Skip to main content
sharethis

ไต้หวันบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างและบริษัทจัดหางานลงทะเบียนเข้มงวด

ไต้หวันบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างและบริษัทจัดหางานลงทะเบียนเข้มงวด

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021 เป็นต้นไป ไต้หวันบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างและบริษัทจัดหางาน ขณะนำเข้าแรงงานต่างชาติ ซึ่งต้องแจ้งรายชื่อ รวมทั้งเที่ยวบินของแรงงานต่างชาติก่อนการเดินทาง ต้องลงทะเบียนในระบบออนไลน์ของศูนย์บริการแรงงานต่างชาติประจำสนามบิน หากมีการใช้บริการของบริษัทรับส่งแรงงานต่างชาติ จะต้องเพิ่มข้อมูลชื่อบริษัทรับส่งและสถานที่ตั้งของหอพัก ซึ่งต้องเป็นบริษัทรับส่งที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสภาพแวดล้อมของหอพักต้องได้มาตรฐาน พื้นที่เฉลี่ยต่อคนต้องไม่ต่ำกว่า 3.2 ตร.ม. มีการติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสุขภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน หากไม่แจ้ง หรือมอบหมายให้บริษัทรับส่งที่ให้บริการไม่ถูกกฎหมายหรือไม่ได้มาตรฐาน นายจ้างจะถูกปรับ 3,000-15,000 เหรียญไต้หวัน ส่วนบริษัทจัดหางานจะถูกลงโทษ ในฐานะที่เป็นผู้รับมอบหมายจากนายจ้าง แต่ไม่ได้ดำเนินการตามหน้าที่ของบริษัทจัดหางานที่ดี ส่งผลเสียหายต่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างชาติ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงานมาตรา 40 และ 67 ต้องระวางโทษปรับ 60,000-300,000 เหรียญไต้หวัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/1/2021

คนทำงานภาคสื่อมวลชนทั่วโลก เสียชีวิตเพราะ COVID-19 มากกว่า 600 คนแล้ว

คนทำงานภาคสื่อมวลชนทั่วโลก เสียชีวิตเพราะ COVID-19 มากกว่า 600 คนแล้ว

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 | ที่มาข้อมูล: Press Emblem Campaign

4 ม.ค. 2564 ข้อมูลที่รวยรวมโดย Press Emblem Campaign มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 พบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 คนทำงานภาคสื่อมวลชนจาก 59 ประเทศเสียชีวิตเพราะ COVID-19 แล้ว 602 คน โดยประเทศเปรูเป็นประเทศที่มีคนทำงานภาคสื่อมวลชนเสียชีวิตเพราะ COVID-19 มากที่สุด 93 คน, บราซิล 55 คน, เม็กซิโก 45 คน, เอกวาดอร์ 42 คน, บังกลาเทศ 41 คน, อิตาลี 37 คน, ปากีสถาน 22 คน, ตุรกี 17 คน และสหราชอาณาจักร 13 คน

ที่มา: Press Emblem Campaign, 4/1/2021

รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติคำร้องจากบริษัทต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระบาดถึง 2.1 ล้านรายการ

รัฐบาลญี่ปุ่นได้เผยแพร่ตัวเลขหนึ่งที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของการระบาดใหญ่ที่มีต่อการจ้างงาน ในช่วงปี 2020 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ได้อนุมัติคำร้องกว่า 2,100,000 รายการจากบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขอรับเงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับจ่ายเป็นค่าจ้างแก่พนักงาน

คำร้องเหล่านี้ได้ยื่นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทางกระทรวงได้ประมาณว่าเงินช่วยเหลือเหล่านี้จะมีมูลค่ารวมกว่า 2,500,000 ล้านเยน หรือราว 730,000 ล้านบาท

ทางกระทรวงกล่าวว่าได้จัดสรรเงินทุนสำหรับปีงบประมาณ 2020 เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์นี้แล้ว 3,300,000 ล้านเยน โดยแหล่งเงินทุนหลักมาจากเงินเบี้ยประกันการว่างงาน ซึ่งเป็นเงินที่บริษัทต่าง ๆ รับภาระจ่ายอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเผชิญความท้าทายในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับพยุงโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือ ขณะที่การระบาดใหญ่กำลังดำเนินต่อเนื่อง

ที่มา: NHK World-Japan, 4/1/2021

กระทรวงแรงงานไต้หวันเผย งานก่อสร้างครองแชมป์มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานมากที่สุด

