Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ว่าด้วยข้อดีข้อเสียของการแจก การสงเคราะห์ วิเคราะห์ประเด็นทางอำนาจการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางชนชั้นด้วยการให้-แจก รวมทั้งศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมและการพึ่งพาอาศัย พร้อมข้อเสนอปัญหาเชิงโครงสร้าง

คลิปวิดีโอที่ ‘พิมรี่พาย’ ถ่ายทอดการทำกิจกรรม ณ หมู่บ้านแม่เกิบ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วกรณีคลิปวิดีโอของ ‘พิมรี่พาย’ หรือ พิมพ์พรรณ สรัลรัชญ์ เน็ตไอดอลชื่อดังที่ได้ถ่ายทอดการทำกิจกรรม ณ หมู่บ้านแม่เกิบ ตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยกล่าวว่าหมู่บ้านแม่เกิบไม่มีไฟฟ้าใช้ เด็กๆ ไม่มีความฝันรวมทั้งไม่มีอาชีพที่อยากทำ เนื่องจากไม่รู้จักโลกและห่างไกลจากความเจริญ ชาวบ้านนั้นอยู่ราวกับเป็นมนุษย์ถ้ำ ที่ได้แต่ถางป่าถางเขาเป็นลูกๆ จึงได้นำเงินกว่าห้าแสนบาทใช้ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สร้างแปลงปลูกผัก รวมทั้งนำสิ่งของไปแจกจ่ายให้แก่เด็กๆ บนดอย โดยหวังว่าการกระทำดังกล่าวจะช่วยเปิดประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้มากขึ้น

เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับจากสังคมเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายแง่มุม ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการผู้มีผลงานด้านวิชาการออกมาอย่างต่อเนื่องและทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมาอย่างยาวนาน จุดประเด็นที่ทำให้สังคมได้ร่วมกันถกเถียงในแง่มุมที่ซับซ้อนและเข้มข้น โดยประเด็นต่างๆ จะได้รับการอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนขึ้นผ่านการสัมภาษณ์ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ศึกษาทำความเข้าใจ และสร้างลูกคลื่นของการถกเถียงต่อไป

การให้-แจก ข้อดี Safety Valve ข้อเสียเป็นการเลี้ยงไข้

สำหรับประเด็นการแจกของนั้น ปิ่นแก้ว กล่าวว่า มันเป็นการให้แบบหนึ่ง ในทางสังคมศาสตร์เรียกว่าการแบ่งปันใหม่หรือการกระจายซ้ำ (redistribution) ซึ่งเป็นแบบแผนปฏิบัติทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งในสังคม สะท้อนให้เห็นว่าสมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การให้โดยเฉพาะในสภาวะที่วิกฤต ทำหน้าที่ช่วยให้สังคมสามารถประทังตนเองต่อไปได้โดยไม่ระเบิด ดังนั้นเราจึงพบว่าในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ช่วงโควิดที่ผ่านมา การให้จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในภาวะที่รัฐไม่ทำงานหรือขาดประสิทธิภาพ การให้ในหมู่ประชาชนด้วยกันเองเป็น safety valve ที่จะทำให้สังคมมัน function หรือเดินไปได้ การแบ่งปันใหม่หรือการกระจายซ้ำทรัพยากรจากคนที่ร่ำรวยกว่า อาจช่วยให้คนหมู่มากซึ่งเป็นคนจนสามารถอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ปิ่นแก้ว ชี้ว่า การให้หรือการแจกนั้น แม้จะช่วยประทังวิกฤต แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหารากเหง้าของวิกฤตการณ์ การให้ของชนชั้นกลางต่อคนจนในช่วงโควิดนั้นอาจช่วยประทังและต่อชีวิตคนที่ไม่มีงานทำ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้แก่การที่คนไม่สามารถที่จะเข้าถึงงานได้

"คำถามข้อแรกคือแจกเท่าไหร่จึงจะพอ คำถามข้อสองคือ แจกอะไรจึงจะเป็นการแก้ปัญหา ดังนั้นการแจกของบนดอยอาจจะเป็นการประทัง ทำให้พวกเขาสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่ยากลำบากแต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่รากของปัญหา ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้ว"

ทั้งนี้ ปิ่นแก้ว ย้ำถึงข้อดีและข้อเสียของการให้ว่า ข้อดีเป็น safety valve ประเภทหนึ่งซึ่งจะทำให้สังคมมันไม่เกิดการจลาจล ไม่ทำให้เกิดการลุกขึ้นมาของกลุ่มคนที่ทนไม่ไหวกับการที่ชีวิตตนเองอยู่รอดไม่ได้ แต่ข้อเสียคือถ้าเราพึ่งพาการแจกเป็นเพียงหนทางเดียวของการแก้ปัญหา เป็นการเลี้ยงไข้ เป็นการทอดปัญหาที่แท้จริงให้มันยาวออกไปโดยไม่มีการขุดรากให้เห็นว่ารากของปัญหามันคืออะไร การประทังปัญหาในแง่หนึ่งเป็นการช่วยก็จริง แต่อีกแง่หนึ่ง ถ้าสังคมพึ่งพาการประทังชีวิตด้วยการให้ไปเรื่อยๆ เท่ากับเป็นการกลบเกลื่อนรากที่แท้จริงของปัญหา สังคมพึ่งพาการให้ได้ ในฐานะที่เป็นกลไกชนิดหนึ่งซึ่งทำให้สังคมสามารถดำเนินไปได้ แต่เราก็ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า เราไม่อาจพึ่งพาการให้อย่างเดียวเป็นทางออกของการแก้ปัญหา การให้ที่ถูกทำให้เป็นทางออกของการแก้ปัญหา เป็นการหล่อเลี้ยงปัญหาเอาไว้รอเวลาที่ปัญหาใหญ่จะประทุขึ้นมา

มิติทางอำนาจ การผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางชนชั้นด้วยการให้-แจก

ปิ่นแก้ว อธิบายว่า การช่วยเหลือ การสงเคราะห์ หรือการให้มีฐานคิดมาจากพุทธศาสนา คนไทยให้กับพระผ่านการทำบุญ ในขณะที่ในสังคมทั่วไป หากพูดกันในระดับหมู่บ้าน การทำทาน หรือการให้กับคนยากคนจนของคนร่ำรวยในหมู่บ้านเป็นการสะสมบุญชนิดหนึ่ง เพราะคนไทยไม่ได้ทำบุญกับพระเพียงอย่างเดียวแต่ทำบุญกับคนยากคนจนมาโดยตลอด การทำบุญประเภทนี้ไม่ใช่การสะสมบุญอย่างเดียวแต่เป็นการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘social prestige’ คือการสร้างบารมี การสร้างเกียรติของผู้ให้ด้วย ดังนั้นการให้ทานของคนรวยในสังคมหมู่บ้านจึงเป็นการสร้างบารมีและการสร้างอำนาจชนิดหนึ่ง

แต่การทำบุญ ก็ไม่ได้เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ปราศจากมิติทางอำนาจหรือมิติทางการเมือง งานศึกษาทางมานุษยวิทยาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการทำบุญของคนรวยในหมู่บ้านเป็นกระบวนการที่ผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ให้และผู้รับ ซึ่งหากจะพูดให้ตรงกว่านั้นคือมันเป็นการผลิตซ้ำความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่ผู้ซึ่งร่ำรวยทำหน้าที่ในการให้เพื่อที่จะอุปถัมภ์ผู้ซึ่งอยู่ในที่ที่ยากจนกว่า ในขณะที่คนจนในหมู่บ้าน ก็อาจจะเรียกร้องให้คนรวยทำหน้าที่ของตนในการแบ่งปันทรัพยากรให้กับคนที่ไม่มี เพราะไม่มีใครร่ำรวยขึ้นมาด้วยตนเอง ชนชั้นเจ้าที่ดินร่ำรวยได้ ก็ด้วยแรงงานของชาวนาเช่า ในช่วงที่ข้าวยากหมากแพง การขู่ของคนจนที่จะปล้น หรือขโมยข้าวคนรวยของชาวนายากจน จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงพันธะที่ชาวนารวยพึงมีต่อชาวนาจน เป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ (Weapons of the weak) ที่คนจนใช้มันเป็นเครื่องมือคัดง้างกับคนรวย อันเป็นคำที่ Katherine Bowie ยืม James C. Scott มาใช้ในงานศึกษาการเมืองของการให้ทานในหมู่บ้านภาคเหนือ  การให้ทาน จึงเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่แม้จะพึ่งพาแต่อยู่ในความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม การให้และการทำบุญจึงเป็นอุดมคติหรืออุดมการณ์ที่ถูกตีความที่ต่างกันในชนชั้นที่ต่างกัน และไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถมองแยกออกจากบริบทของความสัมพันธ์ทางสังคมได้

ในทำนองเดียวกัน สำหรับคนรวย หรือชนชั้นกลางในเมือง การให้มักถูกมองว่าเป็นความสัมพันธ์ทางเดียวที่คนในเมือง ช่วยคนในชนบทหรือคนบนดอย และดังนั้นจึงผลิตซ้ำความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองกับชนบท  แต่ความเชื่อนี้ ไม่เป็นความจริงเสมอไป สิ่งที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงคือ คนบนดอยเอง ก็ทำหน้าที่ในการให้กับคนในเมืองด้วยเช่นกัน และด้วยตรรกะที่แตกต่างจากการให้ของคนในเมือง 

“ในช่วงโควิดที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนร่ำรวยให้คนจนอย่างเดียว แต่สิ่งที่เห็นคือคนบนดอยเอาข้าวของลงมาแจกให้คนเมือง คนม้งขนกะหล่ำปลีจำนวนมากลงมาให้คนข้างล่าง คนกะเหรี่ยงขนข้าวลงมา คนอมก๋อยขนมะเขือเทศลงมาให้คนเมืองที่กำลังตกอยู่ในสภาวะลำบาก เหล่านี้ เป็นข่าวเล็กๆ ที่ไม่ถูกพูดถึง เวลาคนบนดอยเหล่านี้ให้เหตุผลที่เอาของมาให้คนในเมือง ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ไหนเลยบอกว่าเขาลงมาทำบุญ คน ม้งบอกว่าเขาเอากะหล่ำปลีลงมาให้เนื่องจากคนในเมืองซื้อผลิตภัณฑ์ของเขามาตลอด คนกะเหรี่ยงบอกว่าช่วงที่เกิดปัญหาหมอกควันและคนบนดอยถูกประนามว่าเผาป่าสร้างปัญหาหมอกควัน เขาก็พยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการดับไฟป่า แต่เครื่องมือไม่พอ ในช่วงนั้นจึงมีการระดมบริจาคเงินและบริจาคข้าวของไปช่วยคนบนดอยดับไฟ เมื่อมีโอกาส คนบนดอยเหล่านี้จึงเอาข้าวและอื่นๆ ลงมาให้ เขาให้สัมภาษณ์ว่าต้องการที่จะตอบแทนสมัยที่คนในเมืองเคยส่งของไปช่วยเขาดับไฟ หรือกะเหรี่ยงบางคนเคยได้รับการสงเคราะห์จากคนข้างล่าง เช่น สมุด ดินสอ เขาจึงอยากช่วยกลับด้วยของที่เขามีอยู่”

ปิ่นแก้วชี้ให้เห็นว่า ในทัศนะของผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า หรือพวก subalterns เวลาให้ พวกเขาคิดจากฐานของ reciprocity การให้ต่างตอบแทน เธอให้ฉัน ฉันก็รับ และเมื่อมีโอกาสฉันก็ให้กลับ เนื่องจาก reciprocity เป็นความสัมพันธ์ที่เสมอภาค การขนของลงมาให้นั้นอยู่บนฐานคิดที่เท่าเทียม เป็นการให้บนความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน เพราะเคยได้รับมาจึงให้คืนมา ไม่ใช่การทำบุญ ปิ่นแก้วเตือนว่าการทำบุญเป็นการตัดภาพความสัมพันธ์ที่คนพื้นราบพึ่งพาคนข้างบนออกอย่างสิ้นเชิง เป็นการให้ทางเดียว สร้างความสัมพันธ์เชิงบุญคุณ เป็นการสะสมบารมีของผู้ให้ในขณะที่ผู้รับอยู่ในภาวะที่ต่ำกว่าเสมอ แต่การให้ของคนบนดอยที่คนไม่ค่อยได้ยินไม่ค่อยรู้กันเนื่องจากสื่อมักจะไม่ได้นำออกมา ซึ่งจริงๆ แล้วคนบนดอยก็ให้กับคนข้างล่างมาโดยตลอด ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

“การให้ของคนบนดอยต่อคนในเมืองในกรณีวิกฤตโควิด เป็นการให้ทางตรง แต่ทางอ้อมคือคนที่อยู่บนดอยรักษาป่าเอาไว้ให้คนข้างล่าง รวมถึงบรรดาพืชผลที่คนบนดอยปลูกและนำมาขายราคาถูก ดังนั้นจุดที่อยากจะชี้คือการให้ผ่านอุดมการณ์ที่ว่าด้วยเรื่องการทำบุญนั้น เป็นการปิดบังข้อเท็จจริงความสัมพันธ์ของคนรวยกับคนจน คนพื้นราบกับคนบนดอยมาโดยตลอด จึงต้องตระหนักว่ากลุ่มทางสังคมไม่ได้อยู่กันโดดๆ เราอยู่บนการพึ่งพาซึ่งกันและกันไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม”

ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมและการพึ่งพาอาศัย หลักการให้ที่ควรคำนึงถึง

ปิ่นแก้ว เสนอว่าการให้จากคนกลุ่มหนึ่งสู่คนอีกกลุ่มหนึ่งควรดำเนินไปบนหลักการอย่างน้อยสองหลักการด้วยกัน  ประการที่หนึ่ง ต้องอยู่บนฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีที่เท่ากัน ไม่เอาทัศนคติที่บ่อยครั้งไม่วางอยู่บนฐานของความจริงเนื่องจากเรารู้จักเขาไม่พอ ไปตัดสินกลุ่มคนที่เราให้ และประการที่สอง ทำอย่างไรจะทำให้การให้อยู่บนความสัมพันธ์ทางสังคม ที่ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเราพึ่งพาคนที่เราให้เสมอ ปิ่นแก้วกล่าวว่าส่วนตัวเวลาซื้อพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดงไม่เคยคิดว่าเป็นการทำบุญ ไม่เคย justify  การให้บนฐานคิดที่ว่ากำลังทำความดี  หรือเป็นคนดี  แต่เพราะชนชั้นกลางในเมืองนั้นพึ่งพาคนจนเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพราะแรงงานของพวกเขา ชนชั้นกลางจึงสามารถอยู่ได้ พวกเขาสร้างเศรษฐกิจและการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าด้วยค่าตอบแทนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน มีระบบสวัสดิการที่แย่เมื่อเทียบกับคนซึ่งมีสถานะที่ดีกว่า เรามีสถานะที่ดีกว่าเพราะบริการที่คนเหล่านี้ให้ สภาพชีวิตที่ย่ำแย่ทางเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นสิ่งที่ค้ำจุนให้คนสถานะที่ร่ำรวยกว่าอยู่ได้

“การให้ควรจะดำเนินไปบนการตระหนักรู้อย่างน้อยสองหลักการที่กล่าวมา คือหนึ่งปฏิบัติกับเขาแบบมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่มองเขาเป็นพวกด้อยพัฒนา มนุษย์ถ้ำ ไร้ซึ่งความฝัน เป็นผู้ซึ่งทำมาหากินไม่เป็นแล้วเราต้องไปสอน นี่สะท้อนการมองมนุษย์ที่ต่ำกว่า และสองคือเราต้องตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาว่าผู้ซึ่งเราให้บางทีเขาอาจจะเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับเราด้วยซ้ำไป เป็นผู้ให้บริการแก่สังคมโดยที่ตัวเองถูกขูดรีด คนบนดอยมีหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยที่ลงหลักปักฐานมาเป็นระยะเวลานาน ทำมาหากินในระบบเกษตรที่สัมพันธ์กับการใช้พื้นที่ป่า คอยเฝ้าระวังไฟป่าให้กับผู้คน ตอนต้นปีที่แล้ว ถ้าอ่านข่าวดับไฟป่าจะเห็นว่าผู้ที่เสียชีวิตจากการเสี่ยงเข้าไปดับไฟป่าจำนวนไม่น้อยเป็นคนบนดอย มีหลายเคสที่เป็นผู้หญิง คนเหล่านี้คือด่านหน้าที่เข้าไปช่วยปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้สังคม”

