Skip to main content
sharethis

รัฐอาระกันที่มีการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองทัพรัฐบาลที่เรียกว่าทัตมะตอว์ นอกจากพลเรือนจะถูกลูกหลงจากความรุนแรงแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังมีกรณีที่กองทัพรัฐบาลบุกรุกบ้านประชาชนทำร้ายร่างกายและอุ้มหายพวกเขา ถึงแม้ว่าญาติผู้สูญหายจะพยายามเรียกร้องความเป็นธรรมในทุกวิถีทางมาโดยตลอดในช่วงปีที่แล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบและผู้ก่อเหตุยังคงลอยนวล

เย็นวันหนึ่ง ในตอนที่ มา-นเวย์ (นามสมมุติ) และครอบครัวของเธอกำลังทานอาหารเย็นก็มีกลุ่มทหารจากกองทัพพม่าหรือทัตมะตอว์บุกเข้ามาในบ้าน พวกเขาถามหาสามีของเธอจากนั้น ตามคำบอกเล่าของมา-นเวย์ สามีของเธอก็ถูกคาดตาจากนั้นทหารรายหนึ่งก็เอาปืนออกมาทุบเขาต่อหน้าเธอ มา-นเวย์บอกว่า "ในตอนนั้นฉันทำได้แค่ร้องไห้"

มา-นเวย์เป็นชาวเชื้อสายอาระกันที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศพม่า เธอพูดถึงเหตุการณ์ที่สามีเธอถูกทำร้ายและจับตัวไปอีกว่า เธอกลัวว่าจะถูกยิงเลยไม่ได้ทำอะไร เธอรู้สึกว่าทหารกลุ่มนี้เป็น "คนที่โหดร้ายที่สุดในโลก" มา-นเวย์ได้เห็นสามีเธอเป็นครั้งสุดท้ายคือในวันที่ 16 มี.ค. 2563

สามีของมา-นเวย์เป็นหนึ่งในบุคคล 18 คน ที่ถูกทางการอุ้มหายไปจากหมู่บ้านทินมาทิตและทินมา-กยีซึ่งอยู่ติดกันโดยที่ไม่มีใครเห็นพวกเขาอีก ครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายเหล่านี้พยายามหาข้อมูลของญาติพี่น้องของพวกเขาอย่างไม่ลดละแต่ก็ได้กลับมาเพียงความเงียบงัน, การถูกปฏิเสธ และการข่มขู่คุกคาม ผ่านไปแล้ว 10 เดือนครอบครัวเหล่านี้ก็ยังคงค้นหาคำตอบและต้องการความเป็นธรรม

มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์ 3 ราย ให้การตรงกับสื่อต่างๆ โดยบอกว่าในช่วงระหว่างวันที่ 13-16 มี.ค. มีทหารในชุดเครื่องแบบและติดตรากองพลทหารราบเบาที่ 55 ของทัตมะตอว์ออกกวาดต้อนจับกุมคนหลายสิบคนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาระกันอาร์มี ส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกับที่ถูกจับเว้นแต่ 18 คนที่ยังคงสูญหาย ซึ่งในกลุ่มคนหายนี้มีวัยรุ่นอายุ 16 ปี ผู้สูงอายุวัย 65 ปี และคนพิการทางการได้ยินอยู่คนหนึ่งรวมอยู่ด้วย

ในวันที่ 18 มี.ค. 2563 มีผู้พบร่างของบุคคล 4 คนลอยอยู่ที่แม่น้ำกัลดานใกล้กับหมู่บ้าน มีร่างหนึ่งที่สมาชิกครอบครัวเข้ามาระบุตัวตนว่าเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่หายตัวไป ครอบครัวนี้บอกกับสื่อท้องถิ่นว่าร่างเหล่านี้โดนทหารยิงใส่และมีสื่อรายงานว่าร่างเหล่านี้มีรอยกระสุนบนตัว ร่างอีก 3 ร่างที่เหลือยังไม่ได้รับการระบุตัวตน

ผู้ที่หายตัวไปทั้งหมดนี้เป็นชาวอาระกันหรือชาวยะไข่ที่เป็นชนพื้นเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและเป็นคนส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ พวกเขาไม่พอใจกับการถูกทำให้เป็นชายขอบทางการเมืองภายใต้การนำของชนเชื้อสายบามาร์ มีกลุ่มชาวอาระกันเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธอาระกันอาร์มีหรือ AA มากขึ้นเรื่อยๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งยกระดับขึ้นในช่วงปลายปี 2561 ที่มีพลเรือนราว 1,000 รายถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจากความรุนแรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืน, ทุ่นระเบิด หรือการทิ้งระเบิดทางอากาศโดยไม่เลือกเป้าหมาย มีคนมากกว่า 230,000 รายที่ต้องหนีตามออกจากบ้าน

การกวาดต้อนจับกุมที่เกิดขึ้นนั้นมีขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากเหตุปะทะกันอย่างหนักใกล้กับหมู่บ้าน ตุนลา หนึ่งในคนที่ถูกจับตัวไปเล่าว่าพวกทัตมะตอว์ไล่ไปตามบ้านต่างๆ ถามหาผู้ชาย เขาไม่รู้ว่าทำไมถึงจับกุมตัวพวกเขา ทหารกองทัพรัฐฐาลไม่ได้บอกเหตุผลอะไรเลย มีคน 10 คนถูกมัดไว้และถูกทุบตีด้วยปืนต่อหน้าตุนลา ในเวลาหลายวันหลังจากนั้นชาวบ้านก็พากันหนี

ซอวิน คนที่เป็นตัวแทนช่วยเหลือครอบครัวคนหายในท้องถิ่นเหล่านี้ให้ได้รับความเป็นธรรมบอกว่าคนชรา 3 คนในหมู่บ้านทินมา-กยีที่ทำหน้าที่ดูแลวัดก็หายตัวไปด้วย ไม่นานหลังจากนั้นหมู่บ้านก็ร้างและบ้านเรือนก็ถูกถางทำลาย ประชาชนกล่าวหากองทัพพม่าในเรื่องนี้ซึ่งกองทัพก็ปฏิเสธความผิด โดยที่ในประเทศพม่านั้นกองกำลังตำรวจอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงกิจการภายใน

ต่อมาในวันที่ 23 มี.ค. 2563 กลุ่มครอบครัวของผู้สูญหายที่กระจายตัวอยู่ตามค่ายผู้พลัดถิ่นต่างๆ พากันแจ้งคนหายต่อตำรวจในท้องที่ มีการส่งจดหมายไปตามที่ต่างๆ ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพม่า, สำนักงานผู้บัญชาการทหาร, ประธานาธิบดี และที่ปรึกษาแห่งรัฐ เรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้

แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้นเลยจนกระทั่งถึงเดือน มิ.ย. 2563 ทัตมะตอว์ก็แถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าพวกเขาไม่ได้จับกุมใครในสองหมู่บ้านนี้ หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบไปอีก 5 เดือน จนกระทั่งในวันที่ 27 พ.ย. โฆษกกองทัพพม่าก็ประกาศว่าครอบครัวที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนคดีได้ที่สถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องและถ้าหากตำรวจรายงานข้อมูลที่น่าสงสัยใดๆ กองทัพจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะทำการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้หรือไม่

ถึงแม้ว่าครอบครัวผู้หายสาปสูญจะไปแจ้งความต่อตำรวจในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 แต่ตำรวจก็ข่มขู่พวกเขาไม่ให้เดินหน้าคดีนี้ต่อไป มีตำรวจอ้างว่าพวกเขาทำเอกสารเกี่ยวกับคดีนี้หายไปแล้วจากนั้นขู่พวกเขาหลายครั้งว่าจะจับกุมและนำตัวพวกเขาไปขังคุก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่บางส่วนก็บอกว่าคดีเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับพวกเขาให้ไปแจ้งกับที่ทำการของกองทัพเอาเอง ซอวินบอกว่าเมื่อพวกเขาโต้ตอบว่าตำรวจมีหน้าที่ต้องทำให้เกิดความยุติธรรมแต่พวกตำรวจก็หันกลับมาขู่จะจับพวกเขาเข้าคุกทันที

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพม่า ซึ่งเคยถูกวิจารณ์มาก่อนว่าไม่ทำอะไรเลยเกี่ยวกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใหญ่ๆ หลายกรณี พวกเขาก็ทำอะไรน้อยมากในกรณีผู้หายสาปสูญจากหมู่บ้านนี้เช่นกัน มีผู้นำท้องถิ่นแจ้งเรื่องต่อคณะกรรมการไป แต่ในเดือน พ.ย. 2563 คณะกรรมการก็แจ้งกลับมาว่าชาวบ้านไม่ได้ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพพม่า และในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 โฆษกของคณะกรรมการก็แถลงอ้างว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าไปลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนได้ และประกาศปิดคดีนี้หลังจากที่ได้สอบถามกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมผู้ปฏิเสธว่ากองทัพทัตมะตอว์ไม่ได้เกี่ยวข้อง

ด้านตำรวจเพิ่งจะเริ่มการสืบสวนเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 โดยการเรียกตัวชาวบ้านมาสอบปากคำ แต่ญาติผู้สูญหายอย่างมา-นเวย์ก็บอกว่าพวกเขาเป็นห่วงความปลอดภัยของตัวเองและลูกๆ พวกเขากลัวว่าจะถูกประทุษร้ายเพราะฟ้องร้องในเรื่องนี้

สภาพของรัฐยะไข่ก็ยากที่จะเข้าไปสืบหาความจริงเพราะสื่อจะเข้าไปในพื้นที่ได้ต้องได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การนำทางของเจ้าหน้าที่รัฐบาลเท่านั้น ซอวินบอกว่าเขาไม่พอใจที่รัฐบาลขาดเจตจำนงทางการเมืองในการที่จะจัดการแก้ไขปัญหาคดีเหล่านี้ ซอลินกล่าวว่า "ทางการทุกหน่วยควรจะต้องมีความรับผิดชอบ ... ผู้มีอำนาจควรจะต้องเข้าใจสถานการณ์ ปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน และแสวงหาความยุติธรรม"

แต่สำหรับในพม่าแล้วกองทัพรัฐบาลมักจะเป็นกลุ่มที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยลอยนวลไม่ต้องรับผิด มีกรณีใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2560 คือการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่ทางสหประชาชาติระบุว่ารัฐบาลพม่าล้มเหลวในการที่จะป้องกัน สืบสวนสอบสวน หรือมีกระบวนการทางกฎหมายต่อผู้ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คณะทำงานสืบหาข้อเท็จจริงยังเปิดเผยในรายงานเมื่อปี 2561 อีกว่ามีกรณีการหายสาปสูญอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมกับการก่อเหตุที่นับเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรัฐคะฉิ่น, ยะไข่ และรัฐฉาน ซึ่งผู้นำทหารระดับสูงของพม่าควรจะต้องเข้ารับการไต่สวนและถูกดำเนินคดี

ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2563 มีกรณีการบังคับสูญหายหลังถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นรวมอย่างน้อย 30 ราย โดยมีกรณีในที่อื่นนอกจาก 2 หมู่บ้านดังกล่าวด้วย สื่อเรดิโอฟรีเอเชียก็เคยรวบรวมตัวเลขผู้เสียชีวิตหลังจากถูกควบคุมตัวโดยทัตมะตอว์รวม 32 ราย ตั้งแต่ปี 2562 ถึง ต.ค. 2563

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังฮี ลี เคยกล่าวไว้ว่าการรับผิดชอบต่อความผิดของตัวเองมีความสำคัญในการยุติความขัดแย้งระหว่างกองกำลังอาระกันอาร์มีกับกองทัพพม่า ดังนั้นแล้วกองทัพพม่าหรือทัตมะตอว์จึงไม่ควรถูกปล่อยให้ลอยนวลโดยไม่ต้องรับผิด มันทำให้พวกเขาใช้กำลังกับพลเรือนในพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งควรจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษแบบที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

เมียวมยัตเฮน ประธานสภาทนายความอาระกันที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ครอบครัวผู้สูญหายกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของเรื่องการรับผิดชอบต่อความผิดด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแค่เรื่องของสองหมู่บ้านนี้เท่านั้นแต่รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่พวกกองทัพพม่าจับคุมขัง กลุ่มที่จัดแย้งกันจะต้องมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันไปให้มากกว่าแค่การเน้นพูดเรื่องกระบวนการสันติภาพในชาติเท่านั้น

การสู้รบระหว่างอาระกันอาร์มีกับทัตมะตอว์บรรเทาลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ย. 2563 และมีการหยุดยิงแบบไม่เป็นทางการเกิดขึ้น มีการพยายามเจรจาหารือ ชาวบ้านเปิดเผยว่าพวกเขายินดีกับการเจรจาหารือแต่ก็บอกว่า "เมื่อผู้ก่อเหตุลอยนวลไม่ต้องรับผิดเช่นนี้ มันก็ยากที่จะทำให้เกิดสันติภาพอย่างยั้งยืน"

โบออง หนึ่งในครอบครัวผู้สูญหายที่ลูกชายของเขาหายตัวไปบอกว่าถึงแม้การสู้รบจะหยุดลงได้สองเดือนแล้วแต่พวกเขาก็ยังไม่ได้ข่าวคราวจากชาวบ้านผู้ที่ถูกอุ้มหายจากทางการเลย นอกจากนี้มา-นเวย์ยังบอกว่าตัวเองนอนไม่หลับเป็นห่วงถึงความอยู่รอดและความปลอดภัยของเด็กๆ เธอไม่สามารถออกไปเก็บเกี่ยวผลผลิตได้และต้องใช้ชีวิตอยู่กับเงินช่วยเหลือด้านอาหารจำนวนเล็กน้อยคือ 15,000 จ๊าด (ราว 340 บาทต่อเดือน) เธอจะกลับบ้านก็กลับไม่ได้เพราะกลัวทหารที่ประจำการอยู่ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย

เรียบเรียงจาก :

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net