แอฟริกา: มหามิตรนิจนิรันดร์ของแดนมังกร

29 ม.ค. 2564 นิตยสารดิอีโคโนมิสต์รายงานบทความพิเศษเรื่องทิศทางและท่าทีของประเทศในทวีปแอฟริกาที่แสดงตนเป็นมหามิตรต่อจีน ในขณะที่ชาติตะวันตกต่างกังวลและมองว่าจีนคือภัยคุกคามที่ต้องสกัด โดย จอห์น แมคเดอร์มอตต์ ผู้เขียนบทความ เสนอประเด็นข้อผูกมัดทางเศรษฐกิจและความร่วมมือระดับภูมิภาคที่แน่นแฟ้น พร้อมทั้งให้จับตาการหารือบนเวทีใหญ่ที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้

ทุกๆ 3 ปี นักการเมืองจีนและนักการเมืองจากหลายประเทศในแอฟริกาจะมาร่วมประชุมในเวทีความร่วมมือระหว่างจีนและแอฟริกา (FOCAC) ซึ่งเป็นการหารือระดับพหุภาคีด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ผู้นำหลายชาติในแอฟริกายินดีตบเท้าเข้าร่วมมากกว่าการประชุมประจำปีขององค์การสหประชาชาติ การประชุมเวทีนี้คือเป้าหมายที่จีนวางไว้อย่างยาวนานในการเบิกทางเข้าสู่ทวีปแอฟริกา

จีนถือเป็นพันธมิตรที่โดดเด่นของหลายชาติในแอฟริกามานานกว่า 3 ทศวรรษ และความเป็นมหามิตรจะชัดเจนยิ่งขึ้นในปีนี้ ซึ่งการประชุม FOCAC เวียนมาถึงเป็นครั้งที่ 8 โดยมีกำหนดจัดขึ้นที่กรุงดาการ์ เมืองหลวงของประเทศเซเนกัล แต่บริบทของการประชุมในครั้งนี้อาจแตกต่างจากครั้งก่อนหน้า เพราะในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ บทบาทของจีนในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอเมริกัน

เมื่อปีที่แล้ว ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น กล่าวหาว่าจีนมอบข้อเสนอเล็กๆ น้อยๆ ให้ประเทศในแอฟริกา แต่เป็นคำสัญญาที่ว่างเปล่าและเป็นคำพูดที่ซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย ถึงแม้ว่าคณะทำงานของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ มีท่าทีใช้คำพูดยั่วยุน้อยลงกว่ารัฐบาลของทรัมป์ แต่ความเคลือบแคลงใจในเจตจำนงของรัฐบาลจีนที่มีต่อภูมิภาคนี้ยังคงอยู่ ดังนั้นรัฐบาลและนักการเมืองแอฟริกันซึ่งกำลังต่อสู้กับผลกระทบจากโรคระบาดอาจต้องลับเหลี่ยมเล่ห์กลทางการเมืองอย่างหนักในปีนี้

เป้าประสงค์ของหลายชาติในแอฟริกา คือ หลีกเลี่ยงการเป็นผู้ตามในเกมที่มีผลแพ้ชนะ โดย เค็น โอโฟรี่-อัตตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศกานาให้เหตุผลว่า ตั้งแต่หลุดพ้นจากยุคอาณานิคม ทวีปแอฟริกาเป็นเหมือนกระดานหมากรุกสำหรับผู้เล่นที่มีอำนาจมหาศาล และนั่นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ด้าน ไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศแอฟริกาใต้ เผยว่า ประเทศในแอฟริกาไม่ควรต้องทุกข์ทรมานเพราะความขี้อิจฉาของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน และสิ่งที่จีนมอบให้คนในทวีปนี้ ในขณะที่ อูฮูรู เกนยัตตา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเคนยาเตือนว่าแอฟริกาไม่ใช่รางวัลให้คนมาต่อสู้แย่งชิง “เราไม่อยากถูกบังคับให้เลือกข้าง” เกนยัตตากล่าว

ทว่านี่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้มอบข้อเสนอในวงกว้างให้แก่แอฟริกาแบบที่จีนทำ เช่น เรื่องการสาธารณสุข ถ้าคุณเป็นผู้นำประเทศในทวีปแอฟริกาที่กำลังต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ทั้งในการสร้างถนน สะพาน หรือท่าเรือ แหล่งเงินทุนจากจีนคงเป็นตัวเลือกที่ชัดเจน โดยเดบอราห์ บราวทิแกม ศาสตราจารย์ประจำโครงการวิจัยเชิงรุกจีน-แอฟริกาแห่งมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ระบุว่าจีนยังคงให้ความสำคัญกับความกระหายที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแอฟริกา ซึ่งชาติตะวันตกไม่คิดเช่นนั้น

ไม่เพียงแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่จีนยังเอาจริงเอาจังกับการวางระบบโทรคมนาคมในทวีปแอฟริกาด้วย เช่น หัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนที่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินหรือได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลจีน ยังสามารถทำรายได้งดงามในทวีปแอฟริกา แม้จะถูกสหรัฐฯ แบนและพยายามชักชวนประเทศอื่นให้ปฏิบัติตาม ซึ่งจัดด์ เดฟเวอร์มอนต์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศในกรุงวอชิงตันดีซี กล่าวว่า “ในเมื่อสหรัฐฯ ไม่มีข้อเสนอทางเลือกที่จริงจัง การร้องขอเช่นนี้ก็ไม่สมเหตุสมผล”

การประชุม FOCAC ในกรุงดาการ์ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีนี้อาจไม่ได้เห็นข้อผูกมัดทางการเงินดังที่จีนเคยเสนอในการประชุมครั้งก่อนๆ เช่น ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเคยประกาศให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินอุดหนุน และส่งเสริมการลงทุนกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศในแอฟริกาเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2561 ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าจีนระมัดระมัดค่อนข้างมากในการวางเงินลงทุนในโครงการใหญ่ที่เหมือนเป็นการให้เปล่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจีนจะลดบทบาทของตัวเองในแอฟริกาลง

นับจากจุดเริ่มต้น จีนคือความหวังที่สำคัญยิ่งของทวีปแอฟริกาในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 อีกทั้งจีนยังเป็นเจ้าหนี้ระดับทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแห่งนี้ที่ถือกุญแจสำคัญสำหรับช่วยปลดล็อกการเจรจาต่อรองการชำระหนี้ให้หลายๆ ประเทศ ซึ่งสีจิ้นผิงเคยให้คำมั่นไว้ว่าประเทศในทวีปแอฟริกาจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงวัคซีนที่จีนผลิตอย่างแน่นอน

แม้กระทั่งก่อนเกิดโรคระบาด ข้อตกลงระหว่างจีนและประเทศในทวีปแอฟริกาก็ไปไกลเกินกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพราะมีบริษัทจีนกว่า 10,000 เจ้าเข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกา ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาจากหลายประเทศในแอฟริกาที่เข้ามาศึกษาต่อในจีนก็มีจำนวนมากกว่าที่ไปศึกษาต่อที่สหรัฐและสหราชอาณาจักรรวมกัน ส่วนบุคคลสำคัญระดับสูงของจีนก็กรุยทางสร้างเครือข่ายกับบุคคลสำคัญในแอฟริกา เพื่อขยากรอบความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการทหาร

แต่ภาพลักษณ์พ่อพระของจีนในสายตาของชาวแอฟริกันถูกทำลายลงเมื่อปีที่แล้วจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐชาวจีนในเมืองกว่างโจวปฏิบัติต่อผู้อพยพชาวแอฟริกันอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลเป็นอย่างมาก รวมถึงนักการเมืองชาวแอฟริกันหลายคนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าเสียงต่อว่านั้นจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะผลสำรวจในเดือน ก.ย. 2563 จากแอฟโฟรบาโรมิเตอร์ เครือข่ายสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มคนในทวีปแอฟริกา เผยว่า ร้อยละ 59 ของผู้ตอบแบบสำรวจรู้สึกพึงพอใจกับท่าทีของจีน ในขณะที่ร้อยละ 58 ตอบว่าพึงพอใจกับท่าที่ของสหรัฐฯ ด้วยผลลัพธ์ที่สูสีจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดนักการเมืองชาวแอฟริกันจึงต้องสงวนท่าทีไม่เลือกข้างดังที่กล่าวไป

นักการเมืองในแอฟริกามองไม่เห็นประโยชน์ที่จะต่อต้านจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง การประท้วงในฮ่องกง หรือแม้กระทั่งไต้หวัน ในขณะที่จีนก็ให้คุณค่ากับ 54 ประเทศในแอฟริกาที่ยกมือยอมรับจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ การยอมรับดังกล่าวเป็นเหตุให้ไต้หวันต้องหลุดจากการเป็นสมาชิกของหลายๆ องค์กรตามนโยบายจีนเดียว ซึ่งจีนย่อมตอบแทนผู้ที่ยอมรับและลงโทษผู้ที่ต่อต้านตนเองอย่างแน่นอน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าหน้าที่รัฐชาวเคนยาต่างศึกษามาตรการการลงโทษเชิงเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนใช้ตอบโต้รัฐบาลออสเตรเลียที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งทางฝั่งเคนยาก็กลัวว่าหากพูดอะไรไม่เข้าหู บทลงโทษดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับประเทศของตนด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งนักการเมืองชาวแอฟริกันคนอื่นๆ ที่อยากออกมาแสดงท่าทีต่อต้านจีนก็ยังกลัวว่าชาติตะวันตกอาจจะไม่สนับสนุนตน

ดัลเบิลยู กิวเด มัวร์ อดีตรัฐมนตรีไลบีเรีย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแอฟริกันศึกษาประจำศูนย์เพื่อการพัฒนาสากลในกรุงวอชิงตันดีซี ทิ้งท้ายว่า “ชาติตะวันตกไม่เต็มใจที่จะประกันราคาค่าเสียหายที่รัฐบาลแอฟริกันต้องจ่ายหากแปรพักตร์เป็นศัตรูกับจีน สิ่งที่ดีที่สุดของทวีปนี้ คือ การกำหนดทิศทางที่เหมาะสมกับแนวทางปฏิบัติของชาวแอฟริกัน”

ที่มา: African countries will remain best friends with China

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท