ผู้บริหาร WWF ยินดี สหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส

ประธานองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สหรัฐอเมริกากล่าวแสดงความยินดีต่อการรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 แห่งสหรัฐอเมริกาของนายโจ ไบเดน โดยมุ่งเน้นประเด็นนโยบายการนำสหรัฐอเมริกา กลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

23 ม.ค. 2564 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าในการทำงานวันแรกหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเสร็จสิ้น ประธานาธิบสหรัฐฯ คนที่ 46 ได้ลงนามคำสั่งบริหารหลายฉบับ รวมถึงคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสภาวะโลกร้อน และยังได้ยกเลิกคำสั่งของรัฐบาลชุดก่อนที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ

หนึ่งในการลงนามในคำสั่งของนายไบเดน รวมถึงการนำสหรัฐอเมริกากลับไปเข้าร่วมข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งมีการการเพิกถอนใบอนุญาตเช่าที่ดินสำหรับการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก (Arctic National Wildlife Refuge) รวมถึงการยกเลิกมาตรฐานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ

นายคาร์เตอร์ โรเบิร์ต ประธานและผู้บริหาร WWF สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์โดยมีใจความสำคัญดังนี้

“สหรัฐฯ กำลังกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวในวันแรกของการทำงานแล้วว่า ภาวะโลกร้อนเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติที่เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คณะทำงานของ ไบเดน-แฮร์ริส จะเข้ามาเปลี่ยนทิศทางนโยบายในยุคของทรัมป์ ซึ่งได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

สหรัฐอเมริกากำลังจะกลับมาในฐานะผู้นำโลกในการปกป้อง อากาศ น้ำ และระบบนิเวศที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ทั่วโลก WWF พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลไบเดน-แฮร์ริส เพื่อก้าวสู่เป้าหมายลดโลกร้อนภายในปี ค.ศ. 2030 และ ค.ศ. 2050 บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ และขับเคลื่อนประชาคมโลกให้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติ หากสหรัฐอเมริกายึดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สหรัฐอเมริกาจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดภายในประเทศ และปรับระเบียบโลกใหม่เพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมกับประเทศอื่นๆ ได้”  ผู้บริหาร WWF ประจำสหรัฐอเมริกากล่าว

 

ข้อตกลงปารีส

ข้อตกลงปารีส ถือเป็นปฏิญญาระดับโลกฉบับแรกที่ว่าด้วยความร่วมมือกันในการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ในปี ค.ศ.2015 กว่า 195 ประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปได้ร่วมลงนาม เพื่อช่วยกันควบคุมทุกกิจกรรม ที่จะชะลอการเพิ่มขึ้นขออุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และปรับลดลงมา ไม่ให้เกิด 1.5 องศาเซลเซียส

ข้อตกลงปารีสถือเป็นความพยายามครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ในอดีต แต่ละประเทศได้กำหนดเป้าหมายของตนเองในรูปแบบที่แตกต่างกัน รวมถึงกิจกรรมที่แตกต่างกันในการลดสภาวะเรือนกระจก และสภาวะโลกร้อน นอกจากนั้น หลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล องค์กรเอกชน หรือภาคประชาชนต่างตระหนักว่า กิจกรรมเพื่อยับยั้งสภาวะโลกร้อนเหล่านี้ ต่างนำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมมหาศาลในอนาคต รวมถึงประชาคมโลกจะสามารถส่งต่อโลกแห่งอนาคตที่มีความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้กับคนรุ่นหลังได้

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF สำนักงานประเทศไทย ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์มาอย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และ WWF ถือเป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงานด้าน การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุล และยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของ WWF เพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท