Skip to main content
sharethis

Rocket Media Lab รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ในไทย ดราม่ามากแค่ไหน ใครเกี่ยวข้องบ้าง

แม้ว่าโลกจะรู้จักโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในช่วงเดือนธันวาคม 2019 สำหรับในประเทศไทยเอง เริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในช่วงเดือนมกราคม 2020 ก่อนที่องค์การอนามัยโรคจะประกาศให้โรคโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ในเดือนมีนาคม 2020

ในเดือนมกราคมปีนี้ (2021) จึงถือได้ว่าเป็นการครบรอบ 1 ปีที่ประเทศไทยยังต้องต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 Rocket Media Lab ซึ่งทำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน ได้จัดทำข้อมูลประเด็นดราม่าโควิด-19 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย ในตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา (จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2021) เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาในการจัดการเรื่องโควิด-19 ของไทยที่ผ่านมาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเกิดจากประเด็นใด และมีผู้ใดเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้อง

เพื่อทำให้เห็นภาพรวมของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมในเรื่องโควิด-19 ของไทยว่าแท้ที่จริงแล้ว การจัดการวิกฤตในครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่ก็ยังมิวายเกิดดราม่ารายวันนั้น ดราม่าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสิ่งใด 

ในการทำงานเก็บข้อมูลข่าว/ประเด็นที่ก่อให้เกิดดราม่า นั้นเลือกเฉพาะข่าว/ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายเดียว หรือเป็นการถกเถียงทั้งสองฝ่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นข่าว/ประเด็นที่ส่งผลกับการจัดการการแก้ปัญหาโควิด-19 ด้วย 

นอกจากนี้ในส่วนของตัวละครที่เกี่ยวข้องกับดราม่านั้นๆ พิจารณาจากการเป็นผู้ก่อให้เกิดดราม่าหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของตัวละคร พร้อมทั้งมีการพิจารณาว่าดราม่านั้นๆ เกิดขึ้นจากประเด็นปัญหาใด โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเด็นคือ ความรู้ทางการแพทย์ เช่น ดราม่าเรื่องหน้ากากแบบมีวาล์วที่นายกรัฐมนตรีสวมใส่, ความโปร่งใส เช่น ดราม่าเรื่องโกดังติดแอร์ไม่ใช่บ่อน ชาวระยองรู้แต่ตำรวจไม่รู้, การเลือกปฏิบัติ เช่น ดราม่าเรื่องทหารอียิปต์มาพักที่ระยอง, ประสิทธิภาพในการจัดการ เช่น ดราม่าเรื่องเรียนออนไลน์วันแรก เน็ตไม่พร้อม เว็บล่ม จูนทีวีไม่ได้, การสื่อสาร เช่น ดราม่าเรื่องปิดห้างไม่ปิดห้างโฆษกรัฐบาลกับ กทม. สื่อสารไม่ตรงกัน, นโยบายและแผนงาน เช่น ดราม่าเรื่อง Fit to Fly สร้างความยากลำบากแก่คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการกลับไทย และทัศนคติ เช่น ดราม่าเรื่อง เช่น ทวีศิลป์บอกว่ามีเงิน 5,000 บาท ปลูกผักสวนครัวก็อยู่ได้ 

 

โควิด-19 ไทย ดราม่ามากแค่ไหน ใครเกี่ยวข้องบ้าง

จากการทำงานของ Rocket Media Lab พบว่าจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2021 มีข่าว/ประเด็น ที่เรียกได้ว่าเป็นดราม่าโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 124 กรณี โดยเมื่อแยกตัวละคร สามารถแยกได้เป็นสามกลุ่มคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน พบว่าตัวละครที่เกี่ยวข้องกับดราม่า ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดดราม่าหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นตัวละครภาครัฐสูงถึง 81.45% หรือเกี่ยวข้องกับดราม่าจำนวน 101 กรณี ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เนื่องจากภาครัฐมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาเรื่องโควิด-19 โดยตรงทั้งการออกนโยบายต่างๆ และการสื่อสาร รองลงมาคือภาคประชาชน 14.52% เกี่ยวข้องกับดราม่าจำนวน 18 กรณี และภาคเอกชน 4.03% เกี่ยวข้องกับดราม่าจำนวน 5 กรณี

ภาครัฐ

จากข้อมูลของ Rocket Medial Lab พบว่า ในดราม่า 101 กรณีที่ภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องสูงสุด เกิดจากประเด็นปัญหาเรื่องนโยบายและแผนงาน 23 กรณี คิดเป็น 22.77% รองลงมาคือทัศนคติ 22 กรณี คิดเป็น 21.78% ประสิทธิภาพในการจัดการ 16 กรณี คิดเป็น 15.84% การสื่อสาร 14 กรณี คิดเป็น 13.86% การเลือกปฏิบัติ 12 กรณี คิดเป็น 11.88% ความโปร่งใส 12 กรณี คิดเป็น 11.88% และที่น้อยที่สุดคือ ความรู้ทางการแพทย์ มีเพียงแค่ 2 กรณี คิดเป็น 1.98% โดยหากดูที่ความถี่ของตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าโควิด-19 สามารถแยกได้ดังนี้ 

 

Top 5 ตัวก่อดราม่าจากภาครัฐ 

ในส่วนของภาครัฐ ตัวละครที่ก่อให้เกิดดราม่า ก็คือ รัฐบาล 16.83% จำนวน 17 กรณี พบว่า ประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดดราม่าจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของรัฐบาลนั้นเกิดจากปัญหานโยบายและแผนงานมากที่สุด จำนวน 9 กรณี รองลงมาคือ การเลือกปฏิบัติ 3 กรณี ประสิทธิภาพในการจัดการ และความโปร่งใส เท่ากันที่ 2 กรณี การสื่อสาร 1 กรณี และในประเด็นเรื่องความรู้ทางการแพทย์และทัศนคตินั้นไม่พบกรณีดราม่าที่เกิดจากรัฐบาล

ตัวละครที่ก่อให้เกิดดราม่าสูงสุดอันดับสอง ในส่วนของภาครัฐก็คือ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 7.92% จำนวน 8 กรณี พบว่า ประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดดราม่าจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของ อนุทิน ชาญวีรกูล นั้นเกิดจากปัญหาทัศนคติ 6 กรณี และการสื่อสาร 2 กรณี โดยไม่พบกรณีดราม่าที่เกิดจากประเด็นอื่นๆ ที่เหลือ

อันดับสาม คือ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จำนวน 7 กรณี พบว่าประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดดราม่าจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน นั้นเกิดจากปัญหาทัศนคติ 6 กรณี และการสื่อสาร 1 กรณี โดยไม่พบกรณีดราม่าที่เกิดจากประเด็นอื่นๆ ที่เหลือ

อันดับสามเช่นเดียวกัน คือ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 7 กรณี พบว่าประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดดราม่าจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของ กระทรวงสาธารณสุข นั้นเกิดจากปัญหาความโปร่งใสและนโยบายและแผนงาน เท่ากันอย่างละ 3 กรณี และประสิทธิภาพในการจัดการอีก 1 กรณี 

และอีกหนึ่งตัวละครที่อยู่ในอันดับสามเช่นเดียวกันก็คือ ศบค. จำนวน 7 กรณี พบว่าประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดดราม่าจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของ ศบค. นั้นเกิดจากปัญหานโยบายและแผนงาน 3 กรณี ประสิทธิภาพในการจัดการ 2 กรณี การสื่อสารและทัศนคติ อย่างละ 1 กรณี

โดยในส่วนของตัวละครที่เป็นองค์กร/บุคคล อื่นๆ ในภาครัฐ นั้น แม้จะมีเปอร์เซ็นสูงถึง 55% แต่ก็มีตัวละครจำนวนมาก สูงถึง 30 ตัวละคร เช่น กระทรวงการคลัง 6 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 5 กรณี ตำรวจ 4 กรณี ปารีณา ไกรคุปต์ กระทรวงพาณิชย์ ทหาร อย่างละ 3 กรณี เป็นต้น 

ในส่วนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤตโควิด-19 แต่ไม่ติดใน Top5 นั้น จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับดราม่าจำนวน 5 กรณี แบ่งเป็นปัญหาการสื่อสาร 3  กรณี นโยบายและแผนงาน และองค์ความรู้ทางการแพทย์ อย่างละ 1 กรณี แต่ดราม่าจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล หรือ ศบค. นั้น ที่จริงแล้วก็อยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และผู้อำนวยการ ศบค. 

นอกจากนี้ยังพบว่าอาจจะมีบางองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์ตัวละครที่เกี่ยวข้องกับดราม่าโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ก็ตาม ซึ่งอาจจะสามารถตั้งคำถามได้ว่า องค์กรเหล่านั้นที่หายไปในลิสต์ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว หรือเป็นเพราะว่าไม่มีบทบาทหรือผลงานในการแก้ปัญหาเลย  

 

ภาคเอกชน

สำหรับภาคเอกชน จากข้อมูลของ Rocket Medial Lab พบว่า ในดราม่า 124 กรณีทั้งหมด เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนเพียง 5 กรณี คิดเป็น 4.03% โดยมีตัวละครเพียง 5 ตัวละครด้วยกันคือบริษัท Grab, พนักงาน KFC, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยต่างๆ และร้านวอร์มอัพ จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยทั้ง 5 กรณี เกิดจากประเด็นปัญหาเรื่องนโยบายและแผนงาน 2 กรณี ความรู้ทางการแพทย์ ทัศนคติ การสื่อสาร อย่างละ 1 กรณี 

 

ภาคประชาชน 

สำหรับภาคประชนจากข้อมูลของ Rocket Medial Lab พบว่า ในดราม่า 124 กรณีทั้งหมด เกี่ยวข้องกับภาคประชาชนเพียง 18 กรณี คิดเป็น 14.52% โดยมีตัวละครทั้งหมด 11 ตัวละครด้วยกัน เช่น ชาวเน็ต 5 กรณี ประชาชน 4 กรณี กาละแมร์ (พิธีกรหญิง), ฌอน บูรณหิรัญ, ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ผู้กองเบนซ์, แชมป์ พีระพล (พิธีกรชาย), หนุ่มสกินเฮด, หนูเล็กก่อนบ่าย, หมาก-คิม (นักแสดง), แก้ว BNK อย่างละ 1 กรณี

โดยทั้ง 18 กรณี เกิดจากประเด็นปัญหาเรื่องทัศนคติ 16 กรณี และความรู้ทางการแพทย์ 2 กรณี ส่วนประเด็นเรื่องความโปร่งใส, การเลือกปฏิบัติ, ประสิทธิภาพในการจัดการ, การสื่อสาร, นโยบายและแผนงาน ไม่ปรากฏ ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะภาคประชาชนนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหาร กำหนดนโยบายดังเช่นภาครัฐ 

 

ปัญหาอยู่ตรงไหน

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า จากดราม่าทั้ง 124 กรณีตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ดราม่าเหล่านั้นเกิดจากปัญหาเรื่องทัศนคติสูงสุดถึง 39 เรื่อง คิดเป็น 31.45% โดยเกิดจากภาครัฐ 22 กรณี คิดเป็น 56.41% ภาคประชาชน 16 กรณี คิดเป็น 41.03% และภาคเอกชน 1 กรณี คิดเป็น 2.56% โดยตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องทัศนคติสูงที่สุดก็คืออนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.จำนวนเท่ากันที่ 7 กรณี

รองลงมาคือนโยบายและแผนงาน 25 กรณี คิดเป็น 20.16% โดยเกิดจากภาครัฐ 23 กรณี ภาคเอกชน 2 กรณี โดยตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องนโยบายและแผนงานสูงที่สุด ก็คือรัฐบาล จำนวน 9 กรณี

ประเด็นปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการ 16 กรณี คิดเป็น 12.90% โดยทั้ง 16 กรณีเกิดจากภาครัฐ โดยตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการสูงที่สุด ก็คือ รัฐบาล, ศบค. และกระทรวงพาณิชย์ อย่างละ 2 กรณี

ประเด็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร 15 กรณี คิดเป็น 12.10% โดยเกิดจากภาครัฐ 14 กรณี ภาคเอกชน 1 กรณี โดยตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องการสื่อสารสูงที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 3 กรณี

ประเด็นปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ 12 กรณี คิดเป็น 9.68% โดยทั้ง 12 กรณีเกิดจากภาครัฐ โดยตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติสูงที่สุด ก็คือ รัฐบาล จำนวน 3 กรณี

ประเด็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส 12 กรณี คิดเป็น 9.68% โดยทั้ง 12 กรณีเกิดจากภาครัฐ โดยตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องความโปร่งใสสูงที่สุด ก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 กรณี 

ประเด็นปัญหาเรื่องความรู้ทางการแพทย์ 5 กรณี คิดเป็น 4.03% เกิดจากภาครัฐ 2 กรณี ภาคประชาชน 2 กรณี และภาคเอกชน 1 กรณี โดยตัวละครมีทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, กองทัพบก, หนูเล็กก่อนบ่าย พนักงาน KFC และประชาชน

 

ดราม่าเกิดขึ้นในเดือนไหนมากที่สุด

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า เดือนที่มีจำนวนดราม่าเกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ เดือนมีนาคม 35 เรื่อง ซึ่งเป็นเดือนที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการจัดการโควิด-19 ในวันที่ 25 มีนาคม 2020 แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายเดือนจะพบว่า เดือนมีนาคม ไม่ใช่เดือนที่มีผู้ติดเชื้อใหม่มากที่สุด เพราะมีเพียง 1,609 ราย เดือนที่มีผู้ติดเชื้อใหม่มากที่สุดก็คือเดือนธันวาคม มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 3,155 ราย และมีดราม่าเพียง 12 เรื่อง (โดยยังไม่ได้เปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2021) ซึ่งเป็นช่วงการระบาดรอบใหม่ 

สำหรับเดือนที่จำนวนดราม่าสูงเป็นอันดับสองก็คือเดือนเมษายน 32 เรื่อง ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงการล็อกดาวน์ มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 1,303 ราย และอันดับสามคือเดือนธันวาคม 12 เรื่อง

ส่วนเดือนที่ไม่ปรากฏมีดราม่าตามเกณฑ์การคัดเลือกเลยก็คือเดือนกันยายน ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวน 157 คน และเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวน 224 คน โดยเดือนที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำสุดก็คือเดือนมกราคม 2020 จำนวน 19 คน อันเป็นเดือนแรกที่ไทยเริ่มตื่นตัวในเรื่องโรคโควิด-19 

 

บทสรุป

แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ในประเด็นดราม่าโควิด-19 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย ในตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา (จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2021) อันเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา และการจัดการวิกฤตโรคระบาดในประเทศไทย พบว่า ประเด็นดราม่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกลับมาจากประเด็นเรื่องทัศนคติ และจากข้อมูลพบว่าปัญหาเรื่องทัศนคตินั้นส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ และหากพิจารณาถึงจำนวนสูงสุดของบุคคล/องค์กร ที่ก่อให้เกิดปัญหาจากประเด็นเรื่องทัศนคติก็จะพบว่า เป็นบุคคลจากภาครัฐ ซึ่งก็คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. นั่นเอง

และหากมองในส่วนของภาครัฐเพียงส่วนเดียว อันเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดการวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ ก็จะพบว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือเรื่องนโยบายและแผนงานของรัฐ จำนวน 23 กรณี และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งห่างกันเพียง 1 กรณี ก็คือประเด็นเรื่องทัศนคติ โดยที่ดราม่าอันมาจากประเด็นปัญหาเรื่องความรู้ทางการแพทย์นั้น มีน้อยที่สุด เพียง 5 กรณีเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยการให้ความรู้ทางการแพทย์ที่ดี แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการวิกฤตโควิด-19 มีทัศนคติที่เป็นปัญหาและก่อให้เกิดดราม่าอย่างมาก


สามารถดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://tinyurl.com/covid19th-argument

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net