นิธิ เอียวศรีวงศ์: คำหยาบ เสมอภาค และลัทธิโรแมนติกนิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เพื่อนที่อายุใกล้เคียงกัน รำพึงเชิงถามจากต่างประเทศว่า ทำไมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของวัยรุ่นไทยจึงต้องใช้คำหยาบอย่างนั้นวะ

“อ้าว งั้นเหรอ” ผมนึกในใจ คงจะรำพึงผิดคนไปเสียแล้ว เนื่องจากโตมาในโรงเรียนประจำชาย ผมจึงได้ยินและใช้คำเหล่านั้นมาจนไม่เคยรู้สึกว่าหยาบ ฉะนั้น จึงไม่ระคายเคืองหูกับคำพูดคุยของแกนนำบนเวทีเลย

แม้กระนั้น รำพึงของเพื่อนก็ทำให้ผมกลับมาพยายามทำความเข้าใจเรื่อง “คำหยาบ” ในภาษาไทยใหม่ เส้นแบ่งระหว่างคำ “หยาบ” และไม่ “หยาบ” อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่ครูหรือคณะกรรมการอะไรของรัฐจะขีดขึ้นตามใจชอบเสียแล้ว ความหมายของคำในทุกภาษาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเสียงเพียงอย่างเดียว แต่เงื่อนไขของการใช้คำนั้นๆ ยังเป็นตัวกำหนดความหมายไม่น้อยไปกว่ากัน

โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “บริบท” ทางสังคมและวัฒนธรรม

เมื่อผมเป็นเด็กจนถึงหนุ่ม เขาลือกันหนาหูว่า พวกเจ้าทั้งหญิงและชายใช้คำหยาบในการพูดจามากและอย่างเป็นธรรมชาติด้วย สมัยหนึ่งก่อนหน้าที่ผมจะเข้าเรียน คณะในมหาวิทยาลัยที่ผมเข้าเรียน มีเจ้านับตั้งแต่หม่อมเจ้าลงมาถึงเชื้อพระวงศ์ระดับ ม.ร.ว.ลงมาเข้าเรียนกันมาก ดังนั้น คนที่ลือเรื่องนี้ให้ฟังคือรุ่นพี่ระดับน้าๆ แม้ในโรงเรียนประถมที่ผมเคยเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียน “สหศึกษา” ก็มี ม.ร.ว., ม.ล., หญิงอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นช่วงสงคราม โรงเรียนในเขตชั้นในกรุงเทพฯ ต้องปิดเรียนกันหมด จึงทำให้ผู้ลากมากดีต้องมาเรียนในโรงเรียนชานกรุง ผมก็ได้ยินเรื่องเจ้าพูดหยาบจากรุ่นพี่ๆ เหมือนกัน

ความเข้าใจของผมเกี่ยวกับเรื่องที่ผมถือว่าเป็นข้อเท็จจริงนี้ก็คือ ไม่ใช่คนในตระกูลเจ้าขาดการอบรมบ่มเพาะด้านการใช้ภาษา ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ผมคิดว่าพวกเขาเก่งในการปรับเปลี่ยนภาษาเพื่อใช้กับคนที่มีสถานภาพต่างกันได้อย่างคล่องแคล่วกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่คงใช้ราชาศัพท์กราบทูลเจ้านายชั้นสูงได้อย่างลื่นไหลทั้งนั้น แต่เมื่อพูดกับคนที่มีสถานภาพต่ำกว่า ก็กลับมาใช้ภาษาธรรมดาซึ่งอาจมีคำที่คนทั่วไปเห็นว่า “หยาบ” ปนอยู่ด้วย และได้อย่างลื่นไหลเท่าๆ กัน

ควรเข้าใจด้วยว่า “หยาบ” ในภาษาไทยมีความหมายสองอย่าง หนึ่งคือ ไม่ประณีต และสอง หยาบคาย ผมอยากเดาว่าคำหยาบของพวกเจ้าคือใช้คำและภาษาที่ไม่ประณีต ไม่ใช่หยาบคาย ทั้งนี้เพราะว่า หากคิดถึงสังคมที่เน้น “ช่วงชั้น” อย่างมากเช่นสังคมไทย ก็ไม่มีเหตุอะไรที่พวกเจ้าต้องใช้ภาษาที่ประณีตกับคนที่มีสถานภาพต่ำกว่า ยิ่งมีสถานภาพต่ำลงไปมากเท่าไร ความประณีตของภาษาก็ยิ่งลดลงมากเท่านั้น

คนทั่วไปก็ทำอย่างเดียวกันไม่ใช่หรือครับ เพียงแต่ภาษาประณีตของเราอาจไม่ชัดเท่าของเขาเท่านั้น อย่างน้อยคนไทยทั่วไปก็สามารถสับเปลี่ยนสรรพนามได้เร็วเท่ากับเสื้อผ้า (ของคนที่เราพูดด้วย) เพื่อกำหนดระดับของความประณีตไว้ต่างกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง

นอกจากช่วงชั้นแล้ว ผมคิดว่าคำที่ถือกันว่า “หยาบ” ยังถูกใช้เพื่อแสดงความใกล้หรือห่างในความสัมพันธ์ด้วย (intimacy)

น่าประหลาดที่คุณลักษณะนี้เกิดในทุกภาษา เรามักใช้ภาษาสุภาพหรือภาษาที่ประณีตขึ้นในการรักษาระยะห่างระหว่างตัวเรากับผู้ที่เราพูดด้วย ไม่ใช่เพียงห่างในความเป็นจริงเพราะเพิ่งแรกพบกัน แต่ห่างเพราะเราหรือเขาอยากจะสัมพันธ์กันแค่ห่างๆ เราและเขาก็จะพูดจาทักทายกันตาม “มารยาท” เป๊ะ ซึ่งหมายถึงใช้ภาษาตามแบบแผนเป๊ะด้วย

ตรงกันข้าม เมื่อต่างฝ่ายต่างสนิทสนมกันมากขึ้น ความประณีตของภาษาก็ลดลงจนเหลื่อมเข้าสู่แดนของ “คำหยาบ” มากขึ้นทุกที เปลี่ยนสรรพนาม, สร้อยคำ, คำขยายนาม, ใช้คำกริยาที่ดู “จิกกัด” มากขึ้น ฯลฯ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในสำนวนอเมริกันคือสัมพันธ์กัน “ระดับเรียกชื่อต้น” (อย่างย่อ) สำนวนไทยน่าจะแปลว่า “ระดับกู-มึง”

ถึงระดับนี้ “คำหยาบ” ทั้งหลาย แทบไม่เหลือความหมายตามตัวอักษรอีกแล้ว สัตว์เลื้อยคลานก็ไม่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน “แม่ง” ก็ไม่ได้หมายถึงแม่ของมึงหรือของมัน อวัยวะเพศชายก็ไม่ได้หมายถึงอวัยวะเพศชาย แม้พูดถึงเพศสัมพันธ์กับมารดาคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าอยากหรือเคยมีเพศสัมพันธ์จริง ฯลฯ

จุดมุ่งหมายเดิมของ “คำหยาบ” เพื่อล่วงละเมิดหรือด้อยค่าคนอื่น หายหรือเกือบหายไปโดยสิ้นเชิง

“คำหยาบ” กลายเป็นคำแสดงอารมณ์ (และมักเป็นอารมณ์ร่วมเสียด้วย) เท่านั้น และในอารมณ์ที่แสดงนั้น บางทีก็มีความหมายด้วย เช่น การให้อวัยวะเพศชายแก่คำพูดหรือการกระทำที่ผู้พูดเห็นว่าเหลวไหล, เอาแต่ได้, หรือขาดความถูกต้องเป็นธรรม ฯลฯ และเห็นได้ชัดเสียจนไม่มีประโยชน์จะอธิบายไขความยืดยาว (คล้ายวลี Bull Shit ในภาษาอเมริกัน)

อย่างที่ประธานสภาชวน หลีกภัย ได้ไปแท่งหนึ่ง ก็เป็นการโต้เถียงเห็นแย้งกับความเห็นของคุณชวน ด้วยวิธีของภาษาที่ไม่ประณีต (หลายคนก็คงจะโต้เถียงผมคนละหลายแท่งเหมือนกัน)

ถ้าใครรู้สึกเหมือนเพื่อนผมว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้เต็มไปด้วย “คำหยาบ” ผมก็อยากเตือนว่าคำที่เราเห็นว่า “หยาบ” นั้น มันมีความหมายมากกว่าคำตามตัวอักษร แต่มีความหมายตามบริบทด้วย และความหมายตามบริบทที่สำคัญที่สุดในกรณีนี้ก็คือ “มาตรฐาน” ทางภาษาที่กำหนดว่าคำใดหยาบหรือไม่หยาบ เอาเข้าจริงคือ “มาตรฐาน” ทางสังคม

การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ มีนัยยะมากกว่าการไล่ประยุทธ์ แต่ต้องการขจัดเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้คนอย่างคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ได้ต่างหาก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องการก้าวข้าม “มาตรฐาน” (ทางสังคม, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจและการเมือง) เดิมๆ ไปให้พ้น ดังนั้น การไม่เคารพต่อ “มาตรฐาน” ทางภาษาจึงช่วยตอกย้ำจุดมุ่งหมายของการเคลื่อนไหวได้ชัดเจนดี

ยิ่งไปกว่านี้ “คำหยาบ” ยังให้ความหมายใหม่ที่มากกว่าความสนิทสนม อันเป็นความหมายที่ผมยอมรับว่าไม่เคยมีในคนรุ่นผม แม้แต่ที่คุ้นเคยกับการใช้ “คำหยาบ” เป็นปรกติเช่นผมก็ตาม จะเข้าใจความหมายใหม่นี้ได้ดีจากปฏิกิริยาของผู้คนที่แสดงต่อ “แท่ง” ที่คุณชวน หลีกภัย ได้รับไป

จํานวนไม่น้อยแสดงความตระหนกตกใจต่อการใช้คำนี้กับ “ผู้ใหญ่” ระดับคุณชวน โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงสถานภาพของผู้ให้กับผู้ “ถูกให้” ระหว่างนักศึกษาตัวเล็กๆ กับประธานรัฐสภา, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่ ฯลฯ มีคนนับถือยกย่องเต็มบ้านเต็มเมือง แม้บางคนในกลุ่มนี้อาจเข้าใจความหมายของคำดังที่ผมกล่าวถึงข้างต้น คือทักท้วงว่าคำพูดหรือการกระทำของคุณชวนนั้นไร้สาระ ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าการทักท้วงบุคคลสาธารณะนั้นไม่เกี่ยวกับเด็ก-ผู้ใหญ่ แต่รับไม่ได้กับวิธีการ เพราะไม่ใช่การทักท้วงกันด้วยเหตุผลแต่เป็นการล่วงละเมิด

โฆษกประจำตัวประธานรัฐสภาออกมาแถลงตอบโต้ในทำนองนี้ คุณชวนไม่ใช่เพื่อนเล่นของหล่อนนะยะ

ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน (ซึ่งผมไม่ทราบว่าฝ่ายใดมากกว่ากัน) นอกจากเข้าใจความหมายของคำนี้ตรงกับผู้ใช้แล้ว ยังเห็นด้วยกับความเห็นของนักศึกษาที่ใช้คำนี้ด้วย คือคำพูดหรือการกระทำของคุณชวนนั้นไร้สาระ อีกทั้งยังไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับการละเมิดการจัดสถานภาพของคำให้สอดคล้องกับสถานภาพของคน จึงหัวเราะก๊ากทันทีที่ได้เห็นข้อความซึ่งโพสต์ในสื่อสังคม

พูดอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเพียงฝ่ายเดียวที่เห็นว่าคำหยาบคือเครื่องมืออย่างดีในการทำลาย “ช่วงชั้น” อันแสนละเอียดอ่อนของสังคมและวัฒนธรรมไทย คำที่ใช้กับเพื่อนเล่นได้ ก็เป็นคำที่ใช้กับประธานรัฐสภาได้ (อย่าว่ากับนายกฯ และเหล่ารัฐมนตรีต่างๆ เลย)

ในทัศนะของผม ความหมายใหม่ของคำหยาบคือความเสมอภาค คำหยาบในคนรุ่นผมคือความสนิทสนม แม้ความสนิทสนมคือความเสมอภาคอย่างหนึ่งแน่ แต่เป็นความเสมอภาคที่จำกัดเฉพาะคนที่สนิทสนมกัน ส่วนความเสมอภาคในความหมายใหม่คือความเสมอภาคที่เป็นสากล – เพราะคุณชวนไม่ใช่เพื่อนเล่นของนักศึกษานั่นแหละ ที่ทำให้เห็นความหมายใหม่ของคำหยาบได้ชัดขึ้น

จะโดยเจตนาอย่างมีสำนึกด้วยหรือไม่ก็ตาม คำหยาบที่เพื่อนผมเห็นว่าถูกใช้ดกดื่นในการชุมนุมประท้วงต่างๆ คือการประกาศหลักความเสมอภาค ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ถูกย้ำแล้วย้ำอีกในการชุมนุม (“เป็นคนเท่ากัน”) ยิ่งถ้าคิดว่า “คำหยาบ” จำนวนมากในภาษาไทยมักเกี่ยวกับเครื่องเพศ, อารมณ์ทางเพศ, และกิจกรรมทางเพศ ก็ยิ่งได้ความหมายที่ลึกขึ้นของความเสมอภาคที่เรียกร้อง เพราะเขาคงไม่ได้เรียกร้องให้ฟ้าประทานความเสมอภาคลงมา แต่เป็นความเสมอภาคตาม “ธรรมชาติ” ของความเป็นคนเหมือนกันต่างหาก

จะหาอะไรที่แสดงความเป็นคนเหมือนกันยิ่งไปกว่าเรื่องกิน ขี้ ปี้ นอน ล่ะครับ

“ธรรมชาติ” ดั้งเดิมของความเป็นคนต่างหาก ที่ให้เสรีภาพและความเท่าเทียมกันยิ่งกว่าสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น เพราะการปรุงแต่งที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงก็ต้องมีอำนาจหนุนหลัง จะมีอำนาจอะไรหรือครับ ที่จะผดุงสิ่งปรุงแต่งอันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ดังนั้น สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายจึงแฝงการเอารัดเอาเปรียบและการกดขี่ไว้ทั้งนั้น

ผมพูดอย่างนี้ หลายคนคงคิดถึงรุสโซและลัทธิ “โรแมนติกนิยม” (Romanticism) อันเป็นพลังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุโรปตะวันตก ทั้งผ่านการปฏิวัติฝรั่งเศสและนโปเลียน ตัว “ลัทธิ” จะเป็นพลังแก่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งอื่นๆ มากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่ในความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ทั้งหลาย มีส่วนที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งผลักดันการเคลื่อนไหวทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่การเมืองอย่างเดียว ดังนั้น จึงมีแร็พ, มีคอสเพลย์, มีระบำกลางถนน, มีศิลปะบนพื้นถนน ฯลฯ ที่โกรธเกรี้ยวบ้าง, เต็มไปด้วยความหวังบ้าง, ปีติสุขของการเกิดใหม่บ้าง, อาลัยรักบ้าง และอีกมากที่เหลือจะพรรณนา ควบคู่กันไปกับเวทีปราศรัย

ผมคิดว่า หากมอง “คำหยาบ” จากบรรยากาศของโรแมนติกนิยมเช่นนี้ ก็จะเห็นความหมายที่ซ่อนนัยยะไว้อย่างสำคัญอีกมาก

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_392209

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท