สุนัย ผาสุก: เสียชื่อ ไม่ถูกยอมรับ กสม. สอบตก ต้นทุนที่ไทยจ่ายเพื่อปราบม็อบ

สัมภาษณ์พิเศษสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ ทบทวนพันธะของไทยในเวทีสากลในเรื่องสิทธิมนุษยชน ตอบคำถาม ไทยเสียอะไรไปบ้างกับการปราบปรามการแสดงความเห็นและการชุมนุมด้วยการใช้ยาแรงอย่าง ม.112 และวิธีการนอกตำราอย่างการบังคับสูญหาย ในวันที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และอียู เริ่มตั้งคำถามกับการเมืองไทยมากขึ้น

  • สุนัยมองว่าการตอบโต้การชุมนุมโดยฝ่ายรัฐมีความเข้มข้นมากขึ้น ในทางกฎหมายสะท้อนจากการกลับมาใช้กฎหมายอาญามาตรา 112
  • ในทางวิธีการจับกุม คุมขัง ก็มีการนำตัวไปขังนอกพื้นที่ ไม่ให้ข้อมูลเรื่องที่คุมขัง ถือเป็นการบังคับสูญหาย แม้เพียงชั่วคราวก็ตาม
  • ไทยให้เจตจำนงกับเวทีนานาชาติว่าจะป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย แต่ยังไม่มีกฎหมายในประเทศที่จะทำให้การกระทำข้างต้นมีความผิด
  • การปราบการชุมนุมด้วยวิธีการที่รุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นจะทำให้ไทยถูกตั้งคำถามในเวทีนานาชาติ และมิตรประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนก็อาจใช้เรื่องดังกล่าวเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาความสัมพันธ์หรือเจรจาการค้าระหว่างกัน
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยทำงานภายใต้กรอบที่จำกัดอิสรภาพอย่างรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. กสม. ที่กำหนดให้ต้องแก้ต่างการตั้งคำถามในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้กับรัฐ ถ้าไม่ปฏิรูปอย่างเป็นระบบ ก็จะสอบตกในสายตานานาชาติอยู่ร่ำไป

การตอบโต้ของฝ่ายรัฐต่อการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและสถาบันกษัตริย์ไต่ระดับความหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากทั้งภาพการสลายการชุมนุม ภาพตำรวจเป็นร้อยรุมจับคนเขียนป้ายผ้า การดำเนินคดีด้วย ม.112 ที่เยอะขึ้นและตีความกว้างขึ้น และการควบคุมตัวแบบนอกตำราอย่างการนำไปคุมขังนอกพื้นที่เกิดเหตุอย่าง ตชด. 1 ปทุมธานี หรือการจับตัวไว้แบบไม่ให้ใครรู้ชะตากรรมชั่วคราวอย่างที่เกิดกับศิริชัย นาถึงหรือ ‘นิว มธ.’ และ ‘อาร์ท’ ทศเทพ ดวงเนตร การ์ดมวลชนอาสา

ความรุนแรงที่ไต่ระดับเช่นนี้ย่อมไม่พ้นการจับตามองการตื่นตัวขึ้นของประชาชนไทยแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน และในความเห็นของสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์และผู้สังเกตการณ์สถานการณ์สิทธิมนุยชนในไทยมายาวนาน เขามองว่าไทยกำลังทำตัวเป็นประเทศที่มือถือสาก ปากถือศีล และจะมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อความเป็นไปของไทยในอนาคตอันใกล้

ประชาไท: มองการเพิ่มขึ้นของการแจ้งความ ดำเนินคดี ม.112 ในไทยอย่างไร

สุนัย: ถ้ามองตั้งแต่ประยุทธ์ประกาศเมื่อกลางเดือน พ.ย. 2563 มาจนถึงปัจจุบัน คือกลางเดือน ม.ค. 2564 จำนวนคดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเข้มข้นก็หนักขึ้น ตอนสัปดาห์แรกยังจำได้ว่าอยู่ประมาณ 11-12 คดี ตอนนี้ล่าสุดมี 54 คดี ถือเป็นการเพิ่มที่สูงมาก เร็วมาก เข้มข้นมาก อาจจะมองได้ว่านี่เป็นเหมือนกับปฏิกิริยาของฝ่ายรัฐต่อสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประเด็นถูกขมวดมาอยู่ที่สถาบันกษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมประเด็นหลักก็จะเป็นเรื่องให้ประยุทธ์ลาออก เรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรื่องการยุติการคุกคาม และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

แต่พอเวลาทอดไปเรื่อยๆ ประยุทธ์ประกาศชัดเจนว่าไม่ลาออก รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าไม่ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ถูกตีตกไปแล้ว การคุกคามก็ไม่หยุดเสียที ประเด็นที่ถูกขับเคลื่อนต่อไปก็เหลือข้อเดียวคือเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การจะบอกว่าสถาบันต้องปฏิรูปก็ต้องอธิบายว่ามีปัญหาอย่างไร แต่พออธิบายก็ถูกดำเนินคดี แจ้งข้อกล่าวหา จับกุม

เห็นได้ว่าที่ผ่านมา มาตรการที่รัฐบาลใช้ไม่ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมตรงๆ ดื้อๆ หรือการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างการใช้ข้อหาชุมนุมผิดกฎหมาย ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หยุดการชุมนุมไม่ได้ มันก็เหลือยาแรงในกฎหมายไทยก็คือ ม.112 ซึ่งเป็นทั้งกฎหมายที่มีโทษแรงและน่าจะมีผลทางจิตวิทยา รวมถึงเป็นการตอบสนองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือการถูกท้าทายด้วยประเด็นสถาบันกษัตริย์ ก็สวนด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

คดีที่เกิดขึ้นมากมาย การจับกุมที่เกิดขึ้น ความแข็งกร้าวที่มีมากขึ้น มันเหมือนกับเป็นมาตรการสุดท้ายที่รัฐบาลพยายามจะเอามาใช้ แต่ถ้าให้ประเมินว่าเอาอยู่ไหม ผมประเมินว่าเอาไม่อยู่ เพราะถูกท้าทายยกระดับขึ้นไปอีก จากเดิมที่มีการชุมนุมปราศรัยก็มีการเขียนป้ายแทน เอาหุ่นศพจำลองมาแขวน ซึ่งไม่เคยเกิดอะไรแบบนี้มาก่อน การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ที่สมัยก่อนต้องกระทำอย่างระมัดระวัง แอบๆ พูดกัน ตอนนี้ก็ถูกทำให้เหมือนพูดในที่เปิดเผยได้ รัฐบาลที่พยายามเบรกก็กลายเป็นว่ายิ่งเบรกยิ่งถูกท้าทายเข้าไปอีก

กังวลว่าปฏิบัติการของรัฐจะบานปลายเป็นวิธีการนอกกฎหมายหรือไม่

อันนี้เป็นสิ่งที่เราเกรงว่าจะเกิดเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่พอเปิดมาปีใหม่ก็เจอเลย กรณีที่เกิดขึ้นกับนิวที่ สภ.คลองหลวง และอาร์ทที่ สภ.บางแก้ว เป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้เห็นแล้วว่ามีการใช้วิธีการนอกกฎหมายเกิดขึ้น อาจไม่ใช่วิธีการที่ใช้แบบยาวๆ แต่อย่างน้อยในห้วงเวลาที่เราไม่รู้ว่านิวอยู่ที่ไหน ที่ตำรวจไม่ยอมรับว่าเอาตัวเขาไปไว้ไหน ก็คือเกิดการบังคับสูญหายขึ้น แล้วพูดแบบง่ายๆ คือโกหกหน้าตายต่อหน้าเพื่อนๆ นิวที่ไปตามที่โรงพัก มีการไลฟ์สด ตำรวจก็ยังพูดว่าเอาตัวไปที่นู่นที่นี่

กรณีอาร์ทก็ทำนองเดียวกัน คือจับตัวไปแล้วไม่บอกว่าเป็นการจับตัวไป แต่บอกว่าชวนไปกินข้าว ซึ่งมันไม่ใช่ เหล่านี้เป็นสัญญาณมาแล้วว่าทางเจ้าหน้าที่เหมือนยกระดับมาตรการทางกฎหมายจนสุดเพดานฝั่งเจ้าหน้าที่คือ ม.112 ถือว่าสุดเพดานสำหรับสถาบันกษัตริย์ ก็เริ่มแสดงสัญญาณว่าพร้อมจะเดินออกนอกกรอบของกฎหมาย อย่างกรณีที่เราเห็นของนิวและอาร์ม นี่เป็นสัญญาณที่น่ากลัวมากๆ

ในระดับสากลมีทัศนคติกับการบังคับสูญหายอย่างไร

ประการที่หนึ่ง ไทยถือเป็นประเทศที่มีกรณีการบังคับสูญหายที่ถูกขึ้นบัญชีไว้โดยคณะทำงานของ UN (องค์การสหประชาชาติ) เป็นจำนวนมาก คดีเหล่านี้ก็ไม่ได้ถือว่ามีการคลี่คลายไปได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล ตอบไม่ได้ว่าคนที่ถูกบังคับสูญหายมีชะตากรรมเป็นอย่างไร เป็นตายร้ายดีอย่างไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำ ไม่ต้องไปพูดถึงว่าจะเอาคนที่ทำผิดมารับผิดได้

ประการที่สอง การที่ไทยไปลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการบังคับสูญหาย มันสะท้อนถึงการแสดงเจตจำนงว่าจะไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นต่อไป แต่เมื่อย้อนกลับไปดูข้อแรกก็ไม่เห็นคลี่คลายอะไรที่เป็นปัญหาค้างอยู่เลย ที่สำคัญก็คือการแสดงเจตจำนงจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการออกกฎหมายภายในแล้วให้สัตยาบัน ในกรณีการบังคับสูญหาย กฎหมายภายในของไทยซึ่งเป็นกฎหมายอาญาก็ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหาย ไม่มีการกำหนดบทลงโทษ กระบวนการการให้สัตยาบันกับสหประชาชาติก็ถือว่ายังไม่สมบูรณ์ การแสดงเจตจำนงที่ทำไว้ก็เหมือนพูดแต่ปาก แต่การกระทำไม่สอดรับกัน

ประเด็นการบังคับสูญหายถือเป็นอาชญากรรมที่ก่อโดยรัฐ แต่กรณีของไทยนั้น คดีค้างเก่าก็แก้ไม่ได้ กฎหมายก็ยังไม่แก้ สัตยาบันกับ UN ก็ยังไม่ทำ เจ้าหน้าที่ยังใช้วิธีการที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดการบังคับสูญหายต่อไปอย่างไม่หยุด เริ่มตั้งแต่การจับกุมคุมขังโดยพลการ การควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ที่ไม่เป็นที่คุมขังอย่างเป็นทางการ คือไม่คุมขังในโรงพักหรือเรือนจำ แต่ไปขังในค่ายทหาร ในเซฟเฮาส์ ที่ใหญ่ที่สุดจะเป็นกลุ่มใน 3 จ.ชายแดนใต้ รองลงมาคือการใช้กฎหมายต่อต้านยาเสพติด ซึ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสามารถคุมตัวไว้ในเซฟเฮาส์ได้

ถัดมาเป็นเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน ตอน คสช. เข้ามาปกครองก็มีการเอาตัวคนไปขังที่โน่นที่นี่โดยไม่บอกว่าขังไว้ที่ไหน พอมาในเงื่อนไขไม่นานมานี้ พอมีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่เอาคนไปขังไว้ที่ ตชด. ภาค 1 หรือในค่ายทหารได้ หลังสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงถูกยกเลิกไปแล้วก็ยังมีกรณีอย่างนิว มธ. ที่ถูกเอาตัวไปแล้วตำรวจ สภ.คลองหลวงไม่บอกว่าอยู่ที่ไหนตั้งหลายชั่วโมง แถมให้ข้อมูลหลอกว่าอยู่ที่ ตชด. ก็มีปัญหาว่าเอาตัวคนไปแล้วไม่บอกว่าอยู่ที่ไหน ช่วงที่ไม่บอกว่าอยู่ที่ไหน มันเกิดการบังคับสูญหายขึ้น

กรณีของอาร์ท ที่ สภ. บางแก้ว ก็คือทำนองเดียวกันคือจับตัวไปโดยที่ไม่ได้บอกใครเลยว่าอยู่ที่ไหน นั่นก็เป็นการบังคับสูญหายเกิดขึ้น

ที่ผ่านมามีการแสดงความกังวลจากนานาชาติเรื่องกระแสการบังคับสูญหายไหม

คณะทำงานสหประชาชาติได้รับการร้องเรียนเป็นระยะๆ และจำนวนกรณีที่อยู่กับคณะทำงานก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาก็มีการสื่อสารกลับไปที่รัฐบาลไทย พูดง่ายๆ คือไปตามเรื่องว่าถึงไหนแล้ว แต่คำตอบก็ไม่ได้มีอะไรเป็นมรรคเป็นผลที่สามารถตอบได้ว่ามีการคลี่คลายอย่างจริงจัง มีบางกรณีในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีการไปต่อรองกับครอบครัวว่าให้ถอนคำร้องเพื่อจะได้ลดตัวเลข นั่นก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ไม่ได้ตอบว่าใครทำอะไรถึงเกิดการบังคับสูญหายขึ้น เพียงแต่ไปกดดันครอบครัวว่าให้ถอนคำร้อง

ตอนนี้ก็มีกรณีใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างกรณีวันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) เมื่อปีที่แล้วที่หายไปแล้วหายไปยาว หรือกรณีที่หายไปชั่วคราวอย่างอาร์ท หรือนิว ทั้งหมดสะท้อนถึงแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในนโยบายที่มีปัญหาแต่ก็ยังไม่ยอมเลิกใช้สักที

หลังจากไทยถูกตรวจสอบในเวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติหรือ UPR ในรอบที่แล้ว ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานที่มีกระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งาน คณะทำงานในเรื่องการติดตาม ตรวจสอบกรณีการบังคับสูญหาย (และการซ้อมทรมาน) ก็ไม่ได้ไปตามคดีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ตั้งขึ้นมา ใครจะไปร้องก็ร้อง เรื่องก็คาอยู่อย่างนั้น คณะทำงานก็ถือเป็นเหมือนเจว็ด เหมือนเสือกระดาษ ไม่มีผลงานอะไรเป็นรูปธรรม กฎหมายก็ยังไม่ออกสักที ร่างกฎหมาย (ป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย) ที่อยู่ในสภาที่เป็นของรัฐบาลก็ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ร่างคู่ขนานของภาคประชาชนที่ดีกว่า แต่ก็ไม่เห็นโอกาสว่าร่างของภาคประชาชนจะชนะร่างที่รัฐบาลเสนอเข้าไปได้

เดิมที สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างฯ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. (ฉบับปรับปรุง) ในวันที่ 7 มี.ค. 2562 หลังจากถูกตีตกไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไข แต่ก็มีการถอนวาระออกไป เวลาล่วงเลยมาจนมีการเลือกตั้งทั่วไป ความเคลื่อนไหวสุดท้ายของร่างฯ พ.ร.บ. นี้ คือมีร่างฯ ของฉบับรัฐบาล และฉบับภาคประชาชนรอเข้าการพิจารณาในรัฐสภา แต่ก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าเป็นวาระ (ข้อมูลเมื่อ 22 ม.ค. 2564)

ถ้ามีการบังคับสูญหายเกิดขึ้น กลไกระหว่างประเทศจะช่วยได้แค่ไหน

กลไกระหว่างประเทศเป็นเหมือนช่องทางที่รองลงไป การบังคับสูญหายถือเป็นอาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เพราะมันมีผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นความตายของคน การตอบสนองต่อกรณีที่เกิดการบังคับสูญหาย หรือสงสัยว่าจะเกิดการบังคับสูญหายขึ้น มันต้องตอบสนองอย่างเร่งด่วน กรอบเวลาสำคัญคือ 24 ชั่วโมงแรกหลังจากที่รู้เรื่อง แต่กลไกระหว่างประเทศจะทำไม่ทันในส่วนนี้ เราถึงให้ความสำคัญที่ไทยจะมีกฎหมายที่จะบอกว่าการบังคับสูญหายมีความผิด มีบทลงโทษ มีการให้คำนิยามชัดเจน มีหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ชัดเจน

แต่พอกลไกในประเทศไม่มีมันก็เลยต้องพึ่งกันเอง ที่ผ่านมาพอมีใครทำท่าว่าจะถูกบังคับสูญหายก็จะมีครอบครัว มีพรรคพวกมาแจ้งองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศ แจ้งสื่อมวลชนแล้วก็ช่วยกันตามหา แต่นั่นไม่ใช่กลไกหรือช่องทางที่เป็นทางการ

กลไกระหว่างประเทศก็จะมีในลักษณะการรายงานของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของ UN มีการตรวจสอบตามวงรอบของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ซึ่งปีนี้ไทยก็ต้องไปชี้แจงอีกครั้งว่าคำถามที่ถามรอบที่แล้วแล้วที่ยังตอบไม่ได้ มันมีทิศทางเป็นอย่างไร รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ว่าจะชี้แจงอย่างไร

อีกด้านคือประเทศที่มีความสำคัญกับไทย มิตรประเทศที่มีความสำคัญกับไทย และเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนก็จะมีช่องทางแสดงความกังวลหรือจะนำเรื่องของสิทธิมนุษยชนต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินความสัมพันธ์ เช่น เรื่องการเจรจาการค้าเสรี เรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ การทำข้อตกลงก็อาจมีการตั้งเงื่อนไขว่าถ้าปัญหาสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างการบังคับสูญหายที่ในเวทีสากลถือเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เขาก็สามารถเอามาเป็นเงื่อนไขที่จะเจรจาต่อหรือพักการเจรจาไว้ จะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เขาก็เอามาใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาได้

Universal Periodic Review (UPR) หรือกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เป็นกลไกการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เป็นเจ้าภาพในการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทุก 4 ปี ไทยเข้ารับการประเมินครั้งล่าสุดในปี 2558 ไทยเข้าร่วมการทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2559 มีการพิจารณาในประเด็นการขยายอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในของทหาร การซ้อมทรมาน คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, การใช้โทษประหารชีวิต การบังคับให้บุคคลสูญหาย กฎอัยการศึก และสถานการณ์ชายแดนใต้ เป็นต้น

สืบเนื่องจากกระแสว่าอาจมีการสร้างสถานการณ์บังคับสูญหาย สังคมควรตื่นตัวอย่างไรกับเรื่องการบังคับสูญหาย

สังคมควรจะต้องตื่นตัวอย่างมากเพราะมันเป็นเรื่องความเป็นความตายของคน สิ่งที่เราเรียกว่าหน้าต่างสำคัญคือช่วง 24 ชั่วโมงแรก ฉะนั้นองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ถ้าได้รับแจ้งว่ามีการบังคับสูญหาย เราจะมีการตอบสนองทันที จะไปนิ่งนอนใจว่ามันคงแบตฯ หมดมั้ง ก็ไม่ได้ ต้องถือว่าชีวิตคนอยู่ในอันตราย ต้องมีการตอบสนองทันที และระหว่างที่ตอบสนองก็ต้องเช็คความถูกต้องของข้อมูลไปด้วยว่าไม่ได้ไปรับมาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่ต้องตอบสนองทันที นิ่งนอนใจไม่ได้

กรณีการจัดฉากมันก็มีเกิดขึ้น ประเทศไทยไม่ใช่ที่เดียว ครั้งนี้ก็คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย แต่ก็ไม่ได้ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนลดทอนความสำคัญในการตอบสนองต่อคำร้องเรื่องการบังคับสูญหาย เรายังคงตอบสนองต่อคำร้องเรื่องการบังคับสูญหายว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด และต้องช่วยติดตามหาจนกว่าจะเกิดอะไรขึ้น

แวดวงนานาชาติมองการใช้ ม. 112 ในไทยอย่างไรบ้าง

กรณี ม.112 อยู่ในความสนใจของนานาชาติมานานแล้ว จริงๆ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณเลยด้วยซ้ำว่า ม.112 ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง มีผลที่จะสร้างความหวาดกลัว ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก ในการแสดงความเห็น โทษของ ม.112 ก็ถูกมองว่าร้ายแรงเกินความจำเป็น ในอดีตที่ผ่านมามันเป็นเหมือนการกล่าวหาทางเดียว คือกล่าวหาแล้วแทบจะไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากการถูกลงโทษได้เลย

ในทางสากลก็ถือว่ากฎหมายอย่าง ม.112 มีผู้ชำนาญการพิเศษของ UN ให้ความเห็นไว้มากมายว่าไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การถือว่าบุคคล ที่รวมถึงกษัตริย์ด้วยจะต้องถูกตรวจสอบได้ เขาก็มีท่าทีแบบนี้มาโดยตลอด

แล้วพอในยุค คสช. ที่สถานการณ์เลวร้ายลงมาก การให้ความสนใจก็มีการยกระดับขึ้นมา มีการพูดในประเด็นเพิ่มเติมมาว่า การใช้กฎหมาย ม.112 ถ้าดูตามตัวบทก็สร้างความกังวลมากแล้วในทางสิทธิมนุษยชน แต่สมัย คสช. ได้วางบรรทัดฐานใหม่โดยตีความเกินตัวบทไปในการตั้งข้อหา จับกุม ดำเนินคดีกับคน และคนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีในสมัย คสช. มีวิธีการจับกุมที่เป็นปัญหา คือเหมือนจับกุมตามอำเภอใจ มีการเอาไปไว้ในค่ายทหาร ก็มีลักษณะแบบนั้นพ่วงเข้ามา

สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่การตรวจสอบอย่างเข้มข้นในเวที UPR ผลที่ตามมาก็คือไทยถูกตำหนิอย่างมาก นำไปสู่การตัดสินใจ ถ้าอ้างอิงตามคำพูดของประยุทธ์ที่พูดต่อสาธารณะว่าเป็นนโยบายที่มาจากทางพระราชวังให้หลีกเลี่ยงการใช้ ม.112 นั่นก็อาจจะเข้าใจได้ว่าเป็นการตอบสนองต่อเสียงวิจารณ์ที่นำไปสู่การตำหนิประเทศไทยอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศในเรื่องการใช้ ม.112 จนนำไปสู่การตัดสินใจบอกให้รัฐบาลและองคาพยพอื่นๆ หลีกเลี่ยงการใช้มาตรานี้ จึงไม่มีการใช้ ม.112 ทั้งในเรื่องการฟ้องร้อง ดำเนินคดี รวมถึงการพิพากษามาเกือบจะสามปี

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสามปีไม่ได้หมายความว่าการพูดในเชิงลบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จะสามารถกระทำได้ ก็ยังเป็นความผิดอยู่ เพียงแต่ไปใช้กฎหมายมาตราอื่นแทน คดีที่เคยถูกแจ้งความเข้าไปแบบที่เปิดด้วย ม.112 พอถึงชั้นศาล ชั้นอัยการก็กลายสภาพเป็นคดี ม.116 หรือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์แทน แต่พอมาถึงเดือน พ.ย. 2563 ประยุทธ์ก็ประกาศอย่างเปิดเผยอีกแล้วว่าจะกลับมาใช้ ม.112 อีกครั้งจากนั้นคดีที่อยู่ในศาลแล้วก็ได้ถูกตัดสินด้วย ม.112

พิพากษาจำคุก 'รุ่งศิลา' 4 ปี 6 เดือน ม.112 ยืนยันอุทธรณ์ต่อ

สถิติใหม่คดี 112 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอัญชัญ 87 ปี

ควบคู่กันไปกับการดำเนินคดีเราก็เห็นว่ามีการจับกุม การดำเนินคดีเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ HRW ได้ไปสอบถามกับตำรวจว่ามีการแจ้งความ ม.112 ไว้ร้อยกว่ากรณีแต่ว่าไม่ได้ดำเนินการอะไร แต่ตอนนี้เหมือนกับเขื่อนแตก พอประยุทธ์ประกาศเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ให้เอา ม.112 กลับมา ตอนนี้ก็เหมือนทะลักทลาย คือมีการจับกุม ดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง

ทางสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติก็แสดงความกังวลออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการแสดงการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทยที่ถูกปราบปรามทั้งมาตรการที่ใช้กำลังและไม่ใช้กำลัง ถือว่าอยู่ในการติดตามของนานาชาติ อีกอันคือ ก่อนที่โจ ไบเด้นขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เราเห็นปรากฎการณ์สำคัญมากๆ เลย คือวุฒิสมาชิกอาวุโสของพรรคเดโมแครตรวมกันเข้าชื่อเสนอญัตติเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตอนนี้สถานะของมันก็เป็นร่าง เพราะยังไม่มีการประชุม ส.ว. ก็รอให้ประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นมาจึงประชุม เชื่อว่ามติฉบับนี้น่าจะผ่าน เป็นการแสดงให้เห็นว่าอเมริกาเอง เริ่มจากฝ่ายนิติบัญญัติให้ความสนใจกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย และทั้งตัวไบเด้นและ รมว. ต่างประเทศก็ส่งสัญญาณมาล่วงหน้าว่าให้ความสำคัญกับค่านิยมสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย อเมริกาก็น่าจะกลับมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้นกว่าในสมัยทรัมป์ที่ไม่ดูดำดูดีในเรื่องนี้

มิตรประเทศอีกส่วนหนึ่งคืออียู ตอนนี้ก็มีการประชุมทั้งในระดับรัฐสภายุโรปและรัฐสภาของประเทศสมาชิกหลักๆ ของอียูอย่างเยอรมนีก็มีการพูดถึงสถานการณ์ของประเทศไทยบ่อยขึ้น และพูดแบบเจาะลึกลงไปในรายละเอียดมากขึ้น

มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกับบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อย่างไรบ้างภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้

จริงๆ กสม. ควรจะมีบทบาทมากกว่านี้มานานแล้ว ที่ผ่านมาจะเห็นบทบาทของ กสม. ในช่วงสั้นมากๆ คือก่อนที่จะมีการยกระดับเรื่องสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา ตอนนั้นเวลาลงพื้นที่ผมเจอเจ้าหน้าที่ กสม. ไปสังเกตการณ์การชุมนุม เวลาฝ่ายรัฐใช้กำลังหรือจับกุม กสม. ก็มีปฏิกิริยาออกมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีในช่วงสั้นๆ

แต่พอประเด็นถูกขมวดไปที่สถาบันกษัติย์ กสม. ก็เหมือนถอย จากท่าทีที่เคยไปตามอยู่ห่างๆ ตอนนี้ก็เหมือนถอย กลายเป็นหายไปอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นที่น่าผิดหวัง เราก็อยากเห็น กสม. ทำหน้าที่ตามอาณัติคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรก็ตามก็ต้องได้รับการใส่ใจ ตอนนี้เหมือนกำลังจะเปลี่ยนน้ำใน กสม. คือ กสม. ชุดเก่าที่จริงๆ หมดวาระไปนานแล้วก็มีการต่ออายุไปเรื่อยๆ กระบวนการคัดสรร กสม. ชุดใหม่ก็มีการคัดสรรกันมาแล้ว ก็เหลือแต่ชุดใหม่จะเข้ามาทำงานเต็มที่เมื่อไหร่

เมื่อเข้ามาทำงานเต็มที่ก็จะมีโจทย์ที่ต้องตอบเยอะแยะมากมาย เพราะจะเข้ามารับตำแหน่งท่ามกลางสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เขม็งเกลียวในทุกระดับทั้งในเรื่องการเมืองระดับชาติ เรื่องท้องถิ่น เรื่องทรัพยากร เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนก็มีปัญหาอีก เรื่องประเด็นด้านสิทธิสังคม วัฒนธรรมก็มี ดังนั้น กสม. ชุดใหม่ที่เข้ามา คำถามก็คือจะตอบปัญหาที่คั่งค้างสะสมเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

และก็ต้องอย่าลืมว่า กสม. จนกระทั่งถึงทุกวันนี้คือ กสม. ที่ถูกกลไกระหว่างประเทศของ UN ตีเกรดให้สอบตก ไม่ถึงมาตรฐานสากล นี่คือ กสม. ที่เข้ามาในสภาวะที่ไม่ถูกมาตรฐานสากลในเรื่องของกระบวนการคัดสรรกรรมการ คุณสมบัติของกรรมการ และความเป็นกลางในการทำหน้าที่ อย่าลืมว่า กสม. จะปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายสองอันคือรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. กสม. (พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ) ซึ่งทำลายความเป็นอิสระของ กสม. ไปด้วยการกำหนดให้ กสม. มีบทบาทเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลในการแก้ต่างถ้าหากถูกวิจารณ์จากนานาชาติหรือใครก็ตาม

ก็ถือเป็น กสม. ที่ทำงานภายใต้กรอบที่ไม่เป็นกลาง มีปัญหาทั้งโจทย์เยอะ คุณสมบัติตัวเองไม่ถึง กรอบกฎหมายก็จำกัดอิสรภาพในการทำงาน ก็ถือว่าไม่มีใครให้ความหวังว่า กสม. จะทำอะไรได้มากมายนอกจากจะเห็นการปรับปรุง ปฏิรูป กสม. ขนานใหญ่อย่างเป็นระบบที่ต้องไปถึงขั้นการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะหน้าที่ของ กสม. ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นหน้าที่ที่ไม่เป็นกลาง ก็ต้องไปแก้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่กันอย่างนี้ กสม. ก็แย่ต่อไป อาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

กสม. ต้องเริ่มอย่างไรจึงจะไปถึงมาตรฐานสากล

ถ้าจะไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าหากจะไม่มีการแก้ พ.ร.บ. กสม. ก็ยังไม่มีการประเมินเกรดให้ดีขึ้น ถ้าดูกระบวนการคัดสรร กสม. ชุดที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่ ก็เป็นกระบวนการคัดสรรภายใต้กรอบที่มีปัญหา เขาก็จะถือว่า กสม. ที่จะเข้ามารับตำแหน่งใหม่มีคุณสมบัติไม่ถึงอีก

นอกจากนี้ ถ้าดูความประพฤติที่ผ่านมาของ กสม. ชุดใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่แต่ละคน สมัยที่ยังมีตำแหน่งอย่างอื่นก็เป็นที่รับรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นพวก กปปส. นกหวีด เพราะฉะนั้นก็จะมีคำถามเดียวกันกับที่สมัย กสม. ในอดีตถูกปัดเกรดตกก็คือเป็นพวกเสื้อเหลือง ก็จะมีคำถามเรื่องความเป็นกลาง

มันกลายเป็นโจทย์ใหญ่มากที่ต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ แก้ พ.ร.บ. กสม. หลังจากนั้นก็เลือก กสม. ขึ้นมาใหม่ นั่นจึงจะเป็นโอกาสที่พอจะทำให้ กสม ได้รับการยกสถานะเข้าสู่มาตรฐานสากลอีกครั้งหนึ่ง ในสถานะปัจจุบัน เวลาเข้าร่วมในกลไกของ UN อยู่ได้ในสถานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น คือไปนั่งดู นั่งฟัง แต่ไม่มีสิทธิที่จะเสนอประเด็น เสนอความคิดเห็นหรือพูดอะไร

ข้อมูล ณ 22 ม.ค. 2563 จากเกรด A-C กสม. ไทย ได้เกรด B คือปฏิบัติตามหลักการปารีสบางส่วน (หลักการปารีสเป็นหลักการที่ระบุหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) โดยคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance for National Human Rights Institutions: GANHRI) ได้เลื่อนการพิจารณาการประเมินสถานะของ กสม. ไทยออกไปเป็นเวลา 18 เดือน หลัง กสม. ขอเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท