Skip to main content
sharethis

“หนังไทยก็คือหนังไทย” นิยามสั้นๆ จากกลุ่ม Filmocracy คนรุ่นใหม่ที่ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลางสะท้อนปัญหาประชาธิปไตยแบบไทยๆ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกผ่านมุมมองที่สวยงามของศิลปะ 

กระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ตั้งแต่กลุ่มเยาวชนปลดแอก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ไปจนถึงคณะราษฎร ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวทางการเมือง รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยให้คนในสังคมไทยรอบปีที่ผ่านมาเกิดภาพการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอันพึงมีตามระบอบประชาธิปไตยจากกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทั้งกลุ่มนักเรียนเลว กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มอาชีพอิสระ ไปจนถึงกลุ่มคนที่ทำงานในวงการภาพยนตร์ ที่มารวมตัวในนามกลุ่ม ‘Filmocracy’ หรือกลุ่มเด็กฟิล์มจบใหม่ที่ขอใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลางในการเรียกร้องประชาธิปไตย

ณัฐวร สุริยสาร หรือตั้ม กับ นวพล พืชผลทรัพย์ หรือคิง ตัวแทนจากกลุ่ม Filmocracy ทำความเข้าใจมุมมองที่ว่าประชาธิปไตยกับวงการภาพยนตร์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ปัญหาของวงการภาพยนตร์ไทย สิ่งที่อยากเห็นในวงการภาพยนตร์ไทยในอนาคต รวมถึงมุมมองของกลุ่มต่อประเด็นหนังรักชาติ 30 ล้านในกองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย จนถึงหนังรักชาติฉบับ Filmocracy ควรเป็นอย่างไร

สำหรับที่มาของ Filmocracy ตัวแทนจากกลุ่มอธิบายว่า เกิดจากนักศึกษาสาขาวิชาภาพยนตร์ หรือที่เรียกกันว่า ‘เด็กฟิล์ม’ ที่เพิ่งเรียนจบจากหลายมหาวิทยาลัยมารวมกลุ่มกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิให้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่ต้องการปลดแอกปัญหาในวงการภาพยนตร์ไทย

“เหตุผลที่ตัดสินใจรวมตัวจัดตั้งกลุ่ม Filmocracy ขึ้น ประการแรก คือ หลังเหตุการณ์ที่กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นสภาพการเป็น ส.ส. เพราะถือครองหุ้นสื่อ แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้ขับเคลื่อนประเด็นนี้ในฐานะกลุ่ม Filmocracy แต่ทำในนามกลุ่ม ‘มุ่งมั่น นำร่อง สังคม’ ซึ่งเป็นเครือข่ายนักศึกษาสาขาวิชาภาพยนตร์จากทุกมหาวิทยาลัยที่ทำกิจกรรมร่วมกันอยู่แล้ว โดยเราออกแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจกอล์ฟ รวมถึงตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่มีความซับซ้อน คำนิยามที่กำกวม เช่น ภาพยนตร์ถือเป็นสื่อหรือเปล่า

ประการที่สอง คือ เราต้องการระดมทุนทำหนังด้วยวิธีการ Crowdfunding หรือการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จากคนทั่วไปในจำนวนคนละไม่มาก เพื่อสนับสนุนกิจกรรม โครงการ หรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น โดยผู้ขอระดมทุนจะต้องเสนอแผนงานที่ชัดเจนผ่านแพลตฟอร์มเพื่อให้คนที่สนใจมาร่วมสมทบทุน การระดมทุนแบบ Crowdfunding เป็นวิธีที่ถูกต้อง โปร่งใส่ สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินถูกนำไปใช้อะไรบ้าง งานดำเนินไปถึงขั้นตอนไหน ถ้าใครสมทบทุนเข้ามามากเราอาจมอบของสมนาคุณตอบแทน เช่น ใส่ชื่อในเครดิตตอนท้าย หรือยกให้เป็นผู้อำนวยการผลิต (Executive Producer) ไปเลย

เราเลือกใช้วิธีนี้เพราะเห็นว่าโครงการนายทุนในฝันของผู้กำกับคนหนึ่งที่อยากระดมทุนทำหนังเกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องเท่าไร เพราะการขอรับบริจาคเงินโดยไม่ชี้แจงขั้นตอนกระบวนการทำหนังถือว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้บริจาคและคนดู แต่แม้จะมั่นใจว่าเรามีศักยภาพมากพอที่จะผลิตหนังได้เอง แต่คงต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อมั่นให้คนมาร่วมสมทบทุนกับเรา ก็เลยชวนเพื่อนเด็กฟิล์มจบใหม่คนอื่นๆ มารวมกลุ่มกันในฐานะนักกิจกรรมไปก่อน โดยใช้ชื่อว่ากลุ่ม Filmocracy”

แถลงการณ์ของกลุ่มมุ่งมั่น นำร่อง สังคม เมื่อวันที่ 2 พ.ย.63 

ประชาธิปไตยกับวงการภาพยนตร์เกี่ยวข้องกันอย่างไร

“เคยมีคนทำหนังคนหนึ่งพูดว่า ‘กระบวนการทำหนังไม่ใช่ประชาธิปไตย มันมีความเป็นเผด็จการสูง’ แต่จริงๆ แล้วหนังมันมีส่วนในการสะท้อนปัญหาและสะท้อนสังคม การเมือง สิทธิเสรีภาพ รวมถึงวัฒนธรรม ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะเห็นว่าหนังเป็นแค่ความบันเทิงอย่างหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้ว หนังมันถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาจากมนุษย์ มันสะท้อนอะไรบางอย่างของมนุษย์ออกมา ซึ่งข้ามจากความบันเทิงไปเป็นการส่งสารบางอย่างให้ผู้คนไปแล้ว เรียกว่าคนสร้างหนัง หนังก็สร้างคน

คนบางคนเห็นว่าหนังเป็นเรื่องของการค้าการพาณิชย์ บางคนก็เห็นหนังเป็นผืนผ้าใบสำหรับวาดรูปเพื่อเอาจินตนาการของตัวเองใส่เข้าไปในนั้น”

ปัญหาของวงการภาพยนตร์ไทยที่อยากให้ ‘ปลดแอก’

ตั้มบอกว่าปัญหาในวงการภาพยนตร์ไทยมีหลายอย่างที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งทางกลุ่มคิดว่ามีปัญหา 3 จุดที่ต้องเร่งแก้ เพื่อผลักดันให้วงการภาพยนตร์ไทยก้าวต่อไปได้

ณัฐวร สุริยสาร (ตั้ม)

“อย่างแรกคือเรื่องกฎหมายเซนเซอร์ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่ข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดเรตติ้ง ซึ่งเราสนับสนุนนะ แต่เมื่อมีการจัดเรตติ้งแล้ว กลับยังพบว่าหนังบางเรื่องหรือเนื้อหาบางอย่างที่ถูกห้ามฉายในราชอาณาจักรไทย กรณีล่าสุด คือ หนังเรื่อง ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard)’ ของกอล์ฟ ธัญญ์วาริน ซึ่งถูกห้ามฉายด้วยเหตุผลที่ว่า หนังเรื่องนี้ไม่ถูกต้องตามศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าไม่ตัดฉากร่วมเพศออกไป หนังก็จะไม่ได้ฉาย ซึ่งเรารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง

การเซนเซอร์มันคือปกปิดบางสิ่งบางอย่างที่ศิลปินต้องการจะสื่อ งานชิ้นหนึ่งคือเขาต้องการที่จะส่งข้อความอะไรบางอย่างให้คนดู การไปตัดนั่นตัดนี่ หรือเซนเซอร์เนื้อหา มันทำให้สารที่ศิลปินต้องการจะสื่อมันไม่ถูกส่งออกไปอย่างเต็มที่ ไหนจะเรื่องในเชิงพาณิชย์ เม็ดเงินที่ผู้ผลิตหนังต้องเสียไปเพราะถูกห้ามฉาย มันกลายเป็นงบประมาณที่เสียเปล่ามาก ๆ หรือแม้แต่ในโครงสร้างที่มันใหญ่ขึ้น ในระดับผู้ประกอบการหรือคนทำงานศิลปะด้านอื่น ๆ ก็ต้องเซนเซอร์ตัวเองมากขึ้น เพราะเห็นว่าในเมื่อทำสิ่งนี้ไม่ได้ แล้วจะลงทุนไปทำไม ไม่ทำดีกว่า สุดท้ายก็จะส่งผลต่อสังคม เพราะประเด็นบางอย่างควรก้าวต่อไปได้ แต่กลับไม่ก้าวไปไหน

เมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศที่วงการหนังเติบโต พบว่าเขาใช้ระบบการจัดเรตติ้งอย่างเดียว ไม่มีการห้ามฉาย ซึ่งเหมือนเป็นการจัดเรตติ้งในตัวเอง เช่น ถ้าเป็นหนังเรตอาร์ ก็ต้องจัดฉายในพื้นที่เฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีวุฒิภาวะไม่เพียงพอเข้าชม คือในที่สุดแล้ว ถ้าแบ่งโซนให้หนังแต่ละประเภทมีพื้นที่ของมันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห้ามฉายอีกต่อไป เราเชื่อว่าไม่มีประเด็นไหนที่เราพูดไม่ได้ ยิ่งประเด็นที่พูดไม่ได้เรายิ่งต้องพูด เพราะแสดงว่าเรื่องนั้นต้องการหนทางแก้ไขปัญหาจริง ๆ ถ้าไม่พูด ปัญหาก็ยิ่งคาราคาซัง นอกจากนี้ ทางกลุ่มอยากให้แก้ไขกฎหมายการถือครองหุ้นสื่อที่มีความไม่ชัดเจน ว่าจริงๆ แล้วคำนิยามของสื่อคืออะไรกันแน่ และถึงแม้จะถอนหุ้นออกไปแล้วก็ยังถูกตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส. อยู่ ซึ่งกลุ่ม Filmocracy มองว่า ส.ส. ควรเป็นตัวแทนจากคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายอาชีพ”

“อย่างที่สอง คือ เรื่องระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ เราต้องการให้รัฐสนับสนุนคนในวงการภาพยนตร์ โดยกลุ่มเราเรียกร้องให้รัฐแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ รัฐต้องสนับสนุนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเดินหน้าต่อไปได้ เช่น จำกัดโควตาให้โรงภาพยนตร์ฉายหนังไทย หรือหนังอิสระ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเพียงพอ ไม่ใช่ทำหนังในประเด็นที่รัฐพอใจจะให้พูดเท่านั้น”

“ข้อสุดท้าย เราอยากให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพภาพยนตร์ เพราะการทำหนังไม่นับว่าเป็นอาชีพ ยังไม่ถูกบรรจุไว้ในระบบว่าเป็นแรงงาน ต้องลงไว้ว่าเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีอาชีพผู้ผลิตภาพยนตร์ ซึ่งทำให้สิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ควรจะได้มันไม่ครอบคลุม เช่น ค่าแรง หรือประกันสุขภาพ ยิ่งถ้ารับงานแบบฟรีแลนซ์ ไม่สังกัดบริษัท มันจะลำบากมากๆ

จากประสบการณ์ที่เราเคยทำงานในกองถ่ายระดับมืออาชีพ เรารู้สึกว่าแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใช้ร่างกายเปลืองมาก ทั้งทำงานเกินเวลาบ้าง ทำหลายงานต่อ ๆ กัน หรือทำงานที่มีความเสี่ยงสูง อันตรายถึงชีวิต ซึ่งคนที่ทำให้งานเบื้องหลังในวงการนี้ตายจากการทำงานเยอะมาก และหวังว่ากลุ่มคนทำหนังจะมีโอกาสได้เรียกร้องการถือครองลิขสิทธิ์ในผลงานของตัวเองที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น”

คิง เสริมต่อว่า “อยากให้หนังไทยมีพื้นที่ฉายมากขึ้น โดยเฉพาะหนังทุนอิสระหรือหนังที่มาจากค่ายเล็ก ๆ มักไม่มีรอบฉาย เพราะเจ้าของโรงหนังเห็นว่าไม่คุ้มทุน หนังหลายเรื่องจึงมีรอบฉายเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถือเป็นการตัดโอกาสการเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ของคนต่างจังหวัด กลายเป็นว่าคนดูและคนทำหนังต้องเช่าเหมาโรงเพื่อฉายหนังเรื่องนั้นแทน”

นวพล พืชผลทรัพย์ (คิง)

มุมมองของกลุ่มต่อประเด็นหนังรักชาติ 30 ล้านในกองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย

ตั้ม เผยว่า “ทางกลุ่มเห็นตรงกันว่าไทยทำหนังรักชาติมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว เราจะแก้ปัญหาใหม่ด้วยวิธีการเดิมอีกแล้วหรือ ยิ่งพอเห็นว่าเป็นหนังรักชาติจากภาครัฐ คนก็ยิ่งไม่เอา อยากให้ก้าวพ้นเรื่องแนวนี้ไปจะดีกว่า”

ด้าน คิง กล่าวเสริมว่า “จริง ๆ ทุนพวกนี้มีมานานแล้ว แต่ความน่าเชื่อเถือของรัฐบาลนี้ทำให้มีเสียงต่อต้านหรือตั้งคำถามค่อนข้างมาก คนทำหนังไม่ไว้วางใจที่จะผลิต คนดูก็ไม่วางใจที่จะดู หรือคำว่า ‘สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์’ คำนิยามคืออะไร ปลอดภัยคืออะไร สร้างสรรค์คืออะไร”

หนังรักชาติฉบับ Filmocracy

เมื่อพูดถึงหนังรักชาติฉบับ Filmocracy ตั้มมองว่า “หนังรักชาติ คือ หนังที่กล้าพูดปัญหาอะไรบางอย่างออกมา เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่านี่คือปัญหาที่เรา ในฐานะประชาชนกำลังเผชิญอยู่ และจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เราอยากทำหนังรักชาติที่พูดถึงมุมมองของคนในแต่ละพื้นที่ในประเทศนี้ เพราะประเทศเรามีคนหลายเชื้อชาติ หลากชาติพันธุ์ ซึ่งปัญหาที่พวกเขาเจอในแต่ละพื้นที่มันแตกต่างกัน แต่ล้วนอยู่ภายใต้กรอบเดียวกันคือไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย แม้แต่รัฐก็ไม่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วย หรือจงใจไม่ช่วยคนเหล่านี้”

ส่วน คิง มองว่าสำหรับตนในอดีตอาจจะตอบได้ง่ายกว่านี้ แต่ในปัจจุบัน คอนเซ็ปต์ของหนังรักชาตินั้นตอบได้ยาก ความเป็นชาติทุกวันนี้เริ่มแบ่งแยกกันไม่ได้

“พอเรามองคนเป็นคนมากขึ้น เราจะไม่สามารถไปตีตราว่าคนนี้เป็นคนไทย คนนี้ไม่ใช่คนไทย จนถึงตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าหนังรักชาติคืออะไรกันแน่ (หัวเราะ) แต่ถ้าต้องทำหนังรักชาติจริง ๆ สำหรับตนคงนิยามว่าเป็นหนังที่คนไทยทำ คนไทยเล่น คนไทยดู เราคิดว่าแค่มีชื่อของคนไทยอยู่ในหนัง ก็ถือว่าเป็นหนังของคนไทยแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีฉากทหารสู้รบกู้ชาติ หรือมีนักเรียนรำไทย แบบนั้นมันเก่าไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Parasite (ชนชั้นปรสิต) เป็นหนังเกาหลีที่ไม่มีใครใส่ชุดฮันบก (ชุดประจำชาติ) การที่ชาวต่างชาติหรือคนจากทั่วโลกมองเห็นว่าไทยมีผู้กำกับเก่ง ๆ ก็ถือว่าเพียงพอแล้วกับการเสนอความเป็นไทย”

สิ่งที่อยากเห็นในวงการภาพยนตร์ไทยในอนาคต

ตั้ม เผยว่า “อยากเห็นอิสระของคนทำหนังที่มีสิทธิเสนอเนื้อหาอะไรก็ได้ ถ้าลองมองข้ามรูปแบบการนำเสนอไปจะเห็นสารที่ต้องการจะสื่อจริง ๆ ซ่อนอยู่ หนังไม่สมควรถูกแบนเพราะวิธีการเล่าเรื่องผ่านรูปแบบหนัง ไม่ว่าเราจะพูดแบบไหน สุดท้ายแล้ว คนทำหนังก็อยากให้ปัญหานี้ถูกคลี่คลายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะหนังคือสื่อสะท้อนเรื่องราวทั้งแง่ที่บวกและแง่ลบ ถ้าเราสามารถพูดผ่านหนังได้ทุกเรื่อง วงการหนังบ้านเราจะมีความสวยงาม และไม่ติดอยู่ในกรอบที่รัฐพยายามทำให้เป็นมากเกินไป

เราเชื่อว่าคนทำหนังไทยมีศักยภาพมากพอ แต่ติดปัญหาที่มุมมองของรัฐหรือนายทุนที่จะให้เงินมาทำหนัง วงการนี้มันขับเคลื่อนด้วยเงินจริงๆ (หัวเราะ) ถ้าคนทำหนังได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ได้ทำในศักยภาพที่ตัวเองทำได้ มีค่าแรง มีสวัสดิการที่คุ้มกับการลงทุนลงแรงในหนังสักเรื่อง นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นในฐานะคนทำหนัง ส่วนในฐานะคนดู เราอยากเห็นคนดูเปิดรับและสนุกกับหนังหลากหลายประเภทมากขึ้น และอยากให้มั่นใจในคุณภาพหนังไทย เพราะหนังไทยไม่ได้แย่ไปทั้งหมด”

“เราอยากเห็นหนังไทยมีโอกาสกระจายหนังไปสู่ผู้คนจำนวนมากในทุกพื้นที่ เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อกึ่งสาระกึ่งบันเทิงที่มีองค์ประกอบของหลายศาสตร์เลยสามารถสร้างทั้งข้อมูลและความรู้สึกไปพร้อมๆ กัน หนังมีทั้งภาพ เสียง หรือคำบรรยายต่างๆ ซึ่งเอื้อให้คนทุกเข้าถึงได้ เราควรมองหนังให้เป็นหนัง การจะแบ่งว่าอะไรคือหนังกระแส หนังอินดี้ มันอยู่ที่ทุน ไม่ใช่วิธีการเล่าเรื่อง หนังไทยก็คือหนังไทย” คิง กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net