Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ทวงถามการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง ทั้งที่แรงงานในระบบก็ต้องจ่ายภาษีเหมือนกัน แต่ถูกผลักให้เอาเงินสะสมใช้ยามชรามาใช้จากประกันสังคม เสนอตัดงบกองทัพและงบประมาณที่เกี่ยวข้องสถาบันกษัตริย์ที่ใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยมาเยียวยา

ภาพจาก iLaw

26 ม.ค. 2564 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยการเยียวยาต้องช่วยเหลือคนทุกกลุ่มรวมถึงคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ด้วย

เซีย จำปาทอง ปราศรัยว่า รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เลย ทั้งที่คนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็เสียภาษีเหมือนคนอื่นๆ แล้วก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยา และเมื่อกิจการปิดไปหลายเดือนแม้จะไม่ถูกให้ออกจากงาน เงินเยียวยาที่ได้รับจากประกันสังคมก็เป็นเงินของแรงงานเองที่นายจ้างเอาไปจ่ายให้กับประกันสังคม แต่เงินภาษีที่แรงงานก็ต้องเสียไปกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้เยียวยา

เซีย จำปาทอง ภาพจาก iLaw

เซียกล่าวอีกว่ายังมีคนที่ได้รับผลกระทบจากนายจ้างหยุดงานอีก เพื่อนแรงงานของเขาทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับโบนัสทั้งที่นายจ้างต้องจ่ายตั้งแต่ปีที่แล้ว เงินเดือนก็เลื่อนออกไม่ออกตามกำหนด คนที่เกษียณไปแล้วยังไม่ได้รับเงินชดเชยกเลยก็มี รัฐบาลก็สามารถดูข้อมูลที่กระทรวงแรงงานได้ว่ามีกิจการที่ปิดกิจการชั่วคราวตามมาตตรา 75 อยู่เท่าไหร่ วันนี้จึงมาทวงถามรัฐบาลถึงการเยียวยาที่แรงงานควรจะได้จากส่วนอื่นด้วยรัฐบาลไม่ควรผลักภาระให้แรงงานไปเอาเงินจากกองทุนประกันสังคมที่แรงงานเก็บออมไว้ใช้ยามชราภาพและยามว่างงาน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 รัฐบาลไม่ได้พูดชัดเจนว่าผู้ที่ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับการเยียวยาหรือไม่ มีเพียงแต่ว่าให้ไปลงทะเบียนแล้วก้จะดูว่าบัยชีธนาคาร ฉะนั้นการเยียวยาครั้งนี้ของรัฐบาลก็จะเป็นเพียงการเยียวยาแบบขอไปที ทั้งที่เงินในกองทุนประกันสังคมขณะนี้มีมากมาย

สมยศกล่าวว่า เงินกองทุนประกันสังคมที่ตอนนี้มีนายจ้างและลูกจ้างจ่ายอยู่ ที่จริงแล้วรัฐบาลต้องสมบทบด้วยเป็นเงินกองทุนที่มีการสมทบจากสามฝ่ายแต่ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้มาสมทบด้วยทำให้กองทุนนี้มีเพียงผู้ที่มีภาระต้องจ่ายเพียงแค่สองฝ่ายคือนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนั้นกองทุนนี้มีเงินทุนอยู่ 2 ล้านล้านบาท แต่มีรายได้จากที่กองทุนไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และปล่อยกู้มีเงินถึง 50,000 ล้านบาท ดังนั้นเงินเยียวยานี้ใช้แค่กำไรที่ได้มจากการลงทุนพอจ่ายให้ถ้วนหน้าได้

สมยศยังเสนออีกว่า ถ้ารัฐบาลไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหนก็ยังมีงบประมาณที่เสียไปอย่างฟุ่มเฟือยกับกระทรวงกลาโหมในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ถึง 1 แสนล้านบาท ตัดมาสามารถจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทถ้วนหน้าได้ไปถึง 6-7 เดือน และหากลดจำนวนนายพลลงครึ่งหนึ่งในส่วนของกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานอะไรออกไปก็สามารถลดค่าใช้จ่ายได้แน่นอน

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ภาพจาก iLaw

สมยศเสนอต่อว่ายังไม่พอก็ยังมีเงินในส่วนที่เอาไปใช้กับสำนักพระราชวังด้วยอีก 1แสนล้านบาท หากตรวจสอบก็จะพบว่ามีการใช้เงินไปทิ้งไว้เปล่าๆ เช่น กำลังพลที่โอนไป 2 กองพันบุคลากรกว่าหมื่นคนที่ต้องจ่ายเงินเดือนให้ หากมีการตรวจสอบจริงๆ ก็จะเห็นว่ามีการใช้งบประมาณไปอย่างฟุ่มเฟือยเต็มไปหมด

สมยศกล่าวอีกว่าเงินเยียวยาที่ผ่านมาเป็นการเยียวยาแบบขอไปที หากมีการเยียวยาถ้วนหน้าก็จะเป็นหลักประกันความเท่าเทียมและไม่ต้องมาลำบากกันแบบนี้ และเงินเยียวยาเหล่านประชาชนก็ไม่ได้เอาไปฟุ่มเฟือยแต่เป็นการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันซื้ออาหารรับประทานเศรษฐกิจฐานล่างก็จะได้ขยับและเดินหน้าไปได้ การมาที่นี่จึงเป็นการมาถามถึงเงินที่พวกเขาเก็บสะสมไว้ในกองทุนประกันสังคมและการจ่ายเงินถ้วนหน้าทุกคนก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันหมดไม่ว่าสื่อมวลชนที่มาทำข่าวหรือแม้กระทั่งตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้ด้วย

ธนพร วิจันทร์ ภาพจากไลฟ์ของ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลมีความว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ “เราชนะ” ที่ให้จ่าย 3,500 บาท 2 เดือน แต่กลับไม่ให้เป็นเงินสดแต่จะโอนผ่านแอพพลิเคชั่นจนครบ และรัฐบาลยังมีวิธีคิดต่อประชาชนว่าจะเอาเงินเยียวยาไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทั้งที่ประชาชนมีความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า เช่น ค่าเช่าบ้าน ใช้หนี้ ซึ่งเห็นได้ว่าวิธีการของรัฐบาลมีลักษณะเป็นเผด็จการไม่สนใจให้ประชาชน และการเยียวยารอบ 2 นี้ก็ยังทิ้งคนกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน ซึ่งมีทั้งคนที่ทำงานอยู่ตามโรงงาน ภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการเยียวยาแรงงานกลุ่มนี้ด้วย

อีกทั้ง รัฐบาลยังผลักไปให้ใช้เงินกองทุนประกันสังคมที่รอบแรกจ่าย 62 % และรอบสอง 50% และพวกเขายังอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานและถูกละเมิดสิทธิด้วยเพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจที่มีการปิดกิจการชั่วคราวที่ไม่เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 โดยตรงพบว่าหลายบริษัทมีการปรับโครงสร้างลดต้นทุนโยนภาระให้ลูกจ้างไปใช้เงินทดแทนการว่างงาน 75% และรัฐบาลควรจะต้องจ่ายเพิ่มให้ครบ 100% ไม่ว่ากรณีใดทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้และสวัสดิการ

นอกจากนั้นยังมีหลายกรณีที่นายจ้างมีการลดค่าจ้าง ลดโอที ลดเงินเดือน และเมื่อลูกจ้างที่ตกงานแล้วอยู่ในช่วงเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานนอกระบบก็เป็นช่องว่างที่ทำให้ไม่ได้รับเงินเยียวยา หลายรายถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม มีการไม่จ่ายเงินค่าจ้างค่าชดเชย เป็นภาระลูกจ้างต้องไปฟ้องศาลเองทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้น

เครือข่ายฯ ต้องการให้รัฐใช้หลักคิด ถ้วนหน้าเท่าเทียม ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขยุ่งยาก ไม่ต้องลงทะเบียน ผู้ใช้แรงงานทุกถภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งของรัฐ แรงงานทุกภาคส่วนรวมถึงแรงงานข้ามชขาติต้องได้รับการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ถ้างบไม่เพียงพอต้องนำงบกองทัพและสถาบันกษัตริย์ที่ใช้เงินฟุ่มเฟือยและเพิ่มฐานความมั่งคั่งให้เศรษฐี มาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้า

ธนพรกล่าวก่อนยุติการชุมนุมว่า จะมีการติดตามความคืบหน้าจากรัฐบาลว่าจะมีการทำตามข้อเรียกร้องหรือไม่อีกครั้งในวันที่ 29 ม.ค.2564 ที่กระทรวงการคลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net