Skip to main content
sharethis

รายงานวงเสวนา “จากกะเหรี่ยงบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์” ชาวบางกลอยอัพเดทสถานการณ์กลับขึ้น 'ใจแผ่นดิน' เตรียมการเพาะปลูก ที่เคยถูกเผาบ้าน-ยุ้งข้าวเพื่อไล่รื้อ นักสิทธิฯ เปิดหลักฐานยืนยันอยู่มานานแล้ว ย้ำปัญหานอกจากปัญหาเรื่องสิทธิที่ดิน ยังมีการอุ้มหายอีก เปิดประเด็นปัญหาอคติต่อชนพื้นเมือง และกระบวนการล่าชื่อเสนอ กม.คุ้มครองวิถีชีวิตชนพื้นเมือง

25 ม.ค.2564 เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัดเสวนา “จากกะเหรี่ยงบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์” หลังมีรายงานข่าวว่ามีกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจำนวนกว่า 50 ชีวิตจากบ้านโป่งลึก-บางกลอยเดินทางเข้าไปในผืนป่าแก่งกระจานเพื่อกลับไปยังที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน 

กลับขึ้น 'ใจแผ่นดิน' เตรียมการเพาะปลูก ที่เคยถูกเผาบ้าน-ยุ้งข้าวเพื่อไล่รื้อ

อภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวบางกลอยและหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่าขณะนี้ชาวบ้านที่เดินทางกลับขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนกำลังเตรียมการเพาะปลูกในพื้นที่เดิมที่เคยมีเหตุการณ์เผาบ้านและยุ้งข้าวเพื่อไล่รื้อหมู่บ้านเมื่อพ.ศ. 2554 โดยขณะนี้มีการกางเต้นท์และผูกเปลนอน แต่คาดว่ายังไม่มีการปลูกกระท่อมใหม่ โดยลงมาส่งข่าวให้ชุมชนที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยทราบเป็นระยะ และระบุว่ามีความกังวลว่ารัฐจะใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน

ทั้งนี้ สำนักข่าวชายขอบรายงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่ามีชาวบ้านบางกลอยอีก 17 คนเดินทางขึ้นไปสมทบกับชาวบ้านกลุ่มที่เดินทางขึ้นไปก่อนหน้านี้ ทำให้ปัจจุบันมีชาวบ้านบางกลอยที่อพยพกลับขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดินแล้วประมาณ 74 คน ในจำนวนนี้มีทั้งเด็กและผู้หญิง โดยมีรายงานก่อนหน้านี้ว่ามีหญิงมีครรภ์เดินทางขึ้นไปด้วย 1 คน 

สำหรับสาเหตุที่ชาวบ้านเดินทางกลับขึ้นไปที่พื้นที่ดั้งเดิม อภิสิทธิ์ระบุว่าเป็นเพราะตั้งแต่ พ.ศ.​2539 ที่มีการอพยพชาวบ้านบางกลอยและบ้านใจแผ่นดินครั้งแรกเป็นต้นมา ไม่มีการจัดการเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และสัญชาติให้กับชาวบ้าน ทำให้ชุมชนขาดที่ทำกิน ต้องออกไปรับจ้าง แต่ก็ไม่ค่อยมีรายได้ ส่วนที่ทำกินที่มีการจัดสรรให้เป็นพื้นที่ที่เป็นหน้าผาหรือเป็นหินที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก 

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่และปริมาณน้ำจำกัด และการที่ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิมได้ทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูก นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้ชุมชนต้องพบเจอกับความยากลำบากมากขึ้น

การเดินทางกลับขึ้นไปที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐไม่ใช่ความรุนแรงกับชาวบ้าน หลังมีรายงานว่าอาจมีการใช้ทหารหน่วยเฉพาะกิจพระยาเสือในการดำเนินการนำตัวชาวบ้านกลับลงมา หรืออาจมีการดำเนินคดีกับชาวบ้าน

โดยเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้เดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยระบุว่าการที่ชาวกะเหรี่ยงเดินทางกลับขึ้นไปพื้นที่ดั้งเดิมควรสามารถทำได้ ไม่ควรเป็นความผิดหรือมีการดำเนินคดี และเรียกร้องให้ภาครัฐไม่ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านหรือคุกคามแกนนำอย่างที่เคยทำมาในอดีต นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานที่มีภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการสังเกตการณ์แก้ไขปัญหาด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการพบป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “#saveบางกลอย” และ “ชาติพันธุ์ก็คือคน” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 ม.ค. และที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์และที่หน้าโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา

เปิดหลักฐานอยู่มานานแล้ว

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและหนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาระบุว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่ามีชุมชนอยู่ในเขตพื้นที่ป่าแก่งกระจานมานับพันปีแล้ว นอกจากนี้ในแผนที่ของกรมแผนที่ทหารจาก พ.ศ.​2455 ยังระบุตำแหน่งของบ้านใจแผ่นดิน ซึ่งแสดงว่าชุมชนดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของรัฐ มีการตั้งเป็นหมู่บ้านโดยขณะนั้นยังขึ้นกับอำเภอสองพี่น้องก่อนที่จะมีอำเภอแก่งกระจาน

สุรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่าในคำตัดสินคดีของ “ปู่คออี้” หรือโคอิ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจาน ที่ฟ้องร้องอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานหลังการเผาไล่ที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินใน พ.ศ.​2554 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และตัดสินว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำโดยรู้ถึงผลเสียหาย เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็น ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 22 ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติที่ระบุว่าต้องมีการติดป้ายเตือน มีการชี้แจง และต้องฟ้องศาล และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ระบุให้มีการยุติการจับกุม ซึ่งท้องถิ่นดั้งเดิมในคำตัดสินของศาลหมายถึงบ้านบางกลอยบน ดังนั้นชาวบ้านจึงควรจะสามารถเดินทางกลับไปยังที่อยู่อาศัยเดิมของชุมชนเมื่อใดก็ได้ 

สุรพงษ์ เสนอว่าต้องใช้กลไกตามมติ ครม.​ 3 ส.ค. 53 มตินี้เป็นกฎหมาย ถ้าไม่ทำตามถือว่ารัฐผิดกฎหมาย โดยมติ ครม. ฉบับดังกล่าวมีการระบุกลไกไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ถ้าพบว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนก็จะต้องเพิกถอนที่ป่า เพราะฉะนั้นจะให้เจ้าหน้าที่มาอ้างว่าทำตามกฎหมายไม่ได้ในเมื่อศาลตัดสินแล้วว่าเจ้าหน้าที่ทำผิดกฎหมายมาตลอด

ส่วน สุนี ไชยรส จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่าในกรณีของปู่คออี้ ปู่คออี้เกิดพ.ศ. 2454 ซึ่งในขณะนั้นไม่มีทั้งกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.​2504 และปู่คออี้อายุ 70 ปีแล้วใน พ.ศ 2524 ที่มีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน การอพยพชาวบ้านลงมาจึงเป็นเรื่องที่ผิด 

นอกจากปัญหาเรื่องสิทธิที่ดิน ยังมีการอุ้มหาย

นอกจากนี้สุนียังกล่าวว่าความไม่ชอบธรรมที่ชาวบ้านต้องเผชิญไม่ใช่แค่เรื่องของสิทธิที่ดินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรณีอุ้มหาย “บิลลี่” หรือพอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงอีกด้วย ซึ่งต่อมาในเดือนกันยายน 2562 มีการพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ในอ่างเก็บน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของบิลลี่ โดยทุกวันนี้คดีของบิลลี่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

สุนีกล่าวว่าปู่คออี้และลูกหลานมีสิทธิอันชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน จึงควรที่จะต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้านและเคารพสิทธิชุมชน ชาวบ้านจะต้องมีสิทธิเต็มที่ในการเดินทางกลับบ้านใจแผ่นดิน และควรจะต้องมีการจัดการกับผู้ที่กระทำกับบิลลี่และผู้ที่อพยพชาวบ้านลงมา

ในส่วนของข้อเสนอทางกฎหมาย สุนีระบุว่ามติครม. 3 ส.ค.53 และมติ ครม. 2 มิ.ย.​ 53 (มติ ครม. ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล) จะต้องได้รับการปฏิบัติตาม และต้องมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้ว 3 ร่าง นอกจากนี้ยังต้องมีการทบทวนกฎหมายว่าด้วยป่าที่ล้าหลังและไม่ยอมรับสิทธิมนุษยชน 

สุนียกตัวอย่างชุมชนบ้านภูเหม็น จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีกรณีการประกาศเขตวนอุทยานทับที่ชาวบ้าน มีคดีความ มีการพาผู้ช่วย รมว.​ ลงไปเจรจาในพื้นที่ ก่อนที่จะมีการเพิกถอนเขตวนอุทยาน มีการไกลเกลี่ยคดี และประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมตามมติครม. ดังนั้นจึงไม่สามารถอ้างได้ว่ากำหนดเขตอุทยานแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือฟ้องแล้วขยับคดีไม่ได้ 

ส่วนสำหรับมาตรการในเบื้องต้น สุนีกล่าวว่าชาวบ้านที่เดินทางไปยังไปไม่หมด ที่ขึ้นไปแล้วเป็นกลุ่มที่พยายามแก้ไขปัญหา ส่วนชาวบ้านข้างล่างก็ยังมีปัญหาอยู่ รัฐบาลควรเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการเอง ไม่ใช่ให้กรมอุทยานฯ ที่เป็นคู่ขัดแย้งตั้ง โดยในขั้นแรกสุดไม่ควรให้มีการจับกุมชาวบ้าน ควรต้องเยียวยาพื้นที่ก่อน 

ปัญหาอคติต่อชนพื้นเมือง

ปัญหาอคติของสังคมที่มีต่อชนพื้นเมืองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนายการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรกล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรัง และสังคมส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจ โดยมักมองชนพื้นเมืองแบบเหมารวม เช่นมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ตัดไม้ทำลายป่า เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือค้ายาเสพติด ซึ่งพอชนพื้นเมืองประสบปัญหา สังคมก็จะตั้งคำถามว่าไปช่วยเขาทำไม เนื่องจากอคติที่ถูกผลิตซ้ำและเผยแพร่ออกไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งภาพเหมารวมเหล่านี้ไม่เป็นความจริง และสังคมควรมองชนพื้นเมืองเป็นเพื่อนร่วมชาติ เมื่อเขาเผชิญสถานการณ์คับขันก็ควรได้รับความดูแล

นพ.​โกมาตรกล่าวว่าในเชิงหลักฐานไม่มีข้อโต้แย้งอะไรอีกต่อไปแล้ว เหลือเพียงแต่เรื่องของมนุษยธรรมว่าจะมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาให้ชนพื้นเมืองหรือเปล่า และเป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามกับสังคมไทยว่าเราจะอยู่ร่วมกับชนพื้นเมืองอย่างผู้ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากันไหมในเมื่อเขายืนยันแล้วว่ามาตรการที่ภาครัฐพยายามเข้าไปกำหนดชีวิตเขาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล ทั้งนี้ไม่ใช่การมองว่าต้องละเว้นกฎหมาย แต่ในกรณีนี้ชัดเจนว่าการกระทำของรัฐทำไม่ได้ในทางกฎหมาย และการต่อสู้ทางกฎหมายมักจะยืดเยื้อและไม่ตรงตามเจตนาในการแก้ไขปัญหา ควรจะตั้งคำถามว่าเรามีมนุษยธรรมเพียงพอหรือไม่ในการตั้งใจแก้ไขปัญหา

นพ.​โกมาตรเสนอมาตรการระยะสั้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐพยายามออกมาตรการต่าง ๆ ที่คนชายขอบเข้าไม่ถึง เป็นการอนุญาตให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน ส่วนมาตรการระยะยาวจะต้องเป็นการขยายผลจากมติครม.​ที่หวังว่าจะทำให้ความหลากหลายทางชาติพันธ์ุดำเนินอยู่ได้อย่างมีความสุข

ด้าน มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ระบุว่าในเบื้องต้นต้องไม่มีการใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้นกับประชาชน ส่วนในระยะกลางต้องมีกลไกในการพูดคุยกันเพื่อหาทางออก 

มานพกล่าวว่ากรณีการอพยพชาวบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินเป็นกรณีที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าหน่วยงานบริหารจัดการทรัพยากรของไทยขาดความเข้าใจว่ามนุษย์กับป่าอยู่ด้วยกันมาตลอด มีการพึ่งพาอาศัยการ และเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบคิดการจัดการทรัพยากรของรัฐไทย 

นอกจากนี้มานพยังกล่าวว่าความล้มเหลวของรัฐไทยอีกอย่างคือการทำให้คนดั้งเดิมกลายเป็นคนอื่น เมื่อมีการจำกัดความหมายว่าความเป็นคนไทยเป็นแบบไหน คนไทยตามชายแดนก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เมื่อบวกกับระบบการศึกษาที่ผลิตซ้ำความเชื่อนี้ก็ทำให้คนในเมืองไม่เข้าใจคนชายขอบชายแดน ทำให้เกิดการปฎิบัติแบบที่เกิดกับชาวบ้านบางกลอย 

มานพกล่าวว่าในฐานะ ส.ส.​ ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ ตนได้มีการหารือประธานสภาไปที่นายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่หัวใจหลักคือเรื่องของสิทธิที่ดิน ในเมื่อรัฐสัญญากับชุมชนว่าจะมีการจัดสรรที่ดินให้ แต่กลับไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ได้ จึงถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย 

มานพเสนอว่าจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันระหว่างทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก และต้องมีมาตรการทางกฎหมายหรือมติครม.มารับรอง ไม่ใช่ว่าขึ้นกับว่าหัวหน้าอุทยานฯ จะใจดีแค่ไหน ต้องมีเครื่องมือระหว่างกลางเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ 

สำหรับในระยะยาว มานพ กล่าวว่าอยากจะให้สังคมเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ และอยากให้สังคมไทยช่วยกันจินตนาการถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จินตนาการถึงสังคมที่สันติสุขที่ยอมรับสิทธิชุมชน ความหลากหลาย โลกที่ทันสมัย โลกที่ไปไกลมากแล้ว เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดในรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี

ขั้นแรกสุดต้องไม่มีการจับกุม

ด้าน พฤ โอโดเชา เสนอเช่นกันว่าในขั้นแรกสุดต้องไม่มีการจับกุม ส่วนในด้านกฎหมาย มาตรการต่าง ๆ มันผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น มีการเอากฎหมายไปกดทับชาวบ้าน มีการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูก ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายมาคุ้มครอง แต่ถ้าสังคมไม่เข้าใจก็จะมีการไปกดดันรัฐให้มาทำร้ายชาวบ้าน จึงต้องมีการสร้างกฎหมายมารองรับชาวบ้านพร้อมกับสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน 

พฤกล่าวว่ารูปธรรมที่ชุมชนพยายามทำมานานแล้วคือมีการกำหนดเขตพื้นที่ป่าของชุมชน แบ่งย่อยเป็นพื้นที่ทำกิน ไร่หมุนเวียน นา สวน ซึ่งรัฐควรจะยอมรับวิถีองค์รวมแบบนี้ แต่รัฐมองเห็นแต่เรื่องเอกสารสิทธิ ไม่ได้สนใจว่าที่ดินอยู่ในเขตป่า อาณาเขตต่าง ๆ พัวพันกันจนชาวบ้านแทบอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องมีการปลดล๊อค แล้วมีเครื่องมือในการส่งเสริมศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง เพราะชาวบ้านมีต้นทุนอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่าจะย้อนกลับไปอยู่เหมือนสมัยโบราณ แต่อะไรที่ดีก็เอาไว้ สิ่งใหม่ที่ดีก็เอามา แต่ต้องไม่ทำลายของเก่า เช่นไม่ทำลายตัดตอนศักยภาพของชาวบ้าน ภาพรวมของกะเหรี่ยงทั้งหมดต้องการความมั่นคงทางกฎหมาย กติกา และสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยมากขึ้น 

นอกจากนี้พฤยังกล่าวว่าต้องการให้มีกลไกที่มีระดับสั่งการ สามารถสั่งการอุทยานฯได้ไม่ให้ดำเนินการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน 

ส่วนอภิสิทธิ์กล่าวว่าถ้ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาและคุ้มครองเพื่อรับรองว่าจะไม่มีการดำเนินคดีหรือการใช้ความรุนแรง ชาวบ้านก็คงกังวลน้อยลงและมีความหวังมากขึ้น ส่วนปัญหาเร่งด่วนตอนนี้คือเรื่องข้าวสารและยารักษาโรค เพราะช่วงนี้อากาศหนาวและเด็ก ๆ ที่อพยพขึ้นไปก็เป็นไข้หวัดกันอยู่

ล่าชื่อเสนอ กม.คุ้มครองวิถีชีวิตชนพื้นเมือง

สำหรับร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง ขณะนี้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) กำลังเปิดให้สาธารณชนร่วมเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้มีการรับสิทธิของชนพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างเป็นทางการและเพื่อให้ชนพื้นเมืองในประเทศไทยได้มีโอกาสแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ในช่วงต้นปี 2564 และร่างกฎหมายที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกฉบับซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการยกร่าง

โดยสุรพงษ์กล่าวว่าการที่มีการทำกฎหมายแบบนี้ไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษกับชนพื้นเมือง แต่เป็นการให้สิทธิให้เขาเท่ากับคนอื่น ไม่ใช่การเลือกปฎิบัติ โดยมีหลักการคือชนพื้นเมืองต้องมีสิทธิจัดการตัวเอง ต้องมีหน่วยงานรัฐมาประสานงานทำงานร่วมกัน และต้องมีกลไกในระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนให้ไปทิศทางเดียวกัน 

ทั้งนี้ ใน พ.ศ. 2550 รัฐบาลไทยได้ร่วมกับอีก 143 ประเทศลงนามรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง หรือ UNDRIP ซึ่งระบุสิทธิของชนพื้นเมืองไว้หลายประการ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน สัญชาติ และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองและมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของแหล่งที่มา และสิทธิในการไม่ต้องถูกบังคับให้ผสมกลืนกลายทางวัฒนธรรมหรือทำลายวัฒนธรรมของตน โดยรัฐจะต้องจัดหากลไกสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ ที่ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองต้องสูญเสียอัตลักษณ์หรือคุณค่าเชิงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ของพวกเขา สูญเสียความเป็นเจ้าของที่ดิน เขตแดน หรือทรัพยากร ถูกบังคับให้ผสมกลืนกลายหรือรวมพวกทางวัฒนธรรม หรือเมื่อมีการโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะที่ส่งเสริมหรือยุยงให้เกิดการเลือกปฎิบัติทางชนชาติต่อชนเผ่าพื้นเมือง

จนท.สำรวจสภาพป่าแก่งกระจาน จ่อพิสูจน์

ล่าสุด สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ว่ามีการสนธิกำลังกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยาน ทหาร และตำรวจเพื่อบินสำรวจสภาพป่าแก่งกระจาน อย่างไรก็ตาม ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอ้างว่าป็นปฏิบัติการปกติในการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ไม่ใช่การบินขึ้นไปเพื่อเจาะจงตรวจสอบชาวบ้านบางกลอย 

ต่อมา ในวันที่ 24 ม.ค. The Reporters รายงานว่าหลังการบินสำรวจ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานระบุว่าพบการบุกรุกแผ้วถางป่าที่บ้านบางกลอยบน 10 จุด ประมาณ 20 ไร่ โดยกำลังเตรียมการส่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์ทราบติดตามผู้กระทำผิด โดยหัวหน้าอุทยานฯ อ้างว่าต้องรักษากฎหมาย แต่จะหาทางพูดคุยกับชาวบ้านก่อนเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีแผนที่จะเสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอีกครั้งในการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมนี้ แม้จะถูกตีกลับมาแล้วสามครั้งโดยคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชนพื้นเมืองในพื้นที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาที่ดินทำกินและการละเมิดสิทธิว่าการประกาศเป็นมรดกโลกจะทำให้สถานการณ์ของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไขหรือเลวร้ายลงไปกว่าเดิม โดยสำนักข่าวชายขอบยังรายงานว่ามูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อวันที่ 22 ม.ค. เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีของชาวบ้านบางกลอยอีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net