ตร.จัดชุดระวังความปลอดภัยให้ 'ฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย' เฝ้าเหมือง หลังเหตุยิงปืนข่มขู่

ผกก.วังสะพุงจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าระวังความปลอดภัยนอนเป็นเพื่อนชาวบ้านและนศ.ยาวจนถึงวันที่ 31 ม.ค.นี้ ก่อนจะพิจารณาเฝ้าระวังต่อจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัย ผู้ต้องหายิงปืนข่มขู่นักปกป้องสิทธิฯกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย  , นักศึกษา และไผ่ดาวดิน ยังปฏิบัติหน้าที่ในอำเภออยู่ ขณะที่นายอำเภอวังสะพุงเผยต้องตั้ง คกก.สอบสวนความผิดให้ชัดเจนก่อนถึงจะไล่ออกได้ ตำรวจย้ำ 3 ข้อหาที่จะเอาผิดผู้ต้องหา พกและยิงปืนในที่สาธารณะ เมาแล้วขับ แต่ไม่มีข้อหาพยายามฆ่า

26 ม.ค.2564 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย รายงาน ความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์ที่ธนกฤต อันทะระ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง (ความมั่นคง) จ.เลย และอดีตผู้ใหญ่บ้านแก่งสาคร ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ใช้ปืนยิงข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย และนักศึกษาจากกลุ่ม UNME Of Anarchy รวมถึงจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดินที่เข้ามาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ ในวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา

ประยูร อรัญรุท นายอำเภอวังสะพุง

25 ม.ค.ที่ผ่านมา ประยูร อรัญรุท นายอำเภอวังสะพุงได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการด้านปกครองกับธนกฤตในส่วนของทางอำเภอว่า ขณะนี้ธนกฤตยังปฏิบัติงานอยู่เพราะตนไม่สามารถออกคำสั่งทางปกครองให้พักงานหรือให้ธนกฤตออกจากงานในทันทีได้ เนื่องจากธนกฤตเป็นลูกจ้างประจำ ไม่ใช่พนักงานราชการ หากมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้เป็นธรรมจะทำให้ธนกฤตสามารถฟ้องกลับทางอำเภอได้ จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตามกระบวนการของทางราชการเพื่อสอบสวนความผิดของธนกฤตก่อนที่จะมีคำสั่งไล่ออก ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนธนกฤตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยใช้ข้อมูลจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนพื้นสอบ ซึ่งภายในอาทิตย์นี้การสอบสวนจะแล้วเสร็จ และในส่วนการครอบครองอาวุธปืนของธนกฤตนั้นคณะกรรมการก็จะสอบสวนในเรื่องการเพิกถอนอาวุธปืนของธนกฤตไปพร้อมกันด้วย แต่ขณะนี้อาวุธปืนของธนกฤตได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดไว้ทุกกระบอกแล้ว

นายอำเภอวังสะพุงยังได้เปิดเผยถึงข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ของชาวบ้านด้วยว่า ตนได้มีคำสั่งให้ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เฝ้าระวังในพื้นที่พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยสั่งให้ดำเนินการจนถึงวันที่ 31 ม.ค.ที่จะถึงนี้ และเมื่อถึงวันที่ 31 ม.ค.แล้วจะมาประเมินอีกครั้งว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะเป็นอย่างไรก็จะมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติมหากชาวบานร้องขอ

พ.ต.อ.สำเนาว์ กรุยกระโทก ผู้กำกับการ สภ.วังสะพุ

ขณะที่ พ.ต.อ.สำเนาว์ กรุยกระโทก ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุงกล่าวถึงมาตรการด้านการดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มเติมว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังในการออกตรวจตู้แดง และได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปนอนเป็นเพื่อนชาวบ้านเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจแบบนี้ไปตลอดจนถึงวันที่ 31 ม.ค.ที่จะถึงนี้ แล้วจะพิจารณาร่วมกับทางอำเภอหากชาวบ้านยังกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่ก็จะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปเฝ้าระวังแบบเดิม

ขณะที่ความคืบหน้าในการติดตามคดีของ ธนกฤตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังสะพุงระบุว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรวังสะพุงได้แจ้งข้อหากับธนกฤต 3 ข้อหา คือ 1. พกปืนไปในที่สาธารณะ  2.ยิงปืนในที่สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และ 3. ข้อหาเมาแล้วขับ ตาม มาตรา 43 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ผลตรวจแอลกอฮอล์ และยังรอผลการตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก  เช่น รอผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืน ,รอผลการตรวจลายนิ้วมือจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และสอบพยานในที่เกิดเหตุอีกอย่างน้อย 2 ปาก เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนและความเห็นส่งอัยการต่อไปซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน  โดย 25 ม.ค. 2564) เป็นวันครบ 1 ผลัด (12 วัน) ในการขอฝากขัง แต่เนื่องจากธนกฤตนั้นได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดเลย โดยใช้เงินประกันเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท จึงต้องไปรายงานตัวต่อศาลในวันนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่าแก่ผู้ต้องหาด้วยหรือไม่ เนื่องจากเหตุการณ์ในวันนั้นชาวบ้านและนักศึกษาระบุว่าผู้ต้องหาไม่ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าแต่ยิงตรงเข้าใส่จุดที่พักของนักศึกษา พ.ต.อ.สำเนาว์ระบุว่าในส่วนนี้ตนอาจจะต้องไปสอบถามกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมว่าทำไมถึงไม่มีในข้อหานี้ แต่เบื้องต้นไม่ได้มีการแจ้งข้อหาพยายามฆ่าแก่ผู้ต้องหาแต่อย่างใด

ด้าน ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International ระบุว่าการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีความสำคัญมากเพราะมีบทบาทมากสุดที่จะให้เห็นปัญหาการละเมิด หรือการคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิของประชาชน ทำหน้าหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อประกันว่าหน่วยงานธุรกิจและรัฐบาลจะปฏิบัติตามหลักการและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน แต่การที่รัฐบาลปล่อยให้เกิดการคุกคามโดยเฉพาะจากบุคลากรของหน่วยงานด้านความมั่นคง สร้างความตระหนกตกใจและเกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐที่ควรมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นเราจึงหวังว่าจะมีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษและที่สำคัญรัฐจะไม่ปล่อยให้มีการคุกคาม ใช้ความรุนแรงหรืออาศัยกระบวนการยุติธรรมในการกลั่นแกล้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงมากในพื้นที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลย

ทั้งนี้ ศาลจังหวัดเลย สั่งตั้งแต่ ธ.ค.61 ให้ บริษัททุ่งคำ จำกัด ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเหมือง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนกว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานราชการ และเยียวยาค่าเสียหายผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดครอบครัวละ 104,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำนวน 149 ครอบครัว และในการจัดทำแผนฟื้นฟูให้โจทก์คือชาวบ้าน 165 ราย เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากบริษัท ปิดกิจการไปแล้ว จึงต้องนำทรัพย์สินที่เหลือมาขายทอดตลาดเพื่อนำมาเยียวยาชาวบ้าน โดยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.63 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จัดการขายทอดตลาดสินแร่ ที่บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็คจำนวน 190 ถุง ได้นัดขายทอดตลาดสินแร่ นัดที่ 3 โดยบริษัท "ไขนภาสตีล" ประมูลสินแร่ได้ในราคา 8,240,000 บาท โดยไม่มีคู่แข่ง กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองแร่ทองคำ จึงปักหลักเฝ้าเวรยามทางเข้าเหมืองทองตลอด 24 ชม. มาหลายสัปดาห์  เพื่อพิทักษ์ทรัพย์สินในเหมืองแร่ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการขนแร่และสินทรัพย์นอกบัญชีขายทอดตลาดออกจากเหมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท