการกระทำในครั้งต่อไปได้ ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างมาตรฐานร่วมกันได้ นี่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและยังคงรักษา status quo(สถานะเดิม) ของระบอบเก่าเอาไว้อยู่” ประทับจิตให้ความเห็นต่อประเด็นความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของไทย

ประทับจิต เห็นว่า สำหรับประเทศไทยสิ่งที่ทำได้มากที่สุดหลังเหตุการณ์ความรุนแรงคือ การเยียวยาด้วยการให้เงิน แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกันเอง อ้างว่าเป็นความยุติธรรมแบบปรองดอง เป็นความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่ได้นำไปสู่มาตรฐานที่จะยุติความรุนแรงครั้งต่อไป นี่เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในประเทศ Pseudo-democracy หรือประชาธิปไตยแบบปลอมๆ

คอป.คือตัวอย่างที่ทุกคนพูดถึง ประทับจิตเห็นว่า มันถูกตั้งขึ้นมาเพื่อลดแรงกดดันทางสังคมและรักษาสถานภาพของรัฐบาล โดยสร้างความจริงขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดการปรองดอง ทั้งที่ความจริงจะต้องถูกสถาปนาโดยการยอมรับจากทุกฝ่ายและสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา

“คนที่ลุกขึ้นมาทำความจริงคือกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มเหยื่อด้วยกันเอง เขาสถาปนาความจริง ฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อจะสร้างมาตรฐานใหม่ สิ่งที่พวกเขาทำเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน” ประทับจิตกล่าวถึง ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) หรือครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ออกมาทำกิจกรรมอย่างเช่น พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และพะเยาว์ อัคฮาด

ในหลายประเทศหลังการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่ทุกประเทศล้วนเจอปัญหาอุปสรรคระหว่างการเปลี่ยนผ่านคล้ายๆ กัน คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเผด็จการหรือใช้ความรุนแรงยังอยู่ในระบบราชการ กองทัพ จนทำให้การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษเกิดความล่าช้า หรือมีการจำกัดในการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดเพียงแค่บางราย

อินโดนีเซีย ผศ.เอะฮิโตะ คิมุระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย เขียนบทความ ‘วิถีของความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านกับความคับข้องใจในอินโดนีเซีย’ ชี้ถึงปัญหาว่า กระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หลายคดีศาลยกฟ้อง, กระบวนการแสวงหาความจริงก็ถูกไฮแจ็คจนเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดหลุดรอด, กระบวนการเยียวยาล้มเหลว แม้ผู้นำประเทศยุคหลังว่าพยายามริเริ่มออกมายอมรับและขอโทษต่อผู้สูญเสีย แต่ก็ถูกกระแสสังคมกดดันให้ต้องล้มเลิกไป เพราะสร้างสภาพบังคับให้ผู้สูญเสียที่ยอมรับการเยียวยาต้องนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความความผิด

เอะฮิโตะชี้ให้เห็นว่ากระบวนการพยายามนำตัวคนผิดมาลงโทษ การเยียวยา การแสวงหาความจริง ล้วนเกิดโดยฝีมือของภาคประชาสังคมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศาลจำลองเพื่อให้ผู้สูญเสียได้ออกมาพูดเสนอข้อเท็จจริงทำให้สังคมได้รับทราบ จัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหาย และเผยแพร่ข้อมูลจัดสัมมนา สร้างสารคดีเรื่อง The Act of Killing และ The Look of Silence ที่ติดตามสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ เป็นต้น

เกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างหอมหวานที่มักถูกพูดถึง รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของนายพลชุน ดู ฮวาน ครองอำนาจในปี 1979 (2522) ระหว่างนั้นเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งการจับกุม กวาดล้างผู้นำฝ่ายซ้าย การสลายการชุมนุม การซ้อมทรมาน การสังหารหมู่ประชาชนที่กวางจู จนกระทั่งปี 1987(2530) ประชาชนเกาหลีใต้นับล้านคนได้ลุกฮือกดดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้สำเร็จ ทั้งยังเรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลด้วย แต่กว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ จนกระทั่งนำตัว ชุน ดู ฮวาน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ก็ยังต้องอาศัยพลังของภาคประชาชนอีกมหาศาล รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิของกองทัพที่เคยกระทำต่อประชาชน ที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและเกิดพัฒนาการของระบอบขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

ในสมัยของประธานาธิบดี คิม ยองซัม (ดำรงตำแหน่งปี 2535-2540) ประชาชน ญาติผู้เสียชีวิต และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียกร้องให้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจูและดำเนินคดีกับชุน ดู ฮวานและพวกในข้อหากบฏ ฆาตกรรม และทรยศต่อชาติ แต่ก็เจออุปสรรคในกระบวนการยุติธรรมเพราะอัยการตัดสินใจระงับการดำเนินคดี และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าการตัดสินใจของอัยการเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนและเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอีกครั้ง จนสภานิติบัญญัติแห่งชาติสามารถผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเหตุการณ์ที่กวางจูได้ในปี 1995 (2538) ทำให้มีการดำเนินคดีกับชุน ดู ฮวาน ในเวลาต่อมา

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่เมืองกวางจูช่วง 18 พ.ค.1980 ภาพจากวิกิพีเดีย

แม้มีข้อต่อสู้จากฝ่ายจำเลยว่ากฎหมายนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการเอาผิดย้อนหลัง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็รับรองกฎหมายฉบับนี้ ด้วยเหตุผลว่ากฎหมายออกโดยคำนึงหลักการพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญ เป็นการชำระสะสางความผิดพลาดในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และการค้นหาความจริงก็ไม่ขัดหลักการกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลัง คำวินิจฉัยนี้ทำให้มีการออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมในเกาหลีใต้เมื่อปี 2010(2553) มีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็เริ่มกระบวนการชำระประวัติศาสตร์ ท้ายที่สุด ผู้นำรัฐบาลเผด็จการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้จะติดคุกอยู่ไม่กี่ปีแต่ประชาชนก็มีมาตรการทางสังคมในการกดดันต่อ มีการตั้งมูลนิธิ May18 และศูนย์ข้อมูล (Gwangju Archive Centre) เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจู มีการเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตและสูญหาย มีการปฏิรูปสถาบันต่างๆ ขบวนการแรงงาน ชาวนา นักศึกษาแข็งแรงจนทำให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้ และส่งผลให้กองทัพต้องออกไปจากการเมืองของเกาหลีใต้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านได้จากตัวอย่างที่กล่าวมาคือ ภาคประชาชนที่เข้มแข็งเพียงพอจะทำให้เกิดประชาธิปไตยและนิติรัฐขึ้นได้ และมีรัฐบาลที่มีเจตจำนงทางการเมืองในการชำระล้างประวัติศาสตร์การละเมิดสิทธิ

“ต้องยอมรับว่ามันเป็น zero sum game (เกมที่ต้องมีคนแพ้และคนชนะเบ็ดเสร็จ) ต้องเป็นชัยชนะที่ไม่มีการเจรจาต้าอ่วยกันเลย บางครั้งฝ่ายประชาธิปไตยชนะก็จริง แต่ก็ไปเจรจากับกลุ่มอนุรักษ์นิยมทำให้สุดท้ายกลับมาเป็นแบบเดิม ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านก็จะไม่เกิด สำหรับประเทศไทย 2 ปัจจัยหลักที่สำคัญคือ คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 53 หมดอำนาจลง อีกฝ่ายหนึ่งชนะ เป็นการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจภายในระหว่างกลุ่มเก่ากับกลุ่มใหม่ อีกปัจจัยหนึ่งต้องมาจากประชาชน” ประทับจิตกล่าว

ประทับจิตมองว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นผลพวงจากการทำงานของภาคประชาสังคมตั้งแต่หลังการสลายการชุมนุมครั้งนั้น ทั้งในเรื่องวิชาการ การบันทึกประวัติศาสตร์ และการเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริง เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่คนออกมาอยู่บนท้องถนนตอนนี้ และการจะทำให้เกิดความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านก็ต้องพัฒนาความเป็นประชาธิปไตย และมีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการจริงๆ

การแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิต 94 คน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายเพียงการตั้งกรรมการที่มีคำว่า ปรองดองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ต้องเป็นเจตจำนงร่วมกันของคนทั้งสังคมที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยและมีนิติรัฐเกิดขึ้นเพื่อชำระสะสางสิ่งที่ซ่อนไว้ใต้พรมทั้งหมด และยุติวงจรความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อ้างอิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net