เมื่อ 'บ้าน' เต็มไปด้วยโรคระบาด : บทเรียน-ปรับตัวฝ่า COVID-19 ของคนไร้บ้านเชียงใหม่

เมื่อพื้นที่ที่เรียกว่า “บ้าน” เต็มไปด้วยโรคระบาด บทเรียนและการปรับตัวฝ่าวิกฤต COVID-19 ของคนไร้บ้านเชียงใหม่

  • บ้านเตื่อมฝันของคนไร้บ้านเชียงใหม่กับหน้าที่ใหม่ในการพาคนไร้บ้านฝ่าวิกฤต COVID-19
  • ปรากฏการณ์จากคนไร้บ้าน สู่ คนจนเมืองในระลอกแรก
  • นักโทษพ้นคุกไร้บ้านและคนชราไร้ที่พึ่ง โจทย์ใหม่ของบ้านเตื่อมฝันใน COVID-19 ระลอกสอง

คนไร้บ้านเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เนื่องจากพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นบ้านของพวกเขากลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคและโรคระบาดที่ทั้งโลกยังไม่อาจควบคุมได้ คนที่ไม่สามารถ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ได้ตามมาตรการรัฐอย่างคนไร้บ้านจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากกว่าคนมีบ้าน

บ้านเตื่อมฝันของคนไร้บ้านเชียงใหม่

บ้านเตื่อมฝันเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านของจังหวัดเชียงใหม่ที่ตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2561 โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลังคนไร้บ้านในเชียงใหม่ได้เริ่มมีการรวมตัวกันเมื่อพ.ศ. 2551 โดยมีตัวแทนจากกลุ่มคนไร้บ้านในเครือข่ายสลัม 4 ภาค และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยทำหน้าที่สำรวจและพูดคุยกับคนไร้บ้านในพื้นที่ ก่อนจะมีการตั้งกลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยใช้พื้นที่ลานข่วงประตูท่าแพเป็นที่รวมตัวกัน

หลังจากที่มีการรวมกลุ่มกันคนไร้บ้านเชียงใหม่ได้ขยับมาสู่การหาพื้นที่ของตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่การทดลองอยู่ร่วมกันในโรงแรมร้างย่านช้างม่อยเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งคนไร้บ้านเชียงใหม่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในโรงแรมร้างนานเกือบปี ก่อนที่ พอช. จะเข้ามาช่วยในเรื่องการจัดหาสถานที่สร้างศูนย์คนไร้บ้าน กว่าที่จะมีบ้านเตื่อมฝันเป็นศูนย์คนไร้บ้านอย่างเป็นทางการ คนไร้บ้านเชียงใหม่ได้ย้ายมาแล้วหลายสถานที่ด้วยกัน พ.ศ.2553 คนไร้บ้านเชียงใหม่ได้เช่าอาคารพาณิชย์บริเวณลอยเคราะห์ตั้งเป็นศูนย์คนไร้บ้านแห่งแรก โดยมี พอช. เป็นผู้สนับสนุนเรื่องค่าเช่า หลังหมดสัญญาเช่าในปี 2556 คนไร้บ้านได้ย้ายไปเช่าอาคารพาณิชย์บริเวณแจ่งศรีภูมิแทน จนกระทั่งปี 2559 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ตกลงให้สร้างศูนย์คนไร้บ้านนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดด้วยกัน คือ กรุงเทพ ขอนแก่น และเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยให้แก่คนไร้บ้าน และทำให้คนไร้บ้านมีพื้นที่ในการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของตนเอง

นอกจากบ้านเตื่อมฝันจะทำหน้าที่หลักในการเป็นที่พักอาศัยให้แก่คนไร้บ้านเชียงใหม่แล้ว ภายในศูนย์ยังมีการสร้างระบบกองทุนสวัสดิการให้แก่คนไร้บ้านอีกด้วย โดยคนไร้บ้านที่ส่งเงินเข้ากองทุนสวัสดิการเดือนละ 60 บาท จะมีสิทธิได้รับการดูแลครอบคลุมในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย กล่าวคือ

