ศาลยกฟ้อง "แหวน พยาบาลอาสา" คดีม.112 จากแชทไลน์ เหตุพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนัก

ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษายกฟ้อง ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ "แหวน พยาบาลอาสา" คดีม.112 จากข้อความในไลน์ เนื่องจากพยานหลักฐานที่มีเพียงภาพหน้าจอไลน์ที่พิสูจน์ที่มาของหลักฐานไม่ได้และพยานบุคคลที่ถูกระบุว่าแชทกับแหวนก็ไม่รู้จักกัน จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอพิสูจน์ได้ว่าแหวนกระทำความผิดจริง

28 ม.ค.2564 ศาลจังหวัดนนทบุรี มีนัดฟังคำพิพากษาคดีของณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการแชทที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเนื้อหาข้อความที่อัยการศาลทหารกรุงเทพระบุไว้ในคำฟ้องคือ ข้อความที่มีลักษณะท้าทายให้ไปก่อเหตุที่โรงพยาบาลศิริราชแทนจากกลุ่มไลน์เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2558 หลังเกิดเหตุระเบิดที่ศาลอาญา รัชดาฯ ในวันที่ 7 มี.ค.2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนศาลลงบัลลังก์ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งว่าผู้ที่จะเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้นอกจากณัฏฐธิดาและทนายความแล้วห้ามผู้อื่นเข้า ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามว่าเป็นการพิจารณาลับใช่หรือไม่เพราะตามปกติการอ่านคำพิพากษาจะทำโดยเปิดเผย เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าเป็นมาตรการป้องกันโควิด- 19 ของศาล ทำให้ในการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้มีเพียงณัฏฐธิดาอยู่ในห้องพิจารณาเพียงคนเดียว

หลังศาลอ่านคำพิพากษาณัฏฐธิดาออกมาให้สัมภาษณ์ถึงผลคำพิพากษาว่า ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานในคดีมีน้ำหนักไม่เพียงพอเนื่องจากมีเพียงภาพข้อความจากแอพพลิเคชั่นไลน์เพียง 1 แผ่นเท่านั้นจากการตรวจพิสูจน์หลักฐานไม่สามารถยืนยันที่มาของหลักฐานว่าได้มาอย่างไร ไม่มีมูลเหตุของหลักฐานอยู่ในโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งหลักฐานที่ทหารเอามากล่าวหาว่าเธอเป็นคนแชทในกลุ่มไลน์ก็ไม่มีหลักฐาน และพยานบุคคลที่มาให้การในฐานะที่เป็นคู่คดีด้วยก็ให้การว่าไม่ได้รู้จักกับเธอและไม่ได้เป็นคนพิมพ์ข้อความด้วย

ณัฏฐธิดาบอกอีกว่ากล่าวอีกว่าในการจับกุมเธอถูกปิดตา และมีการกระทำอนาจาร รวมทั้งข่มขู่เอารหัสอีเมล เฟซบุ๊ก และไลน์ ด้วยศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พิพากษายกฟ้อง

ณัฏฐธิดาบอกว่าพิพากษาในวันนี้ผู้พิพากษาได้คืนความเป็นธรรมให้กับเธอแล้ว เธอรู้สึกดีใจเพราะต้องต่อสู้คดีมาหลายปี ตอนที่ถูกจับก็ถูกเอาเข้าค่ายทหารไป 7 วัน แล้วก็ถูกขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง 3 ปีกว่าก่อนได้ประกันตัว

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง เดินทางมาให้กำลังใจณัฏฐธิดา มีวังปลา

ณัฏฐธิดากล่าวต่อว่าสำหรับคดีนี้เป็นคดีที่พ่วงมากับคดีก่อการร้าย ซึ่งเธอไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร แต่ต้องรับเพราะกระบวนการจับกุมทั้งการจับปิดตาขึ้นรถไปค่ายทหาร มีการทำอนาจารโดยการเปิดเสื้อขึ้นดูแล้วถามขนาดหน้าอก และจับด้วย แล้วทหารที่คุมตัวยังใช้ปืนเคาะที่ท้ายทอยแล้วก็บอกให้ยอมรับ และทหารต้องการลดความน่าเชื่อถือของเธอในฐานะพยานคดี 6 ศพที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อ 19 พ.ค.2553

ณัฏฐธิดาอธิบายว่าตอนที่ถูกคุมตัวทหารก็ถามกับเธอเรื่องการถอนตัวจากการเป็นพยานในคดี 6 ศพวัดปทุมฯ แต่เธอบอกว่าคดีดังกล่าวศาลก็มีคำสั่งศาลไปแล้วว่าเกิดจากการกระทำของทหารตั้งแต่ปี 2556จะให้ถอนอย่างไร

"กล้ามาก" สน.บางเขนแจ้งข้อหา 112 'ทราย เจริญปุระ' และผู้ปราศรัยหน้ากรมทหารราบที่ 11

“เขาพูดเลยว่าถ้ามีคดี 112 หรือร่วมก่อการร้ายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง จะถูกลดถอนความน่าเชื่อถือในการเป็นพยานจากตรงนี้นี่คือสิ่งที่ทหารเขาพูดกับเราในค่าย แล้วเขาก็ทำจริงๆ” ณัฏฐธิดาเล่าถึงสิ่งที่ต้องพบเจอระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร และเธอบอกว่าตอนนี้ก็ยังมีคดีมาตรา 112 อีกจากการปราศรัยถึงการสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เมื่อ 29 พ.ย.2563 ซึ่งเป็นความพยายามจงใจทำเรื่องนี้หายไปจากประวัติศาสตร์

ส่วนจะมีการดำเนินคดีกลับเจ้าหน้าที่ที่จับกุมและดำเนินคดีหรือไม่ ณัฏฐธิดาบอกว่าต้องปรึกษากับทนายความก่อน

จากพยานกลายเป็นจำเลย

ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน เป็นพยาบาลอาสาในการชุมนุมที่มีการสลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553 และอยู่ในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ทำให้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิต 6 คนที่ถูกทหารยิงเสียชีวิต ซึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตมีเพื่อนพยาบาลอาสาที่ปฏิบัติหน้าที่ในวัดด้วยกันถึงสองคนคือ กมนเกด อัคฮาด และมงคล เข็มทอง ณัฏฐธิดาจึงกลายเป็นพยานในคดีของทั้ง 6 คนในชั้นไต่สวนการตายซึ่งภายหลังศาลก็มีคำสั่งระบุว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหารบนรางรถไฟฟ้าช่วงหน้าวัดปทุมฯ (ระหว่างสถานีชิดลมและสยาม) เมื่อปี 2556

ภาพของแหวนขณะทำการปฐมพยาบาล อัฐชัย ชุมจันทร์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตบริเวณวัดปทุมฯ ขณะที่คนขวาสุดสวมชุดปอเต็กตึ๊งคือมงคล เข็มทอง คนที่ยืนด้านหลังของแหวนคืออัครเดช ขันแก้ว อาสาพยาบาล ต่อมาทั้งคู่ถูกยิงเสียชีวิต รวมอยู่ใน 6 ศพวัดปทุมฯ เช่นกัน 

หลัง คสช.ทำรัฐประหารได้เกือบครบปี 7 มี.ค.2558 หลังเกิดเหตุระเบิดที่ลานจอดรถศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นอกจากผู้ก่อเหตุ 2 คนที่ถูกจับได้ทันที ทหารได้ติดตามจับกุมบุคคลเข้าค่ายทหารไปรวมถึง 14 คน ณัฏฐธิดาก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2558 และเธอก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวอีกเลยแม้จะยื่นประกันตัวอยู่หลายครั้งเป็นเวลานานถึง 3 ปี 5 เดือน 18 วัน จนสุดท้ายศาลหทารยอมให้ประกันตัวในทั้งสองคดีโดยตั้งวงเงินประกันตัวสูงถึง 900,000 บาท

ณัฏฐธิดาขณะกำลังถูกคุมตัวออกจากศาลทหารกรุงเทพกลับทัณฑสถานหญิงกลางที่คลองเปรม ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นอกจากคดีที่ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้แล้ว ณัฏฐธิดายังเหลือคดีที่หลงเหลือมาจากช่วงหลังรัฐประหารอีกหนึ่งคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเธอได้กระทำความผิดจริงหรือไม่คือ คดีที่อัยการฟ้องเธอเป็นจำเลยร่วมกับอีก 6 คน ได้แก่ สุภาพร มิตรอารักษ์, วาสนา บุษดี, สุรพล เอี่ยมสุวรรณ, วสุ เอี่ยมละออและสมชัย อภินันท์ถาวร ในข้อหาร่วมกันตระเตรียมก่อการร้ายและมียุทธภัณฑ์และเครื่องกระสุนไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งณัฏฐธิดาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีที่ความเคลื่อนไหวทางบัญชีเกี่ยวพันกับการจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา

โดยคดีเตรียมก่อการร้ายของณัฏฐธิดาจะมีการสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 5 พ.ค.2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท