Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมจำได้ว่าเห็นข่าวชาวอุยกูร์ครั้งแรกจากทางทีวีที่บ้านช่วงค่ำๆ โดยในตอนนั้น ผู้รายงานข่าวซึ่งเป็นนักข่าวฝีมือฉมังที่รู้จักกันดี ก็ยังไม่รู้ว่าคนพวกนี้เป็นใครกันแน่ แต่จากการแต่งตัว โดยเฉพาะผ้าคลุมศีรษะและลำตัวของพวกผู้หญิง ทำให้คาดเดาได้ว่าเป็นชาวมุสลิม

ทั้งนี้ การรายงานข่าวดังกล่าวซึ่งมี จนท. ตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้พาเข้าไปถ่ายทำถึงในป่าอันเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของคนเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนเป็นร้อยๆ คน ได้ระบุว่าเป็นพวกผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเมื่อถามว่าเป็นใครมาจากไหน ก็เอาแต่พูดแค่ว่า “ตุรกีๆ ”

ความรู้สึกแว่บแรกที่เห็นข่าวนี้ผมก็คิดว่ามันมีอะไรที่ผิดปกติ โดยในขณะนั้นผมเป็นรองอธิบดีกรมสารนิเทศ และโดยสัญชาตญาณก็รู้สึกเองว่าเรื่องนี้คงกลายเป็นปัญหาที่อาจเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ

และจำได้ว่ารู้สึกเซ็งมาก เพราะนอกจากจะคิดว่ามันต้องมีปัญหาแน่นอนแล้ว แต่การที่มันเป็นข่าวปรากฏออกไปทั่วแบบนั้น มันยิ่งจะทำให้อะไรๆ ยากขึ้นไปอีก 

เอาล่ะ ผมก็เข้าใจว่าทาง จนท. ตรวจคนเข้าเมืองก็คงอยากได้ผลงาน อยากเป็นข่าวได้ออกทีวี ส่วนนักข่าวก็แน่นอนว่าต้องการทำข่าว และข่าวแบบนี้คงไม่มีใครยอมพลาดแต่พวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งอันนี้ไปโทษสื่อไม่ได้ แต่หากฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่เร่งรีบอยากได้ผลงาน (หรือก็หน้านั่นแหละ) จนเกินไปนัก เหตุการณ์มันอาจไม่ได้ลงเอยอย่างน่าเศร้าดังที่เป็นไปในที่สุดก็ได้

แม้ว่าโดยทั่วไปสาธารณะชน ไม่ว่าที่ไหนในโลก ย่อมไม่ชอบให้มีการปกปิดข้อมูล หรือการทำอะไรที่เป็นเรื่องลับ แต่บางครั้งสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นเรื่องจำเป็น

ถ้าหากในตอนนั้นฝ่ายเจ้าหน้าที่ ตม. สามารถตระหนักได้ว่าเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหญ่และมีปัญหา แล้วมีการรายงานตามลำดับชั้นขึ้นไป เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้มีเวลาพิจารณาหาทางออก หารือร่วมกันว่าจะทำอย่างไรก่อนโดยที่มันยังไม่เป็นข่าวออกไป มันจะช่วยให้ช่องทาง วิธีการแก้ปัญหา มีมากยิ่งขึ้น

หากไม่เป็นข่าว อย่างน้อยผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราอาจลองทำได้คือการหาทางผลักดันคนกลุ่มนี้ออกไปเงียบๆ ซึ่งคงต้องประสานงานลับๆ กับประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ ซึ่งน่าจะมีความเห็นใจคนกลุ่มนี้บ้าง รวมทั้งติดต่อประสานประเทศอื่นๆ ที่อาจยื่นมือให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมันก็อาจมีทางเป็นไปได้เช่นกัน

แต่เมื่อมันเป็นข่าวปรากฎแก่สายตาคนทั่วไป รวมทั้งบรรดาพวกสถานทูตต่างประเทศทั้งหลายในไทยแล้ว มันก็ทำให้การดำเนินการเช่นนี้เป็นเรื่องยากและตีบตันยิ่งขึ้น 

ข้อคิดแรกในเรื่องนี้คือมันควรมีการกำชับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องการให้ข่าว (ก็รู้ล่ะนะในทางปฎิบัติมันยาก แต่ก็ควรมีการกำชับเสมออยู่ดี) เพราะจริงๆ เรื่องนี้มันก็เกี่ยวกับความมั่นคงมาก การให้ข่าวอย่างเร่งรีบจะทำให้การแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้น และในกรณีนี้ท้ายที่สุดมันก็นำมาซึ่งโศกนาฏกรรม และความสูญเสีย ซึ่งในความเห็นของผม ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความล้มเหลวของกระทรวงการต่างประเทศเองด้วย ที่ไม่สามารถกล้าตัดสินใจ ทำในสิ่งที่ถูกต้องแต่แรก 

เมื่อกลุ่มชาวอุยกูร์ถูกจับและปรากฎเป็นข่าวออกไป เผือกร้อนลูกนี้ก็ตกมาถึงกระทรวงการต่างประเทศ แม้ว่าในทางปฎิบัติบางหน่วยงานก็มีอำนาจสามารถดำเนินการได้เช่นกัน แต่ทุกคนคงรู้ว่ามันจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการตัดสินใจและที่จะมีผลตามมา จึงไม่มีใครอยากรับภาระนี้

ในตอนนั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ และทาง คสช. ยังไม่ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดยให้ปลัดกระทรวงแต่ละแห่ง ทำหน้าที่รักษาการแทนรัฐมนตรี และโดยที่ทาง คสช. เองก็ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะการกระชับอำนาจที่เพิ่งยึดมาหมาดๆ จึงยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ปล่อยให้ทางกระทรวงการต่างประเทศว่าไป

ผมจำได้ว่าในการประชุมครั้งแรกๆ ก็ยังไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้สัญชาติอะไร แต่ทางผู้แทน ตม. บอกว่าน่าจะเป็นชาวตุรกี เพราะพูดแต่ว่าตุรกี และต้องการไปตุรกีซึ่งผมก็แอบหัวเราะในใจและคิดว่าถ้าคนพวกนี้เป็นคนตุรกีที่หลบหนีออกมา แล้วเขาจะอยากกลับไปตุรกีอีกทำไมอีก มันไม่เมคเซนส์เท่าไหร่ แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ถ้าเอาตามที่ผู้แทน ตม. พูดแต่แรกก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง

และไม่นานนักพวกเราพอจะรู้แล้วว่าคนเหล่านี้อาจเป็นชาวอุยกูร์ที่หลบหนีเข้ามา ซึ่งประเด็นปัญหาที่ตัองคำนึงคือเราจะหาทางออกอย่างไร ระหว่างการทำตามหลักการที่ประชาคมโลกยึดถือและที่เราได้เคยไปลงนามมีพันธะไว้ กับการพยายามไม่ให้จีนขุ่นเคืองไทย

เมื่อยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี สิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศเลือกทำในตอนนั้นคือการพยายามพิสูจน์สัญชาติที่แท้จริงของคนเหล่านี้ ซึ่งจะว่าไปมันก็ไม่ใช่เป็นทางออกอะไรมากนัก เพียงแต่มันเป็นการช่วยประวิงเวลา หรือเป็นการซื้อเวลาระหว่างที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับคนพวกนี้แน่

วัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งของเรา (ซึ่งก็คงเป็นเกือบทุกที่) เมื่อไม่แน่ใจ ก็ต้องเพลย์เซฟไว้ก่อน และ tactic กลวิธีหนึ่งที่ชอบใช้คือการยื้อ ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ในแง่หนึ่งก็คืออ้างได้ว่าจะได้มีเวลาคิดทุกด้านอย่างรอบคอบ แต่ในอีกแง่ก็เหมือนหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป ปัญหามันอาจคลี่คลายไปในตัวมันเอง หรือมีใครมาช่วยตัดสินใจให้ จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบเอง อะไรประมาณนั้น

ถึงตอนนี้ ทางการตุรกีได้แสดงความพร้อมที่จะรับคนพวกนี้ไป ซึ่งโดยปกติแล้ว ปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย รวมทั้งผู้หลบหนีเข้าเมือง มันจะมีความยากตรงที่ไม่มีประเทศที่สามที่จะยอมรับ แต่เมื่อมีประเทศที่สามยอมรับ เราสามารถส่งคนทั้งหมดไปตามที่เขายินดีรับได้เลย ไม่ต้องรอพิสูจน์สัญชาติด้วยซ้ำ

ซึ่งการส่งขาวอุยกูร์ไปให้กับตุรกีถือเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศและพันธะกรณีที่เราให้ไว้กับสหประชาชาติ และในความเห็นของผม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง

แต่คำถามคือแล้วจะกล้าตัดสินใจส่งคนเหล่านี้ไปให้ตุรกีไหม?

น่าจะผ่านไปอีกร่วมปี จนมีการจัดตั้งรัฐบาล คสช.แล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งในขณะนั้นก็เป็นคนของ คสช. ก็ยังใช้แนวทางตามที่ข้าราชการประจำวางไว้ และก็ยังไม่ตัดสินใจแต่ชัดว่าจะดำเนินการเช่นใด แม้เอาเข้าจริงต่อให้พิสูจน์สัญชาติหมดจนครบทุกคน เราก็ต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่งอยู่ดี

ระหว่างนั้นชาวอุยกูร์เหล่านั้น ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็กก็ต้องถูกคุมขังต่อไป จนมีบางคนที่ป่วยและเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง จะว่าไปนี่มันก็เป็นราคาค่างวดอย่างหนึ่งกับการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่?

เวลาผ่านไปเรื่อยๆ อีกจนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ก็มีคำสั่งข้ามหัวกระทรวงการต่างประเทศไปดื้อๆ ให้ส่งชายอุยกูร์ร้อยกว่าคนกลับจีน โดยพวกเขาเหล่านั้นถูกจับใส่กุญแจข้อมือเอาถุงคลุมหัวไปขึ้นเครื่องบิน การละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนั้น มันเหมือนอธิปไตยและกฎหมายของไทย แทบไม่มีความหมายอะไรเลย

กระทรวงการต่างประเทศได้แต่ทำตาปริบๆ แถมอีกไม่กี่วันต่อมาก็ต้องออกมาแก้ต่างให้รัฐบาล โดยบอกว่ามีหลักฐานว่าคนดังกล่าวเป็นผู้ก่อการร้าย แต่มันก็ถามได้เช่นกันว่าถ้ามันเป็นเช่นนั้น ถ้ามันใช่จริง ทำไมกระทรวงการต่างประเทศไม่เสนอให้รัฐบาลส่งกลับไปจีนแต่แรก?

แม้ว่าไทยจะส่งผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์ไปตุรกี แต่การส่งชาวชายอุยกูร์ เหล่านั้นไปจีนมันก็คือการพรากครอบครัว แทบไม่ต่างอะไรกับการส่งสามีหรือพ่อ ให้สู่ชะตากรรมที่มืดมิดหรือความตาย เราจึงถูกประชาคมโลกประนาม ตามมาด้วยการบุกเข้าทำลายทรัพย์สินของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยที่นครอิสตันบูล และการระเบิดที่ศาลพระพรหมที่มีผู้เสียชีวิตหลายคน รวมทั้งคนไทยด้วย ซึ่งคนไม่น้อย รวมทั้งผม เชื่อว่ามันเป็นผลมาจากสิ่งที่เราทำลงไปนั่นเอง

สิ่งที่คาใจผมมาตลอดคือ กระทรวงการต่างประเทศของเราควรทำได้ดีกว่านี้ไหม เราทำได้ดีที่สุดแค่นี้หรือ?

ในชีวิตจริงบางครั้งการตัดสินใจมันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ผมก็พยายามมองด้วยสายตาที่เป็นธรรมให้มากที่สุด การพยายามเพลย์เซฟ ซื้อเวลามันก็ใช้ได้บ้างในครั้ง แต่มันอาจไม่ใช่ทุกครั้ง โดยเฉพาะในกรณีนี้ ที่จบแบบประเทศชาติเสียหายจากการถูกโลกประนาม ประชาชนคนในชาติต้องเสียชีวิต

แล้วถามว่าแล้วการเอาใจจีนในกรณีนี้ไทยได้อะไรจากจีนบ้าง? ผมก็นึกไม่ออกนะ แต่เท่าที่ทราบทางกัมพูชาก็เคยส่งชาวอุยกูร์กลับแบบนี้ แต่เขาได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนเป็นจำนวนนับพันล้านบาท

ย้อนกลับไปพูดถึงกระบวนการตัดสินใจ (หรือไม่ตัดสินใจ) ของกระทรวงการต่างประเทศ ผมเชื่อว่าในตอนนั้น เราน่าจะชิงตัดสินใจเสียตั้งแต่แรกที่ทาง คสช. ยังฟังข้าราชการประจำ ก่อนที่เวลาจะล่วงเลยผ่านไปเรื่อยๆ จนเมื่อมีรัฐบาล คสช. ที่เขาเริ่มมั่นใจในอำนาจ กระทั่งในที่สุด ผมเองเชื่อว่าเมื่อฝ่ายจีนอ่านเกมออกว่าใครคือผู้ที่มีอำนาจสามารถสั่งการเรื่องนี้ได้จริง เขาก็ไปเข้าหาคนๆ นั้น และเป็นที่มาของคำสั่งการข้ามหัวกระทรวงการต่างประเทศดังกล่าว

อันนี้ผมก็ไม่โทษฝ่ายจีนนะ เพราะเขาก็ต้องทำในสิ่งที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของเขา และจริงๆ มันก็อยู่ที่ฝ่ายเราเองว่าจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเขาอย่างไร และก็อย่าไปคิดว่ามีแต่อเมริกาเท่านั้นที่ชอบมาแทรกแซงเรา มันไม่ใช่หรอกครับ

ในแง่ของกระทรวงการต่างประเทศ ผมเขียนเรื่องนี้ นอกจากความรู้สึกเศร้าใจแล้ว ก็เพราะอยากให้มันเป็นอุทาหรณ์ บทเรียน บันทึก ให้คนรุ่นต่อๆ ไปว่า บางครั้งความกล้าที่จะตัดสินใจมันเป็นเรื่องสำคัญ มันกระทบหลายสิ่งรวมไปถึงชีวิตผู้บริสุทธิ์คนในชาติด้วย ส่วนผมจะพูดถูกหรือผิดก็พิจารณากันเอาเอง

ผมเชื่อถ้าเรากล้าส่งชาวอุยกูร์ทั้งหมดให้กับตุรกีแต่แรก เรื่องมันคงไม่จบแบบน่าเศร้าและอัปยศ กลายเป็นรอยด่างของการต่างประเทศเช่นนี้ เอาล่ะ เราอาจยอมประนีประนอมบ้างด้วยการเลือกส่งแค่สิบกว่าคนที่มีประวัติว่าเป็นผู้ร้ายแน่ชัด ไปให้จีนมันก็น่าจะพอ ซึ่งผมเชื่อว่าทางฝ่ายจีนก็น่าจะรับได้ รวมทั้งประชาคมโลกด้วย และมันน่าจะช่วยให้เราไม่กลายเป็นผู้ร้ายที่น่ารังเกียจมากเกินไปจนทำให้มีผู้อยากมาแก้แค้น ก่อการร้ายในประเทศเราได้

แต่แน่ละ ผมก็พูดได้ว่าน่าจะทำอย่างนี้อย่างนั้น เพราะผมเองก็ไม่ได้เป็นคนมีอำนาจตัดสินใจ ใครจะไปรู้ถ้าผมมีอำนาจ ผมจะกล้าตัดสินใจแบบที่พูดนี้ไหม หรือดีแต่พูด เราก็คงไม่มีวันรู้นะครับ แต่ก็หวังว่าพวกเราจะมีความกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องกัน

นั่นคือในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนระดับชาติ เรื่องนี้ถ้าเกิดในประเทศที่เจริญแล้ว มันถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากขนาดที่รัฐบาลต้องลาออกเลยทีเดียว แต่ของเราก็ไม่เห็นมีใครสักคนที่มาแสดงความรับผิดชอบอะไร ดูเหมือนแม้แต่สื่อก็ไม่ได้ตั้งคำถามกันมากนัก แม้สิ่งที่ทำลงไปมันเสียหายมาก ทั้งในแง่เกียรติภูมิประเทศ และความตายของพี่น้องร่วมชาติที่ต้องสูญไป เพราะการตัดสินใจที่ผิดผลาด

และที่มันยิ่งน่าเศร้าเป็นโศกนาฏกรรมที่ยังไม่มีบทสรุป คือมีผู้บอกผมว่าทุกวันนี้ก็ยังมีชาวอุยกูร์ราวห้าสิบคนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในไทย ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ก็น่าจะร่วมเจ็ดปีแล้ว และคนเหล่านั้นต้องอยู่ในสถานกักขังในสภาวะที่คงเลวร้ายโดยไม่รู้ชะตากรรม จะลงเอยอย่างไร อีกนานเท่าใด จะมีใครยื่นมือมาช่วยเขาไหม?

ท้ายที่สุดมันก็มีคำถามตามมาว่า

1.ปกติการที่คนเราจะตัดสินใจทำอะไรลงไป ถ้าประเทศชาติไม่ได้อะไร ถ้าประเทศเสี่ยงต่อการเสียหาย แล้วเหตุใดจึงตัดสินใจเช่นนั้น?

2.หรือเอาใหม่ว่า ถ้าประเทศชาติไม่ได้อะไร แล้วใครที่ได้ “อะไร” จากการตัดสินใจครั้งนี้

3.คนที่รู้อยู่แก่ใจว่าประเทศชาติเสี่ยงต่อการเสียหาย แล้วยังตัดสินใจเช่นนั้นเป็นคนเช่นไร?

4.มีใครสักกี่คนที่สามารถตัดสินใจข้ามหัวกระทรวงการต่างประเทศได้?

5.นี่คือความชั่วร้ายที่สุดประการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศเรา ใช่หรือไม่?

ผมไม่มีคำตอบให้นะครับ โปรดใช้วิจารณญาณกันเอาเอง เพราะมันเป็นเพียงการคาดเดาและความเชื่อของผมเท่านั้น

 

 

ที่มา: Facebook Fanpage ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador

ที่มาภาพ: ค่ายกักกันซินเจียง https://en.wikipedia.org/wiki/Xinjiang_reeducation_camps#/media/File:Xinjiang_Re-education_Camp_Lop_County.jpg

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net