'ราษฎร' เสนอตัดงบสถาบันกษัตริย์และกองทัพมาเยียวยาผลกระทบโควิด-19 และต้องเยียวยาเป็นเงินสดเท่านั้น

ประชาชนช่วยกันเรียกร้องเยียวยาโควิด-19 ให้ทั่วถึงทั้งที่สภาและกระทรวงการคลัง กลุ่ม "ราษฎร" เสนอตัดงบสถาบันกษัตริย์และกองทัพมาเติมเพื่อเยียวยาประชาชน และเรียกร้องให้การเยียวยาต้องจ่ายเป็นเงินสด เพราะการใช้ผ่านแอพสร้างปัญหาให้กับประชาชน

22 ม.ค.2564 เวลา 13.00 น. ภาณุพงศ์ จาดนอก กลุ่มราษฎรพร้อมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังร้องเรียนให้เกิดการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 อย่างทั่วถึงและตัดงบกองทัพและสถาบันกษัตริย์มาเพิ่มในการเยียวยาให้กับประชาชน หลังจากมาตรการของรัฐที่ผ่านมาไม่เคยช่วยประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ธนพร วิจันทร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อภาณุพงศ์เดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกระทรวงการคลังได้ปิดประตูทางเข้าเพื่อไม่ให้เขาเข้าไปได้

ภาณุพงศ์จึงได้เรียกร้องให้เปิดประตูเพราะตนมาเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น และหากไม่เปิดให้จะให้มวลชนที่มาด้วยเปิดเอง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พญาไท มาเจรจาและแจ้งว่าจะมีคนออกมารับหนังสือ ทางฝ่ายผู้ชุมนุมระบุว่าผู้รับต้องเป็นระดับบริหารเท่านั้น

จากนั้นภาณุพงศ์ได้อ่านจดหมายร้องเรียนที่นำมาด้วย โดยในข้อเรียกร้องระบุว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐและยังต้องแย่งกันลงทะเบียนเพื่อได้สิทธิจากโครงการสะท้อนความล้มเหลวของรัฐ และเสนอให้ตัดงบประมาณของกองทัพและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์มาใช้ในการเยียวยาเพิ่มเติม

ภาณุพงศ์กล่าวว่ามาตรการเยียวยาจ่ายเงิน 3,500 เพิ่มเป็น 3 เดือน โดยให้กับบุคคลตั้งแต่อายุ 18 ปี ขึ้นไป ซึ่งหากมีการตัดงบข้างต้นรวมกับงบประมาณคงเหลือจาก พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินก็จะเพียงพอ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับประชาชน 3 เดือนรวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์ด้วย และยังเรียกร้องให้มีการนำเข้าและกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและทันท่วงที

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน วิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐว่าที่ผ่านมาคนทำงานก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือรัฐบอกว่าให้ใช้ประกันสังคมทั้งที่เงินประกันสังคมเป็นเงินที่คนทำงานกับนายจ้างจ่ายเข้าไปเองแล้วยังต้องจ่ายภาษีด้วย แต่รัฐกลับไม่มีการเยียวยาให้

ธนพรกล่าวว่าทุกวันนี้คนที่ทำงานในโรงงานก็ยังอยู่กับมาตรา 33 แต่นายจ้างให้หยุดงานหรือให้ทำงานเพียง 2 วันหยุด 3 วัน จ่ายวันละ 300 กว่าบาทซึ่งไม่พอต่อการใช้ชีวิต รัฐบาลก็ประกาศศูนย์เลี้ยงเด็กทำให้ลูกหลานและค่าใช้จ่ายตกกลับมาที่ผู้ใช้แรงงาน

“กระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณที่เป็นภาษีของพวกเราให้ถ้วนหน้า ไม่ใช่ว่าเวลาเก็บภาษีบังคับให้จ่าย แต่เวลาเยียวยาเหมือนต้องชิงโชคกัน เล่นเกมกัน แล้วพวกเราก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้” ธนพรกล่าวและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณที่ไม่จำเป็นในการใช้ตอนนี้ให้นำมาเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้า

ธนพรยังวิจารณ์ที่รัฐให้ประชาชนจะรับเยียวยาต้องใช้ผ่านมือถือเท่านั้นว่า แสดงถึงความไม่เข้าใจของรัฐมนตรีที่พูด เพราะประชาชนจะไปหาซื้อได้อย่างไรเงินที่จะใช้ซื้อโทรศัพท์ก็ไม่มีการออกมาบอกให้ประชาชนต้องหาโทรศัพท์แสดงถึงความ ดังนั้นต้องจ่ายเงินเยียวยาเป็นเงินสดเท่านั้น

จากนั้นภาณุพงศ์ประกาศว่าจะให้เวลากระทรวงการคลังดำเนินการตามข้อเรียกร้องหากไม่มีอะไรคืบหน้าภายในศุกร์หน้า(29 ม.ค.2564) จะมาอีก

จดหมายเปิดผนึกจากราษฎรถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เรื่อง ขอให้ลดงบสถาบันกษัตริย์ และงบกองทัพเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามฉุกเฉิน

เนื่องด้วยปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ระลอกสองในประเทศ ก่อให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้พี่น้องประชาชนต้องประสบความทุกข์ยากอย่าง ใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับไม่สามารถช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้ว่า มีพี่น้องประชาชนจํานวนมากเข้าไม่ถึงเงินเยียวยาจากโครงการคนละครึ่งเฟสสอง ทั้งจากที่ไม่มีอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และจากที่ประชาชนต้องแย่งชิงกันลงทะเบียนรับสิทธิจากโครงการดังกล่าวจนสิทธิเต็มในเวลา ไม่ถึงห้านาที เหตุเหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้อตอกย้ำว่ามาตรการเยียวยาประชาชนของรัฐบาลล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น ราษฎรจึงขอเสนอแนะให้ท่านพิจารณาตัดลดงบประมาณที่สูงเกินความจําเป็น ไม่เหมาะสมแก่เวลา หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ เช่น งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีจํานวน 37,228 ล้านบาท และงบประมาณของกองทัพ ซึ่งมีจํานวน 223,467.7 ล้านบาท และนํามาใช้ดําเนินมาตรการ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนดังต่อไปนี้

1. เยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียม โดยให้รัฐเยียวยาประชาชนผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปด้วยเงิน รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 525,000 ล้านบาท หากตัดลดและโยกย้ายงบที่ไม่จําเป็นข้างต้นรวมกับงบประมาณที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.ให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ก็จะมีงบประมาณเพียงพอเยียวยาประชาชนได้อย่างถ้วนหน้า

2. นําเข้าและกระจายวัคซีนโควิด-19 แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และทันท่วงที และเป็นการ ควบคุมการแพร่กระจายของโรคและเสริมสร้างความมั่นใจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

3. ลดหรือช่วยอุดหนุนค่าครองชีพของประชาชน ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่า อินเทอร์เน็ต ค่าโดยสาร อย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน และสําหรับนักเรียน นักศึกษาจะต้องมีการลดค่าเล่าเรียน พร้อมทั้งช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ด้วย

ทั้งนี้ การบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนทั่วประเทศ ย่อมสําคัญกว่าการเทิดทูนพระเกียรติซึ่งไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการจัดซื้อซ่อมบํารุงอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงที่มิได้เกิดสงคราม จึงขอให้รัฐบาลตัดสินใจโดยยึดถือประโยชน์ของคนส่วนมากเป็นหลัก มิใช่เพื่อคนส่วนน้อยเพียงไม่กี่ตระกูล จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

ราษฎร

 นศ.รามฯ เลิกพิสูจน์ความจนเพื่อรับเยียวยา

ไอลอว์รายงานว่า เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มนักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยประมาณ 12 คน เดินทางมาถึงหน้ารัฐสภาเพื่อเข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภา ตามสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้บริเวณหน้าประตูใหญ่ทางเข้ารัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมดูแลพื้นที่ประมาณ 40 นาย

นักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรช่วยส่งเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อมาตรการเยียวยาจากสถานการณ์โควิด-19 ถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีตัวแทนร่วมเล่าถึงปัญหาปากท้องของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการออกนโยบายของรัฐบาล เช่น ผลกระทบต่อร้านค้า ร้านอาหาร ผับบาร์ และสถานบันเทิง, การเยียวยาในโครงการคนละครึ่ง, และโครงการไทยชนะ ผ่านแอปพลิเคชั่นที่ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่ขาดแคลนอุปกรณ์และเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

ประมาณ 10.40 น. มีกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนปัญหานโยบายเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง โดยการโปรยกระดาษจากกล่อง “สวัสดิการชิงโชค” จากนั้นตัวแทนผู้ชุมนุมได้เริ่มอ่านแถลงการณ์โดยมี 6 ข้อเรียกร้องที่จะยื่นต่อประธานสภาดังนี้

1. ต้องยกเลิกการพิสูจน์ความจน เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากวิกฤตโควิด-19

2. ประชาชนทุกสาขาอาชีพจะต้องได้รับการเยียวยาอย่างเสมอภาค และมีความรวดเร็วในการดำเนินการช่วยเหลือประชาชน

3. การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนต้องเป็นเงินสด ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้จ่าย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของแต่ละคน

4. รัฐบาลต้องพักหนี้ให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เพื่อการดำรงอยู่ของ "SME" สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงธุรกิจร้านอาหารและสถานบันเทิง เช่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ นักดนตรี และคนที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง

5. รัฐบาลต้องมีมาตรการให้กลุ่มทุนใหญ่อย่างธนาคารเอกชนต่างๆ รวมถึงธนาคารของรัฐพักหนี้ ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน

6. รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาจะต้องหยุดใช้งบประมาณของประเทศในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น  หยุดจัดซื้อจัดจ้างอาวุธ รถถัง รวมถึงการหยุดสร้างหนังรักชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้

หลังอ่านแถลงการณ์ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรออกมารับหนังสือจากกลุ่มนักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย โดยชี้แจงเหตุที่จัดสถานที่ให้ประชาชนมายื่นหนังสือด้านนอกบริเวณประตูทางเข้าแทนที่จะเป็นห้องรับรองด้านใน เนื่องจากต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมกล่าวว่า ประธานสภาเข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อน และขอบคุณผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนจะนำข้อเรียกร้องไปเสนอถึงประธานสภาได้รับทราบต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท