Skip to main content
sharethis

“อนุทิน” เผยจำนวนผู้ป่วยใช้บริการโครงการรับยาใกล้บ้านของ สปสช.เฉียด 3หมื่นคน มีจำนวนโรงพยาบาลและร้านยาเข้าร่วมมากขึ้นหวังลดแออัดที่โรงพยาบาล โดยผู้ป่วยทั้ง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืดและจิตเวช มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช

แฟ้มภาพ

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท 1 หรือ โครงการผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ณ วันที่ 1 ม.ค. 2564 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมที่ไปรับบริการที่ร้านยา 29,299 คน คิดเป็น 80.38% ของเป้าหมายในปี 2564 ซึ่ง สปสช.ตั้งไว้ที่ 36,450 คน จำนวนการไปรับยา 54,730 ครั้ง มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 141 แห่ง และร้านยาในเครือข่าย 1,081 แห่ง โดยรวมแล้วถือว่ามีการพัฒนาขึ้นมาก เช่น จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นจาก 11,235 รายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็น 29,299 รายในปัจจุบัน หรือจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจาก 130 แห่งในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็น 141 แห่งในปัจจุบัน

อนุทิน กล่าวต่อว่า โครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านนั้น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับยาตามร้านยาที่ร่วมโครงการโดยความสมัครใจ หรือรับยาใกล้บ้าน ร้านยาใกล้ใจ เพื่อเป็นทางเลือกในการรับยาหลังพบแพทย์ให้กับผู้ป่วย โดยไม่ต้องรอคิวรับยาที่โรงพยาบาล ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน ข.ย.1 ที่มีเภสัชกรประจำร้าน และจะมีป้ายสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่หน้าร้าน ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ได้มีแต่ร้านยาในศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่ ร้านยาที่มีคุณภาพทั่วประเทศที่มีเภสัชกรประจำก็เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน และกระจายเงินสู่ภาคส่วน

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลดความแออัด กล่าวคือโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปซึ่งประสบปัญหาผู้ป่วยแออัดในโรงพยาบาล มีอัตราการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด โดยโรงพยาบาลทั่วไปเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจาก 49 แห่งในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็น 56 แห่งในปัจจุบัน ส่วนโรงพยาบาลศูนย์มีจำนวนเท่าเดิมอยู่ที่ 33 แห่ง รองลงมาคือโรงพยาบาลชุมชน 20 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 15 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 5 แห่ง โรงพยาบาลสังกัด กทม. 8 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา 4 แห่ง

ขณะที่รูปแบบการส่งยาที่โรงพยาบาลเลือกใช้มากที่สุดคือโมเดลที่ 1 หรือการจัดยาจากโรงพยาบาลส่งไปให้ที่ร้าน แล้วให้ผู้ป่วยมารับยาที่ร้านภายใต้การแนะนำของเภสัชกรร้านยา โดยมีโรงพยาบาลเลือกใช้โมเดลนี้ 104 แห่ง รองลงมาคือการส่งยาโมเดลที่ 2 กระจายยาจากโรงพยาบาลมาสต๊อกที่ร้านยา โดยคนไข้สามารถนำใบสั่งยามารับยาที่ร้านยาได้เลย มีโรงพยาบาลเลือกใช้โมเดลนี้ 20 แห่ง และโมเดลที่ 3 ร้านยาจัดซื้อและสำรองยาเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย จำนวน 17 แห่ง

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการมากที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 61-75 ปี มีจำนวน 11,765 คน (40.16%) รองลงมาคือผู้ป่วยอายุระหว่าง 46-60 ปี มีจำนวน 9,326 คน (31.83%) ผู้ป่วยอายุ 75 ปีขึ้นไป 3,825 คน (13.06%) และอายุ 31-45 ปีอีก 2,517 คน (8.60%) ส่วนโรคที่รับยาที่ร้านยามากที่สุด 5 อันดับแรก คือโรคเรื้อรังอื่นๆที่ควบคุมได้ 12,896 ราย (44.01%) โรคความดันโลหิตสูงและโรคเรื้อรังอื่นๆ 4,663 ราย (15.91%) ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน 4,085 ราย (13.94%) ความดันโลหิตสูงอย่างเดียว 3,183 ราย (10.86%) และที่น่าสนใจคือผู้ป่วยจิตเวชมีจำนวนการรับยาที่ร้านยาเพิ่มขึ้นแซงผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างเดียว โดยมีจำนวน 1,329 ราย (4.54%) ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างเดียวมารับยาที่ร้านยา 1,096 ราย (3.74%)

ขณะที่โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพิ่มขึ้นจาก 3,209 รายเป็น 5,590 ราย โรงพยาบาลหาดใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 1,203 ราย เป็น 2,780 ราย โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเพิ่มขึ้นจาก 1,075 รายเป็น 1,474 ราย และโรงพยาบาลนครปฐมมีจำนวนผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นแซงโรงพยาบาลลำพูนซึ่งอยู่อันดับ 5 เดิม โดยโรงพยาบาลนครปฐมมีผู้ป่วย 1,392 ราย ขณะที่โรงพยาบาลลำพูนมีผู้ป่วยร่วมโครงการ 1,097 ราย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net