กระทรวงแรงงานไต้หวัน สาธารณรัฐจีน เข้าตรวจสอบที่ไซต์งานก่อสร้าง 4 แห่งในเขตหลินโข่ว นครนิวไทเป ผลการตรวจสอบพบว่ามีรายการตามกฎหมายเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานที่ขาดไป 28 รายการ จึงดำเนินการลงโทษปรับรวม 500,000 เหรียญไต้หวัน กระทรวงแรงงานเน้นย้ำว่า ปีที่แล้วมีปริมาณงานก่อสร้างทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้างถึง 142 คน กลายเป็นประเภทงานที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ในปีนี้ทางกระทรวงจึงร่างแผนให้เป็นปีลดภัยพิบัติจากการทำงานก่อสร้าง เพิ่มจำนวนการตรวจสอบในสถานที่ทำงานของแรงงานมากขึ้น

จากสถิติของกรมคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย กระทรวงแรงงาน ปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้าง 168 คน ส่วนปี 2563 นับจนถึงวันที่ 27 ธ.ค. 2563 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้าง 142 คน สูงที่สุดในบรรดาอาชีพทุกประเภท

ที่มา: Radio Taiwan International, 4/1/2021

สหพันธ์ธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่นจะส่งเสริมการทำงานจากทางไกลมากขึ้น

สหพันธ์ธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือเคดันเร็ง ซึ่งเป็นสหพันธ์ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ให้คำมั่นว่าจะพยายามมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการทำงานจากทางไกล หลังมีการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งใหม่

นายนิชิมูระ ยาซูโตชิ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการรับมือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ได้กล่าวในการประชุมร่วมกับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม โดยขอให้บรรดาบริษัทเปิดทางให้ทำงานจากทางไกลมากขึ้น และว่าควรลดจำนวนของพนักงานที่ไปสำนักงานลงร้อยละ 70

เคดันเร็งมีแผนที่จะดำเนินการสำรวจในช่วงปลายเดือนมกราคม เพื่อดูว่าบริษัทเหล่านี้ดำเนินการมากพอที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวหรือไม่

นายโคงะ โนบูยูกิ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของเคดันเร็งได้เน้นย้ำว่า การดำเนินงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปพร้อมกับการปล่อยให้กิจกรรมทางสังคมยังคงดำเนินไปได้นั้นเป็นที่สิ่งสำคัญ

นายโคงะยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินมาตรการให้มากขึ้นเพื่อลดการติดเชื้อในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว

ที่มา: NHK World-Japan, 8/1/2021

ออสเตรเลียเริ่มลดเงิน JobSeeker และ JobKeeper หลายฝ่ายห่วงตัดงบเร็วไป

ออสเตรเลียกำลังจะทยอยยุติความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประชาชนแล้ว โดยตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 ม.ค. 2021 นี้ชาวออสเตรเลียกว่าแสนคนที่ทำงานมากกว่า 24 ชั่วโมงต่ออาทิตย์จะถูกลดเงินช่วยเหลือ JobKeeper จาก 1,200 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ จะเหลือ1,000 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ แต่สำหรับคนที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่านั้นจะถูกลดเงินช่วยเหลือจาก 750 ดอลลาร์เหลือ 650 ดอลลาร์

โฆษกกระทรวงการเงินของพรรคแรงงาน กล่าวว่า ชาวออสเตรเลียจำนวน 1,600,000 คน ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือ JobKeeper ในขณะที่คน 2,200,000 คน กำลังมองหางานใหม่หรือมองหาชั่วโมงทำงานเพิ่ม

ส่วนโครงการช่วยเหลือผู้ว่างงานที่เคยเรียกว่า Newstart ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า JobSeeker นั้นจะเริ่มลดจำนวนเงินช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021 ซึ่งประชาชนราว 1,600,000 คนที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 250 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ ขณะนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือ 150 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

องค์การสวัสดิการต่าง ๆ ได้เรียกร้องให้เพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินในโครงการ JobSeeker อย่างถาวรเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากเส้นแบ่งความยากจนในออสเตรเลีย ในปัจจุบัน เงินช่วยเหลือ JobKeeper จะยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งวันที่ 28 มี.ค. 2021 และรัฐบาลออสเตรเลียได้ให้สัญญาณว่าจะมีการประกาศในเรื่องนี้ในเร็ววันนี้

ที่มา: SBS, 8/1/2021

รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้เงินทุนสำรองเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารในพื้นที่ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะใช้เงินทุนสำรอง เพื่อเพิ่มเงินอุดหนุนให้แก่ร้านอาหารและบาร์ที่ลดเวลาเปิดทำการลงในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดเงินทุนสำรองสำหรับปีงบประมาณ 2563 ไว้ที่ประมาณ 11 ล้าน 5 แสนล้านเยน ซึ่งสามารถนำมาใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา โดยยังเหลือเงินที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้จ่ายประมาณ 6 ล้าน 4 แสนล้านเยน

จะมีการใช้เงินราว 740,000 ล้านเยนจากเงินทุนสำรอง ไปจ่ายเป็นเงินอุดหนุนที่มากขึ้นให้แก่บาร์และร้านอาหารในกรุงโตเกียวและอีก 10 จังหวัดที่ปฏิบัติตามคำขอให้ปิดทำการเวลา 20.00 น.

บาร์และร้านอาหารเหล่านี้จะได้รับเงินสูงสุด 60,000 เยนต่อวัน หรือ 1,800,000 เยนต่อเดือน

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดเตรียมเงินทุนสำรองเพิ่มเติมไว้ 5 ล้านล้านเยนในร่างกฎหมายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2564 เพื่อใช้จ่ายด้านมาตรการรับมือการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ที่มา: NHK World-Japan, 15/1/2021

ไต้หวันเอาผิดนายจ้างปล่อยให้แรงงานต่างชาติของตนค้างคืนในหอพักที่ไม่ได้มาตรฐาน สั่งปรับทันทีและเพิกถอนใบอนุญาต

ไต้หวันเอาผิดนายจ้างปล่อยให้แรงงานต่างชาติของตนค้างคืนในหอพักที่ไม่ได้มาตรฐาน สั่งปรับทันทีและเพิกถอนใบอนุญาต

เพื่อป้องกันเกิดช่องโหว่ในการป้องกันโรคจากการเข้าพักหอพักที่ไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2021 หากแรงงานต่างชาติเดินทางถึงไต้หวัน ถูกพาไปพักยังหอพักที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ถือเป็นความบกพร่องร้ายแรงของนายจ้างที่ไม่ได้ให้การดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานที่ตนได้รับอนุญาตนำเข้า และขัดกับแผนบริหารแรงงานต่างชาติที่ยื่นต่อกระทรวงแรงงาน จะถูกลงโทษทันทีโดยไม่ให้มีช่วงปรับปรุง โทษปรับสูงสุด 300,000 เหรียญไต้หวัน พร้อมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตว่าจ้างแรงงานต่างชาติ ห้ามยื่นขอนำเข้าแรงงานต่างชาติเป็นเวลา 2 ปี

ก่อนหน้านี้มีการเปิดโปงบริษัทรับส่ง พาแรงงานต่างชาติที่พ้นจากการกักตัว 14 วัน ไปพักรวมกันกลุ่มใหญ่ในหอพักที่สกปรกและไม่ได้มาตรฐาน เพื่อรอตรวจโรคที่โรงพยาบาลในวันถัดไป ก่อนจะพาไปรายงานตัวที่โรงงาน ทำให้เกิดความกังวลว่า หอพักเหล่านี้ อาจกลายเป็นช่องโหว่ของมาตรการป้องกันโรค กระทรวงแรงงานจึงแก้ไขและประกาศระเบียบว่าด้วยการอนุญาตและบริหารแรงงานต่างชาติอย่างเป็นทางการ โดยให้มีผลในวันที่ 8 ม.ค. 2021 เป็นต้นไป

ตามกฎระเบียบเดิม นายจ้างที่ไม่ได้ให้การดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติตามแผนการบริหารแรงงานต่างชาติที่ยื่นต่อกระทรวงแรงงาน กองแรงงานท้องที่จะทำหนังสือแจ้งให้ปรับปรุงภายในเวลากำหนด หากเลยกำหนดแล้วยังไม่ปรับปรุงแก้ไข จึงจะทำการลงโทษ แต่คำนึงถึงการฝ่าฝืนกฎระเบียบบางข้อ อาจนำไปสู่การคุกคามความปลอดภัย ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างชาติ จึงมีการแก้ไขกฎระเบียบใหม่ มีเพียงความบกพร่องสถานเบาบางรายการเท่านั้น ที่จะได้รับหนังสือแจ้งเตือนให้ปรับปรุงภายในเวลากำหนด มิเช่นนั้น จะถูกลงโทษทันที จะไม่แจ้งเตือนอีกต่อไป

กรณีที่เข้าข่ายข้อบกพร่องในสถานหนักหรือลักษณะร้ายแรง ได้แก่ การปล่อยให้บริษัทรับส่งพาแรงงานต่างชาติที่เดินทางมาใหม่ หรือรอการเดินทางกลับประเทศไปพักค้างคืนที่โกดังหรือหอพักที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ ระเบียบฉบับใหม่นี้ ยังระบุชัดเจนว่า นายจ้างมอบหมายให้บริษัทจัดหางานไปรับหรือส่ง และดูแลความเป็นอยู่ ซึ่งรวมอาหารและที่พักของแรงงานต่างชาติ และบริษัทจัดหางานมอบให้บุคคลที่ 3 หรือบริษัทรับส่งรับช่วงดูแลต่อ นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืน ถือว่านายจ้างมีความผิดร้ายแรง จะถูกลงโทษทันที ยกเว้นกรณีที่กองแรงงานท้องที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ใช่เป็นความบกพร่องที่เกิดจากเจตนากระทำผิด จะได้รับการลดหย่อนโทษตามแต่การพิจารณาของกองแรงงานท้องที่

ส่วนบริษัทจัดหางานที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง เป็นเหตุให้นายจ้างถูกลงโทษและแรงงานต่างชาติได้รับความเสียหายในสิทธิประโยชน์ บริษัทจัดหางานรายนั้นๆ จะถูกลงโทษฐานฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงานมาตรา 40 และ 67 ต้องระวางโทษปรับสูงสุด 300,000 เหรียญไต้หวัน และส่งผลต่อการประเมินคุณภาพในการให้บริการครั้งต่อไปด้วย

ที่มา: Radio Taiwan International, 15/1/2021

องค์กรแรงงานภาคก่อสร้างและช่างไม้ เรียกร้องวัคซีน COVID-19 ให้แก่แรงงานข้ามชาติ

แอมเบต ยูซัน เลขาธิการ BWI ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานภาคก่อสร้างและช่างไม้ในระดับนานาชาติ ได้เรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนควรเข้าถึงวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการอภิปรายผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในตะวันออกกลาง ที่การประชุม Global Forum on Migration and Development (GFMD) ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2021

ที่มา: BWI, 19/1/2021

คนงานก่อสร้างในพม่าประท้วงเหตุไม่ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2021 ที่ผ่านมา คนงานก่อสร้างหลายร้อยคนของบริษัท BYMA Myanmar Construction ที่เริ่มหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. ได้ทำการเดินขบวนและปิดถนนบ็อกโยกในย่างกุ้ง หลังจากการเจรจากับตัวแทนนายจ้างครั้งแรกล้มเหลว ต่อมาสมาชิกสภาท้องถิ่นและกรมสวัสดิการสังคมของพม่าได้เดินทางมาร่วมเจรจากับผู้ประท้วง

ตัวแทนผู้ประท้วงระบุว่าต้องการเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวน รวมถึงเงินประกันสังคม นอกจากนี้คนงานก่อสร้างยังถูกตัดเงินเดือนเป็นค่าชุดนิรภัยที่ต้องสวมใส่ในสถานที่ก่อสร้าง คนงานจึงเจรจาขอลดการตัดเงินสำหรับชุดนิรภัยนี้ด้วย การประท้วงสิ้นสุดลงในตอนเย็นวันที่ 19 เมื่อนายจ้างตกลงที่จะจ่ายเงินเดือนและเงินประกันสังคมที่ค้างชำระในวันที่ 26 ม.ค. 2021

ที่มา: Eleven Myanmar, 19/1/2021

โครงการใหม่ของ ILO จะช่วยส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเลในอาเซียน

แรงงานข้ามชาติภาคประมงและแปรรูปอาหารทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับประโยชน์จากโครงการใหม่ที่พยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างสม่ำเสมอและปลอดภัยทั่วทั้งอุตสาหกรรม"Ship to Shore Rights South East Asia" เป็นโครงการระยะเวลา 4 ปี (2020-2024) ที่ดำเนินการโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการริเริ่ม 10 ล้านยูโร (11.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU)

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้รวมถึงการเสริมสร้างกรอบกฎหมายการปกป้องสิทธิแรงงานและการเพิ่มขีดความสามารถให้กับแรงงานในภาคประมงและการแปรรูปอาหารทะเลในกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม

ที่มา: ILO, 20/1/2021

เงินเดือนต่ำ-บ้านแพงทำคนหนุ่มสาวเลือกอาศัยในเมืองอื่น ส่งผลให้ประชากรในกรุงไทเปลดลงต่ำสุดในรอบ 23 ปี

เงินเดือนต่ำ-บ้านแพงทำคนหนุ่มสาวเลือกอาศัยในเมืองอื่น ส่งผลให้ประชากรในกรุงไทเปลดลงต่ำสุดในรอบ 23 ปี

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พบว่าประชากรในกรุงไทเปลดลงต่ำสุดในรอบ 23 ปีหรือตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่เลือกออกจากกรุงไทเปไปอาศัยอยู่ในเมืองอื่นแทน สาเหตุมาจากรายได้น้อยและบ้านราคาแพง

นางโหย่วสูฮุ่ย (游淑慧) สมาชิกสภาเทศบาลกรุงไทเปเปิดเผยว่า ปีที่แล้วประชากรในกรุงไทเปลดลง 28,000 คน ลดลงมากที่สุดในรอบ 23 ปี ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นประชากรในช่วงอายุ 23-39 ปี นอกจากมีสาเหตุมาจากราคาบ้านที่แพงลิบลิ่วและค่าครองชีพสูงกว่าเมืองอื่นแล้ว ยังพบว่ามีสาเหตุมาจากรายได้ของคนหนุ่มสาวไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลพบว่า ปี 2011 ประชากรวัยทำงานในกรุงไทเปมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 547,000 เหรียญไต้หวัน ขณะที่ปี 2019 รายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรวัยทำงานในกรุงไทเปกลับลดลงเหลือ 535,000 เหรียญไต้หวัน ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนหนุ่มสาวต้องเลือกไปอาศัยในเมืองอื่นแทน

ที่มา: Radio Taiwan International, 19/1/2021

ILO เผยตัวเลขการสูญเสียชั่วโมงการทำงานร้อย 8.8 ทั่วโลกในปี 2020

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ประเมินว่า ชั่วโมงการทำงานทั่วโลกสูญเสียไปร้อยละ 8.8 สำหรับปี 2020 ทั้งปี เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2019

ILO ในสังกัดสหประชาชาติและตั้งอยู่ที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ได้นำตัวเลขประเมินล่าสุดออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ม.ค. 2020

ILO ระบุว่า การสูญเสียชั่วโมงทำงานร้อยละ 8.8 นั้น เทียบเท่างานแบบเต็มเวลา 255 ล้านงาน ซึ่งมากกว่าจำนวนที่สูญเสียไประหว่างวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2552 ประมาณ 4 เท่า

ส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือ คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี อัตราสูญเสียการจ้างงานของคนในกลุ่มอายุนี้คือร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป พบว่าอัตราในกลุ่มหลังคือร้อยละ 3.7

นอกจากนี้ ผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เมื่อพิจารณาในระดับโลก อัตราสูญเสียการจ้างงานของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 5 และของผู้ชายคือร้อยละ 3.9

ภาคบริการที่พักอาศัยและอาหารเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด การจ้างงานลดลงมากกว่าร้อยละ 20 โดยเฉลี่ยในภาคนี้

ILO คาดการณ์ว่าประเทศส่วนใหญ่จะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวค่อนข้างแข็งแกร่งในครึ่งหลังของปี 2021 ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนบังเกิดผล

แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้ ILO คาดการณ์ว่าจะเกิดการสูญเสียชั่วโมงการทำงานทั่วโลกร้อยละ 3 ในปี 2021 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2020

ที่มา: NHK World-Japan, 26/1/2021

สหรัฐฯ ผลักดันฉีดวัคซีนครู หวังเปิดโรงเรียนอีกครั้งโดยเร็ว

บรรดาผู้นำทางการเมืองของสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้งในฤดูหนาวนี้ เนื่องจากครูอาจารย์เริ่มได้รับวัคซีนโควิด-19 กันแล้ว แต่หลายๆ คนมีความกังวลว่าทางโรงเรียนอาจจะยังไม่พร้อม

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เสนอแผนการใช้งบประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในสหรัฐฯ ตลอดจนช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แผนดังกล่าวเรียกร้องให้มีการวางแผนการฉีดวัคซีนให้คนในประเทศจำนวน 100 ล้านเข็มใน 100 วันแรกของการบริหารประเทศของเขา

ประธานาธิบดีคนใหม่กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าจะมีงบประมาณเพื่อความปลอดภัยในการเปิดโรงเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นอีกครั้งใน 100 วันแรกด้วย

เกวิน นิวซัม (Gavin Newsom) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เสนอแผนงบประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อจ่ายค่าทดสอบ ค่าอุปกรณ์ในการป้องกัน และมาตรการด้านความปลอดภัยอื่น ๆ ในการที่จะเปิดโรงเรียนระดับประถมศึกษาอีกครั้งให้ได้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์

ส่วนที่รัฐโอไฮโอ ผู้ว่าการรัฐ ไมค์ เดอไวน์ (Mike DeWine) เสนอให้ฉีดวัคซีนแก่ครูในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อที่จะสามารถทำการเปิดการเรียนการสอนได้ในวันที่ 1 มีนาคม

และที่รัฐแอริโซนา ครูเริ่มได้รับวัคซีนกันบ้างแล้วในเดือนนี้ โดยผู้ว่าการรัฐ ดั๊ก ดูซีย์ (Doug Ducey) คาดหวังว่านักเรียนจะกลับเข้าชั้นเรียนได้ในเร็ววันนี้ และว่าเด็ก ๆ จำเป็นต้องเรียนหนังสือแม้ว่าจะอยู่ในภาวะโรคระบาดก็ตาม

ส่วนรัฐยูทาห์ เป็นหนึ่งในรัฐแรก ๆ ที่ฉีดวัคซีนให้ครูมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งผู้ว่าการรัฐ สเปนเซอร์ ค็อกซ์ (Spencer Cox) กล่าวว่า เขาวางแผนให้ครูทุกคนได้รับวัคซีนภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ไมเคิล ครูกสตัน (Michael Crookston) ครูสอนวิชาดนตรีที่โรงเรียนมัธยม Davis High School ในเมืองซอลท์เลค ซิตี้ รัฐยูทาห์ กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 นั้นเป็นสิ่งที่เขาตั้งตารอคอยเหมือนกับที่รอคอยของขวัญวันคริสต์มาสเลยทีเดียว

บรรดาเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาและผู้บริหารโรงพยาบาลในหลายรัฐยังคงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเปิดโรงเรียน แม้กระทั่งหลังจากที่ครูได้รับวัคซีนแล้ว

ไมเคิล ไวท์ (Michael White) แพทย์ที่ศูนย์การแพทย์ Valleywise Health ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา กล่าวว่า ทุกคนเข้าใจดีว่าการเรียนหนังสือและการให้เด็ก ๆ ได้อเรียนรู้แบบรวมกลุ่มกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส ตนคิดว่าเด็ก ๆ ยังไม่ควรกลับเข้าโรงเรียนในตอนนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โรงเรียนในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ได้เริ่มทยอยเปิดทำการสอน โดยเริ่มจากนักเรียนที่อายุน้อยที่สุด และเนื่องจากคุณครูยังไม่ได้รับวัคซีน เจ้าหน้าที่จึงจัดให้มีการตรวจหาเชื้อโคโรนาไวรัสในบริเวณโรงเรียน แต่คุณครูบางคนยังไม่ยอมกลับไปสอนหนังสือเพราะกังวลเรื่องการติดเชื้อโควิด -19

เคอร์สติน โรเบิร์ตส (Kirstin Roberts) ครูเตรียมอนุบาลในนครชิคาโก บอกกับสำนักข่าว Associated Press ว่า เธอไม่เชื่อว่าสถานการณ์ในขณะนี้ปลอดภัยเพียงพอที่จะเปิดโรงเรียน ไม่เชื่อว่าครอบครัวของเธอจะปลอดภัย เพราะเธออาศัยอยู่กับคุณแม่ที่อายุมากแล้ว และเธอยังไม่เชื่อว่าการเปิดโรงเรียนจะปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ และครอบครัวของนักเรียนเหล่านั้นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน เจฟฟ์ เฟรียตาส (Jeff Freitas) ประธานสมาพันธ์ครูรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนก่อนที่จะวางแผนการเปิดโรงเรียนในรัฐแคลิฟอร์เนีย และว่าเราไม่ควรทำให้ชีวิตของเราเอง ชีวิตของนักเรียน และคนในชุมชนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงในช่วงที่วิกฤติกำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจนในรัฐนี้

ในตอนนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียฉีดวัคซีนให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และคนในสถานดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น

ที่มา: VOA, 28/1/2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net