Skip to main content
sharethis

ภาพโครงการบ้านตุลาการเชิงดอยสุเทพ ปรากฏในเกมจำลองการขับเครื่องบิน ขณะที่ปัจจุบันบริเวณนั้นเริ่มมีต้นไม้ขึ้นคาดมาจากโครงการศาลสีเขียว ส่วนอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี 2 ผู้ถูกกล่าวหา คดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ เมื่อปีที่แล้ว ที่เดิม สนง.ศาลยุติธรรมเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา

 

19 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หมู่บ้านป่าแหว่ง หรือโครงการบ้านตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์รูป “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ที่พบในเกม Microsoft Flight Simulator 2020 เกมจำลองการขับเครื่องบินที่ผู้เล่นสามารถขับเครื่องบินเที่ยวรอบโลกได้โดยไม่จำกัดเส้นทางบิน ซึ่งแผนที่ในเกมอ้างอิงจากแผนที่จริง และคำนวณระยะทางด้วยระบบดาวเทียม

ย้อนรอยหมู่บ้านป่าแหว่ง

โครงการบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ ตกเป็นประเด็นร้อนในสังคมเมื่อ พ.ศ.2561 หลังภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นว่าโครงการบ้านพักดังกล่าวก่อสร้างโดยกินพื้นที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าโครงการบ้านพักตุลาการฯ รุกล้ำพื้นที่ป่าหรือไม่

โครงการบ้านพักการตุลาการฯ หรือ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” อยู่ในที่ดินราชพัสดุเชิงดอยสุเทพ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ใกล้กับสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี กินพื้นที่ประมาณ 147 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 5 อาคารชุด 13 หลัง และบ้านเดี่ยวอีก 45 หลังใช้งบก่อสร้างทั้งสิ้น 955,064,056.28 บาท เริ่มก่อสร้างปลายปี 2557 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการบ้านพักนี้แต่เดิมเป็นที่ของทหาร อยู่ติดกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ เมื่อมองจากภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมจึงกลมกลืนเหมือนเป็นป่าผืนเดียวกัน โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินผืนดังกล่าวใน พ.ศ.2540 และได้รับสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์และ จ.เชียงใหม่ ตามหนังสือแจ้ง ลงวันที่ 21 ก.ค. 2549 และ 14 พ.ย. 2459 ตามลำดับ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงใช้เวลากว่า 7 ปีจึงเริ่มดำเนินการใช้พื้นที่ เพราะระเบียบการใช้ที่ดินราชพัสดุกำหนดว่า หน่วยงานใดได้รับอนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุไปแล้ว ต้องดำเนินการตามที่ขอภายในระยะเวลา 2 ปี

โครงการบ้านพักตุลาการฯ สร้างเสร็จประมาณเดือน มิ.ย. 2561 และเปิดให้ข้าราชการเข้าพักอาศัย ในขณะที่คนเชียงใหม่และภาคประชาชนหลายองค์กรเรียกร้องให้รื้อถอนโครงการบ้านพักดังกล่าว และขอให้ภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงขั้นตอนการขอใช้พื้นที่ว่าดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ มีการรุกล้ำเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมยืนยันว่าไม่สามารถยุติและรื้อถอนโครงการได้เนื่องจากดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้าราชการทุกขั้นตอน ต่อมาในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน คณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้างในกรณีก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีมติร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพว่าให้รื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกทั้งหมด พร้อมเปลี่ยนสภาพกลับคืนเป็นผืนป่า แต่เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ รัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. (ในขณะนั้น) อนุโลมให้ข้าราชการที่เข้าพักอาศัยแล้วสามารถอยู่ไปก่อนระหว่างรอการหาพื้นที่ใหม่สำหรับสร้างบ้านพัก ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติให้ถอนศาลอุทธรณ์ภาค 5 ออกจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดเชียงราย

ต่อมาในวันที่ 20 พ.ย. 2562 พนักงานสอบสวนมีคำสั่งส่งฟ้องแกนนำและสมาชิกแกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน คือ ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ และเรืองยศ สิทธิโพธิ์ 

‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’ ในปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับหมู่บ้านป่าแหว่งในปัจจุบันจากภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Earth พบว่าปัจจุบันพื้นที่เกือบทั้งหมดมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากโครงการศาลสีเขียว (GREEN COURT) ที่จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้บริเวณโครงการบ้านพักดังกล่าว

ภาพปัจจุบันจาก Google Earth แคปภาพวันที่ 19 ม.ค. 64

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย.63  ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาขณะนั้น กล่าวถึงการสร้างศาลให้เป็นสีเขียวว่าแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งเรามาจากเรื่องบ้านป่าแหว่ง ที่มีการชี้นิ้วมาที่เราว่าศาลทำลายทรัพยากร แต่จริงๆ แล้วผู้พิพากษานั้นไม่เกี่ยวข้องเลย เพราะเราก็มีหน้าที่ตัดสินคดี ฝ่ายธุรการก็มีหน้าที่จัดหาบ้านพักให้ผู้พิพากษา ซึ่งวันดีคืนดีไปขอพื้นที่ทหารมาได้ ทหารก็ส่งมอบพื้นที่มาให้ กระบวนการก่อสร้างก็ทำตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าเราขาดความละเอียดรอบคอบในขั้นตอนการก่อสร้าง ทุกอย่างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปในพื้นที่หรือการตัดต้นไม้ในพื้นที่ ก็กลายเป็นภาพที่ปรากฏที่เขาเรียกกันว่าป่าแหว่ง ประกอบกับสถานะทางการเมืองที่มันมีความขัดแย้งในพื้นที่เชียงใหม่ ศาลก็ก็ตกอยู่ในสถานะที่สะท้อนความขัดแย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจำเลยในขั้นต้น แต่ว่าเมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นและมันจบแล้ว เราสบายใจที่ได้คืนบ้านที่เรียกว่าป่าแหว่งให้กับกรมธนารักษ์เรียบร้อยแล้ว

ที่มา :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net