Skip to main content
sharethis

พยานเผยข้อมูลและหลักฐานในการลอบสังหารใหม่ เชื่อยกระดับเป็นคดีพิเศษได้ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ฯ ดัก ตร. อัยการ มีส่วนบิดเบือนหลักฐานจนทำให้สำนวนอ่อน-เอาผิดผู้ก่อเหตุไม่ได้ เชื่อหาก DSI จริงจังและจริงใจในการรื้อคดีเป็นคดีพิเศษจะสามารถจับคนร้ายได้ DSI สอบพยานเสร็จแล้วพบพยานให้ข้อมูลเพิ่มประเด็นลอบสังหารเกี่ยวข้องกับการต่อต้านเหมืองหินในพื้นที่ เตรียมเรียกบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ 4 นักปกป้องสิทธิฯสอบเพิ่มก่อนสรุปสำนวนพิจารณาเป็นคดีพิเศษ

21 ม.ค.2564 ที่บริเวณปากทางเข้าเหมืองหินดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะกับสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เพื่อทำการสืบสวนและบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย บุญเลิศ ดวงโคตะ สนั่น สุขวรรณ ทองม้วน คำแจ่ม สม หอมพรหมมา ในวันที่ 19 ม.ค. – 20 ม.ค. 64 เพื่อเตรียมรื้อฟื้นคดีลอบสังหารสมาชิกกลุ่มตามหนังสือมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 ดำเนินการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เลขสืบสวนที่ 302/2563 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณารับกรณีสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ ถูกลอบสังหารอันอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาไว้ทำการสอบสวนไว้เป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอขอดำเนินการนัดหมายพยานบุคคลที่รู้เห็นในเหตุการณ์หรือทราบข้อมูลการเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 4 ราย ข้างต้น หรือบุคคลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนเพื่อให้เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด 

ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯได้เตรียมพยานบุคคลจำนวน 18 รายไว้คอยให้ปากคำกับดีเอสไอ โดยที่กลุ่มอนุรักษ์เชื่อว่าคดีนี้เข้าข่ายในการถูกยกระดับให้เป็นคดีพิเศษเพราะเป็นคดีที่มีความเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประชาชน เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอิทธิพลและมีความขัดแย้ง เกี่ยวเนื่องกับการต้านการสร้างโรงโม่และเหมืองหินของประชาชนในตำบลดงมะไฟ ซึ่งประชาชนได้รับความเดือนร้อนอย่างมากในพื้นที่มายาวนาน

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได โดย สอน คำแจ่ม เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้หาผู้กระทำความผิดมาลงโทษและยุติการลอยนวลพ้นผิด พร้อมเปิดพิรุธ 5 ข้อโหว่ ในสำนวนสอบสวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดี  รวมบันทึกการให้ปากคำของตนที่ตำรวจส่งให้ดู ไม่ตรงกับการให้ปากคำในครั้งนั้นต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งหากพนักงานสอบสวนได้บันทึกรายละเอียดตามที่ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ให้ไป อาจจะนำไปสู่การสอบพยานหลักฐานที่สำคัญ เพื่อติดตามผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

ขณะที่สุวรรณ อดีตประธาน อสม. หนึ่งในพยานที่ร่วมบันทึกถ้อยคำกับดีเอสไอเปิดเผยว่า ตนเชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตของกำนันทองม้วน คำแจ่ม หนึ่งในนักปกป้องสิทธิจากกลุ่มอนุรักษ์ฯที่ถูกลอบสังหารมาจากความเคลื่อนไหวในการต่อต้านเหมืองหินเพราะก่อนที่กำนันทองม้วนจะเสียชีวิตได้เคยบ่นให้ตนฟังถึงความยากลำบากในการต่อสู้ นอกจากนี้ในวันที่กำนันทองม้วนเสียชีวิตนั้นตนอยู่ตอนช่วงเช้ากับกำนันทองม้วน และทราบว่าใครเป็นผู้นัดหมายให้กำนันทองม้วนไปพบ ก่อนที่จะถูกสังหารเสียชีวิต  นอกจากนี้ในส่วนของการสรุปคดีเรื่องยาเสพติดและชู้สาวนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ยาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบในวันที่ชันสูตรพลิกศพกำนันทองม้วนในสถานที่เกิดเหตุนั้นเป็นยาอลูมินั่มลดกรดที่ตนในฐานะอสม.ได้ให้นายทองม้วนไว้เพื่อลดอาหารท้องอืดท้องเฟ้อของกำนันทองม้วนไม่ใช่ยาเสพติดแต่อย่างใด ตนอยากให้ดีเอสไอรื้อคดีนี้เป็นคดีพิเศษให้ได้เพื่อให้ความจริงได้ปรากฏและนำคนผิดมาลงโทษ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได้ กล่าวว่า ความรุนแรงเกิดจากคนร้าย ถ้าจับคนร้ายได้ความรุนแรงก็ต้องลดลง มันเป็นเหตุผลที่สัมพันธ์กัน ดังนั้นการที่ดีเอสไอจะมารื้อคดี เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะทำให้เนื้อหาในคดีความต่างๆ และรายละเอียดจากเหตุการณ์การสังหารของผู้นำที่ต่อสู้เรื่องเหมืองที่ผ่านมาแล้วได้เปิดเผยสู่สังคมอีกครั้ง อย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้สังคมได้รับรู้เรื่องราวที่ผ่านมานานแสนนาน เพราะเรื่องราวเมื่อ 20 ก่อนนั้นมีผู้รับรู้น้อยมาก เอกสารต่างๆในการสืบสวนสอบสวนสังคมวงกว้างแทบจะไม่รู้เลย เพราะกระบวนการในชั้นตำรวจและอัยการแทบจะไม่เปิดเผยใดๆให้กับสังคมรับรู้แม้กระทั่งญาติของผู้เสียชีวิตก็ไม่เคยเห็นเอกสารใดๆในคดีเลย เป็นที่ต้องสงสัยมาโดยตลอดว่ากระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปัญหามีลักษณะปิดบังซ่อนเร้นอำพรางข้อมูล และดูเหมือนว่าจะเกี่ยวข้องกับการทำให้สำนวนดดีอ่อนลงจนนำคนผิดมาลงโทษไม่ได้

