Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวหน้าทำเนียบฯ จี้ภาครัฐเยียวผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหาโควิด-19 ถ้วนหน้า 5,000 บาท เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนใดๆ แรงงานข้ามชาติสะท้อนปัญหาค่าธรรมเนียมลงทะเบียนต่อบัตรชมพู 'ไมค์ ระยอง' เสนอนำงบประมาณจากสถาบันฯ และกองทัพ มาช่วยเหลือประชาชน

26 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (27 ม.ค.64) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นัดรวมตัวสมาชิกบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา 5,000 บาทถ้วนหน้า เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ หากไม่มีงบฯ ต้องดึงงบฯ จากสถาบันที่ใช้เงินฟุ่มเฟือย มาเยียวยาประชาชน  

สำหรับกิจกรรมวันนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 และสิ้นสุดเวลา 12.00 น. โดยกิจกรรมมีการปราศรัยโดยตัวแทนแรงงานจากกลุ่มต่าง ๆ ผลัดกันขึ้นปราศรัย สะท้อนปัญหาแรงงานในหลากหลายสายอาชีพ  เช่น แรงงานผู้ประกันตนมาตรา 33 คนทำงานศิลปะ ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ คนรุ่นใหม่ เยาวชน กลุ่ม We Fair รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และอื่น ๆ หวังให้เสียงของพวกเขาทุกคนส่งไปถึงคณะทำงานรัฐบาลไทย ที่กำลังนั่งประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่ในทำเนียบ 

สุธิลา ลืนคำ จากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) และผู้ดำเนินกิจกรรมปราศรัย กล่าวว่า หลังจากยื่นไปสองครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า วันนี้จึงมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ อีกครั้ง พร้อมเน้นย้ำจุดยืนเรื่องข้อเสนอ ต้องมีการเยียวยาถ้วนหน้า 5,000 บาทสามเดือน โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องลงทะเบียน  

“วันนี้ ครม. เขาประชุมกัน ยิ่งเราส่งเสียงดังเท่าไหร่ เสียงก็ได้ยินที่เขาประชุมกันอยู่ เพราะอันนี้คือเสียงของประชาชนทุกคนที่ต้องการเงินเยียวยา ต้องการเงินห้าพันบาทถ้วนหน้า ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่ ไม่ต้องมีอินเทอร์เน็ตแรง ๆ วันนี้เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนมายื่นจดหมายเปิดผนึก ซึ่งเรายื่นมาแล้วสองครั้ง แต่รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงคนที่เสียภาษี ไม่เคยฟังเสียงพวกเราเลย” สุธิลา กล่าว           

ผู้ประกันตน ม.33 ร้องรัฐใช้เงินส่วนกลางเยียวยาแทนกองทุนประกันสังคม และต้องเยียวถ้วนหน้า 5,000 บาท

เซีย จำปาทอง กรรมกรสิ่งทอ และตัวแทนจากผู้ประกันตน ม.33 กล่าวปราศรัยสะท้อนปัญหาในแรงงานช่วงโควิด-19 เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะนอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังโดนเอาเปรียบจากนายจ้างมากมาย  นายจ้างบางคนเอาเปรียบแรงงานโดยการใช้ ม.75 ขอหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อสั่งแรงงานหยุดทำงาน นายจ้างบางรายจ่ายเงินเดือนไม่ตรงกำหนดเวลา รวมถึงแรงงานที่เกษียณอายุบางรายไม่ได้รับเงินชดเชยตามที่ตกลงกันไว้ 

“วันนี้เรามาทวงถาม เพราะพวกเราเดือดร้อนจริง ๆ ถ้ารัฐบาลไม่เชื่อ ลองไปดูข้อมูลที่กระทรวงแรงงานดูว่า มีการปิดกิจการชั่วคราว หรือใช้ ม.75 มากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อมูลพวกนี้ รัฐเข้าถึงได้อยู่แล้ว แต่รัฐเพิกเฉย ถ้าเราไม่เดือดร้อน เราไม่มาทวงถามหรอกครับ เราไม่มาทนร้อนทนแดด เพื่อมาทวงถามหรอก” 

นอกจากนี้ เซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า นายจ้างบางรายมีการเอาเปรียบใช้ช่วงเวลานี้ โดยถือโอกาสใช้ผลกระทบช่วงโควิด-19 เป็นข้ออ้างเลิกจ้างแรงงานที่เป็นหัวหน้าสหภาพแรงงาน เพื่อลดพลังการต่อรองจากทางกลุ่มแรงงาน

ขณะที่ในด้านข้อเรียกร้อง เซีย ให้ความเห็นว่า เงินเยียวยาไม่ควรนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้ เพราะเงินส่วนนี้ถูกหักจากค่าแรงของแรงงานทุกเดือน และแรงงานเขาอยากนำเงินส่วนนี้มาใช้เป็นเงินช่วงชราภาพ ดังนั้น เซียเสนอว่า เงินเยียวยาควรมาจากส่วนกลางของรัฐ ส่วนที่มาเงินอาจมาจากกู้ยืมต่างประเทศได้ และเขาในฐานะประชาชนคนไทย ก็พร้อมช่วยใช้คืนอยู่แล้ว ในรูปแบบของภาษี   

“ส่วนเรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องส่วนรวมทุกคนได้รับผลกระทบ รัฐควรนำส่วนกลาง เงินภาษีที่รัฐกู้ยืม มาใช้จ่ายเงินเยียวยาผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม แทนที่จะเอาเงินจากกองทุนประกันสังคมมาดูแลผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม รัฐบาลไปกู้เงินมา ในอนาคต เราต้องใช้หนี้ร่วมกัน ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมต้องร่วมใช้หนี้ด้วย เพราะผมเป็นประชาชนคนหนึ่ง เงินที่เสียภาษีก็ต้องเอาไปใช้หนี้อยู่แล้ว เข้าร้านค้า เข้าห้าง ซื้อของต่าง ๆ เติมน้ำมันรถยนต์ แล้วทำไมพวกผมไม่รับเงินเยียวยา เหมือนกับประชาชนส่วนอื่น ๆ รัฐต้องเยียวยาถ้วนหน้าและทั่วถึง” เซีย กล่าว

สุดท้าย เซียเรียกร้องเงินเยียวยาภาครัฐ 5,000 บาทในระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากเงิน 3,500 บาท สองเดือน ไม่เพียงพอการเลี้ยงชีพช่วงวิกฤต

“ให้รัฐพิจารณาทบทวนให้ดี วันนี้เรามามากขึ้นกว่าวันที่ 18 (ม.ค. 64) ข้างหน้า ถ้ารัฐบาลยังไม่พิจารณา เราจะมาทวงถามกันอีก มากันให้เยอะกว่านี้ เราจะมาทวงถามเงินเยียวยา 5,000 บาทสามเดือนเช่นเดียวกับพี่น้องส่วนอื่น ๆ เงินเยียวยา 3,500 บาทสองเดือนมันไม่เพียงพอในช่วงวิกฤตอย่างนี้ เนื่องจากนายจ้างมีการใช้มาตรา 75 ขอหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อสั่งหยุดงานลูกจ้าง บางคนถูกเลื่อนจ่ายโบนัส ถามว่า 3,500 บาทเพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่ มันช่วยอะไรได้บ้าง 3,500 บาท”  

แรงงานข้ามชาติสะท้อนปัญหาค่าธรรมเนียมลงทะเบียนต่อบัตรชมพู 

ศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ชี้ว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำงานสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย จ่ายเงิน จ่ายภาษีเข้ารัฐไทย แต่เมื่อมีปัญหาแล้ว แรงงานข้ามชาติกลับเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ อีกทั้ง ถูกซ้ำเติมจากมาตรการของรัฐไทยที่ไม่คำนึงถึงแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนการต่อบัตรสีชมพูของแรงงานข้ามชาติ ที่สูงถึง 9,180 บาท ทำให้แรงงานไม่สามารถกลับเข้าระบบได้  

ศิววงศ์ สุขทวี

“ไม่มีใครอยากเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แต่กฎหมายและนโยบายของภาครัฐผลักดันให้เขาเป็นแรงงานถูกกฎหมายไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมติ ครม. 29 ธ.ค. 2563 แต่ท่ามกลางผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ จนหลายโรงงานต้องปิดตัวลง คนตกงาน ขาดรายได้ แต่ค่าธรรมเนียมลงทะเบียนบัตรชมพู กลับมีราคาสูงถึง 9,180 บาท สวนทางกับสถานะทางเศรษฐกิจของแรงงานข้ามชาติในขณะนี้ และก็ไม่ทราบว่าจ่ายแล้ว จะหางานทำได้หรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจยังแย่แบบนี้อยู่”   

นอกจากนี้ ศิววงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมติ ครม. 29 ธ.ค. 2563 สิ่งที่ภาครัฐทำไม่ใช่การช่วยเหลือ แต่มันคือการรีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังซบเซา พร้อมเรียกร้องให้รัฐหามาตรการช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้น รัฐอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แรงงานข้ามชาติหนีกลับประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยติดตามมา  

“เงินชดเชย 5,000 บาทเขาก็ยังไม่ได้ เขายังต้องเตรียมเป็นหนี้สินอีก 9,000 บาท หลายคนเป็นหมื่นบาทจากการจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนรอบใหม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความช่วยเหลือ สิ่งนี้คือการรีดไถอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทย ท่ามกลางวิกฤต รัฐบาลไม่เคยคิดจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เลย อย่าคิดว่าเขาจะทนอยู่การกดขี่ของรัฐบาลไทยได้ตลอดเวลา ถ้าวันหนึ่ง บ้านเกิดเขาดีขึ้น เขาเดินทางกลับไป ขอให้สำนึกเอาไว้ว่า สิ่งที่ทำให้เขากลับบ้านไป ไม่ใช่ตัวเขาเอง แต่เป็นผลของรัฐบาลไทยที่ไม่เคยดูแลพวกเขา เราจะไม่ใช่เป็นสังคมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่ดูแลทุกคน ทุกคนที่ทำงานเพื่อพวกเรา ทุกคนที่ทำงานสกปรก ทุกคนที่ทำงานเสี่ยงภัยอันตรายตลอดเวลา พวกเขามีความจำเป็นต่อสังคมไทย ความจำเป็นของเศรษฐกิจไทย วันนี้ถ้าเราไม่ช่วยเหลือเขา วันหน้าจะไม่มีใครช่วยเหลือเรา”                     

“การเรียกร้องวันนี้คือส่วนหนึ่งของการแสดงความเป็นพี่น้องของแรงงานทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่แรงงานไทย แต่เป็นแรงงานทุกคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ทุกคนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศไทย ซึ่งรวมถึงพี่น้องในประเทศเพื่อนบ้านด้วย” ศิววงศ์ ทิ้งท้าย 

ไมค์เสนอนำงบประมาณจากสถาบัน และกองทัพ มาช่วยเหลือประชาชน

ภาณุพงษ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง สมาชิกคณะราษฎร เป็นคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาปราศรัยเพื่อกลุ่มแรงงานทุกคน เขาชี้ว่ารัฐบาลต้องพิจารณางบประมาณส่วนที่ไม่จำเป็น อย่างสถาบันกษัตริย์ และกองทัพ เพื่อนำมาเยียวยาประชาชน นอกจากนี้ ไมค์ มองว่าเงินเยียวยาที่รัฐบาลให้เพียงแค่ 3,500 บาทนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐเพิ่มเงินเยียวยาเป็น 5,000 บาท 

ภาณุพงษ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง

“พวกเราทุกคนพูดกันเสมอ คือ 3,500 บาท ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชน ถ้าตีเป็นเงินต่อวัน จะตกวันละร้อยกว่าบาท เรามีครอบครัว เรามีพ่อแม่พี่น้อง เรามีลูกที่จะต้องดูแลและต้องรับภาระในเรื่องอินเทอร์เน็ตที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มันไม่พออยู่แล้ว รัฐบาลหยุดอ้าง หยุดอ้างการใช้งบประมาณที่บอกว่าไม่เพียงพอ งบฯ มันจะเพียงพอได้ ถ้าท่านจัดสรรดีๆ และบริหารดีๆ”    

“เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ทั้งสิ้น อย่าให้เราต้องรอเศษบุญ เศษทานจากรัฐบาลอีกเลย ขอให้พวกเราทุกคนได้รับสวัสดิการแบบดีๆ อย่างที่เราควรได้รับ อยากให้รัฐมองเห็นหัวประชาชนบ้าง อย่ากดขี่ อย่าเหยียบย่ำประชาชนอีกเลย และวันนี้ดีใจมากๆ ที่เห็นพี่น้องแรงงานกับการมาเรียกร้องสวัสดิการที่ตัวเองพึงมี และพึงควรได้รับ ถ้าเขามีเงินซื้อโทรศัพท์ในการลงทุนเพื่อชิงโชค เขาจะไม่มารับเงิน 3500 บาทจากรัฐบาลขอทานนี้เลย” ไมค์ ทิ้งท้าย  

สุดท้าย จบด้วยการแสดงของคนทำงานศิลปะที่มาสร้างสีสันด้วยการแสดงตีกลอง และอ่านจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “เยียวยาแรงงานถ้วนหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดย ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานฯ 

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานฯ 

ธนพร วิจันทร์ กล่าวหลังอ่านจดหมายผนึก ฝากสื่อมวลชนนำจดหมายเปิดผนึกไปถามนายกฯ เรื่องการเยียวยาถ้วนหน้า 5,000 บาท และนัดรวมตัวขอคำตอบจากกระทรวงการคลังวันที่ 29 ม.ค.64   

“หลายกลุ่มมาเรียกร้องแล้ว ถ้ายังดื้อดึงไม่ทำตาม พวกเราจะมาติดตาม ทวงถาม และวันที่ 29 ม.ค. (พ.ศ.2564) กระทรวงการคลังต้องมาให้คำตอบพวกเรา ที่กระทรวงการคลัง เราจะนัดหมายอีกครั้งหนึ่งผ่านเพจคณะราษฎร และเพจพี่น้องเครือข่ายแรงงานฯ”

ทั้งนี้ นี่เป็นการมาเยือนเพื่อทำกิจกรรมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งที่สองของทางเครือข่ายฯ หลังจากครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 18 ม.ค. เครือข่ายแรงงานฯ เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ที่ตึกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แต่ไม่มีความคืบหน้า เป็นเหตุให้เครือข่ายแรงงานฯ เดินทางมาร่อนจดหมายเปิดผนึกให้ทางรัฐบาลเพื่อทวงถามถึงข้อเรียกร้องอีกครั้ง 

‘ปีกเเรงงานก้าวไกล’ ชี้ มีผู้ประกันตน ม.33 ได้รับผลกระทบหนัก หากยังเฉย เชือด ‘รัฐมนตรีแรงงาน’ กลางเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฐานละเลยแรงงานแน่

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (27 ม.ค.64) สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะปีกเเรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบของประกันสังคม รวมตัวกันไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ให้เยียวยาผู้ใช้เเรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อย่างถ้วนหน้า เสมอภาคและเท่าเทียมกันบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 ม.ค.64

สุเทพ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องของผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่ถูกตัดออกจากการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามาตั้งเเต่การระบาดของโควิดในรอบแรก เนื่องจากรัฐบาลอ้างว่า ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ไปใช้เงินสะสมในส่วนของประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคม มีระเบียบเเละเงื่อนไขในการรับเงินเยียวยาหรือเงินกรณีที่เกิดวิกฤติโควิดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน ได้ระบุไว้ว่า การเยียวยาในรอบเเรกที่รัฐให้เงินเยียวยาเดือนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน คือ 7,000 บาทนั้น รัฐเยียวยาไปทั้งหมดเพียง 31 ล้านคน แต่ยังมีการตกหล่นเเละได้อย่างไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้เเรงงานในระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีมากถึง 11 ล้านคน รวมไปถึงเเรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมประมาณ 1.5 ล้านคน ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย

ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ส่งเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อให้มีการพิจารณาให้ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน ได้รับการเยียวยาด้วย และเรื่องนี้จะเข้าสู่การหารือเป็นวาระเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการเเรงงานในวันที่ 27 ม.ค. ในส่วนของปีกเเรงงานของพรรคก้าวไกล ขณะนี้ได้จัดประชุมเครือข่ายเเรงงานในทุกภาคส่วน เพื่อรับฟังปัญหาและนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่การแก้ไข รวมถึงจะนำไปใช้เป็นประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนกุมพาพันธ์

“ขอฝากไปยังสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน จากการที่เคยหารือไปหลายครั้งให้นำเรื่องมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบให้เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายสุชาติ อ้างว่า การดำเนินการในส่วนของตนเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้เเรงงานอยู่เเล้ว เช่น เรื่องของการลดเงินสมทบประกันสังคมหรือเงื่อนไขการได้รับชดเชยในกรณีว่างงาน เเต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ใช้แรงานในระบบ 11 ล้านคน จะต้องตกหล่นจากการรับการเยียวยาเหมือนประชาชนคนอื่น ๆ เพราะในข้อเท็จจริงยังมีผู้ประกันตนในระบบมีรายได้ลดลงมาก แต่ก็ต้องทำเพื่อรักษางานไว้ จึงอยากให้นายสุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สะท้อนปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เป็นรูปธรรมเเละเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง”

(ซ้าย) วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.พรรคก้าวไกล และ (ขวา) สุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกล

ขณะที่ วรรณวิภา กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรอบเเรกของภาครัฐ ซึ่งการบริหารของรัฐรอบแรกต่อกรณีนี้ทำให้เงินประกันสังคมไหลออกอย่างมหาศาล ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินสะสมของลูกจ้างเเละนายจ้างเพื่อไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน 7 อย่าง ตามประกาศเเละระเบียบของประกันสังคม อาทิ รักษาพยาบาล ชราภาพ คลอดบุตร และว่างงาน แต่ตอนนี้ได้ถูกนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้เพื่อเยียวยาแทนรัฐบาล เเละในปัจจุบัน ผู้ประกันตนในส่วนนี้ลดน้อยลง ทำให้เงินในกองทุนลดลง สวนทางกับความต้องการของคนที่ใช้เงินจากกองทุนนี้มากขึ้น ซึ่งการบริหารเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับกองทุนประกันสังคมในอนาคต เมื่อมีการเยียวยารอบ 2 คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการประกาศเยียวยาจากภาครัฐอีก วันนี้ (26 ม.ค.) จึงมีที่ผู้ประกันตนออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา

“ทำไมรัฐไม่เยียวยา ตกหล่น และเป็นเหตุให้ต้องนำเงินของเขาที่สะสมไว้ในอนาคตมาใช้ ทั้งที่รัฐควรจะต้องเยียวยาอย่างทั่วหน้า เเละให้เงินเยียวยาเป็นเงินสดเหมือนรอบแรก แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ควรจะต้องได้รับการดูแลเหมือนประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิดังกล่าว รวมไปถึงสิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับจากรัฐในการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า เเละเท่าเทียม” วรรณวิภา กล่าว

จดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เรื่องเยียวยาแรงงานถ้วนหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

26 มกราคม 2564

 

จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่เห็นชอบโครงการ "เราชนะ" เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นั้น จะจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาทต่อคน ทั้งหมด 31.1 ล้านคนโดยเน้นอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยคล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่กลับไม่ให้เป็นเงินสดและจะโอนผ่านแอปลิเคชั่นสัปดาห์ละครั้งจนครบ สิ่งนี้ทำให้เราเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนคับข้องใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำแถลงของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนสัมผัสตัวเงินเพราะโควิดเข้ามาปะปนได้ และต้องการให้ประชาชนปรับตัวเป็นสังคมไร้เงินสด และถ้าให้เป็นเงินสดรัฐบาลจะจำกัดอะไรไม่ได้เลย เงินเหล่านั้นจะหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น สุรา การพนัน ห้างร้านขนาดใหญ่ และการจ่ายเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาทเพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการใช้เงินที่จำเป็นต่อชีวิต 

จะเห็นว่าวิธีคิดของรัฐบาลเหมือนอยู่โลกคนละใบกับผู้ใช้แรงงานที่ต้องนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละคนอยู่แล้ว เช่น จ่ายค่าเช่าบ้าน ใช้หนี้ และต้องการควบคุมอำนาจการตัดสินใจของประชาชนซึ่งมีลักษณะเผด็จการ เหมือนคุณพ่อรู้ดี ไม่สนใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ดังเห็นได้จากมาตรการเยียวยารอบสองของรัฐบาลที่ยังคงทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง คือ แรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 จำนวนกว่า 11 ล้านคน

รัฐต้องเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจ หน่วยงานทุกภาคส่วนคลุมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมราว 1.5 ล้านคนและนายจ้างร่วมสมทบเงินประกันสังคม เพราะพวกเขากำลังเผชิญปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่การระบาดรอบแรกเช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบ การผลักให้พวกเขาไปใช้เงินกองทุนฯ ซึ่งเป็นเงินของลูกจ้างตามประกาศของกระทรวงแรงงาน (จ่าย 62% ของค่าจ้างพื้นฐานและ 50% ในรอบสอง) ทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานและถูกละเมิดสิทธิ เพราะกระทรวงแรงงานไม่สามารถตรวจสอบบริษัท/โรงงานที่ปิดกิจการชั่วคราวที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโดยตรง จึงพบเห็นว่ามีหลายบริษัทปรับโครงสร้างลดต้นทุน โยนภาระให้ลูกจ้างไปใช้เงินทดแทนว่างงานซึ่งควรจ่าย 75% ตามกฎหมายแรงงาน และรัฐควรทดแทนรายได้ให้ครบ 100% แต่กลับไม่ทำไม่ว่าในกรณีใด ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้และสวัสดิการ หลายกรณีถูกลดวันทำงาน โอที ลดค่าจ้าง ลาไม่ได้รับเงินเดือน ถูกปรับสภาพการจ้างงานให้ยืดหยุ่นกว่าเดิมคือ No work no pay และเมื่อตกงาน อยู่ระหว่างเปลี่ยนสถานะผู้ประกันตนเป็นแรงงานนอกระบบกลายเป็นช่องว่างไม่ได้รับเงินเยียวยา หลายรายถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ถูกเบี้ยวค่าจ้างค่าชดเชยต้องเป็นภาระไปฟ้องศาล ท้ายสุดลูกจ้างเป็นหนี้มากขึ้นแทนที่รัฐจะแบกหนี้เหล่านี้

เราต้องการให้รัฐใช้หลักคิดถ้วนหน้าเท่าเทียม ไม่กำหนดเงื่อนไขให้ยุ่งยาก ไม่ต้องลงทะเบียน ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากคำสั่งต่างๆ ของรัฐกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ แรงงานทุกภาคส่วน เช่นภาคศิลปวัฒนธรรม คนทำงานกลางคืน แรงงานข้ามชาติ ในระบบและนอกระบบต้องได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หากงบประมาณไม่เพียงพอต้องพิจารณานำงบกองทัพ สถาบันที่ใช้เงินฟุ่มเฟือย และเพิ่มฐานภาษีความมั่งคั่งจากมหาเศรษฐี 1% ของประเทศเพื่อนำมาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน 99% ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกาลเทศะมากกว่าหาเรื่องปวดหัวรายวันให้ประชาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net