  • ลูกของคนไร้บ้านเกิดมาจะได้รับเงินค่าทำขวัญ
  • คนแก่จะได้เงินผู้สูงอายุจากศูนย์เดือนละ 100 บาท
  • คนพิการทุพพลภาพกึ่งติดเตียงจะรับได้เงินดูแลเดือนละ 300 บาท  
  • สิทธิรักษาพยายาบาลสำหรับคนไร้บ้าน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และค่าเดินทางไปหาหมอได้ เช่นในการไปหาหมอ 1 ครั้ง คนไร้บ้านในศูนย์จะได้รับเงินค่าเดินทางไป – กลับครั้งละ 150 บาท และใครที่เสียเงินค่ารักษาตามสิทธิบัตรทองก็จะได้รับเงินคืน 30 บาท หากมียานอกบัญชีสามารถเบิกได้ไม่เกิน 500 บาทต่อปี คนไร้บ้านที่ส่งเงินเข้ากองทุนสวัสดิการสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้คนละ 6 ครั้งต่อปี (คนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องไปโรงพยาบาลเป็นประจำ)
  • เมื่อตายจะได้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท

บ้านเตื่อมฝันยังพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ให้แก่คนไร้บ้านในศูนย์อีกด้วย อาทิ การฝึกอบรมอาชีพ ส่งเสริมให้ กศน. มาเปิดสอนให้แก่คนไร้บ้านในศูนย์ และมีการสร้างระบบออมทรัพย์ให้คนไร้บ้านในศูนย์ โดยเปิดให้คนไร้บ้านกู้เงินฉุกเฉินได้ไม่เกิน 2 เท่าของเงินออม โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน เป็นต้น

บ้านเตื่อมฝัน จังหวัดเชียงใหม่

บ้านเตื่อมฝันกับหน้าที่ใหม่ในการพาคนไร้บ้านฝ่าวิกฤต COVID-19

หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อต้นปี 2563 บ้านเตื่อมฝันได้มีการปรับตัวเซ็ทระบบใหม่ขึ้นมาดูแลคนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์และคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัส โดยเริ่มจากการดูแลคนไร้บ้านในศูนย์ภายใต้หลักการที่ว่า “กินข้าวฟรี ไม่มีค่าสาธารณูปโภค” เนื่องจากหลังรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในวันที่ 24 มีนาคม 2563 คนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์หลายคนก็เริ่มไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกได้ อาทิ ร้านเข็นขายก๋วยเตี๋ยวของธันวากับแม่ที่หยุดขายมาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม เพราะไม่มีลูกค้า ทำให้หลายคนเริ่มประสบกับปัญหาการขาดรายได้ เป็นต้น

บ้านเตื่อมฝันจึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องอาหารให้กับคนไร้บ้านในศูนย์ โดยประสานกับกลุ่มเอกชนที่แจกอาหารฟรีในจังหวัดเชียงใหม่ ขอโควต้าข้าวกล่องสำหรับคนไร้บ้านในบ้านเตื่อมฝันวันละจำนวน 30 ชุด เพื่อตรึงให้คนไร้บ้านอยู่เพียงในพื้นที่ศูนย์ ไม่ออกไปเสี่ยงต่อการรับเชื้อข้างนอก ซึ่งอาจนำมาติดคนอื่นในศูนย์ได้ และหยุดเก็บค่าที่พักเดือนละ 450 บาทหรือวันละ 15 บาท ช่วยลดภาระเรื่องค่าที่พักอาศัยให้แก่คนในศูนย์ รวมทั้งยังเปิดให้คนไร้บ้านข้างนอกหรือคนที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยสามารถเข้ามาอยู่ที่บ้านเตื่อมฝันได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มาตรการต่อมาหลังจากขอรับแจกข้าวกล่องได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ บ้านเตื่อมฝันเริ่มใช้ช่องทางโซเซียลมีเดีย Facebook Page บ้านเตื่อมฝันเป็นพื้นที่ในการประกาศขอรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งจากคนทั่วไป และผันตัวเองมาเป็น “ครัวกลาง” สำหรับคนไร้บ้าน โดยใช้ครัวของบ้านเตื่อมฝันทำอาหารเลี้ยงคนไร้บ้านในศูนย์และนอกศูนย์ ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดบ้านเตื่อมฝันทำอาหารไปแจกคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 45 วัน ก่อนจะเปลี่ยนมาแจกวันเว้นวันอีกเป็นเวลา 15 วัน และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายคนไร้บ้านบางส่วนสามารถกลับไปทำงานได้ ก็ลดการแจกลงเหลืออาทิตย์ละ 3 วัน จันทร์ พุธ ศุกร์ ก่อนจะยุติการแจกอาหารลง

เพจ บ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่

การเผชิญกับ COVID-19 ยังทำให้ทางศูนย์เริ่มหันกลับมาคิดถึงเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง การแจกชุดปลูกผักให้คนไร้บ้านแต่ละคนไปปลูกผักกินเองตามแนวทางของรัฐ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนไร้บ้าน[1] วิเชียร ทาหล้า อาสาสมัครที่ทำงานกับคนไร้บ้าน และเป็นหนึ่งในผู้จัดการพื้นที่ของสวนผักคนเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่คนไร้บ้านเชียงใหม่ โดยดึงเอาคนไร้บ้านเข้าไปมีส่วนร่วมกับการใช้พื้นที่สาธารณะของเมืองอย่างสวนผักคนเมือง แบ่งที่ดินส่วนหนึ่งให้เป็นแปลงผักของคนไร้บ้านโดยตรง เพื่อให้สามารถเข้าไปปลูกผักผลิตอาหารของกลุ่มตนเองได้ และนำกลับมาใช้เป็นวัสดุดิบในการทำอาหารเลี้ยงคนไร้บ้านในศูนย์หรือทำอาหารแจกให้แก่คนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะต่อไป เป็นการเพิ่มพื้นที่ในการผลิตอาหารให้แก่คนไร้บ้านนอกเหนือจากแปลงผักบนดาดฟ้าของบ้านเตื่อมฝัน

“เรามองว่าการแจกยังไงก็แจกไม่ได้ตลอดไป และการปลูกผักข้างบนดาดฟ้าของศูนย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราจึงพยายามทำให้คนไร้บ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ของสวนผักคนเมืองด้วย เนื่องจากถ้าผลผลิตออกมาเราก็สามารถเอามาใช้ที่บ้านเตื่อมฝันได้ และด้วยความที่เราเป็นคนดูแลพื้นที่เราก็แบ่งส่วนโควต้าการจ้างงานให้คนไร้บ้านในการดูแลสวนผักคนเมืองด้วยส่วนหนึ่ง”[2]

 

นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ประจำบ้านเตื่อมฝัน

สำหรับคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ประจำบ้านเตื่อมฝันได้วางแผนใช้โอกาสในช่วง COVID-19 ที่ทำให้เจอคนในพื้นที่สาธารณะง่ายขึ้นระหว่างการแจกอาหารลงไปสร้างความไว้วางใจและพยายามเซ็ตกลุ่มย่อยให้คนไร้บ้านแต่ละจุดรวมตัวกัน เช่นบริเวณช้างเผือก สถานีรถไฟ กาดหลวง สะพานรัตนโกสินทร์ เป็นต้น เพื่อให้ง่ายต่อการเป็นจุดประสานงานในระดับพื้นที่

“โดยภาวะของคนไร้บ้านถ้าเขาอยากอยู่ที่ศูนย์เขามาตั้งแต่ช่วงวิกฤตใหม่ๆ แล้ว แต่อยู่ข้างนอกมันอาจสบายกว่าสำหรับเขา การอยู่ในศูนย์มันต้องมีการรับผิดชอบตัวเองบางอย่างและมีข้อจำกัดบางเรื่อง วิธีการที่เราใช้แก้ปัญหาคือ เราต้องออกไปเตรียมความพร้อมบางอย่างให้กับเขาก่อน ฝึกเรื่องการรวมกลุ่มและการรับผิดชอบพื้นฐาน พยายามทำเรื่องตรงนี้ให้เป็นวาระประจำของศูนย์ เราจะได้เป็นตัวกลางในการประสานคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะกับหน่วยงานรัฐให้มาเจอกัน และผลักดันเรื่องบัตร เรื่องสิทธิต่อไป”[3]

นอกจากความเสี่ยงต่อโรคระบาดแล้วคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางคดีอีกแง่หนึ่งด้วย หลังมีคนไร้บ้านเชียงใหม่อย่างน้อย 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนไร้บ้านในข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รายแรกเป็นคนไร้บ้านที่นอนอยู่แถวกาดหลวง ถูกจับกุมขณะเดินข้ามถนนไปปัสสาวะ ห่างจากที่นอนประมาณ 20 เมตร ในเวลา 22.30 น. อีกรายเป็นคนไร้บ้านที่มีอาชีพรับจ้างเข็นผักในกาดหลวงและอาศัยนอนที่แผงผักในเวลากลางคืน วันเกิดเหตุเวลา 21.00 น. คนไร้บ้านดังกล่าวเดินเท้าไปพบเพื่อนที่บริเวณประตูท่าแพ ระหว่างกำลังเดินกลับมานอนที่แผงผักประมาณ 22.00 น. เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณด่านตรวจแถวท่าแพจับกุม ฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเช่นกัน[4]

หลังจากเกิดการจับกุม บ้านเตื่อมฝันได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานระหว่างหน่วยงานรัฐกับคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ มีการพาเจ้าหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงไปช่วยเหลือในเรื่องคดี และมีการพาเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงใหม่ (พมจ.) ลงพื้นที่ไปตามจุดประสานงานกลุ่มย่อยในแต่จุดที่เซ็ตไว้ เพื่อตรวจสุขภาพ แก้ไขปัญหาเรื่องบัตรประชาชน และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่คนไร้บ้าน หรือหากคนไร้บ้านคนไหนต้องการกลับบ้านหรือย้ายมาอยู่บ้านเตื่อมฝัน ทางศูนย์ก็จะให้ความช่วยเหลือ อาทิ อาร์ต เด็กหนุ่มไร้บ้านแถวสถานีรถไฟที่เพิ่งย้ายมาอยู่ที่บ้านเตื่อมฝันในช่วง COVID-19 หลังเริ่มคุ้นเคยกับคนไร้บ้านในศูนย์ที่ไปแจกข้าวเป็นประจำ ทางศูนย์ยังได้ดำเนินการพาอาร์ตไปทำบัตรประชาชน บัตรทอง และบัตรคนพิการ เพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงสวัสดิการรัฐที่พึ่งได้รับ รวมทั้งยังเคยร่วมกับ พมจ. พาอาร์ตกลับบ้าน หลังแม่ของเขาเคยแจ้งความว่าเขาเป็นคนหาย เนื่องจากอาร์ตออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะและไม่ได้ติดต่อทางบ้านเป็นเวลานาน แต่กลับไปอยู่บ้านได้ 2 วัน อาร์ตก็ย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านเตื่อมฝันเหมือนเดิม

จากคนไร้บ้าน สู่ คนจนเมืองในระลอกแรก

นอกจากบ้านเตื่อมฝันจะช่วยดูแลคนไร้บ้านทั้งในศูนย์และนอกศูนย์ในเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร และพาคนไร้บ้านที่หลุดจากระบบกลับเข้ามาสู่ระบบทางทะเบียนราษฎร์แล้ว ในช่วง COVID-19 แพร่ระบาดระลอกแรก บ้านเตื่อมฝันยังกลายเป็นที่พักชั่วคราวของคนจนเมืองหลายคนที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจนต้องหลุดออกมาจากระบบของบ้านเช่า หอพัก รวมทั้งชุมชนที่ไล่รื้อในช่วง COVID-19 ด้วย  

ในระลอกแรก จากการลงพื้นที่สำรวจจำนวนคนไร้บ้านของบ้านเตื่อมฝันพบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีคนออกมาเป็นคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่จำนวนคนไร้บ้านของเชียงใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 112 คน (ตัวเลขตามการสำรวจเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562) แต่หลังวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ทำให้ตัวเลขคนไร้บ้านของเชียงใหม่ขยับขึ้นมาเป็น 157 คน เพิ่มจากเดิม 45 คน สอดคล้องกับสติถิคนที่เข้ามาพักที่บ้านเตื่อมฝันที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ก่อนหน้า COVID-19 บ้านเตื่อมฝันมีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ทั้งหมด 28 คน และขยับสูงขึ้นมาเป็น 2 เท่า หรือ 47 คน หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งคนที่เข้ามาอยู่ใหม่นี้มีทั้งคนไร้บ้านเดิมที่เคยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ คนไร้บ้านหน้าใหม่ที่หลุดออกมาจากระบบที่อยู่อาศัย และคนในชุมชนที่ถูกไล่รื้อด้วย

“เราพบว่ากลุ่มพี่น้องหน้าใหม่เวลาที่มาอยู่ที่ศูนย์คนไร้บ้านเขาจะปรับตัวไม่ค่อยได้ หลายคนที่เป็นคนไร้บ้านมานานเขาจะปรับตัวเร็ว แต่คนหน้าใหม่ๆ พอมาอยู่แบบนี้เหมือนชีวิตเขายิ่งสิ้นหวัง แล้วเขาก็ค่อยๆ ออกไป”[5]

การรองรับคนไร้บ้านหน้าใหม่และคนในชุมชนไล่รื้อ ทำให้บ้านเตื่อมฝันมองเห็นปัญหาใหม่ของ “คนไร้ที่อยู่อาศัย” ที่เพิ่งหลุดออกมาจากระบบที่อยู่อาศัยปกติ คนกลุ่มนี้ยังไม่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเหมือนคนไร้บ้าน เพราะฉะนั้นตอนที่ศูนย์เปิดให้ทุกคนสามารถมาพักได้ กลุ่มนี้จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ เนื่องจากเขาไม่เคยต้องเผชิญกับสภาวะเช่นนี้ นันทชาติเสนอว่า การมีบ้านฉุกเฉินหรือบ้านกลางของรัฐจะช่วยตอบสนองต่อความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ “อย่าทำให้เขาต้องหลุดมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนานๆ เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้เขาออกมาเป็นคนไร้บ้านถาวรอีกทางหนึ่ง”[6]

ปัจจุบันบ้านเตื่อมฝันกำลังขยับตัวเองออกมาทำงานที่ร่วมกับชุมชนแออัดเมืองและชุมชนไล่รื้อ โดยการเปิดพื้นที่ศูนย์ให้เป็นจุดประสานงานระหว่างคนในชุมชนแออัดเมืองและชุมชนที่ถูกไล่รื้อกับหน่วยงานรัฐอย่าง พอช. เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการทำให้เกิดสิทธิในที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง ทั้งในรูปแบบโครงการบ้านมั่นคงหรือห้องเช่าราคาถูกของรัฐ และผลักดันให้มีบ้านฉุกเฉินหรือบ้านกลางเกิดขึ้น ซึ่งที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้จะสามารถช่วยรองรับคนได้ 2 ส่วนคาบเกี่ยวกัน หนึ่งคือ คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ ที่เขาไม่อยากมาอยู่ที่ศูนย์ เขาก็จะสามารถใช้บ้านฉุกเฉินหรือบ้านกลางเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะสามารถมาอาบน้ำ ซักผ้า ฝากของได้ ป้องกันเรื่องบัตรประชาชนหายได้อีกทางหนึ่ง หรือคนไหนต้องการมานอนพักให้หลับสนิทสักคืนก็ได้

ส่วนคนจนเมืองไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากถูกไล่รื้อหรือหลุดออกมาจากระบบของบ้านเช่า หอพัก เนื่องจากพิษเศรษฐกิจ จะมีภาวะเครียดที่อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้มากกว่าเมื่อออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

“เราสังเกตเห็นว่าคนไร้บ้านจะไม่มีภาวะอยากฆ่าตัวตาย เมื่อเจอกับภาวะเศรษฐกิจช่วง COVID-19 เพราะคนไร้บ้านเขาก็จนที่สุดอยู่แล้ว เขาไม่กังวลหรอกว่าจะต้องมานอนในพื้นที่สาธารณะแล้วเขาจะอดตาย แต่ว่าถ้าคนทั่วไปที่ยังไม่เคยเจอภาวะแบบนี้ เขาจินตนาการไม่ออกว่าถ้าไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ ต้องไปนอนข้างถนนจะมีชีวิตอยู่อย่างไร มันเครียดและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้มากกว่า”[7]

นักโทษพ้นคุกไร้บ้านและคนชราไร้ที่พึ่งโจทย์ใหม่ของบ้านเตื่อมฝันใน COVID-19 ระลอกสอง

หลัง COVID-19 ระบาดระลอกสองจำนวนคนไร้บ้านในบ้านเตื่อมฝันไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเหมือนระลอกแรก โจทย์ใหม่ของบ้านเตื่อมฝันถูกเปลี่ยนจากคนจนเมืองมาสู่นักโทษพ้นคุกที่ไม่มีที่ไปหลังได้รับการอภัยโทษออกมา และคนชราจากบ้านพักคนชราที่ยังดูแลตัวเองได้และต้องการอิสระในชีวิต

หลังปีใหม่มาบ้านเตื่อมฝันเริ่มต้นปีด้วยโครงการเดินกาแฟออกไปเยี่ยมคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ นำอาหาร หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์กันหนาวไปแจก ทำให้ได้พบกับคนไร้บ้านกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นนักโทษที่ได้รับการอภัยโทษออกมาจำนวนถึง 20 คน

 

จากการสัมภาษณ์ โต้ง คนไร้บ้านในบ้านเตื่อมฝันซึ่งเป็นแกนนำในการเดินกาแฟครั้งนี้ระบุว่า หลังราววันที่ 4 มกราคม 2564 เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่มีการอภัยโทษปล่อยนักโทษออกมาจำนวน 200 คน ซึ่งนักโทษพ้นคุกที่ทางศูนย์เจอมีทั้งที่เป็นคนเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง อาทิ ลำปาง ลำพูน เชียงราย คนกลุ่มนี้หลายคนต้องการการปรับตัวหลังออกจากคุกมา  

“ต้องเข้าใจว่าบางคนออกจากคุกมาเขาต้องการปรับสภาพตัวเองก่อน คนกลุ่มนี้เป็นนักโทษเมื่อพ้นโทษมาจะมีชนักติดหลังถูกมองว่าเป็น ขี้คุก ซึ่งมันกระทบกระเทือนต่อจิตใจ หลายคนที่เราเจอเขาเพิ่งมาเป็นคนไร้บ้านในระยะแรก ยังไม่มีการประกอบอาชีพ ใช้ชีวิตอยู่โดยอาศัยเงินสงเคราะห์ที่ทางเรือนจำช่วยเหลือมาเป็นค่ารถกลับบ้านประมาณคนละ 200 – 300 บาท คนที่เลือกไม่กลับบ้านและออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะในเชียงใหม่ จากที่เราเคยอยู่ข้างนอกมาก่อน เรารู้ว่าเงิน 300 บาทอยู่ได้เต็มที่ไม่ถึงเดือน เราเลยมีความเป็นห่วงว่าคนกลุ่มนี้ กลัวว่าเขาจะหลุดออกมาเป็นคนไร้บ้านแบบถาวร”[8]

โต้งและบ้านเตื่อมฝันได้ติดต่อประสานงานให้เจ้าหน้าที่ พมจ. เชียงใหม่  ลงมาดูแลคนกลุ่มนี้ ซึ่งทางหน่วยงานยังไม่มีไม่มีมาตรการและแผนรองรับช่วยเหลือในระยะยาวสำหรับกรณีนักโทษพ้นคุกที่ออกมาเป็นคนไร้บ้าน ต้องเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้มีความแตกต่างจากคนไร้บ้านบางส่วนที่เคยเข้าออกคุก แต่นักโทษพ้นคุกกลุ่มนี้บางคนไม่ได้เต็มใจที่จะมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เขาถูกบีบบังคับจากการไร้ที่ไป ทำให้ต้องมาอยู่ข้างถนน พมจ. ให้ความช่วยเบื้องต้นในเรื่องบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากนักโทษพ้นคุกหลายคนที่ต้องโทษเป็นเวลานานถูกคัดชื่อมาอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน โต้งมองว่าหากนักโทษพ้นคุกยังไม่สมัครใจที่จะมาอยู่บ้านเตื่อมฝัน การช่วยให้เขามีบัตรประชาชนจะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงอาชีพ มีเอกสารประจำตัวไปสมัครงานได้ และมีสิทธิในการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

แต่หากนักโทษพ้นคุกคนไหนต้องการที่จะเข้ามาพักฟื้นฟูตัวเองที่บ้านเตื่อมฝัน ทางศูนย์ก็ได้มีมาตรการรองรับด้วยการให้อยู่ฟรีเป็นเวลา 10 วัน โดยไม่ต้องเก็บค่าบำรุงศูนย์ แต่หากอยู่นานกว่านั้นต้องจ่ายเงินค่าบำรุงศูนย์วันละ 15 บาท เนื่องจากทางศูนย์ไม่เน้นดำเนินแนวทางการช่วยเหลือคนไร้บ้านที่เข้ามาอยู่ในรูปแบบของการสงเคราะห์ แต่ต้องการช่วยเหลือให้คนไร้บ้านมีอาชีพ สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ในช่วงแรกทางศูนย์จะช่วยสร้างรายได้ตรงนี้ด้วยการจ้างงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น กวาดขยะ ทำความสะอาดศูนย์ ดูแลแปลงผัก ฯลฯ ไปจนถึงการช่วยสร้างอาชีพในระยะยาวให้แก่คนไร้บ้านที่เข้ามา ตัวอย่างเช่น  การต่อยอดตัวเองจากการเป็นครัวกลางในช่วง COVID-19 ระลอกแรกสู่การเปิดร้านขายอาหารราคาถูกหน้าศูนย์ในระลอกสอง โดยแม่ครัวก็คือคนไร้บ้านในศูนย์ ลูกค้ามีทั้งคนไร้บ้านด้วยกันและคนทั่วไป

นอกจากนี้ ในช่วง COVID-19 ระลอกสองบ้านเตื่อมฝันได้เริ่มทำข้อตกลงกับบ้านพักคนชราในเชียงใหม่ ในการแลกเปลี่ยนคนชราระหว่างกัน กล่าวคือ ถ้าคนในบ้านพักคนชราคนไหนที่คิดว่ายังช่วยเหลือตัวเองได้และต้องการย้ายมาอยู่บ้านเตื่อมฝัน ทางศูนย์ก็จะให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัยและอาชีพ ขณะเดียวกันหากคนไร้บ้านสูงอายุคนไหนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะได้อีกต่อไปหรือสมัครใจไปอยู่บ้านพักคนชรา ทางบ้านพักคนชราเองก็ต้องรับคนไร้บ้านที่ทางศูนย์ส่งไปเช่นกัน ตอนนี้เริ่มมีคนชราจากบ้านพักคนชราเริ่มทยอยมาอยู่บ้านเตื่อมฝันแล้ว

นันทชาติ เจ้าหน้าที่ประจำบ้านเตื่อมฝันหวังว่า โครงการแลกเปลี่ยนคนชราเกิดขึ้นนี้จะสร้างช่วยทำให้รัฐมองเห็นโมเดลรูปแบบใหม่ของบ้านพักคนชราในอนาคต ผู้สูงอายุบางคนยังต้องการอิสระ

“เรามองว่าต่อไปในอนาคตตรงนี้อาจจะเป็นโมเดลที่จะพัฒนาร่วมกันได้ เช่น การผลักดันให้ท้องถิ่นมีที่พื้นที่คล้าย shelter เป็นของตัวเอง บ้านเตื่อมฝันไม่สามารถเป็นพื้นที่ที่จะรับคนชราที่ยังดูแลตัวได้เป็นหลัก เราอาจจะพัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบายให้เห็นได้ว่า บ้านพักคนชราในรูปแบบเก่ามันไม่เหมาะสำหรับทุกคน บางคนอาจต้องการความช่วยเหลือจากรัฐจริงๆ แต่บางส่วนที่เขายังรู้สึกว่าเขาจัดการชีวิตตัวเองได้ เราจะทำอย่างไรให้มีพื้นที่แบบบ้านเตื่อมฝันสำหรับเขา ที่เขาสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ในราคาไม่แพงไม่เกินไป และมีความเป็นอิสระ เขาจะได้จัดการชีวิตเขาเองได้”[9]

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งในระลอกแรกและระลอกสอง บ้านเตื่อมฝันเป็นองค์กรหนึ่งที่ช่วยพาทั้งคนไร้บ้านเชียงใหม่ คนจนเมือง และคนไร้ที่พึ่งกลุ่มต่างๆ ฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปด้วยกัน บ้านเตื่อมฝันพยายามปรับตัวสร้างสิ่งใหม่และทำงานในประเด็นที่ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพื่อต่อยอดไปสู่การช่วยเหลือคนอื่นในสังคมได้ เพราะการผลักดันให้มีการเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยที่หลากหลายและเข้ากับวิถีชีวิตของคนแต่ละกลุ่ม จะสามารถเป็นหลักประกันในการเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัยอันเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐแก่ประชาชนทุกคนได้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แสดงให้เห็นแล้วว่า คนทุกคนสามารถเป็นคนไร้บ้านได้ทุกเมื่อหากขาดความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

 


[1] มติชน, ห่วง “คนเร่ร่อน” ไม่มีกิน กทม.ส่งอาหาร-สิ่งของ แจกชุด DIY ปลูกผักกินเอง, แหล่งที่มา https://www.matichon.co.th/covid19/thai-covid19/news_2155756

[2] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์วิเชียร ทาหล้า อาสาสมัครที่ทำงานกับคนไร้บ้าน ณ บ้านเตื่อมฝัน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

[3] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เอ็น - นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ประจำบ้านเตื่อมฝัน ณ บ้านเตื่อมฝัน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

[4] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เผย “คนไร้บ้านเชียงใหม่” ถูกจับกุม-ส่งฟ้องศาล ข้อหาออกจาก “บ้าน” ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว, แหล่งที่มา https://www.tlhr2014.com/?p=17223&fbclid=IwAR0G8GebBgnUrmQfqLs_qAqyD-5Br4pX3gaHRh3HOYqrYFRVa5dDzxjllBQ

[5] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ วิเชียร ทาหล้า อาสาสมัครที่ทำงานกับคนไร้บ้านและผู้ก่อตั้งกลุ่มกรีนเรนเจอร์ ณ บ้านเตื่อมฝัน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

[6] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ประจำบ้านเตื่อมฝัน ณ บ้านเตื่อมฝัน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

[7] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ประจำบ้านเตื่อมฝัน ณ บ้านเตื่อมฝัน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

[8] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ โต้ง แกนนำคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564

[9] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ นันทชาติ หนูศรีแก้ว เจ้าหน้าที่ประจำบ้านเตื่อมฝัน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท