รัฐบาล 'ไบเดน' เตรียมยกเลิกนโยบายกีดกันผู้อพยพจากสมัย 'ทรัมป์'

ว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศแผนการรองรับสัญชาติผู้อพยพตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งรวมถึงนโยบายสนับสนุนผู้อพยพ-ลี้ภัยด้านต่างๆ หลังจากที่ถูกยกเลิกในช่วงทรัมป์ และยังยกเลิกนโยบายกีดกันต่างๆ พยายามทำให้พ่อแม่ลูกที่ถูกพรากจากกันในยุคทรัมป์กลับมาเจอกันด้วย


โจ ไบเดน ภาพโดย Gage Skidmore

 

20 ม.ค. 2564 วันนี้ โจ ไบเดน จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาประกาศว่าจะดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพนับตั้งแต่ในวันแรกที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้รัฐบาลชุดใหม่ยังจะต้องดูแลจัดการเกี่ยวกับผู้อพยพที่อยู่บริเวณชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก รวมถึงผู้อพยพกลุ่มใหม่ที่กำลังเดินทางเข้ามา

หนึ่งในสิ่งที่ไบเดนมีแผนการจะทำเป็นอย่างแรกๆ คือเสนอให้มีการให้สัญชาติแก่ผู้อพยพที่ยังไม่มีเอกสารรับรองจำนวนหลายล้านคนในสหรัฐฯ โดยทันที นอกจากนี้ยังเตรียมให้สัญชาติกับผู้อพยพที่ร่วมโครงการคุ้มครองชั่วคราวและโครงการ DACA ที่เป็นโครงการคุ้มครองผู้อพยพเยาวชนไม่ให้ถูกส่งตัวออกนอกประเทศและให้ใบอนุญาตทำงาน โครงการดังกล่าวนี้มาจากสมัยโอบามาแต่รัฐบาลทรัมป์ก็พยายามจะยุบโครงการแต่ศาลสูงสุดก็มีคำสั่งสกัดกั้นการพยายามยกเลิกโครงการนี้เสียก่อน

คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีระบุว่าข้อเสนอจากรัฐบาลไบเดนยังประกอบด้วยการลดเวลาการขอสัญชาติลงให้เหลือเพียง 8 ปีด้วย

นอกจากนี้ไบเดนยังจะลงนามในคำสั่งพิเศษหลายอย่าง ซึ่งบางส่วนจะเป็นการยกเลิกนโยบายกีดกันผู้อพยพในสมัยรัฐบาลทรัมป์ด้วย เช่น คำสั่งแบนห้ามการเดินทางของผู้คนจากประเทศมุสลิม ซึ่งมีแผนการจกยกเลิก นอกจากนี้ไบเดนยังให้สัญญาว่าจะให้มีวิธีการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมมากขึ้นต่อผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจากชายแดนตอนใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เคยเตือนแล้วว่าจะต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งถึงจะมีการพับนโยบายกีดกันผู้อพยพของทรัมป์ได้ซึ่งไบเดนรับรู้ในเรื่องนี้

ถึงแม้คำประกาศนี้จะออกมาแต่เบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ มีการวางแผนเตรียมรับกับกลุ่มผู้อพยพกลุ่มใหม่ไว้ตั้งแต่ปี 2563 สิ่งที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่คือจะวางแผนนโยบายอย่างไรกับจำนวนตัวเลขผู้อพยพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิได้วางแผนรับมือฉุกเฉินกับการอพยพของผู้คนจากชายแดนตอนใต้เอาไว้แล้ว อย่างการผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย หรือการใช้สถานพักพิงชั่วคราวที่มีการออกแบบจัดการแบบคำนึงถึง COVID-19 ไปด้วย

นอกจากภาครัฐแล้ว ทีมเปลี่ยนผ่านของไบเดนยังทำการหารือกับองค์กรเอ็นจีโออยู่เป็นประจำเพื่อหามุมมองที่หลากหลายมากขึ้นในการดูแลจัดการกับกับพื้นที่ๆ ต่างกันออกไปและเน้นเรื่องการให้ช่วยประสานงานกับผู้ให้บริการท่าเรือขาเข้าเกี่ยวกับประเด็นผู้อพยพ ส่วนแผนการระยะยาวนั้นจะเป็นการตั้งยุทธศาสตร์ภูมิภาคเพื่อหาต้นเหตุและขยายช่องทางการอพยพ

ทางการกัวเตมาลาเปิดเผยว่ามีผู้อพยพจากฮอนดูรัสเดินทางผ่านประเทศของพวกเขาเพื่อมุ่งหน้าไปสหรัฐฯราว 7,000-8,000 คน โดยในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์ COVID-19 ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในละตินอเมริกาบวกกับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคนี้จนก่อให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นอาจจะส่งผลต่อจำนวนผู้อพยพ-ลี้ภัยด้วย อย่างไรก็ตามในยุคสมัยรัฐบาลทรัมป์ก็มีการพยายามสกัดกั้นคาราวานผู้อพยพเนื่องจากนโยบายกีดกันผู้อพยพที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตามว่าที่รัฐบาลไบเดนให้สัญญาว่าจะยกเลิกนโยบายกีดกันผู้อพยพในสมัยรัฐบาลทรัมป์ โดยระบุว่าจะ "คืนศักดิ์ศรีให้กับระบบคนเข้าเมืองและนโยบายชายแดน" ของพวกเขา อีกทั้งยังจะริเริ่มให้พ่อแม่ลูกที่พรากจากกันในช่วงนโยบายกีดกันผู้อพยพของทรัมป์ได้กลับมาเจอกันซึ่งพวกเขามองว่าเป็นงานที่ "ยากแต่มีความสำคัญ"

เรียบเรียงจาก

Biden administration braces for new wave of migrants as it rolls out new immigration plans, CNN, 19-01-2021
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท