Skip to main content
sharethis

นักปกป้องสิทธิฯที่ดิน จ.สุราษฏร์ฯ ได้รับอิสรภาพหลังถูกคุมขังกว่า 1 ปี จากการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน ระบุถึงกลัวก็จะสู้ต่อไม่ถอย กรรมการชุมชนชี้ระบบช่วยเหลือคดีประชาชนมีปัญหา ชาวบ้านเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ ชวนจับตาธนาคารที่ดินเตรียมเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงแรกก่อน 29 ม.ค.นี้ จำนวน 69 ไร่


ไพโรจน์ กลับนุ้ย

27 ม.ค. 2564 วันนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานข่าวจากชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตำบลคลองน้อย อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏรธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนของสหพันเกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ว่า วันที่ 25 มกราคม 2564 ไพโรจน์ กลับนุ้ย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในที่ดินสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้รับอิสรภาพหลังถูกจองจำมาเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน 25 วัน จากการถูกบริษัทเอกชนและบุคคลฟ้องคดีจำนวน 9 คดี ใน 3 ข้อหา คือ ความผิดฐานซ่องโจร  ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข และ และความผิดร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งพืชหรือพืชผลของกสิกร

โดยข้อหา ความผิดฐานซ่องโจร และความผิดร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ซึ่งพืชหรือพืชผลของกสิกร ศาลยกฟ้อง แต่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข 

ไพโรจน์ถูกศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาสั่งให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน ซึ่งในระหว่างการถูกจองจำไพโรจน์ได้ขอลดหย่อนโทษมาโดยตลอด กระทั้งเมื่อวานนี้ได้กรับการปล่อยตัวออกมา

ไพโรจน์ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการปล่อยตัวออกมาว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่วันนี้ได้รับอิสรภาพหลังถูกจองจำมาเป็นระยะเวลานาน ตลอดเวลาของการถูกจองจำนั้นตนได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางใจและทางกายอย่างมาก ตนคิดถึงลูกมากเพราะในระหว่างที่ตนถูกจับกุมนั้นลูกของตนยังเล็กมาก ก่อนที่จะถูกจับกุม ตนไม่คิดว่าจะถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานขนาดนี้ เพราะตนไม่ได้เป็นฆาตกรที่ฆ่าคนตาย แม้ในระหว่างที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตนก็ต่อสู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจมาโดยตลอด แต่ก็ได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าระบบไม่เคยเอื้อให้กับคนจนเข้าถึงทั้งความยุติธรรมและเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิในที่ดินทำกินเลย โดยเฉพาะขั้นตอนในการต่อสู้คดี ที่กองทุนยุติธรรมจะต้องเข้ามาช่วยชาวบ้านอย่างพวกตน ก็ไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้

“หลังจากนี้ผมก็ไม่ถอยหรอกครับ ออกจากคุกมาที่ดินทำกินก็ไม่มี บ้านที่จะให้อยู่ยังไม่มี ผมก็จะสู้ต่อครับ ถึงแม้จะกลัวว่าจะต้องถูกจับกลับไปติดคุกเหมือนเดิมอีก ผมก็ยังยืนยันที่จะสู้เพื่อให้ลูกและครอบครัวได้มีที่อยู่ในการสร้างบ้าน และมีที่ดินในทำกินเลี้ยงชีพของตนเองครับ” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในที่ดินสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้กล่าว

ขณะที่ นิยม สารคะณา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหนึ่งในกรรมการชุมชนน้ำแดงที่สามีถูกจับกุมดำเนินคดีในครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า ในคดีนี้สมาชิกของชาวบ้านถูกจับกุมคุมขังมากถึง 8 คน และยังมี 2 คนที่ยังถูกจองจำอยู่รวมถึงสามีของตนด้วย ทั้งนี้ในช่วงที่มีการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ได้การยื่นขอประกันตัวในคดีนี้ ศาลได้เรียกหลักประกันสูงถึงคดีละ 200,000 บาท ทำให้ชาวบ้านที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต้องหยิบยืมหลักทรัพย์จากญาติพี่น้องและองค์กรต่างๆเพื่อมายื่นประกันตัว ในขณะที่หน่วยงานรัฐที่เราจะต้องพึ่งพิงได้ในยามที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแบบนี้อย่างกองทุนยุติธรรม ของกระทรวงยุติธรรมกลับไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านได้ ขั้นตอนในการขอก็มีความยุ่งยากและคณะกรรมการที่จะพิจารณาอนุมัติกองทุนก็เป็นเจ้าหนาที่ชุดเดียวกับที่จับกุมชาวบ้าน จะพิจารณาอนุมัติเงินของกองทุนให้กับประชาชนได้อย่างไร 

“สามีพี่ก็เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกจับกุมคุมขังและยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมา อยากให้เขาได้รับการปล่อยตัวไวๆ แฟนพี่สุขภาพไม่ดี ขั้นตอนของการรักษาในเรือนจำก็จะยิ่งทำให้เขาลำบากขั้นไปอีก และข้อหาที่ทุกคนโดนจับเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินทำกินไม่กี่ไร่ เราขอแค่ที่ดินให้พวกเราได้ใช้ทำกินหาเลี้ยงครอบครัว เราต้องการแค่นี้ไม่ได้ขออะไรไปมากกว่านี้เลย พวกเราก็จะสู้ในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดค่ะ ทั้งสู้ให้พี่น้องเราสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรมและการเขาถึงสิทธิในที่ดินทำกินค่ะ” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหนึ่งในกรรมการชุมชนน้ำแดงกล่าว

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่มีปัญหาการพิพาทเรื่องที่ดินในชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตั้งแต่ปี 2558-2559  สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้พยายามผลักดัน เรียกร้อง ให้ธนาคารที่ดินจัดซื้อที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แล้วนำมาขายให้กับสหกรณ์  โดยที่ผ่านมามีความล่าช้าในการดำเนินการของธนาคารที่ดิน ปัญหาเรื่องการจัดทำสัญญาที่มีการแก้ไขมาโดยตลอด จนกระทั้งในวันที่ 29 มกราคม 2564  เป็นวันที่ธนาคารที่ดินจะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับสหกรณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง ซึ่งเป็นหนึ่งในชัยชนะที่มีการต่อสู้เพื่อผลักดันการใช้กลไกหนึ่งของธนาคารที่ดิน เนื่องจากธนาคารที่ดิน เกิดจากการเรียกร้องของภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำที่ดิน ให้เกษตรกรไร้ที่ดินสามารถเข้าถึงที่ดินได้ ซึ่งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องร้องให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมาอีกด้วย

ซึ่งก่อนที่จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขาย ศิลา เส็งพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการที่ดินที่ 1 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)  พร้อมคณะทำงาน จะลงพื้นที่มาเยี่ยมสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา  ดูพื้นที่ที่จะทำสัญญาจะซื้อจะขาย และเตรียมดูพื้นที่พิพาทที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินพยายามที่ที่จะเสนอให้ธนาคารที่ดินฯ จัดซื้อต่อไปในวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่จะถึงนี้ 

ด้าน ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection international ระบุว่า ปัญหาหลักที่การที่รัฐไม่แก้ปัญหาและปล่อยให้บริษัทเอกชนและนายทุนใช้กระบวนยุติธรรมกลั่นแกล้งและคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ อีกทั้งรัฐไม่อำนวยความสะดวกให้นักปกป้องสิทธิฯในการเข้าถึงความยุติธรรม และช่วยให้การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นธรรมและมีมนุษยธรรมมากขึ้น การไม่ให้กองทุนยุติธรรมเป็นการซ้ำเติมชีวิตประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องการที่พึ่งในยามที่พวกเขาต้องการการช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด กระบวนการก็ล่าช้า หากธนาคารที่ดินสามารถจัดซื้อที่ดินพิพาทนี้ได้ ทำไมถึงปล่อยให้นักปกป้องสิทธิฯ ติดคุกก่อนถึงจะดำเนินการ 

สำหรับที่ที่ดินที่เป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและบริษัทเอกชนนั้น เดิมที่ดินแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวไร่  ต่อมาในปี 2518-2519 มีนายทุนสิงคโปร์ร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นบังคับกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านและได้นำไปออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ โดยครั้งแรกได้มีการออกเอกสารสิทธิโดยใช้ชื่อชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นเจ้าของ และได้มาเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองสิทธิเป็นบริษัทเอกชน และได้เปลี่ยนสภาพพื้นที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นสวนปาล์มน้ำมันจำนวน 2,545 ไร่

ต่อมาในปี 2531 บริษัทประสบปัญหาหนี้สินถูกฟ้องล้มละลาย และขัดผลประโยชน์กันเองภายใน จึงปล่อยพื้นที่กลายเป็นสวนป่าทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ และในปีพ.ศ. 2550 มีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เอกชนใช้ประโยชน์ ซึ่งนายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่แปลงเอกชนใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชุมชนน้ำแดงใช้ประโยชน์อยู่ ซึ่งหลังจากการตรวจสอบดังกล่าวก็ไม่มีการจัดสรรให้กับเกษตรรายย่อยและเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจนนำไปสู่การรวมตัวของเกษตรกรไร้ที่ดิน สหพันธุ์เกษตรกรภาคใต้ในปี 2551 ซึ่งตั้งอยู่หมู่ 5 และหมู่ 9 ของตำบลคลองน้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชุมชนน้ำแดง

ชาวบ้านจากชุมชนน้ำแดงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และได้เข้าร่วมประขุมคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท) และที่ประชุมชุดนี้ได้มีมติร่วมกันออกมาว่า เห็นชอบให้มีกาผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปรกติไปพลางก่อนในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดิน

แต่แทนที่ชาวบ้านจะได้รับการแก้ไขปัญหาตามมติดังกล่าว กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในหลากหลายข้อหา ไม่ว่าจะเป็นข้อหาร้ายแรงอย่างอั้งยี่ซ่องโจร ทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุก ซึ่งในข้อเท็จจริงชาวบ้านถือครองที่ดินเพื่อทำกินเพียงแปลงเดียวแต่กลับมีโจทก์ถึง 3 รายฟ้องร้องในที่ดินแปลงพิพาท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net