ปิ่นแก้ว ย้ำว่า การผลิตซ้ำภาพลักษณ์ว่าชาวเขาน่าสงสารไม่มีอนาคตเป็นการปิดปังข้อเท็จจริงว่าเขาทำอะไรให้แก่สังคมบ้าง เราพึ่งพาคนเหล่านี้อย่างไรบ้าง มิติความสัมพันธ์แบบนี้ ควรมีที่ทางในการทำงานสงเคราะห์ เนื่องจากที่ผ่านมากิจกรรมสงเคราะห์มักมีแต่มิติการให้ ไม่เคยแสดงให้เห็นถึงมิติของความสัมพันธ์ระหว่างคนในเมืองกับคนในป่า ว่าสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง เหตุใดรัฐจึงทอดทิ้งคนเหล่านี้ เธอคิดว่าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่การทอดทิ้ง แต่เป็นการเบียดขับชนเผ่าพื้นเมืองออกจากการเป็นพลเมืองของสังคมไทย พร้อมทั้งย้ำว่าประเด็นที่มันใหญ่มากๆ เหล่านี้ไม่ถูกทำให้มีพื้นที่ในกิจกรรมการสงเคราะห์หรือกิจกรรมการให้  ผลก็คือ คนชนชั้นกลางจะไม่สามารถมองเห็นได้ว่า สิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงที่อมก๋อย กับกะเหรี่ยงที่บางกลอยเผชิญ มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือการไม่เคยถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย รากฐานของการไม่มี คือการปราศจากสิทธิของความเป็นพลเมือง

วิธีทางการเมืองเพื่อความเป็นประชาธิปไตย

ปิ่นแก้วตั้งข้อสังเกตว่า ในการเมืองของการให้กรณีพิมรี่พายนั้น กลุ่มชาติพันธุ์บนดอยถูกวาดภาพให้เป็นมนุษย์ถ้ำ ถูกวาดภาพให้ไม่รู้จักกระทั่งไข่เจียว ปลูกผักไม่เป็น ถางป่าเป็นลูกๆ ไม่มีกระทั่งความฝัน รอคอยการมาให้จากกลุ่มคนในเมือง ไม่ต่างไปจากภาพลักษณ์ของภารกิจของคนขาวที่มีต่อชนพื้นเมือง อันเป็นการประกอบสร้างที่ปราศจากคำถามหรือข้อโต้แย้งใดๆ จากฝ่ายที่เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย

“เราจะทำประชาธิปไตยกันแบบนี้หรือ นี่คือคำถามของดิฉัน เราจะใช้กลุ่มชาติพันธุ์ การสร้างภาพลักษณ์ให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นพวกล้าหลัง ปราศจากความรู้ ทำลายป่า ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่รัฐสร้างให้คนเหล่านี้มาโดยตลอด การยอมรับโดยปราศจากคำถาม เทา่กับ endorse รับรองและผลิตซ้ำวาทกรรมเหยียดคนชาติพันธุ์เพียงเพื่อที่จะใช้ในการดิสเครดิตว่ารัฐล้มเหลว  ตรรกะที่ใช้มองเผินๆ อาจเห็นว่าเอามาใช้โจมตีรัฐ แต่เอาเข้าจริง กลับเป็นการยืนยันรับรองตรรกะของรัฐที่ใช้ในการเบียดขับกลุ่มชาติพันธุ์นั่นเอง มันจึงไม่ใช่เป็นการบ่อนเซาะอำนาจของรัฐแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ  การเมืองประเภทนี้ ยังเป็นการเมืองการสร้างประชาธิปไตยของชนชั้นกลางที่เหยียบกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นเป็นบันได ไม่มีที่ทางให้กับกลุ่มชนเหล่านี้ มันจึงไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

บทบาทของนักวิชาการ และอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน

ปิ่นแก้วไขข้อข้องใจในฐานะนักวิชาการที่พยายามทำงานวิจัยให้กลุ่มคนชายขอบได้มีสิทธิมีเสียงในสังคมมาโดยตลอด เพราะเหตุใดความเจริญยังคงไม่เข้าถึงหลายพื้นที่ในประเทศไทย แม้จะมีนักวิชาการที่คอยทำวิจัยหนุน

“ปัญหาเป็นเรื่องเหตุใดรัฐจึงเลือกที่จะไม่ฟังงานวิชาการที่มุ่งสร้างเสริมสิทธิให้คนชายขอบ? อย่างเรื่องไร่หมุนเวียน ดิฉันทำมาโดยตลอด ทั้งเป็นธีสิสและงานวิจัยที่ต่อเนื่อง งานวิจัยเรื่องไร่หมุนเวียนที่เคยทำร่วมกับทาง NGO และทำกับอาจารย์คณะวนศาสตร์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ทำออกมาแล้วเราก็รณรงค์ รวมทั้งเอาผลวิจัยไปเสนอให้กับรัฐ เชิญหน่วยงานป่าไม้มา แต่ไม่มีใครฟัง ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่างานศึกษาจำนวนมากมันไม่ถูกยอมรับ ไม่ถูกนำไปใช้โดยหน่วยงานราชการไทย ราชการไทยเป็นรัฐที่ไม่เคยวางนโยบายจากการใช้งานวิชาการด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา งานด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะที่วิพากษ์นโยบาย และเสนอนโยบายทางเลือก ถูกเอาไปใช้น้อยมาก ต่างไปจากงานวิชาการกระแสหลักที่มุ่งรับใช้รัฐ”

ปิ่นแก้วตอบคำถามที่ว่า ผู้คนมักจะบอกว่างานวิชาการอยู่บนหอคอยงาช้าง อยู่บนหิ้งนั้น  งานวิชาการมีมิติที่แตกต่างกัน  งานวิจัยที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับรากหญ้ามีอยู่จำนวนไม่น้อย ทำแล้วมีการเอาไปเสนอ เอาไปจัดสัมมนาเชิญหน่วยงานราชการมาฟัง แต่ว่าไม่เคยถูกเอาไปใช้ เพราะรัฐไม่เปิดรับช่องทางเหล่านี้ เธอชวนทุกคนตั้งคำถามใหญ่ว่า ควรทำอย่างไรที่จะมีวิธีกดดันให้รัฐนำงานวิจัยที่มันวิพากษ์รัฐไปใช้ได้ ในปัจจุบันยิ่งค่อนข้างไร้ความหวัง การให้ทุนของรัฐบาลต่อการวิจัยเป็นการให้ทุนเพื่อสนับสนุนนโยบาย มันสะท้อนภาวะอำนาจที่รัฐมีต่อการครอบงำวงการวิชาการ ผนวกรวมเอาสถาบันวิชาการเข้าเป็นส่วนขยายของรัฐ

“หากจะถามว่างานที่ดิฉันทำไร่หมุนเวียนเคยเอาไปใช้ในการช่วยชาวบ้านไหม ก็พยายามทำมาโดยตลอด เคยไปขึ้นศาล เคสที่อมก๋อย บ้านแม่อมกิ เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่ชาวบ้านโดนเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับข้อหาตัดไม้ทำลายป่า ทางกลุ่มทนายสิทธิ ก็ขอให้ดิฉันซึ่งเป็นนักวิชาการไปขึ้นศาลเป็นพยาน ก็เอางานวิจัยไปให้ศาลได้อ่านและได้รับฟัง ซึ่งศาลชั้นต้นก็พิพากษาไปในแนวทางที่ชาวบ้านก็ไม่ต้องติดคุก และในคำพิพากษาเองก็ได้ระบุถึงเนื้อหาในงานวิจัยด้วย นี่คือสิ่งที่ทำได้ใน capacity ที่นักวิชาการจะทำได้ ถ้าใครขอให้ช่วยทำงานเพื่อที่จะคัดง้างหรือให้ข้อมูลกับสาธารณะ ดิฉันก็ทำมาโดยตลอด ดิฉันเชื่อว่านักวิชาการสายก้าวหน้าก็ทำแบบนี้”

ปิ่นแก้วย้ำว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาที่ใหญ่มากและเรียกร้องความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้ง NGO นักวิชาการ ชาวบ้านในพื้นที่ และชนชั้นกลาง มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับทัศนคติที่คนมี อัยการที่ตนเคยขึ้นศาลด้วยเองก็พูดอยู่เพียงว่าชาวบ้านเหล่านี้ตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมันเป็นวิธีคิดที่ไม่ต่างไปจากทัศนคติที่ชนชั้นกลางมีต่อคนบนดอย ปัญหามันจะได้รับการแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนความคิดที่เรามีกับคนบนดอย ถ้าเราเลิกผลิตซ้ำวาทกรรมชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า อยู่ในที่ๆ ผิดกฎหมาย ตั้งคำถามว่าทำไมหลายพื้นที่จึงยังอยู่ในสภาพนั้น ทำไมรัฐจึงไม่เอาบริการและสาธารณูปโภคเข้าไป เหตุใดจึงอพยพพวกเขาออกมาจากป่าที่เขาอยู่มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ เหตุใดจึงเผาบ้าน เผายุ้งข้าวของพวกเขา ดังในกรณีบางกลอย เหตุใดพวกเขาจึงไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ถูกตัดขาดจากการเป็นสมาชิกสภาพของสังคมไทย การทำความเข้าใจสภาพชีวิตของเขาให้มันถูกต้องเสียก่อน จึงมีความสำคัญอย่างมาก การให้ จึงจะเป็นการให้ที่มีคุณภาพ เป็นการให้ที่ไม่สร้างปัญหาหรือภาระในเวลาต่อมา และเป็นการให้ที่เป็นการให้การศึกษาแก่สังคม และเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ร่วมแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการเป็น Active Citizen

ปิ่นแก้วย้ำว่าตนไม่ได้ปฏิเสธการให้เนื่องจากมันเป็น safety valve ชนิดหนึ่ง แต่การให้ที่เป็นการให้ที่ออกสื่อสาธารณะ เราควรทำบนฐานของการเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่เราให้ จะให้อย่างไร ที่กระทำบนการตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่เสมอกัน จะให้อย่างไร จึงจะไม่ผลิตซ้ำทัศนคติที่วางอยู่บนความเหนือกว่าทางชาติพันธุ์ และจะให้อย่างไร จึงจะไม่สร้างเสริมตรรกะของรัฐที่ใช้ในการเบียดขับชนกลุ่มน้อย

ปิ่นแก้วเสนอว่า แม้ว่าปัจเจกบุคคลจะไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายที่จะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ทุกคนที่เป็นสมาชิกของสังคม สามารถเป็น active citizen ร่วมกันเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นได้ด้วยการเปิดกว้างและรับฟังเสียงของคนกลุ่มน้อย เปิดกว้างที่จะรับฟังปัญหา เปิดกว้างที่จะเข้าใจสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ของเขา ความไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับ และอื่นๆ อีกมากมาย

“เวลามีการระดมความช่วยเหลือ ระดมการป้องกันเชิงโครงสร้าง เราต้องร่วม เช่นตอนนี้มีการพยายามผลักดันกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองขึ้น ซึ่งมันก็จะเป็นแพลตฟอร์มแรกๆ ที่จะทำให้คนเหล่านี้มีอำนาจมีสิทธิ์ในสังคมขึ้นมาได้ ก็ต้องเข้าไปอ่านและร่วมสนับสนุนกฎหมายที่เป็นประโยชน์เหล่านี้  ตอนนี้ชาวกะเหรี่ยงในที่ต่างๆ มีการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่รัฐขับไล่ออกจากบ้านเกิดในป่า แล้วอยู่ไม่ได้ ตัดสินใจเดินทางกลับหมู่บ้าน และต้องเผชิญกับอำนาจการกดดันจากรัฐ  ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่งในสังคม เราสามารถร่วมช่วยเหลือพวกเขาได้  การให้แบบนี้ เป็นการสนับสนุนให้พวกเขาสามารถมีกำลังในการยืนหยัดที่จะมีชีวิตในท่ามกลางการกระทำของรัฐ การให้ประเภทนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งชนชั้นกลางสามารถที่จะช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขาได้”

สำหรับปิ่นแก้วแล้ว ดีเบตเรื่องไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อมก๋อยที่ตนเป็นผู้จุดประเด็นขึ้นนั้น ก็เพื่อชี้ชวนให้เกิดการถกเถียง เปิดให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่มากไปกว่าการขาดแคลนสาธารณูปโภค ซึ่งผ่านไปเพียงไม่กี่อาทิตย์ กรณีของกระเหรี่ยงบ้านบางกลอย ก็ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงรากเหง้าของปัญหาอันหนักหน่วงที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเขตป่าต้องเผชิญ คำถามสำคัญจึงได้แก่ การให้ของชนชั้นกลางในเมือง อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ใด ในห้วงเวลาของวิกฤตการณ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์บนดอยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

นันท์พนิตา สุขิตกุลพฤทธิพร ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงชิ้นนี้ เป็นบัณฑิตศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาจิตวิทยา จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net