“ถ้ามีการรื้อคดีใหม่เพิ่มเติมจากดีเอสไอ จะทำให้ผู้ที่เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และคับแค้นใจจากความอยุติธรรมและรอคอยความยุติธรรมอยู่ จะได้รับความเป็นธรรมในคดีนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดีเอสไอว่าจะจริงจังและจริงใจกับคดีนี้แค่ไหน เพราะอำนาจตามกฎหมายดีเอสไอสามารถรื้อคดีได้ อย่างน้อยที่สุดถ้าหาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้เพราะติดกรณีเกินอายุความไปแล้ว แต่ก็น่าที่จะสืบสวนไปให้ถึงผู้ที่กระทำการ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งตำรวจและอัยการที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบิดเบือนคดี ถ้ารื้อคดีก็จะสามารถนำคนผิดเหล่านี้มาลงโทษได้ และนอกจากนี้แล้วการสอบสวนในครั้งนี้ไม่ใช่แค่การคืนความยุติธรรมในอดีตที่หายไปเท่านั้น แต่จะต้องนำไปสู่การให้สัมปทานในอนาคตของเหมืองที่จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะการใช้อิทธิพลที่ไม่ถูกต้องในการขอสัมปทานในการทำเหมืองเป็นประเด็นใหญ่ที่นำมาสู่ความรุนแรงกับชาวบ้านในครั้งนี้” หัวหน้าพรรคสามัญชน ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได้ กล่าว

ปรานม สมวงศ์ ที่ทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากองค์กร Protection International ระบุว่า การดำเนินการในครั้งนี้น่าสนใจมากเพราะจริงๆ ยังมีหลายคดีที่ยังไม่สามารถแก้ไขหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อย่างคดีของคุณ สมชาย นีละไพจิตร  คุณบิลลี่ พอละจี  และคนอื่นๆ ส่วนคดีสี่ศพนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิฯ ดีเอสไอก็เป็นองค์กรเดียวที่น่าจะสามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่ตกอยู่ในอันตรายรายอื่นๆได้ และควรจะนำไปสู่แนวทางในการสอบสวนสืบสวนคดีของนักปกป้องสิทธิฯอื่นๆ การคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวและนักปกป้องสิทธิฯเป็นหนทางเดียวที่จะเริ่มแก้ไขวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

ขณะที่ พ.ต.ท.บรรยวัสถ์ ไตรสุทธิวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 กล่าวภายหลังจากบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลเสร็จสิ้นแล้วว่า ดีเอสไอได้นำบันทึกคำให้การเดิมที่พยานทั้งหมดเคยให้กับตำรวจไว้มาพิจารณาประกอบกับการบันทึกถ้อยคำพยานในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาดูแล้วยังมีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสอบไม่ครบถ้วน เราจึงได้สอบเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลเหตุกาณ์การเสียชีวิตเพิ่มขึ้น  ซึ่งพยานทั้งหมดยืนยันว่ากำนันทองม้วนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งการเสพและการค้า แต่เป็นประเด็นเรื่องความรุนแรงกับการต่อต้านการสร้างเหมืองในพื้นที่  พอเราได้ข้อมูลจากตรงนี้แล้วเราก็จะนำไปพิจารณาประกอบกับสำนวนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการชันสูตรพลิกศพ เรื่องการเสียชีวิตและประเด็นต่างๆมีความตรงกับเหตุการณ์มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งบุคคลต่างๆที่เกี่ยวกับคำให้การของพยานทั้งหมดเราก็จะเรียกมาสอบเพื่อพิสูจน์ทราบ และเราก็จะทำการขอข้อมูลเพิ่มเติมกับหน่วยงานต่างๆที่ชาวบ้านได้เคยยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น

“พอรวบรวมข้อมูลได้ทั้งหมดแล้ว ดีเอสไอก็จะเรียกประชุมพนักงานสอบสวนทั้งหมดว่าเราจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และนำเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้กับอธิบดีดีเอสไอว่าจะไปต่อในเรื่องไหนได้บ้างในทุกมิติ หรือดูว่าหน่วยงานไหนที่มีความบกพร่องและเป็นที่มาของการดำเนินการครั้งนี้หรือไม่ หรือพิสูจน์ทราบไปอีกว่าผู้กระทำผิดที่ชาวบ้านบอกกล่าวว่ายังไม่ได้รับการลงโทษและยังลอยนวล แม้คดีจะขาดอายุความไปแล้วและมีความเกี่ยวพันกับทางโรงโม่ หรือกลุ่มขบวนการผู้มีอิทธิพลมันก็จะมีการป้องปรามหรือดำเนินการในส่วนนี้อย่างไร” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 กล่าว

สำหรับระยะเวลาในการรวบรวมข้อเท็จจริงดีเอสไอจะใช้เวลา 5 เดือนในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้วประมาณ 2 เดือน เหลืออีก 3 เดือนที่ดดีนี้จะได้รับการพิจารณาเป็นคดีพิเศษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net