เครือข่ายกะเหรี่ยงยื่นหนังสือ กมธ. ชาติพันธุ์ เสนอตั้งไตรภาคีแก้ปัญหา-ไม่ซ้ำรอยความรุนแรง

ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงตะวันตกและพีมูฟ ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการชาติพันธุ์ฯ เสนอตั้งไตรภาคีหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลับใจแผ่นดิน ขอรัฐอย่าใช้ความรุนแรงซ้ำรอยอดีต

20 ม.ค. 64 ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ขอประสานให้เกิดการเจรจาแก้ไขปัญหา หนังสือระบุว่า การเดินเท้ากลับบางกลอยบนของชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว เป็นสาเหตุมาจากปัญหาที่สั่งสม และด้วยอึดอัดใจ ในการดำเนินชีวิตได้ยากลำบากมากตั้งที่ถูกอพยพลงมา โดยที่ทางเจ้าหน้าที่ได้เคยรับปากไว้เมื่อครั้งไปเจรจาเพื่อขอให้อพยพลงมาจากบ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบน ว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้แต่ละครอบครัว ให้เพียงพอและจะแก้ไขปัญหาการพิสูจน์สัญชาติ รวมไปถึงระบบสวัสดิการที่เพียงพอเหมาะสมให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น กลับไม่ได้เป็นไปตามที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ชี้แจงมาตลอดว่าได้ดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการชี้แจงจากหน่วยงานรัฐก็ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงมาก เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง โดยเฉพาะกรณีคดีบิลลี่ที่ถูกอุ้ม และฆาตกรรม

เครือข่ายฯ เสนอให้ตั้งคณะทำงาน “ไตรภาคี” โดยให้มีคณะทำงานภาคประชาชน โดยอ้างอิงจากคณะอนุกรรมการฯ ตาม มติ ครม. (กะเหรี่ยง-ชาวเล) ภายใต้การดำเนินการแต่งตั้งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่สามารถมีบทบาทร่วมในการสังเกตการณ์แก้ไขปัญหาด้วย หารือแนวทางอย่างสันติกรณีกะเหรี่ยงบางกลอยเดินเท้ากลับใจแผ่นดินเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งขอรัฐโดยกรมอุทยานฯ และทหารทัพพระยาเสืออย่าใช้ความรุนแรงดังที่เคยกระทำกับชาวบ้านในอดีต

เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า กำลังมีปฏิบัติการบางอย่างจากกองกำลังทหารในพื้นที่ ฝากสังคมร่วมกันจับตาและมองเห็นความเป็นคนของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะหากมองไม่เห็น รัฐจะใช้เป็นความชอบธรรมในการดำเนินการใช้ความรุนแรงได้

“สิ่งที่อยากจะเรียนถามนิดหนึ่งคือ สถานการณ์แบบนี้ พวกเรามองพี่น้องอย่างไร เรามองเห็นความเป็นคนของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ไหม เรามองเห็นความเป็นคนไทยไหม เพราะถ้าเรามองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นการถูกกระทำจากมายาคติ การดูแคลน ดูหมิ่น หรือการสร้างประเด็นทางสังคมขึ้นมาว่าพวกเขาบุกรุกป่า ทำผิดกฎหมาย จะยิ่งทำให้เกิดการปฏิบัติการจากเจ้าหน้าที่ให้เกิดความรุนแรง อยากให้มองพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่บางกลอยว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องการชีวิต และมีความมั่นคงในชีวิต” เกรียงไกรกล่าว

นอกจากนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมฯ ยังได้ให้ข้อมูลล่าสุดว่า จากที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ให้ข้อมูลตัวเลขออกมาว่ามีพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่ขึ้นไปประมาณแค่ 20-30 คน จริงๆ แล้วตนได้รับการประสานงานจากในพื้นที่ ชัดเจนว่ามีกว่า 50 ชีวิต กว่าครึ่งเป็นเด็กเล็กและผู้หญิง รวมทั้งหญิงท้องแก่ใกล้คลอดหนึ่งคน เครือข่ายฯ ห่วงกังวลว่าถ้าปฏิบัติการนี้ไม่ได้เข้าใจชาวบ้าน อาจนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้

“ชาวบ้านทั้งหมด ครั้งหนึ่งเคยเป็นกลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่รัฐรับปากและยืนยันว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ จะดูแลสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานดังเช่นคนไทยทั่วไป แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหา ผมอยากจะยืนยันอีกครั้งว่าพี่น้องชาวกะเหรี่ยงเป็นคนที่ยึดมั่นในสัจจะ ถ้าเราไม่ได้รับการทำตามสัญญา พี่น้องควรจะสามารถกลับไปในพื้นที่ดั้งเดิมของตัวเองได้ เรายืนยันว่าไม่ได้มีแค่พี่น้องประมาณ 50 ชีวิตนี้เท่านั้น จริงๆ แล้ว 30 กว่าครอบครัว 300 กว่าชีวิตจะไม่มีความมั่นคงเลย ถ้าหน่วยงานภาครัฐไม่รีบจัดการปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เรื่องการให้สัญชาติอย่างเร่งด่วน” เกรียงไกรย้ำ

ด้าน มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ หนึ่งในผู้รับหนังสือ กล่าวว่า ชุมชนบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินเป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ตามหลักฐานแผนที่ทหารตั้งแต่ปี 2455 ที่ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยและทำกินอยู่แล้ว รวมถึงการรับมอบเหรียญชาวเขา ตั้งแต่ยุทธการตะนาวศรีปี 2554 จนถึง 2564 ชาวบ้านยังไม่มีที่ดินทำกิน และภายใต้สถานการณ์โควิดแบบนี้พี่เมื่อเพาะปลูกไม่ได้ ชาวบ้านจึงคิดจะกลับไปอยู่ในถิ่นฐานเก่า โดยตนจะรับหนังสือไว้แล้วดำเนินการให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อ พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจว่าอย่าใช้ความรุนแรง จงกลับไปค้นหาสาเหตุ ข้อเท็จจริง และสัญญาตอนที่ท่านอพยพคนเหล่านี้ลงมา แล้วทำตามข้อตกลงนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท