8 ข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับการทำแท้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. คนมีการทำแท้งตลอดเวลา ไม่ว่ากฎหมายจะบัญญัติไว้อย่างไร

การยุติการตั้งครรภ์เป็นการตัดสินใจทั่วไปของคนหลายล้านคนทุกปี ในทุกปี หนึ่งในสี่ของการตั้งครรภ์ยุติลงด้วยการทำแท้ง

และไม่ว่าจะเป็นการทำแท้งถูกกฎหมายหรือไม่ ประชาชนก็ยังคงต้องการและเข้ารับบริการทำแท้งอย่างสม่ำเสมอ ตามข้อมูลของสถาบัน Guttmacher Institute หน่วยงานไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ในสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราการทำแท้งอยู่ที่ระดับ 37 ต่อประชากร 1,000 คนในประเทศที่มีกฎหมายห้ามทำแท้งอย่างสิ้นเชิง หรืออนุญาตให้ทำได้กรณีเพื่อช่วยชีวิตผู้หญิง และอัตรา 34 ต่อ 1,000 คนในประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งในกรณีทั่วไป ซึ่งถือว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ  

การทำแท้งโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมและในสภาพที่ถูกสุขลักษณะ นับเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยมากที่สุดอย่างหนึ่ง ถือว่าปลอดภัยกว่าการคลอดบุตรเสียอีก 

แต่รัฐบาลหลายประเทศจำกัดการเข้าถึงการทำแท้ง บีบบังคับให้ประชาชนต้องไปทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยแบบลับ ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเงินเพื่อการเดินทาง หรือการใช้บริการทำแท้งของเอกชน นำเราไปสู่ประเด็นต่อไป

2. การเอาผิดทางอาญากับการทำแท้งไม่ได้หยุดยั้งการทำแท้ง เพียงแต่ทำให้การทำแท้งปลอดภัยน้อยลง

การขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้ง ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยับยั้งความต้องการของพวกเธอที่จะทำเช่นนั้นได้ ด้วยเหตุดังกล่าว ความพยายามยุติหรือจำกัดการทำแท้ง จึงไม่ได้ช่วยลดจำนวนการทำแท้ง เพียงแต่บังคับให้บุคคลต้องไปทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึง “กระบวนการยุติการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์โดยบุคลากรที่ขาดทักษะที่จำเป็น หรือต้องทำในสภาพแวดล้อมที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำทางการแพทย์ หรือในทั้งสองกรณี”  

ทางหน่วยงานคาดการณ์ว่า มีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย 25 ล้านครั้ง ทุกปี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา 

ตรงข้ามกับการทำแท้งที่ถูกกฎหมายซึ่งเป็นการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรม การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ร้ายแรงถึงขั้นที่ว่า การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยกลายเป็นสาเหตุสำคัญอันดับสามของการเสียชีวิตของแม่ทั่วโลก และนำไปสู่ความพิการที่สามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้นอีกห้าล้านกรณี ตามข้อมูลของ WHO 


ผู้ชุมนุมถือป้ายและจุดเทียนรำลึกถึงสาวิตา ฮาลัพพานาวาร์ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง
ในระหว่างการเดินขบวนจาก Garden of Remembrance ไปรัฐสภาแห่งไอร์แลนด์ ที่กรุงดับลิน
ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 ©PETER MUHLY/AFP/Getty Images

3. การเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ป้องกันได้

การเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่มักมีการเสียชีวิตในประเทศที่การเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยถูกจำกัด หรือมีกฎหมายห้ามอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ต้องการการทำแท้งสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ 

ในประเทศที่กฎหมายมีข้อจำกัดเช่นนี้ มักอนุญาตเป็นข้อยกเว้นในกรอบแคบ ๆ ให้ทำแท้งได้ เพื่อไม่เอาผิดทางอาญากับการทำแท้ง ข้อยกเว้นเหล่านี้อาจรวมถึงกรณีตั้งครรภ์เนื่องจากการข่มขืนหรือการมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัวเดียวกัน กรณีตัวอ่อนในครรภ์เกิดความบกพร่องร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิต และกรณีที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตหรือสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์ การทำแท้งที่เกิดขึ้นจากเหตุผลเหล่านี้ถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย หมายความว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ในประเทศที่มีกฎหมายเหล่านี้ อาจต้องเข้ารับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตของตนเอง 

กลุ่มคนชายขอบจึงมักได้รับผลกระทบมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากกฎหมายเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่สามารถเดินทางไปขอรับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายในประเทศอื่น หรือบริการของเอกชนได้ ทั้งนี้รวมถึงผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มีรายได้น้อย ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ วัยรุ่น เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตรงเพศ ทรานส์เจนเดอร์ หรือบุคคลที่ปฏิเสธการนิยามเพศตามบรรทัดฐานทางสังคม ผู้หญิงชนกลุ่มน้อยหรือชนพื้นเมือง 

องค์การอนามัยโลกมีข้อสังเกตว่า หนึ่งในขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตและบาดเจ็บของแม่ คือการที่รัฐต้องประกันให้บุคคลสามารถเข้าถึงเพศศึกษา และสามารถใช้วิธีคุมกำเนิดที่เป็นผล สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย และได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดอาการแทรกซ้อน

มีหลักฐานชี้ว่า ประเทศที่กฎหมายมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงการคุมกำเนิดจะมีอัตราการทำแท้งสูงกว่า ส่วนประเทศที่ประชาชนรวมทั้งวัยรุ่น มีข้อมูลและสามารถเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่ และประเทศที่มีการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาอย่างรอบด้าน และมีการเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายด้วยเหตุผลในกรอบที่กว้างกว่า จะมีอัตราการทำแท้งต่ำกว่า 

4. หลายประเทศเริ่มแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการเข้าถึงการทำแท้งมากขึ้น

กว่า 25 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 50 ประเทศ ได้แก้ไขกฎหมาย เพื่ออนุญาตให้มีการเข้าถึงการทำแท้งมากขึ้น โดยตระหนักถึงความสำคัญที่ว่า การเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยช่วยคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของผู้หญิง ประเทศไอร์แลนด์ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศเหล่านี้เมื่อวันที่วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 มีการทำประชามติ ที่ประชาชนเฝ้ารอมาอย่างยาวนาน และมีการออกเสียงอย่างท่วมท้น เพื่อแก้ไขข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ห้ามทำแท้งเกือบทุกกรณี

แม้มีแนวโน้มการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นนี้ แต่บางประเทศ รวมถึง นิคารากัว และ เอล ซัลวาดอร์ ยังคงมีกฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางและเลือกปฏิบัติ เพื่อห้ามทำแท้งในแทบทุกกรณี อันที่จริง ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก 40% ของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ทั่วโลก อาศัยอยู่ในประเทศที่มีกฎหมายห้ามทำแท้งอย่างเข้มงวด ทั้งไม่มีบริการทำแท้งถูกกฎหมายหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ประเทศเหล่านี้มีกฎหมายห้ามทำแท้ง หรืออนุญาตให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดอย่างยิ่ง หรืออาจอนุญาตให้ทำได้ตามกฎหมาย แต่ก็มีอุปสรรคขัดขวางมากมาย ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้ 

แม้ในประเทศที่มีการเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายอย่างกว้างขวาง ผู้ตั้งครรภ์ยังอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ และอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ รวมทั้งค่าใช้จ่าย การให้คำปรึกษาอย่างมีอคติ ข้อกำหนดที่ต้องให้มีช่วงระยะเวลาในการรอก่อนที่จะทำแท้งได้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติทางเทคนิค เพื่ออธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องจำแนกและขจัดอุปสรรคเหล่านั้นสำหรับประเทศต่าง ๆ 


เทโดรา วัสเกซ กอดครอบครัวและเพื่อน ไม่นานหลังได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงที่เมืองอิลโลปันโก ประเทศเอล ซัลวาดอร์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 โดยเธอถูกจำคุกมาตั้งแต่ปี 2551 เป็นโทษจำคุกเนื่องจากกฎหมายต่อต้านการทำแท้งที่เข้มงวด หลังจากเธอแท้งลูก © E. Romero

5. การเอาผิดทางอาญาหรือการมีกฎหมายห้ามการทำแท้ง การขัดขวางแพทย์ในการให้บริการขั้นพื้นฐาน 

การเอาผิดทางอาญาและกฎหมายห้ามทำแท้ง ขัดขวางไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม และให้ทางเลือกในการดูแลที่ดีสุดสำหรับคนไข้ได้ ซึ่งสอดคล้องตามหลักปฏิบัติทางการแพทย์ที่ดี และจรรยาบรรณความรับผิดชอบของผู้ทำงาน 

การเอาผิดทางอาญากับการทำแท้งส่งผลให้เกิด “บรรยากาศที่น่ากลัว” ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดความสับสนกับขอบเขตของกฎหมาย หรืออาจตีความกฎหมายที่มีข้อจำกัดในลักษณะที่แคบกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเป็นผลจากสาเหตุหลายประการ รวมทั้งความเชื่อส่วนตัว การสร้างตราบาปให้การทำแท้ง อคติทางลบเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง หรือความกลัวที่จะต้องรับผิดทางอาญา 

ทั้งยังเป็นอุปสรรค ทำให้เกิดความล่าช้าในการเข้าถึงการดูแลหลังการทำแท้งสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง กรณีที่เกิดอาการแทรกซ้อน เนื่องจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย หรือกรณีที่เกิดอาการแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์

แคลร์ มาโลน หญิงสาวจากไอร์แลนด์ซึ่งมีบุตรแล้วสองคน เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไอร์แลนด์ ฟังถึงประสบการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว เพราะมีการขัดขวางการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพของเธอ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งเนื่องจากกฎหมายทำแท้งที่เข้มงวดของประเทศ

แคลร์มีปัญหาด้านสุขภาพหลายประการที่ซับซ้อนและเสี่ยงต่อชีวิต รวมทั้งโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดที่มีเลือดลำเลียงไปยังปอดจำนวนน้อย และภาวะความดันเลือดในปอดสูง จนต้องตัดปอดข้างหนึ่งทิ้งเมื่อปี 2557 ผู้หญิงซึ่งมีภาวะความดันเลือดในปอดสูงที่ตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก หรืออาจเสียชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ได้ แคลร์ทราบเรื่องนี้ เธอจึงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ แต่แพทย์ไม่อนุญาต เนื่องจากมีกฎหมายขัดขวางไม่ให้พวกเขาทำเช่นนั้น 

“แพทย์ของดิฉันบอกว่า พวกเขาไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แม้จะเกิดความเสี่ยงต่อชีวิตของดิฉันในตอนนี้ เขาตอบเพียงเท่านั้น ดิฉันรู้ว่าพวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ดิฉันรู้สึกว่าถ้าปล่อยไปเช่นนี้ สุขภาพอาจแย่ลงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงตอนนั้นก็คงสายเกินไป ทำไมพวกเขาบอกว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ร้ายแรงเช่นนี้ ยังไม่ร้ายแรงมากพอ? อาการของดิฉันต้องทรุดหนักแค่ไหน กว่าจะอนุญาตให้แพทย์รักษาดิฉันได้?” 

6. ไม่ใช่แค่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตรงเพศกำเนิดที่ต้องการการทำแท้ง

ไม่ใช่แค่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตรงเพศ (ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงซึ่งได้รับการกำหนดว่ามีเพศหญิงในช่วงที่ถือกำเนิด) คนที่อาจต้องการการเข้าถึงบริการทำแท้ง ยังอาจรวมถึงอินเตอร์เซ็กซ์ คนข้ามเพศ ผู้ชายและเด็กผู้ชาย และผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศอื่น ๆ ซึ่งมีศักยภาพในการเจริญพันธุ์และตั้งครรภ์ได้  

อุปสรรคสำคัญสุดอย่างหนึ่งต่อการเข้าถึงการทำแท้งสำหรับบุคคลและกลุ่มนี้ คือการไม่สามารถเข้าถึงบริการในการดูแลสุขภาพ นอกจากนั้น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการในการดูแลสุขภาพ ยังอาจต้องเผชิญกับการสร้างตราบาปและอคติจากผู้ให้บริการทางสุขภาพ รวมทั้งสมมติฐานว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องเข้าถึงการคุมกำเนิด ข้อมูลและบริการเกี่ยวกับการทำแท้ง ในบางบริบท จำนวน 28% ของทรานส์เจนเดอร์และบุคคลที่ปฏิเสธการนิยามเพศตามบรรทัดฐานทางสังคมให้ข้อมูลว่า ต้องเผชิญกับการคุกคามระหว่างเข้ารับบริการทางการแพทย์ และจำนวน 19% ให้ข้อมูลว่า ถูกปฏิเสธไม่ให้รับบริการทางการแพทย์อย่างสิ้นเชิงเนื่องจากเป็นทรานส์เจนเดอร์ โดยเฉพาะบรรดาชุมชนคนผิวสีจะได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ในสัดส่วนที่สูงกว่า ทั้งนี้เป็นผลมาจาก ปัจจัยที่ทับซ้อนกัน ทั้งเรื่องความยากจนและสีผิว และผลสืบเนื่องจากการการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อน

นักรณรงค์สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กำลังรณรงค์เพื่อ สร้างจิตสำนึกในประเด็นนี้ และ ทำให้มีบริการทำแท้งที่เข้าถึงได้และมีส่วนร่วม สำหรับทุกคนที่ต้องการ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ 

7. การเอาผิดทางอาญากับการทำแท้งเป็นการเลือกปฏิบัติรูปแบบหนึ่ง ซึ่งยิ่งเพิ่มการสร้างตราบาป

 ประการแรก การปฏิเสธการเข้าบริการทางการแพทย์ รวมทั้งบริการอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม เป็นการเลือกปฏิบัติรูปแบบหนึ่ง

คณะกรรมการสหประชาชาติของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) (หรือสนธิสัญญาเพื่อสิทธิสตรี) ได้เน้นย้ำเสมอว่า กฎหมายจำกัดการทำแท้งถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและบุคคลที่อาจตั้งครรภ์ได้ ดังที่คณะกรรมการ CEDAW ยืนยันถึงความคุ้มครองตามอนุสัญญา CEDAW และพันธกรณีของรัฐ ที่มีผลบังคับใช้ต่อผู้หญิงทุกคนและครอบคลุมการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ซึ่งเป็นเลสเบียน ไบเซ็กชวล และ/หรือคนข้ามเพศ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเพศสภาพที่พวกเธอต้องเผชิญ 

ประการที่สอง การสร้างตราบาปเกี่ยวกับการทำแท้งและอคติทางเพศ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการเอาผิดทางอาญากับการทำแท้ง และกฎหมายและนโยบายที่จำกัดการทำแท้งอื่น ๆ    

ความเข้าใจว่าการทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมเพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกิดการสร้างตราบาปให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ทั้งในบรรดาบุคลากรผู้ดูแลสุขภาพ ครอบครัว และศาล เป็นต้น ส่งผลให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่พยายามทำแท้ง เสี่ยงจะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและการคุกคาม ผู้หญิงบางคนให้ข้อมูลว่า ได้รับการปฏิบัติมิชอบและทำให้อับอายโดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ระหว่างเข้าไปใช้บริการทำแท้ง หรือรับการดูแลหลังการทำแท้ง 

8. การเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน

การเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต สิทธิด้านสุขภาพ และสิทธิที่จะปลอดจากความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  

กฎหมายสิทธิมนุษยชนกำหนดอย่างชัดเจนว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของคุณเป็นสิทธิของคุณเพียงคนเดียว ดังที่เรียกกันว่าอำนาจในเนื้อตัวร่างกายตนเอง

การบังคับให้บุคคลตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ต่อไป หรือการบังคับให้พวกเขาต้องเข้ารับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขา รวมทั้งสิทธิความเป็นส่วนตัวและอำนาจในเนื้อตัวร่างกายตนเอง 

ในหลายบริบท คนที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องแสวงหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ยังเสี่ยงจะถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษ รวมทั้งถูกจำคุก และอาจต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและการเลือกปฏิบัติ ทั้งในระหว่างที่ได้รับการดูแลที่สำคัญในช่วงหลังทำแท้ง และในกรณีที่ไม่ได้รับการบริการดังกล่าว

การเข้าถึงการทำแท้งจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองและยืนยันสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง เด็กผู้หญิง และบุคคลอื่นที่อาจตั้งครรภ์ได้ และสำคัญต่อการบรรลุความยุติธรรมทางสังคมและความยุติธรรมทางเพศ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า บุคคลทุกคนควรมีเสรีภาพในการใช้อำนาจในเนื้อตัวร่างกายตนเอง และตัดสินใจได้ด้วยตนเองเกี่ยวกับชีวิตการเจริญพันธุ์ของตน รวมทั้งช่วงเวลาและเงื่อนไขการมีบุตร กฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้ง จึงต้องอยู่บนพื้นฐานความเคารพ คุ้มครอง และทำให้เป็นผลซึ่งสิทธิมนุษยชนของผู้ตั้งครรภ์ และต้องไม่บังคับให้พวกเขาต้องแสวงหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

Amnesty International’S POLICY ON ABORTION

การเมืองว่าด้วยเรื่องร่างกาย: คู่มือการเอาผิดทางอาญาด้วยเหตุแห่งเพศวิถีและการเจริญพันธุ์

ที่มา: Amnesty International 8 ข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับการทำแท้ง https://www.amnesty.or.th/latest/blog/841

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท