“เห็นว่าจะไม่ได้ประโยชน์อย่างใดเลย”: ว่าด้วยทรรศนะการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยในทศวรรษ 2500

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประโยค “เห็นว่าจะไม่ได้ประโยชน์อย่างใดเลย” ที่พาดหัวข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในช่วงทศวรรษ 2500 ผู้มีบทบาทต่อวงการการศึกษาของไทย ทั้งในฐานะผู้บริหารระดับสูงและนักการศึกษา ประโยคข้างต้น เป็นทรรศนะและคำชี้แจงต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตรงกันข้ามกับความต้องการของรัฐไทยในยุคยามสงครามเย็น ที่คอยระแวดระวังภัยคอมมิวนิสต์จะแทรกซึมบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติบ้านเมือง และการจะสู้ภัยแผ่นดินนั้น จำต้องอาศัยวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นเครื่องมือสำหรับกล่อมเกลาให้ผู้เรียนเกิดสำนึกชาตินิยม มีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ไม่เอนเอียงฝักใฝ่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทว่าเหตุใดหม่อมหลวงปิ่น ที่กล่าวได้ว่าเป็นรัฐมนตรีฝ่ายอนุรักษนิยม กลับเห็นแย้งกับฝ่ายรัฐเรื่องการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย และภัยชนิดใดกันที่สามารถก่อความไม่มั่นคงให้แก่รัฐที่งบประมาณกระทรวงกลาโหมในทศวรรษ 2500 ไล่เคียงกับงบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งข้อเขียนชิ้นนี้ประสงค์เพียงนำเสนอหลักฐานชั้นต้นมาทบทวนเปรียบเทียบเพื่ออ่าน “อดีตและปัจจุบัน” อันเป็นหน้าที่ของวิชาประวัติศาสตร์เท่านั้น

หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยมาตรา 17 ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีกระทำ/สั่งการได้โดยอำเภอใจ สั่งประหารชีวิตนายครอง จันดาวงศ์ ครูโรงเรียนราษฎร์แห่งอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เจ้าของประโยค “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ในข้อหากบฏต่อความมั่นคงและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ คณะรัฐมนตรีของจอมพลสฤษดิ์ได้ประชุมกันโดยเร่งด่วน เพื่อหาทางสกัดยับยั้งมิให้กบฏคอมมิวนิสต์สามารถแทรกซึมเข้ามาในแผ่นดินไทย ที่สุด อ้างตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ ศธ.7634/2504 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 ตามรายงานของกรมตำรวจ (ภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งอธิบดี) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดการเรื่องพรรคพวกของนายครอง จันดาวงศ์ ยังกระทำการเพื่อบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการ “...ให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือป้องกัน โดยดำเนินการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยให้หนักขึ้น เพื่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อประเทศไทย และอาจเพิ่มคะแนนวิชานี้ให้สูงกว่าวิชาอื่น หรืออยู่ในประเภทที่มีคะแนนสูงที่สุด หรือให้เป็นวิชาหลัก...” [1]


 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี และหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในการประชุมสามัญประจำปีคุรุสภา พ.ศ. 2502 ภาพจาก อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ พลับพลาเทพศิรินทราวาส
วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2539 หน้า 188 

ในฐานะเจ้ากระทรวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จึงมีหนังสือ “ลับมาก” ที่ 12636/2504 ไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงเรื่องการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า

“...การสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยให้หนักขึ้นนั้น อาจทำได้เพราะหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการนั้นยืดหยุ่นได้ และเป็นหน้าที่ของภาคศึกษาที่จะต้องจัดประมวลการสอนตามหลักสูตรนั้นให้เกิดผลแก่ท้องถิ่นของภาคศึกษานั้นๆ ...การที่จะเพิ่มคะแนนประวัติศาสตร์ชาติไทยให้สูงขึ้นนั้น กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าจะไม่ได้ประโยชน์อย่างใดเลย เพราะความต้องการที่แท้จริงของราชการคือ ให้ประชาชนมีจิตใจจงรักภักดีต่อบ้านเมือง ซึ่งวัดด้วยคะแนนไม่ได้ หรือได้ยากที่สุด ถ้าเพิ่มคะแนนประวัติศาสตร์ ผลจะปรากฏว่า ผู้ที่มีความจำดีเท่านั้นที่คะแนนมาก แต่ไม่มีประกันอย่างใดเลยว่า ผู้ที่มีความจำดีจะเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อประเทศชาติ”[2]

หม่อมหลวงปิ่นกล่าวต่อไปว่า ปัญหาอะไรในสังคม หากต้องการจะแก้ก็มาลงที่การศึกษาเสียหมด เป็นต้นว่า จริยธรรมเสื่อมโทรมก็ให้เพิ่มคะแนนวิชาศีลธรรม ภาษาไทยกำลังวิบัติก็ให้เพิ่มคะแนนวิชาภาษาไทย โลกปัจจุบัน (พ.ศ. 2504) เป็นยุควิทยาศาสตร์ สหรัฐอเมริกาก้าวหน้าควรส่งนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่นักเรียนภาษาอังกฤษอ่อนก็ให้เพิ่มคะแนนวิชาภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุนี้

“...การเพิ่มคะแนนให้หลายวิชานั้นก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่ทราบว่าจะลดคะแนนวิชาใดไปให้ ดังนี้ปัญหาเรื่องจะเพิ่มคะแนนให้วิชาประวัติศาสตร์นั้นน่าจะต้องระงับไปไม่ต้องพิจารณา กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าสำคัญอยู่ที่ตัวครูและจิตใจของครูมากกว่า ถ้าครูเองเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อประเทศชาติ และตั้งใจทำการสอนก็ย่อมจะต้องถ่ายความรู้สึกที่ดีงามให้แก่นักเรียนเป็นธรรมดาอย่างไม่ต้องสงสัย กระทรวงศึกษาธิการจึงจะได้เพ่งเล็งในเรื่องครูแทนที่จะเพิ่มคะแนนประวัติศาสตร์”[3]

เป็นอันว่าหม่อมหลวงปิ่นเสนอทางออกของปัญหาว่าจะต้องแก้ไขที่ “ครู” แต่การจะควบคุมครูให้กลายเป็นพวกของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ตกเป็นพวกนายครองนั้น

“...ปรากฏแล้วว่า ลูกสมุนของนายครองจำนวนไม่น้อย เชื่อนายครองหรือคนอย่างนายครอง เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของตน ยิ่งมีการศึกษาต่ำก็ยิ่งเชื่อง่าย การที่นายครองหาพวกพ้องได้ง่าย ก็เพราะการศึกษาเบื้องต้น เมื่อ 20 – 30 ปีก่อนไม่แน่นพอ บัดนี้เรื่องร้ายเกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะแก้ไขปราบปราม แต่การที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในภายหน้า เป็นเรื่องของการพัฒนาการศึกษาเป็นแน่แท้” [4]


หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่สถานีรถไฟจังหวัดยะลา ขณะออกตรวจราชการภาคใต้
ภาพจาก อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม.
ณ พลับพลาเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2539 หน้า 176

การพัฒนาการศึกษาที่หม่อมหลวงปิ่นเอ่ยถึง เป็นอภิโครงการ (Megaproject) ของกระทรวงศึกษาธิการช่วงต้นทศวรรษ 2500 มีชื่อว่าโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค (Regional Education Development Project Including Higher Education – R.E.D.P.H.E./พ.ศ.ภ.) โครงการนี้มุ่งพัฒนาการศึกษาทุกระดับ อยู่ภายใต้ความร่วมมือตั้งแต่กระทรวง กรม สภาการศึกษาแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงบประมาณ) รวมตลอดจนความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เข้ามามีบทบาทเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะผู้นำค่ายเสรีประชาธิปไตย


หนังสือพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค เขียนโดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จัดพิมพ์โดยคุรุสภา พ.ศ. 2518 

โครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาคอาจถือเป็นอนุสรณ์แห่งการทำงานด้านการจัดการการศึกษาอันแสนยาวนานของหม่อมหลวงปิ่น (ดำรงตำแหน่งปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2512) ด้วยเหตุที่หม่อมหลวงปิ่นอาศัยอำนาจบริหาร วางรากฐานการศึกษาแบบอนุรักษนิยมเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างครอบคลุมครบวงจร เช่น แผนการศึกษาแห่งชาติ โครงการด้านการศึกษา หลักสูตร ตำราเรียน สิ่งพิมพ์ของคุรุสภา รวมไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชาที่แวดล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงาน นักเรียนร่วมรุ่น และลูกศิษย์ร่วมชั้น ที่ทั้งหมดร่วมอุดมการณ์เดียวกัน สำหรับหม่อมหลวงปิ่นแล้ว ใช่แต่เพียงวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะเพิ่มพูนให้ผู้เรียนเกิดสำนึกชาตินิยมเท่านั้น การผลิตสร้าง (ผ่านโรงเรียนฝึกหัดครู/วิทยาลัยการศึกษาที่หม่อมหลวงปิ่นเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง) หรือเกลี้ยกล่อมบุคลากรทางการศึกษาให้สมาทานอุดมการณ์กลไกหลักของรัฐต่างหาก จึงจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้ำจุนความมั่นคงของรัฐไทย ดังที่หม่อมหลวงปิ่นกล่าวถึงหลักการหนึ่งของโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาคว่า

“...โครงการนี้ถือการอบรมครูประจำการเป็นสำคัญ แต่มิอาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยว่า เพื่อสร้างความเป็นมิตรกับครูและแก้ไขเรื่องยุ่งเหยิงที่ครูอาจเข้าพัวพันอยู่ เช่นเรื่องการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ เป็นต้น

ครูของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรวมทั้งครูรัฐบาล ประชาบาล และครูโรงเรียนราษฎร์นั้นมีจำนวนกว่า 120,000 คน การสั่งการจากกระทรวงศึกษาธิการไปยังครูนั้นต้องทำเป็นทอดๆ ไป กว่าจะถึงตัวครูเรื่องก็คลายความเข้มข้นไปมาก อาจเข้าใจผิดพลาดด้วย และความเห็นใจกันไม่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่าส่วนมากเมื่อสั่งให้ทำก็ทำ สักแต่ว่าไม่ให้ผิดคำสั่ง เช่นถ้าจะสั่งให้เพิ่มการสอนประวัติศาสตร์ให้หนักขึ้น ครูก็อาจสอนเพิ่มขึ้นหนึ่งชั่วโมง แต่น้ำเสียงที่สอน หรือความรู้สึกในคำพูดที่ใช้ในบทเรียนก็คงไม่เปลี่ยนไปอย่างใดไม่ วิธีแก้คือหาโอกาสย่นหนทางระหว่างต้นทางกับปลายทางให้ผู้บังคับบัญชาในกรุงเทพฯ ออกไปประชุมร่วมกับครูในท้องที่ จะเป็นการประชุมอบรมเรื่องวิธีสอนก็ดี เรื่องหลักสูตรก็ดี เรื่องจิตวิทยาเด็ก หรือเรื่องการจัดโรงเรียนก็ดี ย่อมได้ผลทางวิชาการส่วนหนึ่ง และได้ผลทางจิตใจอีกส่วนหนึ่ง บรรดาครูทั่วไปนั้นต้องการพึ่งผู้รู้และมักจะนิยมผู้ที่ให้ความเมตตา เมื่อได้ประชุมร่วมกันอย่างเห็นอกเห็นใจกันบ้างก็จะเกิดความรู้สึกว่าทางราชการมีความหวังดีต่อครูอย่างไร ไม่ช้าครูก็จะเชื่อผู้บังคับบัญชามากกว่าเชื่อบุคคลอย่างพรรคพวกของนายครอง จันดาวงศ์ ถ้าไม่ให้ครูในท้องถิ่นได้พบปะผู้ที่เขาควรจะยึดถือเป็นหลักได้ เขาก็อาจหันเข้าไปหาหลักอื่น เช่นหลักของพวกนิยมคอมมูนิสต์” [5]

กล่าวโดยรวบรัดคือ หม่อมหลวงปิ่นต้องการให้ครูเป็นพาหะหรือผู้ส่งสาส์นอุดมการณ์กระแสหลักของรัฐ ผ่านการจัดอบรมสัมมนา[6] อันกลายเป็นแบบอย่างในการส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปดำเนินการเผยแพร่ทำความเข้าใจกับส่วนภูมิภาค เพื่อเฝ้าสังเกตและควบคุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างให้อยู่ในโอวาท/นโยบายของกระทรวง ดังที่หน่วยศึกษานิเทศก์ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยพัฒนากรของกระทรวงมหาดไทยในการเข้าถึงพื้นที่อันห่างไกลตามแถบชนบททุรกันดารช่วงยุคพัฒนาทศวรรษ 2500

อย่างไรก็ตาม หกสิบปีให้หลัง ดูเหมือนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมาแถลงว่าจะมีการปรับเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ให้นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อให้นักเรียนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ปฏิกิริยาที่เพิ่งปรากฏขึ้นของฝ่ายรัฐ ที่เมื่อเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงแล้วต้องออกมาบังคับกำกับอดีตด้วยการจัดให้มีเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอในบทความเรื่อง “200 ปีของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและทางข้างหน้า” เมื่อปลายทศวรรษ 2520 ว่า

“ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยได้ผ่านจังหวะที่คึกคักมา 3 ครั้ง คือ เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ครั้งหนึ่ง เมื่อช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพครั้งหนึ่ง และสมัยประมาณ พ.ศ. 2500 มาถึงประมาณ พ.ศ. 2525 อีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่น่าสังเกตคือ ทั้งสามจังหวะที่คึกคักของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยนี้ เป็นช่วงระยะเวลาที่มีภาวการณ์อันทำให้ชนชั้นนำของไทยถูกบีบคั้นอย่างแรง และเป็นผลให้ต้องเกิดความสงสัยไม่แน่ใจในความเป็นตัวของตัวเอง”[7] 

ดูเหมือนคำถามว่าตัวเองคือใครที่นำให้ชนชั้นนำเกิดวิกฤตทางอัตลักษณ์อย่างน่าหวาดหวั่น จังหวะทั้งสามระลอกที่นิธิกล่าวถึง สร้างความไม่มั่นคงทางสถานะหรือตำแหน่งแห่งที่ของชนชั้นนำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองอย่างยากจะกู้ฟื้นใฝ่ฝันถึงครั้งบ้านเมืองยังดี การที่สยามถูกคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการเข้าสู่ยุคอเมริกัน/สงครามเย็นในทศวรรษ 2500 ที่ชนชั้นนำต้องเผชิญกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกอีกครั้ง ทั้งสามจังหวะล้วนแต่กระทบถึงสถานะอันเคยมั่นคงร่มเย็นของชนชั้นนำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์กริ่งเกรงภัยคอมมิวนิสต์จะบั่นทอนสถานะเผด็จการและบริวารอนุรักษนิยมของตนในช่วงหลังกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมา ดังนั้น หากจะตอบว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยตามทรรศนะของเผด็จการอย่างจอมพลสฤษดิ์แล้ว ก็ด้วยความรู้สึกที่ว่าผู้นำเผด็จการรวมถึงเหล่าบริวารนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชาติ และรัฐเป็นผู้ผูกขาดเนื้อหาทางประวัติศาสตร์มาโดยตลอด การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอดีตจึงอยู่ภายใต้เงาอุปถัมภ์ของรัฐและชนชั้นนำเพื่อกลั่นกรองควบคุมเนื้อหาให้ส่งเสริมเพิ่มพูนสถานะของตน เพราะเมื่อสถานะของชนชั้นนำยืนยงคงมั่นแล้ว รัฐไทยก็ย่อมสถิตเสถียรสถาพรไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ หลังจากชนชั้นนำได้ผ่านพ้นช่วงที่รู้สึกปลอดภัยจากภัยคุกคามทางการเมือง หรือเชื่อมั่นในตัวเองว่าสถานะเดิมจะไม่ถูกลิดรอนไปอีกเป็นเวลานาน นับแต่ทศวรรษ 2520[8] ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 สังคมไทยตกอยู่ในวังวนการเมืองสีเสื้อ ผีทักษิณ วาทกรรมไพร่-เจ้า ทุนนิยมสามานย์ คนดี-คนไม่ดี ฯลฯ และการรัฐประหารครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2557 ได้บ่อนทำลายสถานะอันมั่นคงของชนชั้นนำลง ซึ่งอาจไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่มีทีท่าจะมั่งคั่งยั่งยืนมากยิ่งขึ้น หากแต่ในทางวัฒนธรรม ชนชั้นนำได้เดินมาสู่จุดล่อแหลมจะสูญเสียคำอธิบายเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปจนหมดสิ้น ชนชั้นล่างถึงชนชั้นกลางระดับบนต่างวิพากษ์วิจารณ์อดีตอันดีงามของชนชั้นนำด้วยข้อมูลความรับรู้อันหลากหลาย กล่าวให้ชัดคือ ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เคยสร้างความมั่นคง/มั่นใจให้แก่ชนชั้นนำกำลังถูกท้าทายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่นั่งลำบากเช่นนี้ เร่งเร้าให้สงครามแย่งชิงอดีตเปิดฉากและมีแนวโน้มดุเดือดกว่าครั้งใด ซึ่งการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถูกเด็กนักเรียนที่เรียกตนว่า “นักเรียนเลว” เป่านกหวีดขับไล่ “คนดี” เพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบการศึกษา ย่อมส่งผลให้ฝ่ายรัฐเกิดความระแวงสงสัยถึงสถานะที่มั่นคงของตน จนจำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ปัจจุบันด้วยการกำกับผูกขาดอดีตผ่านการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์อีกครั้ง

ปัจจุบัน คำถามว่าเราคือใครยิ่งมีความสำคัญโดยเฉพาะกับชนชั้นนำ จนป่านนี้แล้วชนชั้นนำยังไม่รู้อีกหรือว่าตนเป็นใคร เมื่อมนต์ขลังของประวัติศาสตร์ชาติไทยกำลังเสื่อมลงจากอุดมการณ์กลไกรัฐ เนื้อหาหรือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องการนำเสนอ กลับถูก ตอบโต้ ท้าทาย และแข่งขันกันเสนอหลักฐานข้อเท็จจริงที่ทำให้อีกฝ่ายจำนนต่อหลักฐานและแนวคิดใหม่ๆ จนไม่สามารถประกอบสร้างเหตุผลมาสาธยายถึงอดีตของตนได้อีก ย้อนกลับไปที่คำถามเดียวกัน กระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ที่อยู่นอกขนบในหลายปีที่ผ่านมา ราษฎรสามัญยิ่งชัดเจนแล้วว่าตนเป็นใคร เราคือราษฎรผู้เป็นเจ้าของประเทศ มีประวัติศาสตร์และรากเหง้าทัดเทียมกับมหาบุรุษ มหาสตรี และมวลมหาประชาชนทั้งหลาย ชนชั้นนำเองต่างหากที่ควรตระหนักได้แล้วว่า ตนเองคือ “คน” ไม่ใช่ “เจ้า” ไม่ใช่ “นาย” และไม่ได้เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์อยู่เพียงฝ่ายเดียว มนต์เสน่ห์ของการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์จึงอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้คิดและถึงขั้นจินตนาการไปยังอดีตที่จะเดินหน้ามารับใช้ปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดที่หยัดยืนในอนาคตด้วย ทางแยกซึ่งท้าทายทางเลือกในเวลานี้ อยู่ที่รัฐและชนชั้นนำแล้วว่าจะเลือกทางใด เพราะหากยังขัดฝืนเอาอดีตที่กำลังพังทลายของตนมาขายกินอยู่ร่ำไป “เห็นว่าจะไม่ได้ประโยชน์อย่างใดเลย”

 

อ้างอิง
[1] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล ม.ล.ปิ่น มาลากุล สบ.5.1.1.2/36 เรื่อง เสนอคณะรัฐมนตรีทราบ (พ.ศ. 2504).
[2] เรื่องเดียวกัน.
[3] เรื่องเดียวกัน.
[4] ปิ่น มาลากุล, ม.ล. พัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2518), 115 – 116. 
[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล ม.ล.ปิ่น มาลากุล สบ.5.1.1.2/36 เรื่อง เสนอคณะรัฐมนตรีทราบ (พ.ศ. 2504).
[6] แม้แต่คำว่าสัมมนา (Seminar) หม่อมหลวงปิ่นยังมอบหมายให้หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ลูกน้องคนสำคัญในกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นใช้
[7] นิธิ เอียวศรีวงศ์, กรุงแตก, พระเจ้าตากฯ และประวัติศาสตร์นิพนธ์ ว่าด้วยประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์นิพนธ์, พิมพ์ครั้งที่ 11, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2557), 29.
[8] เรื่องเดียวกัน, 31.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท