ก้าวไกลชี้ กมธ. ห้ามถ่ายทอดสดขัดข้อบังคับการประชุม ภาคประชาชนวอนสื่อจับตาการแก้ รธน.

22 ม.ค. 2564 ส.ส.ก้าวไกล ชี้ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ห้ามประชาชนถ่ายทอดสดการประชุมขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ให้การประชุมของรัฐสภาต้องเปิดเผยและถ่ายทอดสดให้ประชาชนติดตาม เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญประณามการกีดกันให้ประชาชนเป็นคนนอกในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรียกร้องสื่อมวลชนติดตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่า ธีรัจชัย พันธุมาศ และรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ) แถลงต่อสื่อมวลชนจากกรณีภาคประชาชนหลายกลุ่มร่วมติดตามการประชุม กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา แต่มีการปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากประชาชน นำไปสู่ผลของที่ประชุมกรรมาธิการในวันนี้ ที่มติกรรมาธิการเสียงข้างมาก ไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดสดจากในห้องประชุมกรรมาธิการ

ธีรัจชัยกล่าวว่า โดยส่วนตัว ในฐานะรองประธานกรรมาธิการคนที่ 3 ตนเป็นผู้เสนอให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกติกาของประเทศ ประชาชนควรจะมีสิทธิที่ได้รับรู้ในทุกขั้นตอนและรับรู้ถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของแต่ละฝ่ายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และหากจะมีการทำประชามติ ประชาชนจะได้รับรู้ว่าการทำประชามติเกิดขึ้นเเล้ว โดยในวันนี้ ทางเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญได้มีหนังสือมายังประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อขออนุญาตให้ประชาชนติดตามตลอดจนรับรู้ถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 9 ระบุว่าให้การประชุมของรัฐสภาต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย และถ่ายทอดสดเพื่อให้ประชาชนติดตาม ยกเว้นแต่จะมีการประชุมลับ

"กรณีการกระทำของคณะกรรมาธิการที่ไม่ให้มีการถ่ายถอดเช่นนี้ ถามว่าเป็นการให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึงหรือไม่ การที่เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญมาช่วยเสริม ช่วยถ่ายทอดเป็นเรื่องดี เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามในการถ่ายทอดสดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่เกิดขึ้นนำไปสู่การประชุมในวันนี้ โดยที่ประชุมมีได้มีการโหวต กรรมาธิการเสียงข้างมาก 20 เสียงไม่อนุญาต เสียงข้างน้อย 8 เสียงที่อนุญาต มติตรงนี้ชอบหรือไม่ เเละควรให้ประชาชน ได้ติดตามถ่ายทอดรับฟังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ธีรัจชัย กล่าว

ด้านรังสิมันต์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น สิ่งที่สังคมสงสัย คือ ตกลงคณะกรรมาธิการนี้กำลังทำอะไรกันเเน่ เราจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน หรือเราจะร่างให้ใครสืบทอดกันเเน่ ขออย่าทำให้บรรยากาศเเบบนั้นเกิดขึ้นอีก ซึ่งเเน่นอนตั้งเเต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ เราได้ข้อสรุปว่าไม่สามารถถ่ายทอดสดให้ประชาชน ด้วยความไม่สบายใจของ ส.ว. เเละ ส.ส.ซีกรัฐบาล ซึ่งน่าเสียดาย ภาคประชาชนอุตส่าห์มาช่วยประชาสัมพันธ์มาเผยเเพร่เเต่เราตัดโอกาสตรงนั้น เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ แต่กรรมาธิการที่เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. กลับพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป โดยการไม่ให้มีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์การประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

"ผมอยากให้ประชาชนตั้งคำถามว่า กรรมาธิการกำลังปิดหูปิดตาประชาชนหรือไม่ เเละกำลังทำอะไรกับประชาชน นี่ไม่ต่างอะไรเลยจากการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ผู้จัดทำร่างพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกวิถีทาง รัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาอย่างไร ใครพูดให้ความเห็นอะไรไว้ในการประชุม เรื่องเหล่านี้ประชาชนไม่มีส่วนได้รับรู้เลย และในอีกมุมหนึ่งพวกคุณก็ไม่ได้สำนึกเลยว่า แม้ ส.ว. จะไม่ได้มีที่มาจากประชาชน แต่เงินเดือนที่คุณได้ เบี้ยประชุมที่คุณรับ และที่สำคัญที่สุด คือ อำนาจที่คุณมี มันยังคงเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" รังสิมันต์ กล่าว

ขณะที่เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ประณามและคัดค้านการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยระบุว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นลักษณะการพิจารณาภายในกรรมาธิการ 45 คน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมส่งผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตย หรืออาจกลายเป็นเพียงการสืบทอดอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความพยายามผลักประชาชนให้กลายเป็นเพียงคนนอกของกระบวนการเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

นอกจากนี้ CALL ยังแสดงความหวังว่า คณะกรรมาธิการจะเปลี่ยนใจและพร้อมที่จะทำงานด้วยความโปร่งใสโดยไม่กลัวสายตาประชาชน และเรียกร้องให้สื่อมวลชนติดตามนำเสนอข้อมูลข่าวสารการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมิติที่ลึกและกว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดจนเชิญชวนประชาชนร่วมติดตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น เพราะอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องขึ้นอยู่กับประชาชน

เรียน ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย, กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม, และสื่อมวลชน

นับเนื่องจากที่ญัตติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเสนอแก้ไขในมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ มาตรา 15/1 เกี่ยวกับการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดสัดส่วนให้มาจาก พรรคร่วมรัฐบาล 17 คน, สมาชิกวุฒิสภา 15 คน และ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 คน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่และมีการประชุมมา 5 ครั้ง ก่อนที่จะมีการปิดการประชุมไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 และมีการงดประชุมอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนที่จะมาเริ่มการประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564

เครือข่ายภาคประชาชนพยายามติดตามข้อมูล รายละเอียด ประเด็น ข้ออภิปรายของกรรมาธิการฯ แต่ปรากฏว่าข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประชุมของกรรมาธิการฯ มีอยู่อย่างจำกัดทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ จำเป็นยิ่งที่จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลการประชุมได้เต็มที่ ที่ผ่านมาการประชุมของกรรมาธิการฯ มีการเผยแพร่โดยถ่ายทอดการประชุมผ่านจอโทรทัศน์ที่บริเวณหน้าห้องประชุม จึงชัดแจ้งแล้วว่าการประชุมดังกล่าวมิใช่การกระบวนการที่เป็นการปิดลับ และเพื่อเป็นการเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญจึงได้ดำเนินการถ่ายทอดสดการประชุมจากจอโทรทัศน์ที่หน้าห้องประชุมเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. โดยประมาณ โดยได้รับอนุญาตจากประธานกรรมาธิการฯ แต่เมื่อดำเนินการถ่ายทอดไประยะหนึ่ง มีการอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการถ่ายทอด มีความพยายามมาสั่งให้ผู้ที่ดำเนินการถ่ายทอดหยุดเป็นระยะจนกระทั่งมีการตัดสัญญาณถ่ายทอดที่หน้าห้องประชุมออกไปเมื่อมีการพักรับประทานอาหารกลางวัน และไม่มีการถ่ายทอดสัญญาณออกมาอีกเมือมีการประชุมต่อในช่วงบ่าย

วันที่ 22 มกราคม 2564 ซึ่งมีการนัดประชุมกรรมาธิการ ครั้งที่ 7 เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญได้ส่งหนังสือขออนุญาตดำเนินการถ่ายทอดสดจากสัญญาณโทรทัศน์หน้าห้องประชุมกรรมาธิการฯ ผลปรากฏว่ามีการลงมติด้วยคะแนน 20 ต่อ 8 ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการถ่ายทอด และเชิญผู้ปฏิบัติงานของเครือข่ายรณรงค์ออกมาจากอาคารรัฐสภา

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความจำเป็นที่ประชาชนจะได้ติดตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในการประชุมกรรมาธิการฯ ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินการในลักษณะที่เป็นการพิจารณาภายในกรรมาธิการ 45 คน เพราะผลพวงใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นี้ ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการประชาธิปไตย หรืออาจกลายเป็นเพียงการสืบทอดอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความพยายามผลักประชาชนให้กลายเป็นเพียงคนนอกของกระบวนการเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งเป็นองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนทั่วประเทศ ขอประนามการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรายังหวังว่าคณะกรรมาธิการจะเปลี่ยนใจและพร้อมที่จะทำงานด้วยความโปร่งใสโดยไม่กลัวสายตาประชาชน

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนได้ติดตามนำเสนอข้อมูลข่าวสารการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำเสนอข้อมูลต่อประชาชนด้วยมิติที่ลึกและกว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดจนเชิญชวนประชาชนร่วมติดตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นว่าเป็นกระบวนการที่อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องขึ้นอยู่กับประชาชน

เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

22 มกราคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท