งานของคณะกรรมการพัฒนาการเมือง (คพป.) ไม่มีผลทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 40

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สมาพันธ์ประชาธิปไตยมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการต่อสู้ทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ภายหลังเหตุการณ์จึงดำเนินการเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงแทนที่รัฐธรรมนูญ รสช.ของคณะรัฐประหาร 2534

กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่ในระยะนั้นเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการทำความจริงในเรื่องนี้ให้ปรากฏภายหลังจากที่ได้อ่านบทความที่เขียนโดย นพ.ประเวศ วะสี ในสื่อสาธารณะหลายฉบับ
 โดยขอยืนยันว่าการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้เป็นผลจากการวางกรอบของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.)ชุดที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน

ตามที่ นพ.ประเวศ วะสีได้เขียนบทความดังที่ปรากฏในหน้า 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำวันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2564 มีเนื้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“............ทางออกขอให้ดูย้อนไปปี 2537 ยุค นายมารุต บุนนาค เป็นประธานสภาประกาศให้ผม (นพ.ประเวศ วะสี) เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ให้ประธาน คพป.ไปหากรรมการ คพป.เอาเอง สภาและรัฐบาลไม่เข้ามายุ่งเกิดเป็นคณะกรรมการอิสระโดยบังเอิญ

มีบทบาทวางกรอบความคิดรัฐธรรมนูญ เคลื่อนไหวทางสังคมและผ่านสื่อมวลชนอย่างหนัก ให้เห็นถึงผลดีของการปฏิรูปการเมือง กลายเป็นกระแสสังคม พอเปลี่ยนรัฐบาล ทุกพรรคการเมือง ทหารเอาด้วยหมด ผลักเข้าสูสภาก็ง่าย กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ2540.........”

ใจความสำคัญต้องการให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของ “ผลงานของ คพป.ที่มีหมอประเวศเป็นประธาน” ว่า
ได้วางกรอบความคิดรัฐธรรมนูญ จนทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งไม่เป็นความจริง

ข้อเท็จจริงคือ

1.ภายหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ยุติลง มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน 2535 พรรคการเมืองซึ่งสื่อตั้งฉายาว่าพรรคเทพได้ชูเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย 

ผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยมีคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายที่ประกาศหาเสียงกับประชาชนในการเลือกตั้ง และที่ประกาศเป็นนโยบายไว้ในรัฐสภาในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

2.เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร จึงได้เป็นผู้เริ่มต้นเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2534 (รัฐธรรมนูญ รสช.) แล้วให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ยกร่างแทน

3.แต่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ปฏิเสธเสียงแข็งว่าทำไม่ได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ (2534 ที่บังคับใช้อยู่) นำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมืองอย่างร้อนแรง

4.สมาพันธ์ประชาธิปไตยจึงไปชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีชวนว่า สมัย อ.ปรีดี พนมยงค์ มีสภาพการณ์เช่นเดียวกันทุกประการคือ 

มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้อยู่ 

มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญบังคับอยู่ 

แต่ อ.ปรีดี สามารถดำเนินการผ่านรัฐสภาให้เกิดคณะกรรมการรวบรวมเรียบเรียงเพื่อยกร่างเป็น รัฐธรรมนูญ (คณะกรรมการ 7 ร.) จากนั้นก็ดำเนินการจนสัมฤทธิผลเป็นรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากฉบับหนึ่งของการเมืองไทย

5.นายกรัฐมนตรีชวนเห็นด้วยและได้นัดให้สมาพันธ์ประชาธิปไตยมาชี้แจงกับกรรมการพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เห็นพ้องด้วยจึงรับปากว่าจะตั้งคณะกรรมการ 7 ร. ต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมากในตอนเช้า

ทำให้เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ประกาศเลิกการประท้วงทันทีในตอนเช้าเช่นกัน 

แต่ตอนเย็นพรรคประชาธิปัตย์กลับพลิกเปลี่ยนเป็นให้นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา ตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเมือง (คพป.) ที่มีหมอประเวศเป็นประธานโดยอ้างว่าเป็นมติที่ประชุมพรรค

6.ภายหลังจากที่หมอประเวศทำงานอยู่หลายเดือนจนเสร็จส่งมอบงานให้ประธานรัฐสภานายมารุต บุนนาค 
 รัฐบาลชวน หลีกภัย กลับไม่ได้นำเอาผลงานของ คพป.มาดำเนินการใดๆ เป็นเวลายาวนาน จนต่อมารัฐบาลชวนต้องยุบสภา เพื่อหลีกเลี่ยงการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอันเนื่องมาจากรัฐบาลชวนดำเนินนโยบายผิดพลาดกรณี สปก.4-01

7.ในช่วงระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองสมัยรัฐบาลชวนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแทนรัฐธรรมนูญ รสช. นักกฏหมายมหาชนที่รักประชาธิปไตยก็ได้ช่วยกันค้นคว้าทางวิชาการแสดงความคิดเห็นสาธารณะมาโดยตลอด จนได้ข้อยุติว่าเรื่องนี้สามารถทำได้แต่ต้องแก้มาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญ 2534

8.พรรคชาติไทยจึงได้เสนอนโยบายแก้มาตรา 211 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้ง (โดยพรรค  ปชป.ไม่ได้เอางานของหมอประเวศ “คพป.”มาเป็นนโยบายแม้แต่ประโยคเดียว) 

ประชาชนที่เห็นชอบในการแก้ ม.211 อยู่แล้วจึงเลือกพรรคชาติไทยเข้ามาด้วยจำนวนส.ส.มากที่สุดจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

9.สมาพันธ์ประชาธิปไตยได้เข้าพบเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนายบรรหาร ศิลปอาชา ทำตามสัญญาประชาคมที่หาเสียงไว้ นายบรรหารได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานแก้มาตรา 211 (ของรัฐธรรมนูญ2534) นำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ได้จนสำเร็จผ่านรัฐสภา

10.สสร.จึงดำเนินการยกร่างจากนั้นนำไปทำประชามติแล้วประกาศเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 บังคับใช้ จนได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป  รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจนกระทั่งปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าผลงานของ คพป.ที่มีหมอประเวศ วะสี เป็นประธานนั้น ทำหน้าที่เพียงจัดทำเอกสารชุดหนึ่งส่งมอบให้นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาเท่านั้น 

จากนั้นมาเอกสารดังกล่าวก็นอนนิ่งในลิ้นชักแห่งใดแห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้มีบทบาทหรือผลสเทือนใดๆอันนำมาสู่การเลือก สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จนสำเร็จแต่อย่างใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท