Skip to main content
sharethis

กลุ่มราษฎรมูเตลูจัดงานรฤกคุณ “คนดีมีค่า” แห่งประชาธิปไตย ครั้งที่ 1 ที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ ทำบุญอัฐิคณะราษฎร การปราศรัยโดย ลูกชายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมส่งมอบชิ้นส่วนฐานอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญให้คนรุ่นใหม่ หวังสานต่ออุดมการณ์คณะราษฎร 

24 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 ม.ค.) กลุ่มราษฎรมูเตลู นำโดย พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า จัดงานรฤกคุณ “คนดีมีค่า” แห่งประชาธิปไตย ครั้งที่ 1 ที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ตามกำหนดการมีกิจกรรมทำบุญอัฐิคณะราษฎร การปราศรัยโดย พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ลูกชายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร  พร้อมด้วยสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักกิจกรรมตัวแทนผู้จัดงาน 

เวลา 15.40 น. พุทธินาถ สมยศ และตัวแทนคณะผู้จัดงาน 9 ท่าน ขึ้นวางพวงมาลาระลึกถึง 9 คณะราษฎร พ.ศ. 2475 ณ พระเจดีย์ด้านหน้าพระอุโบสถ จากนั้นเวลา 16.05 น. ทำพิธีสงฆ์ พร้อมทอดผ้าบังสุกุล 

พ.ต.พุทธินาถขอบใจคนรุ่นใหม่ หวังนำบทเรียนจากคณะราษฎรมาปรับใช้   

บุตรชายพระยาพหลพลพยุหเสนา ยังกล่าวกับนักกิจกรรมรุ่นใหม่หลังทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บิดาว่าขอบใจคนรุ่นใหม่ที่กล้าเสี่ยงชีวิตตัวเอง เพื่อระบอบประชาธิปไตย หวังให้นำสิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะราษฎร พ.ศ. 2475 มาเป็นบทเรียน เตือนห้ามใช้อารมณ์นำสติปัญญา ไม่โอ้อวด หยิ่งทะนง เห็นตนสำคัญกว่าผู้อื่น ไม่งั้นอาจพ่ายแพ้ในการต่อสู้  

“เป็นห่วงหลาน ๆ ที่ลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อสู้กับสิ่งที่เลวร้าย ขอว่าต้องระวังที่สุด เพราะว่าปรีดี (พนมยงค์)ยังโดนชั้นเชิงหลอกได้ ฉะนั้นเมื่อจะเดินหน้าด้วยเหตุนี้ จำเป็นที่สุดที่จะใช้สติสัมปชัญญะ ปัญญา ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่จะฟันฝ่าไปให้ได้ อย่าใช้อารมณ์เด็ดขาด เพราะมันมีแต่ทางแพ้ภัยอย่างเดียว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ธรรมดา การรบกันยังไม่หนักหนาสาหัสเท่าเรื่องนี้ …และห้ามใช้อารม์เด็ดขาด อย่าคิดว่ากูแน่ ฉันน่ะยิ่งใหญ่ อันตรายมาก ความหวังก็อาจจะสูญหายและไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ ” พ.ต.พุทธินาถ กล่าว 

พ.ต.พุทธินาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าพวกเราสามัคคี และไม่แตกแยก ความคิดแตกต่างกันได้ แต่อย่าแตกแยก แล้วฝ่าฟันไปให้ได้ ประกอบกับยุคนี้มีโซเชียลมีเดียเป็นตัวแปร อาจทำให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลาน้อยกว่าคณะราษฎรที่จะทำให้ประชาธิปไตยมั่นคงเข้มแข็ง

“จำได้ว่าคณะราษฎรมีเวลาแค่ 15 ปีเท่านั้นที่จะดำเนินการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีค่าเท่ากับ 0 ในปี 2475 ซึ่งถ้าจะต้องให้มีความมั่นคงก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 40 ปี แต่คณะราษฎรมีเวลาแค่ 15 ปีเท่านั้น  แต่ถ้าเราร่วมมือสามัคคี ไม่แตกแยก ความคิดแตกต่างกันได้ แต่อย่าแตกแยก แล้วฟันฝ่าไปให้ได้ ก็อาจจะใช้เวลาน้อยกว่าที่คณะราษฎร อาจไม่ถึง 40  ปี อาจจะ 20 ปีก็ได้ เพราะวันนี้มีเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างโซเชียลมีเดียที่ช่วยได้เยอะมาก แต่ถึงมีโซเชียลฯ ก็ยังเชื่อว่าอาจจะขาดความรู้บางอย่างที่โซเชียลมีเดียไม่มีก็เป็นได้” พ.ต.พุทธินาถ ทิ้งท้าย  

ส่งมอบชิ้นส่วนฐานอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญให้คนรุ่นใหม่ หวังสานต่ออุดมการณ์คณะราษฎร 

หลังจาก พ.ต.พุทธินาถ กล่าวกับคนรุ่นใหม่แล้ว ต่อมามีพิธีส่งมอบเศษชิ้นส่วนฐานล่างของอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ให้แกนนำกลุ่มราษฎรมูเตลู 

สมยศ กล่าวว่า การส่งมอบชิ้นส่วนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เปรียบดั่งการส่งต่อเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 สู่คนรุ่นใหม่ ต่อสู้กับรัฐบาลทหารที่พยายามความทรงจำการต่อสู้เพื่อรักษาธรรมนูญของคณะราษฎร ก่อนทิ้งท้าย เมื่อใดที่ไทยมีประชาธิปไตย ฝากคนรุ่นใหม่ สร้างอนุสาวรีย์คืนให้กับวีรชนตำรวจทั้ง 17 คนที่เสียชีวิตในสมรภูมิทุ่งบางเขน ต่อสู้กับกบฏบวรเดช    

“ทั้ง ๆ ที่อนุสาวรีย์ปกป้องรัฐธรรมนูญ เป็นที่บรรจุอัฐิหรือกระดูกของตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิตในสมรภูมิต่อสู้กับกบฎบวรเดชที่ทุ่งบางเขน ผมได้เก็บซากปรักหักพังทั้งหมดนี้ (เป็นเศษชิ้นส่วนจากการรื้อถอนอนุสาวรีย์ฯ ที่ทางการรื้อถอนไป) นี่คือเศษชิ้นส่วนซากฐานอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผมจะขอส่งมอบเศษซากอันนี้ให้คนรุ่นใหม่ เมื่อวันใดมีประชาธิปไตยแล้ว คนรุ่นใหม่จะได้นำเศษซากอันนี้ไปสร้างโบสถ์ เก็บรักษาความทรงจำของคณะราษฎรเอาไว้ เพราะรัฐบาลเผด็จการพยายามทำลายความทรงจำของคณะราษฎร์ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ผลพวงผลผลิตของคณะราษฎร 2475 ผมขอให้ดวงวิญญาณของตำรวจทั้ง 17 นาย ซึ่งปรากฏชื่อจารึกอยู่ที่อนุสาวรีย์ฯ ที่ถูกทำลายทิ้งไปหมดนั้น ได้รับทราบว่า พวกเราคนรุ่นใหม่กำลังสานต่อภารกิจในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตย ขอส่งมอบให้ฟ้ารับเป็นมรดกไว้ สร้างอนุสาวรีย์คืนให้กับวีรชนทั้ง 17 คน” สมยศ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวสอบถามนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยทราบความว่า เศษฐานดังกล่าวเป็นฐานอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหลังบูรณะ ไม่ใช่ฐานเดิม

ความทรงจำของคณะราษฎร

นอกจากนี้ สหรัฐ จันทสุวรรณ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปราศรัยในเรื่องความทรงจำของคณะราษฎรว่า ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่บ่งบอกเสมอว่าเราคือใคร ประวัติศาสตร์จึงสำคัญยิ่งกับรัฐชาติที่จะใช้ผลิตประชากรให้ออกมาอย่างที่เขาต้องการ หนังสือเรียนที่เห็นกันคือสิ่งที่รัฐเลือกมาว่าอะไรให้รู้ ให้จำ หรือให้ลืม

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฎรที่เสียสละเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุดนั้น ตัวแปรที่สำคัญที่สุดคืออุดมการณ์ สิ่งที่เผยแพร่ออกไปสาธารณะเรียกว่าหลัก 6 ประการ ได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา เพื่อต่อสู้ระบบอำนาจเก่าที่ผูกโยงด้วยสถานะและความศักดิ์สิทธิ์นอกรั้วกำแพงสูงใหญ่ ระบอบที่เพาะเลี้ยงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่คอยบอกว่าเราไม่มีวันเท่ากัน

ความดีประการแรกของปฏิวัติ 2475 คือเป็นการปฏิวัติที่ไม่เสียเลือดเนื้อ ด้วยกลวิธีที่วางแผนอย่างรอบคอบ

ประการที่สองคือการสร้างสำนึกวิถีประชาธิปไตย ในช่วงเกือบ 20 ปี มีการเผยแพร่อุดมการณ์ออกไปมากมาย ทั้งจากสถาปัตกรรมเช่น ศาลฎีกา อนุสาวรีย์ท้าวสุรนานี หรือวัดพระศรีมหาธาตุ ในเชิงนามธรรม เหตุการปัจจุบันนับได้ว่าชัดเจน ว่าการตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ความเท่าเทียม คือหลักฐานที่ยืนยันคุณูปการของนามธรรมข้างต้น แม้สถาปัตยกรรมจะถูกทุบทำลาย

ประการที่สาม การกระจายอำนาจรัฐจากเดิมที่กระจุกอยู่ในเมืองหลวง คณะราษฎรก็กระจายมันออกไปในที่ห่างไกล มีการสร้างสาธารณูปโภคในหลายพื้นที่ มีการเชื่อมด้วยถนนระหว่างเมืองหลวงกับภูมิภาค ได้แก่ถนนพหลโยธิน สุขุมวิท เพชรเกษม ที่ถ้าดูในแผนที่จะพบว่าพาดผ่านตัวเมืองสำคัญๆ แทบทั้งสิ้น

ประการสุดท้ายคือเรื่องการศึกษา มีการก่อตั้งและส่งเสริมการเรียนในระดับอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้รับการจัดสรรที่ดินจำนวนมากจาก พ.ร.บ. ที่คณะราษฎรออกให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ล้วนได้รับจิตวิญญาณจากคณะราษฎรทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสาธารณะคือการออก พ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับ ทำให้เห็นโรงเรียนเทศบาลอยู่ทั่วประเทศ

กาลปัจจุบันกำลังแสดงให้เห็นบทบาทการสำนึกโหยหาอดีต ถึงเรื่องราว ความคิด จิตวิญญาณของผู้กล้าเหล่านั้น หลังรัฐประหาร 2549 ก็มีคนพูดถึงคณะราษฎร 2475 อีกครั้ง ซี่งผิดคาดกับการทำลายอุดมการณ์เหล่านั้นของรัฐ การพูดถึงความทรงจำของคณะราษฎรก็เหมือนเมล็ดงา ที่หว่านไปที่ใดก็เติบโตอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันเยาวชนเริ่มเบิกเนตร และศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่อยู่ในตำราเรียน ต้องของคุณความดื้อรั้นของเยาวชนที่กระหายอยากรู้มากขึ้นแม้รัฐพยายามปิดกั้น ทำให้มรดกบาปของศักดินาและคุณูปการของคณะราษฎรถูกพูดถึงมากขึ้น

แม้เหตุการณ์จะผ่านไปเกือบ 90 ปี บทบาทของคณะราษฎรยังมีบทบาทในการหล่อเลี้ยงความฝันคนปัจจุบันที่กำลังต่อสู้กับการกดขี่ของศักดินา ให้ตระหนักถึงสิทธิ เสรี ที่เป็นสิ่งล้ำค่าของปัจเจกชน ความศักดิ์สิทธิ์ของคณะราษฎรคือความศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเอื้อมถึง ทุกคนจับต้องได้และทำให้เป็นจริงได้ ผิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบเก่าที่ไม่ใช่ทุกคนจะเอื้อมถึง

ประกาศเวทีต่อสู้ทางวัฒนธรรมกับศักดินา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงท้ายของกิจกรรมเป็นการปราศรัยและนำอธิษฐานของ พรหมศร วีระธรรมจารี แกนนำคณะราษฎรมูเตลู และเจ้าภาพจัดกิจกรรมครั้งนี้ เขาวิจารณ์ พร้อมตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมและประเพณีของสถาบันชนชั้นนำที่พยายามยึดโยง ช่วงชิงเอาความเชื่อ ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ทั้ง 4 มิตินี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวสถาบันเอง แต่แท้จริงแล้ว ความเชื่อ ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ราษฎรต่างหากที่เป็นเจ้าของ ซึ่งคณะราษฎรมูเตลูถูกตั้งขึ้นมา เพื่อจะช่วงชิงสิ่งเหล่านี้กลับมาจากศักดินา  

ทำไมต้อง วัดพระศรีมหาธาตุฯ

สาเหตุที่เลือกจัดงานที่วัดแห่งนี้ แกนนำคณะราษฎรมูเตลู ระบุว่าเนื่องจากที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ยึดโยงความเชื่อหลัก ความเชื่อศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ทำให้เกิดศาสนาพุทธ พราหมณ์ ผี หรือเรียกง่าย ๆ ว่าศาสนาไทย เป็นการเอาผี เอาพราหมณ์ เอาพุทธ มาขมวดกันเป็นหนึ่งเดียว แต่วัด ๆ นี้มันแสดงถึงความเป็นชาติ เพราะชาติคือประชาชน ได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอเรื่องนี้กับรัฐมนตรี ให้มีเสนอการสร้างวัดขึ้นมาคู่กับชาติ หลังจากสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏวรเดช พ.ศ.2483 มีการสร้างวัดนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นศาสนาสถานของประชาชน

พรหมศร กล่าวต่อว่า ชื่อจริงของวัดนี้คือวัดประชาธิปไตย วัดนี้ถูกสร้างเหมือนวิหารพาเธนอน (Pathenon) ในประเทศกรีก คือมีการรวบรวมของอัฐิของบุคลากรคนสำคัญอย่างแท้จริงของประเทศชาติ นำมาไว้ในพระเจดีย์ขาว ต่อมาพอเราได้รัฐบาลคณะราษฎรอีกอยู่ดี เราไปอินเดียได้พระบรมสารีริกธาตุ พระบรมสารีริกธาตุในประเทศไทยที่ถูกยอมรับว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุอย่างแท้จริงในประเทศมีสองที่ ชัดเจนมีหลักฐานสืบได้ตามประวัติศาสตร์คือหนึ่ง ภูเขาทอง ซึ่งเป็นวัดเจ้า พวกตนจะไปครั้งหน้า หรือวัดสระเกศ อีกอันได้มาจากสถูปที่กรุงกบิลพัสดุ์ วัดนี้ได้มาจากภายในพิพิธภัณฑ์นคร Negara เท่ากับเรามีพระบรมสารีริกธาตุสืบได้ทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมีแค่สองที่ ถือว่าเป็นสองที่สำคัญ เพราะมีการบันทึกโดยที่ภูเขาทอง หรือวัดสระเกศ เป็นศากยวงศ์ อันนี้ถือเป็นของโกลิยวงศ์ เท่ากับเรามีอัฐิพระพุทธเจ้าทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ในแผ่นดินของเราเอง 

แกนนำคณะราษฎรมูเตลู ยังอธิบายถึงความสำคัญของ วัดพระศรีมหาธาตุฯ อีกว่าเคยอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ โดยพระอุโบสถแห่งนี้ต้องการต่อสู้กับฝ่ายเจ้า โดยการวางแปลนทั้งหมดมาจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  ถ้าเราสังเกตตัวด้านข้างเจดีย์อันนี้คือศิลปะคณะราษฎร ศิลปะคณะราษฎรถือเป็นศิลปะแบบ contemporary หรือศิลปะไทยอย่างร่วมสมัย มีการตัดทอนลายไทยที่ฝ่ายเจ้ายึดโยงสิ่งเหล่านี้ไว้ คณะราษฎรบอกไม่ได้ ศิลปะเป็นของทุกคน คณะราษฎรจึงทำเจดีย์ศิลปะคณะราษฎรขึ้นมา รูปทรงเหมือนเดิม ทรงระฆังคว่ำ แต่เราตัดทอนรายละเอียดต่าง ๆ ออกไป ให้มันมีศิลปกรรมไทยแบบคณะราษฎรมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงมีความสำคัญจริง ๆ

ทำไมต้อง 'คณะราษฎรมูเตลู'

พรหมศร กล่าวอธิบายถึงกลุ่มว่า ราษฎรมูเตลู เป็นคำเล่นๆ คือคำคุยกัน แปลว่าเล่นคุณ เล่นไสยศาสตร์ คุณไสยไหว้พระไหว้เจ้า มันคือการมูเตลู ราษฎรมูเตลูคือสาขาที่แตกออกมาจากคณะราษฎร โดยเราจะมารองรับความเชื่อ และเราจะยึดสิ่งเหล่านี้ออกจากศักดินาและองคาพยพให้กลับมาเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เราถูกบรรดาศักดินาทั้งหลาย ยึดอำนาจของพวกเราไปเสียมาเนิ่นนาน ความเชื่อเป็นความเชื่อเจ้า เป็นความเชื่อไพร่ แต่ไม่เคยมีความเชื่ออะไรเลย ที่มันถูกยอมรับว่านี่คือความเชื่อของประชาชนทุกๆ วันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศิลปะวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ความสวยงามยึดโยงอยู่กับเจ้า อยากดูศิลปกรรมไทยสวยๆ ที่ไหน ไปวัดพระแก้ว อยากดูศิลปกรรมไทยงามๆ ไปที่ไหน ไปวัดพระแก้ว แล้วไพร่สร้างไม่ได้เหรอ ในภาคกลาง กทม. เราจะไม่เห็นวัดใดๆ เลยที่ถูกสร้างจากประชาชน แล้ววิจิตรงดงามอย่าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดนิเวศธรรมจังหวัด จ.อยุธยา วัดราชบพิตร วัดอีกหลายวัดในเขตมณฑลภาคกลาง

แกนนำคณะราษฎรมูเตลู กล่าวถึงศิลปะความงามของภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสานว่า ศิลปะความงดงาม วัฒนธรรมถูกสร้างโดยไพร่ ไพร่ก็ดูแลรักษามัน ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เข้มแข็งมั่นคง เราจะเห็นภาคกลาง และเคลื่อนคล้อยไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ตัดกลับมาที่ กทม. มันถูกสลายไปเรื่อยๆ ภาคเหนือเรายังเห็นจารีตทางเหนือเหมือนเดิม เรายังเห็นฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ แบบเดิมของชาวอีสาน ของชาวลาวล้านช้าง เรายังเห็นประเพณีต่างๆ ของชาวภาคใต้ กลับกัน ประเพณีของภาคกลางยึดโยงกับเจ้า แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ของราษฎรมูเตลูจะยึดมาเป็นของราษฎรทั้งหมด

"หากคุณกล่าวว่า ราษฎรทำอะไรไม่ได้ เราจะทำให้คุณดู  จรดพระนังคัลแรกนาขวัญใช่ไหม ต้องยึดอยู่กับเจ้า ไม่ ไพร่เป็นคนปลูกข้าว เจ้าไม่เคยปลูกข้าว เจ้าจะรู้จักพิธีปลูกข้าวได้อย่างไร เจ้าไม่เคยกรีดยาง เจ้าจะรู้หรือไม่ว่าการกรีดยางเหนื่อยขนาดไหน เจ้าไม่เคยสาวไหม เจ้าจะรู้หรือว่าการสาวไหมวุ่นวายมีกี่ขั้นตอนกว่าจะได้ใส่ เพราะเจ้ามีหน้าที่ใส่ ไม่ได้มีหน้าที่ทอ" พรหมศร กล่าว

สิ่งที่จะทำต่อไป

แกนนำคณะราษฎรมูเตลู กล่าวต่อว่า ศักดินาและองคาพยพมีหน้าที่กดขี่บนหลังชาวนา แต่ไม่เคยไปรู้จักจิตใจชาวนา ข้าวบ้านเรา จึงราคาถูกเอาๆ ตัดกลับมาที่เขาเอาไปขายก็แพงขึ้นๆ และอะไรคือความสุขของประชาชนภายในชาติ ในเมื่อเราโดนยึดโยงสิ่งเหล่านี้ไปด้วยเพราะความเชื่อศาสนา และวัฒนธรรม ประเพณีพื้นถิ่นของคนภาคกลางไม่มีตัวตนเสียเลย เหตุผลเพราะเขาเอาไปหมดแล้ว เราจะมีอะไรกันอยู่อีก จะฤดูฝน แห่นางแมวไม่ต้องแห่แล้ว มีพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ขอฝนโดยเจ้า อยากรู้ว่าเปลี่ยนฤดูแล้ว ดูอย่างไร พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ไพร่ไม่มีสิทธิ์รู้เลยเหรออากาศมันเปลี่ยนฤดูเอง เราก็รู้ได้ เราก็เป็นคน เราก็ร้อนหนาวเป็นเหมือนกัน เราก็รู้ร้อนรู้หนาว รู้ว่ามีฝนตก รู้ว่าเปียก เราก็รู้ไม่ต้องดูจากอะไร เราก็รู้เรื่อง สงกรานต์เป็นประเพณีในชาติไม่ได้ มันดูไม่ยิ่งใหญ่ ต้องเป็นพระราชพิธีตรุษสงกรานต์ ต้องมีการแห่พระสำคัญ ต่างจังหวัดชาวบ้านมีการแห่พระพุทธสิหิงค์ กับพระเสตังคมณี ออกมาแห่รอบตัวเมืองนครพิงค์เชียงใหม่ เรียกว่าปีใหม่เมือง ภาคอีสานก็มีการไปสรงน้ำพระธาตุพนม พระธาตุนาดูนต่างๆ ภาคใต้พระธาตุเมืองนครฯ พระบรมธาตุไชยา มีการแห่พระสิงห์เมืองนคร ตัดกลับมาที่ภาคกลาง พระราชพิธีตรุษสงกรานต์ เราจะรู้มันใกล้สงกรานต์ รู้ได้อย่างไร พระราชพิธีสังเวยพระป้ายขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 สรุปทุกอย่างความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม อยู่กับเจ้าไม่เคยอยู่กับไพร่เลยแม้แต่นิดเดียว

สำหรับสิ่งที่คณะราษฎรมูเตลูจะดำเนินการต่อไปนั้น แกนนำกลุ่ม ระบุว่า จะทวงทุกอย่างจากความเป็นเจ้ามาสู่ไพร่ จากวันนี้ไป ราษฎรมูเตลู จะเป็นในเพจเฟซบุ๊ก จะเป็นคอนเทนต์ต่างๆ ของเรา หรือจะเป็นหัวข้อต่างๆ ที่เราจะพูดคุย เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน

"ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้า ไม่ใช่อยู่ที่ใครบอก แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของประชาชน บอกว่าทำไมไม่ระลึกถึงบุญคุณพระนเรศวร ถามจริง ๆ ว่าพระนเรศวรไปรบคนเดียวหรือ คนที่ตายเป็นขี้ครอก ไม่ใช่เจ้า ในสมัยคณะราษฎรมีการสร้างอนุสาวรีย์ไพร่ขึ้นมา บางระจัน ไพร่ไม่ได้มีตัวตนบ้างละ ยึดโยงความเป็นชาติ ท้าวสุรนารี จริงไม่จริง มีไว้ก่อนหนึ่งคน  คุณหญิงมุก คุณหญิงโม ยกขึ้นมา ราษฎรค่อยมีตัวตนขึ้นมาบ้าง ที่เหลือเป็นใคร สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จต่าง ๆ ยกกันอวยขึ้นมายิ่งใหญ่ ยังไม่พอ ยังมาบอกให้เรามาไหว้พระสยามเทวาธิราชย์ เทวดาปลอม ๆ อีก ถ้าศักดิ์สิทธิ์แท้จริง ประยุทธ์จะไม่เป็นนายกฯ ถ้าพระสยามเทวาธิราชย์ ทรงพระมหิทธานุภาพแล้ว มีเทวานุภาพมากมายมหาศาล บวกด้วยพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์  และพระกาฬไชยศรี หากห้าเทวดา หกองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์แล้วอย่างแท้จริง ประเทศเราคงเป็นมหาอำนาจ หากพระคลังในพระคลังมหาสมบัติสมัยรัชกาลที่ 5 มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลดุจดั่งพระเจ้าจักรพรรดิผู้ครองสี่ทวีป ประเทศไทยคงไม่มีหนี้ 8.8 ล้านล้านบาท" พรหมศร กล่าว

ทั้งนี้หลังจากปราศรัยแกนนำราษฎรมูเตลูชวนผู้ฟังร่วมตั้งจิตอธิษฐานจากเศษซากฐานอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อนจบกิจกรรม

หมายเหตุ : ประชาไท มีการปรับแก้เพิ่มเติม 12.07 น วันที่ 25 ม.ค.64

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net