ประชาชนตูนีเซียถูกจับกว่าพันคน หลังเกิดจราจล 6 คืนติด

สำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์รายงานว่าที่ประเทศตูนีเซีย กองกำลังความมั่นคงเข้าจับกุมประชาชนกว่า 1,000 คน หลังเกิดเหตุการณ์จราจลเป็นเวลา 6 คืนติดต่อกัน หลายคนถูกจับกุมกระทั่งในบ้านของตัวเอง

ประเทศตูนีเซียซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาเหนือ เป็นต้นกำเนิดของการประท้วงอาหรับสปริงซึ่งนำไปสู่การโค่นล้มเผด็จการในโลกอาหรับหลายประเทศเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศตูนีเซียกำลังเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจที่เลวร้ายอยู่แล้วยิ่งซบเซา นอกจากนี้ ตูนีเซียยังเผชิญกับการจราจลโดยมีเยาวชนขว้างปาหินและระเบิดขวดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจตอบโต้ด้วยการใช้แก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ฝูงชน

จากข้อมูลขององค์กรสิทธิต่างๆ ระบุว่า ที่ประเทศตูนีเซีย กองกำลังความมั่นคงได้จับกุมประชาชนไปแล้วกว่า 1,000 คน หลังเกิดเหตุการณ์จราจลเป็นเวลา 6 คืนติดต่อกัน โดยนักกิจกรรมระบุว่า การจับกุมหลายครั้งเกิดขึ้นแบบตามอำเภอใจ หลายคนถูกจับกุมกระทั่งในบ้านของตัวเอง บางคนไม่ได้มีส่วนร่วมกับการประท้วงแม้แต่น้อย

คืนวันพุธที่ 20 ม.ค. 2564 นับว่าค่อนข้างสงบเมื่อเทียบกับคืนก่อนหน้านี้ แม้สื่อท้องถิ่นจะรายงานว่าเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในเมืองสำคัญอย่าง ซีดี บูซีด (Sidi Bouzid) ซึ่งเป็นแหล่งถือกำเนิดของขบวนการประชาธิปไตยและปรากฎการณ์อาหรับสปริงเมื่อ 10 ปีก่อน

เจ้าหน้าที่ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ม.ค. 2564 ว่า ได้จับกุมประชาชนไปแล้ว 600 ครั้ง และมีการจับกุมเพิ่มเติมอีก 70 ครั้งในช่วง 2 วันที่ผ่านมา แต่แนวร่วมกลุ่มต่างๆ ของตูนีเซียระบุว่า ตัวเลขการจับกุมที่พวกเขานับได้สูงกว่านั้นมาก

บาสเซ็ม ไทรฟี จากองค์กรสันนิบาตตูนีเซียเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุในงานแถลงข่าวร่วมในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า “มีประชาชนกว่า 1,000 คนถูกจับกุม” หลายกรณีผู้ถูกจับกุมเป็นเด็กและเยาวชน หลายคนถูกจับกุมในบ้านของตนเอง นอกจากนี้ “บางคนถูกจับกุมโดยไม่ได้เข้าร่วมกับการแสดงพลังต่าง ๆ”

นักกิจกรรมบางคนถูกจับกุมในข้อหาโพสต์ข้อความสนับสนุนการประท้วงบนเฟซบุ๊กและเว็บไซต์อื่นๆ ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 1 คน ที่อาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 ปี หากพบว่ามีความผิด

ทั้งนี้ ไทรฟี “ขอเรียกร้องให้ระบบกระบวนการยุติธรรมติดตามกรณีเหล่านี้อย่างใกล้ชิด” พร้อมกล่าวว่า “เราไม่สามารถแก้ไขวิกฤติได้ด้วยวิธีนี้ การทำแบบนี้มีแต่จะทำให้ความแตกแยกระหว่างรัฐบาลกับประชาชนร้าวลึกมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ กลุ่มองค์กรสิทธิ์ยังออกแถลงการณ์อีกฉบับ เรียกร้องให้ระบบตุลาการสืบสวนรายงานการละเมิดสิทธิต่างๆ โดยกองกำลังความมั่นคง และการรังแกผู้ถูกคุมขังและการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกคุมขัง ทั้งนี้ พวกเขาระบุว่า “การปฏิบัติการที่รุนแรงของฝ่ายความมั่นคง มีแต่จะทำให้วิกฤติการปฏิเสธรัฐครั้งนี้เลวร้ายลง”

ตั้งแต่คืนวันที่ 20 ม.ค. ถึงเช้าวันที่ 21 ม.ค. 2564 เกิดเหตุการณ์จราจลขึ้นในเมืองต่างๆ แม้การปะทะกันจะเบาบางลง เมื่อเทียบกับตอนที่กลุ่มประชาชนผู้โกรธแค้นจุดไฟเผายางเพื่อปิดถนนในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ที่เมืองสไบทลา (Sbeitla) ได้เกิดการปะทะกันหลังจากที่มีข่าวว่า ชายวัยหนุ่มคนหนึ่งเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ หลังถูกฟาดด้วยถังแก๊สน้ำตา

รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยออกมาปฏิเสธการเสียชีวิตของชายคนดังกล่าว ระบุว่า เขาถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองซูสส์ (Sousse) ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งแห่งหนึ่งของประเทศตูนีเซีย และรัฐบาลได้สั่งให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว

สาเหตุการประท้วงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ

สำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์รายงานต่อไปว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 10 ปีของการประท้วงอาหรับสปริง โดยเป็นวันที่ประธานาธิบดี ซีน อัลอาบิดีน บิน อะลี ต้องลงจากอำนาจและหนีออกนอกประเทศ หลังปกครองประเทศตูนีเซียมากว่า 23 ปี การประท้วงเริ่มจากการจุดไฟเผาตัวเองของคนขายผลไม้นามว่า โมฮัมเหม็ด บูอาซีซี ในเมืองซีดี บูซิด

สิบปีผ่านไป ชาวตูนีเซียกำลังโกรธแค้นขึ้นเรื่อย ๆ จากบริการของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ และชนชั้นนำทางการเมืองที่พบว่าปกครองประเทศแบบไม่เป็นโล้เป็นพาย และต้องเผชิญกับพิษเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว จีดีพีเศรษฐกิจของตูนีเซียลดลงถึงร้อยละ 9 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวัยรุ่นกว่า 1 ใน 3 ยังไม่มีงานทำ

สำนักข่าวอินเดียนเอ็กซ์เพรสรายงานข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของตูนีเซีย ระบุว่า ประชาชนกว่า 1 ใน 5 มีฐานะความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นระดับความยากจน อับเดอร์ราห์มาน ลาห์ดี ประธานเวทีอภิปรายเพื่อสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของตูนีเซียระบุว่าในแต่ละปีมีนักเรียนลาออกจากโรงเรียนถึง 100,000 คน และในจำนวนนี้มีเด็กถึง 12,000 คน ที่ย้ายไปอยู่ประเทศอื่นอย่างผิดกฎหมาย บางส่วนตกเป็นเหยื่อขององค์กรสุดโต่งที่รับเด็กเหล่านี้ไปชุบเลี้ยง

เนื่องจากรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศอยู่ในภาวะซบเซา ประชาชนจึงออกมาประท้วง โดยบางคนถือป้าย “การมีงานทำคือสิทธิ ไม่ใช่บุญคุณ” นอกจากนี้ ยังมีการขว้างปาหิน ระเบิดขวด การปล้นสะดมภ์ การทำลายข้าวของและปะทะกับตำรวจด้วย โดยการจราจลมักเกิดขึ้นในเขตยากจนและมีประชากรหนาแน่น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้อยู่อาศัยไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายของรัฐ

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดีคาอิส ไซเอ็ดและรัฐบาลของเขาเลือกใช้การปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยขอความช่วยเหลือจากกองทัพให้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีคาอิส ไซเอ็ด ยังพยายามเดินทางไปพูดคุยกับผู้ประท้วงด้วยตัวเองเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยเขาเตือนผู้ประท้วงว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจมีการกองกำลังอิสลามสุดโต่ง “ชักใยอยู่เบื้องหลัง”  เพื่อสร้างความวุ่นวายและทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอินเดียนเอ็กซ์เพรสก็ตั้งคำถามว่า ข้อสังเกตของประธานาธิบดียังไม่สามารถพิสูจน์ได้ เนื่องจาก คาอิส ไซเอ็ด ไม่ได้อยู่ในขบวนการอิสลามสุดโต่งดังกล่าว แต่เป็นนักการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวอิสลามสายกลางทั่วไป นอกจากนี้ ราเช็ด กานนูชี ผู้นำพรรคเอ็นนาดาห์ซึ่งวางอยู่บนหลักการของอิสลาม ก็ได้ออกมาประนามการปล้นสะดมภ์และการทำลายข้าวของต่าง ๆ แล้วเช่นกัน

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท