ภาพยนตร์ปลุกใจรักชาติที่น่าสมเพช

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยมีดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีดำริที่จะให้ทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์แก่บุคคลภายนอก ด้วยจำนวนเงิน 300 ล้านโดยมีวัตถุประสงค์หลายอย่างแต่ถ้าอ่านดูให้ดีจะพบว่าคือเน้นความรักชาตินั่นเอง (โดยมีเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องปลีกย่อย) แต่เหตุการณ์ที่น่าสนใจกว่านั้นคือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ลุงตู่สั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมกับกลาโหมร่วมมือผลิตภาพยนตร์สารคดีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสงครามหลายๆ สมรภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ และส่งเสริมให้เกิดความรักชาติ

ผมเคยคิดเหมือนกันว่าหากเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็น โครงการดังกล่าวก็คงมีประโยชน์สมกับเม็ดเงินที่ลงไป (หากไม่เกิดการคอรัปชั่นเสียก่อน) เพราะเมื่อหลายสิบปีก่อน ชาวบ้านไม่ได้มีสื่อสำหรับเสพหลากหลายเหมือนดังปัจจุบัน โดยเฉพาะชนบทซึ่งต้องเป็นครอบครัวฐานะดีจึงจะมีโทรทัศน์หรือวิทยุ ส่วนหนังสือพิมพ์ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็อ่านไม่ออก ดังนั้นภาพยนตร์ที่เอามาเร่ฉายตามหมู่บ้านหรือไม่ก็อยู่ในโรงภาพยนตร์สมัยก่อนที่เป็นแบบ stand alone นั่นคืออยู่โดยตัวเองไม่ได้อยู่กับห้างสรรพสินค้าเหมือนปัจจุบัน แถมยังมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เช่นเก่าๆ ทึบๆ มีแต่พัดลมจึงเป็นสื่อที่ทรงพลังไม่น้อยในต่างจังหวัด

ในสมัยที่ประเทศยังเป็นเผด็จการเช่นยุคสฤษดิ์- ถนอม -เกรียงศักดิ์-เปรม เข้มงวดในเรื่องสื่อแล้ว ผู้สร้างภาพยนตร์ก็มักอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ เพราะทุนในการสร้างไม่ใช่บาทสองบาท ต้องเข้าสู่มวลชนจำนวนมากเพื่อให้ได้กำไร หากถูกสั่งห้ามฉายแล้ว การลงทุนลงแรงที่ผ่านมาก็สูญเปล่า ดังนั้นเนื้อหาของภาพยนตร์ไทยสมัยก่อนจึงมีสูตรตายตัวที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อกรรไกรของรัฐและความไม่นิยมของประชาชนเช่นรักโรแมนติก ชีวิตน้ำเน่า ตลก ผี บู๊ล้างผลาญ (หลายเรื่องมีผู้ร้ายคือคอมมิวนิสต์) กระนั้นผู้สร้างก็ต้องสอดแทรกอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม กองทัพนิยม (ยกย่องทหาร) ข้าราชการนิยม (ยกย่องว่าข้าราชการมีเกียรติ) และที่สำคัญชาตินิยมเช่นเดียวกับแนวคิดศีลธรรมที่อิงกับศาสนา เข้ากับเรื่องเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ไทยในบางยุคยังมีพื้นที่ในการเสนอการเมืองแต่ก็ยังคงเน้นอยู่ที่นักการเมืองในสภาอย่างเช่นสส. และมักเสนอในด้านอุดมคติเช่นยกย่องสส.ที่ทำงานเพื่อประชาชนหรือโจมตีสส.ที่ร่วมกับนายทุนกดขี่ชาวบ้าน มากกว่าจะวิพากษ์หรือนำเสนอในด้านลบกับตัวละครทางการเมืองที่เป็น กลุ่มอำนาจอย่างเช่นถึงระดับรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือกองทัพ ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้สร้างได้ ตรงนี้เลยทำให้ผมสันนิฐานว่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยจำนวนมากเกลียดนักการเมืองและมองข้ามตัวละครทางการเมืองอื่นๆ นอกจากนี้ เมื่อโทรทัศน์แพร่หลายจริงๆ ในสังคมไทยเมื่อทศวรรษที่ 10-20 ละคร (อันที่แท้จริงก็คือภาพยนตร์นั่นเอง เพียงแต่ถูกหั่นเป็นตอนๆ และมักใช้ทุนไม่สูงเท่าภาพยนตร์) ก็จะพบกับชะตากรรมเดียวกัน อันเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งว่าทำไมละครไทยจึงน้ำเน่า

อย่างไรก็ตามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังมีภาพยนตร์และละครเกี่ยวกับการเมืองอีกแบบหนึ่งนั่นคือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่เน้นวีรกรรมของกษัตริย์และบุคคลสำคัญในอดีต อันเป็นการนำเสนอภาพที่รัฐพึงปรารถนาเพราะทรงอิทธิพลในการปลุกระดมลัทธิราชาชาตินิยมอย่างเช่นสุริโยทัยและตำนานสมเด็จพระนเรศวร อย่างไรก็ตาม หากคนสร้างภาพยนตร์หรือละครเกิดพลาดไปและที่สำคัญคือไม่มีเส้นสายก็จะพบกับชะตากรรมอันน่าสยดสยองอย่างเช่นละครเรื่อูงเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินซึ่งเคยโด่งดังเวอร์ชั่นทศวรรษที่ 80 ซึ่งถูกกบว.หรือองค์กรเซ็นเซอร์ของรัฐหั่นไปหลายฉากจนเสียละคร

ในอดีตการเมืองไทยก็เต็มไปด้วยตัวละครทางการเมืองที่ฉ้อฉล แย่งชิงหรือลุแก่อำนาจไม่แพ้กับปัจจุบันนี้ และคนไทยก็เบื่อหน่ายตัวละครเหล่านั้นเช่นกันแต่ก็อยู่ในวงจำกัดเช่นชนชั้นกลางเพราะสื่อดั้งเดิมดังภาพยนตร์และโทรทัศน์ (รวมถึงหนังสือพิมพ์และวิทยุ) ยังถูกควบคุมโดยรัฐดังที่ได้กล่าวมาข้างบน แต่ทว่าเมื่อเกิดอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในทศวรรษที่ผ่านมากซึ่งสามารถตีแผ่ความฉ้อฉลของรัฐได้อย่างแจ่มชัดมากขึ้น อันทำให้ประชาชนในวงกว้างโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มเห็นว่าภาพยนตร์และละครที่รัฐ (ซึ่งปกครองโดยคนแก่อย่างประยุทธ์ ประวิตร และวิษณุ) ต้องการปลูกฝังให้รักชาติบนแนวคิดที่หยุดนิ่งในช่วงสงครามเย็นนั้นเป็นการสร้างภาพอันงดงามแต่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง แม้แต่จะอ้างว่าอิงอยู่บนประวัติศาสตร์แต่ก็โดนโจมตีได้ว่าบิดเบือนเพราะคนรู้เรื่องประวัติศาสตร์แบบอื่นจากแหล่งในอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ความรักชาติที่รัฐมักปลูกฝังให้เน้นไปที่ตัวรัฐและกองทัพก็ยังถูกท้าทายโดยแนวคิดที่อิงกับตัวประชาชนซึ่งมีความหลากหลายกว่าเดิมเช่นชนชายขอบ ดังนั้นวีรกรรมเช่นสงครามดูเหมือนจะซ้ำซากและตื้นเขินไปหน่อย

สุดท้ายแล้วโครงการภาพยนตร์ปลุกใจรักชาติที่นำโดยวิษณุและประยุทธ์เมื่อเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันจึงคล้ายกับโครงการปลูกป่าที่อำเภอแม่ริมที่มีลุงป้อมและฌอน บูรณะหิรัญเข้าร่วมหรือโซลาร์เซลราคา 45 ล้านของกอรมน.นั้นแหละคือผลาญงบประมาณรัฐจำนวนมหาศาลแต่ได้ผลตอบแทนเพียงน้อยนิดหรืออาจไม่ได้เลยเพราะบริบททางการเมืองดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แถมยังขาดการประเมินที่น่าเชื่อถือเช่นการให้ดาวและการแสดงความเห็นของแฟนๆ ผ่าน Imdb หรือ Rotten Tomatoes แบบภาพยนตร์ทั่วโลกเพราะเป็นการแจกจ่ายเพื่อดูฟรีในสถาบันต่าง ๆ เช่นการศึกษา หรือเกิดนึกขลังเอาลงยูทูบก็เสี่ยงโดนคอมเมนท์ด่า ยกเว้นจะปลุกระดมโฆษณาโดยภาครัฐและเอกชนอย่างยิ่งใหญ่เหมือนเรื่องสุริโยทัยและตำนานสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งถึงแม้จะมีการเปิดเผยรายได้ แต่ก็ดูไม่คุ้มค่ากับทุนจำนวนมหาศาลที่ลงไป แถมยังสู้หนังทุนต่ำกว่าอย่างพี่มาก..พระโขนงและไอฟาย..แต๊งกิ้ว..เลิฟยู้ไม่ได้

กระนั้นผมไม่คิดว่าภาพยนตร์ในโรงโดยเฉพาะภาพยนตร์ไทยจะสามารถชี้นำใครได้เท่าไรนักในยุคดีจิทัลที่คนสนใจดูภาพยนตร์และละครฝรั่งหรือเกาหลีใน Netflix หรือ HBO กันเสียมากกว่าภาพยนตร์ในโรงเสียอีก

 

อ้างอิง: 

อนุมัติ 300 ล้านให้ทุนผลิตสื่อสร้างสรรค์ ทำหนังรักชาติ 30 ล้าน เปิดให้ยื่นสัปดาห์หน้า

'ประยุทธ์' สั่งสร้างหนังวีรกรรมทหารไทยปลุกใจรักชาติ ตั้งแต่สงครามเกาหลียันสมรภูมิเขาค้อ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท