ระบบราชการ : โรคอ้วน หรือ โรคสังคมผู้สูงอายุ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“คนที่อยู่ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป แต่ทำแบบเดิมซ้ำ ๆ แล้วหวังว่าจะได้ผลลัพธ์เหมือนเดิม
ก็ไม่ต่างกับ คนที่อยู่ภายใต้บริบทเดิม ทำแบบเดิมซ้ำ ๆ แล้วหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ใหม่”
 

1. อาการ โรค และยา

1.1 ในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา มีกระแสเรียกร้องจากหลาย ๆ ฝ่าย ให้ลดขนาดกำลังคนภาครัฐ เช่น สถาบันอนาคตไทยศึกษา [1] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ [2] เป็นต้น กระแสนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจนบรรจุเป็นกลยุทธ์ “การลดขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐที่มีผลผูกพันภาระงบประมาณในระยะยาว” ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดอัตรากำลังภาครัฐในภาพรวมร้อยละ 10 ในระยะ 5 ปี [3] และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมปลัดกระทรวงที่มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. และ สำนักงาน ก.พ.ร. ลดจำนวนข้าราชการและให้นำระบบดิจิตอลมาใช้ [4]

1.2 คนที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการลดขนาดกำลังคนภาครัฐ เห็นอาการ “ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ” เพิ่มสูง ก็ทึกทักเอาว่า ระบบราชการในปัจจุบันเป็น “โรคอ้วน” คือ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากเกิน และเชื่อว่าการใช้ “ยาควบคุมขนาดกำลังคนภาครัฐ” ที่เคยใช้ในอดีต จะยังใช้ได้ผลในปัจจุบัน กล่าวคือ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐซึ่งเป็นส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่สุดของงบรายจ่ายประจำลดลง ส่วนที่ลดจะได้นำไปเพิ่มเป็นงบรายจ่ายลงทุน

2. งบเงินเดือนค่าจ้างฯ กับ ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ

2.1 การวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนโดยดูแค่อาการค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ [5] เป็นการด่วนสรุปไปหน่อย เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีหลายรายการ แต่รายการที่มียอดเงินสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

(ก) “งบบุคลากร” (เงินเดือนค่าจ้างฯ) เป็นรายจ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในวัยทำงานที่ยังรับราชการอยู่ (ข) “เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ” เป็นรายจ่ายสำหรับอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นวัยทำงานหรือออกจากราชการ และ (ค) “เงินช่วยค่ารักษาพยาบาล” เป็นรายจ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น การวินิจฉัยจึงต้องส่องกล้องมองลึกไปถึงสาเหตุว่า รายการหนึ่งใดหรือหลายรายการที่เป็นเหตุให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐสูงขึ้น หากเหตุเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่าย “เงินเดือนค่าจ้างฯ” ก็พอจะบอกได้ว่าระบบราชการเป็นโรคอ้วน

2.2 ถ้าพิจารณาจาก “เงินเดือนค่าจ้างฯ” ถือว่า ระบบราชการอ้วนมากในช่วงปี 2517 - 2541  เพราะงบเงินเดือนค่าจ้างฯ เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 16% โดยบางช่วง 2517 - 2525 เพิ่มสูงลิ่ว เฉลี่ยปีละ 24% บางช่วง 2526 – 2531 เพิ่มสูงพอควร เฉลี่ยปีละ 6% และบางช่วง 2532 – 2541 เพิ่มสูงมาก เฉลี่ยปีละ 15% ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 : อัตราการเพิ่มของงบเงินเดือนค่าจ้างฯ ปี 2515 - 2564

ระบบราชการ : โรคอ้วน หรือ โรคสังคมผู้สูงอายุ

ที่มาของข้อมูล : สำนักงบประมาณ, งบประมาณโดยสังเขป
ประจำปีงบประมาณ 2522, 2523, 2524, …
, 2564

รูปที่ 2 : อัตราการเพิ่มของค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐและ
รายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ ที่เบิกจ่ายจริง ปี 2538 – 2562

ระบบราชการ : โรคอ้วน หรือ โรคสังคมผู้สูงอายุ

ที่มาของข้อมูล : ปี 2537 - 2541 จาก กรมบัญชีกลาง, สถิติการคลัง (สค.) พ.ศ. 2541, ปี 2542 จาก สค. พ.ศ. 2542, ปี 2543 - 2547 จาก สค. พ.ศ. 2547, ปี 2548 - 2552 จาก สค. พ.ศ. 2548 - 2552, ปี 2553 - 2560 จาก สค. พ.ศ. 2560, และปี 2561 - 2562 จาก สค. พ.ศ. 2562

  1.  

2.3 ในปี 2540 เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เงินบาทอ่อนค่า ต้องกู้ยืมเงินคนอื่นมากินมาใช้ ภาวะนี้เกิดต่อเนื่องหลายปี ในปี 2542 ระบบราชการจึงต้องกินยาลดไขมันที่มีชื่อทางการค้า “โครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนด” งบเงินเดือนค่าจ้างฯ จึงลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 10% แต่ก็กลับมาเพิ่มอีกเกือบทุกปีจนถึงปี 2559 ช่วงนี้ (2543 – 2559) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับ 20 กว่าปีก่อน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงนี้ ระบบราชการอ้วน แต่ไม่มาก

2.4 เป็นที่น่าสังเกตว่า ในอดีตถ้ารายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ เพิ่มหรือลดในอัตราใด ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐก็จะเพิ่มหรือลดในอัตราใกล้เคียงกัน แต่ในช่วงหลังนับตั้งแต่ปี 2555 การเพิ่มหรือลดของรายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ และค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐเริ่มไม่สอดคล้องกัน บางครั้งอัตราการเพิ่มของรายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ ก็สูงกว่าอัตราการเพิ่มของค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ เช่น ปี 2555 บางครั้งรายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ ก็เพิ่มน้อยมากจนเกือบเป็นศูนย์ (ร้อยละ 0.03) แต่ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3 เช่น ปี 2562 ดังปรากฏในรูปที่ 2

3. เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ กับ ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ

3.1 ความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวเกิดจากสัดส่วนของรายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ ลดลงเรื่อย ๆ จากร้อยละ 86 ในปี 2537 เหลือเพียงร้อยละ 61 ของค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ ในขณะที่สัดส่วนของเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 26 (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : องค์ประกอบของค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐที่เบิกจ่ายจริง
2537 – 2562 (หน่วย : ร้อยละ)

ระบบราชการ : โรคอ้วน หรือ โรคสังคมผู้สูงอายุ

3.2 แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักในองค์ประกอบของค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มของรายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ กับเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ ดังรูปที่ 4 จะเห็นว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญสูงกว่าอัตราการเพิ่มของรายจ่ายหมวดเงินเดือนค่าจ้างฯ มาก นอกจากอัตราการเพิ่มแล้ว ในปี 2562 ตัวเม็ดเงินเพิ่มของเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญที่เบิกจ่ายจริงก็เพิ่มสูงถึง 20,450 ล้านบาท มากกว่าเม็ดเงินเพิ่มของรายจ่ายหมวดเงินดือนค่าจ้างฯ ที่เพิ่มขึ้นเพียง 216 ล้านบาท [6] จากข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วง 4 – 5 ปีหลัง ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการเพิ่มของเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ จึงกล่าวได้ว่า ปัจจุบันระบบราชการเป็นโรคผู้สูงอายุ

รูปที่ 4 : เปรียบเทียบอัตราการเพิ่มของงบบุคลากรและเงินเบี้ยหวัด
บำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2549 – 2562

ระบบราชการ : โรคอ้วน หรือ โรคสังคมผู้สูงอายุ

ที่มาของข้อมูล : กรมบัญชีกลาง, สถิติการคลัง พ.ศ. 2548 - 2552, พ.ศ. 2553 - 2555, พ.ศ. 2556, พ.ศ. 2557 -2558, พ.ศ. 2559, พ.ศ. 2560, พ.ศ. 2561, พ.ศ. 2562

3.3 ระบบราชการเป็น “โรคผู้สูงอายุ” ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) [7] ตั้งแต่ปี 2548 (ประชากรมีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10) และในต้นปีนี้ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แล้ว (Aged Society - ประชากรมีอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 20)  ถ้าเรานำนิยามดังกล่าวมาใช้กับระบบราชการ โดยมองจากมุมค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ ระบบราชการก็เป็นโรคระยะที่ 2 “โรคผู้สูงอายุสมบูรณ์” (Aged Society) เพราะรายจ่าย “เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ” มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 26 ของค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐ หรือจะมองจากสัดส่วนของจำนวนผู้รับเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญประมาณ 8.6 แสนคน [8] หารด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐในปัจจุบันประมาณ 2.8 ล้านคน [9] (ไม่รวมพนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่ในองค์การมหาชน) บวกกับจำนวนผู้รับเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ ซึ่งผลที่ได้เท่ากับร้อยละ 24 [8.6/(28+8.6)=23.5] เกินร้อยละ 20 เหมือนกัน

4. ยาเดิม ผลโดยตรง และผลข้างเคียง

4.1 มาตรการควบคุมขนาดกำลังคนภาครัฐเป็นยาที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคอ้วนของระบบราชการถึง 4 ทศวรรษ ยาที่ใช้มีตั้งแต่ยาอ่อนและยาแรง ยาอ่อน เช่น มาตรการชะลอการเพิ่มอัตรากำลังไม่เกินร้อยละ 2 ที่เริ่มใช้สมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 - 2529 มาตรการชะลอการขอตั้งอัตรากำลังข้าราชการเพิ่ม (Zero Growth) ที่ใช้สมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน ในปี 2534 - 2535 [10] ส่วนยาแรง เช่น โครงการเกษียณก่อนกำหนดที่ใช้ครั้งแรกสมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัยในปีงบประมาณ 2543 [11] โดยส่วนราชการจะต้องยุบตำแหน่งเท่าจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น สี่สิบปีผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ระบบราชการก็ยังกินยาชื่อสามัญนี้อยู่ เพียงแต่ชื่อทางการค้าเปลี่ยนไปเป็น “มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ
(พ.ศ. 2562 - 2565)”[12]

4.2 การจะใช้ยาเดิมที่แรงขึ้นตามกระแสที่มีเป้าหมายลดอัตรากำลังภาครัฐในภาพรวมร้อยละ 10 [13] โดยขาดการตรวจสอบบริบท อาการ ชนิดโรค และผลของยาทั้งผลทางตรงและผลข้างเคียง เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง สังคมไทยได้เปลี่ยนบริบทจากสังคมหนุ่มใหญ่เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุสุดยอด การดูแค่อาการค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐไม่พอ ต้องดูลึกลงไปอีกชั้นว่า เป็นค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ของรัฐในวัยทำงานที่ยังรับราชการอยู่ หรือ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นวัยทำงาน เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำ การขาดการติดตามประเมินผลว่ามาตรการควบคุมขนาดกำลังคนภาครัฐทำให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐลดลงจริงไหมและเกิดผลข้างเคียงอะไร ตลอดจนการด่วนสรุปว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่น โดยไม่ได้ดูลึกไปในรายละเอียดของบริบทที่ต่างกัน ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐของประเทศคู่เทียบเป็นรายจ่ายของเจ้าหน้าที่ของรัฐในวัยทำงานเท่านั้น หรือเป็นรายจ่ายที่หมายความรวมถึงรายจ่ายของอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากราชการด้วย เป็นต้น

4.3 การใช้ยาลดความอ้วนมานานถึง 4 ทศวรรษ และยาที่ไม่ตรงกับโรคในปัจจุบัน นอกจากโรคสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์จะไม่หาย ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐไม่ลด ยังอาจสร้างผลข้างเคียง และผลอันไม่พึงประสงค์อีกด้วย เช่น ทำให้โรคกำเริบเข้าสู่ระยะที่ 3 เป็น “โรคสังคมผู้สูงอายุสุดยอด” (Super-Aged Society) เร็วขึ้น พูดง่าย ๆ คือ ระบบราชการไทยแก่เร็วกว่าสังคมไทย ทำให้ระบบราชการอ่อนแอ ผอมแห้งแรงน้อยจนไม่มีภูมิต้านทานโรคระบาดอุบัติใหม่ได้ ทำให้ขีดความสามารถในการดึงดูดและรักษาผู้มีความรู้ความสามารถสูงลดลง เพราะการยกระดับคุณภาพชีวิตและการเพิ่มเงินเดือนค่าจ้างฯ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐเพิ่มขึ้น ทำให้เกิด 2 มาตรฐานในระบบราชการ คนทำงานลักษณะเดียวกัน คนกลุ่มหนึ่งเป็นข้าราชการ แต่คนอีกกลุ่มเป็นพนักงานราชการหรือพนักงานจ้าง ทั้งนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นต้น

5. ยาตรงกับโรค

5.1 น่าเสียดายที่สังคมไทยตื่นตัวกับโรคสังคมผู้สูงอายุน้อยไปหน่อย อาจเป็นเพราะโรคนี้เป็นโรคที่ออกฤทธิ์ช้า แต่พอออก ผลก็รุนแรง กระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ในส่วนด้านเศรษฐกิจ
ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติอย่างที่เป็น เฉพาะภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการด้านชราภาพ บำเหน็จบำนาญ เงินรายได้ยามชราภาพ ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ มีผู้ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวในอัตราที่แท้จริง (Real GDP Growth) ร้อยละ 4.5 ต่อปี รัฐจึงจะสามารถแบกรับภาระนี้ได้
[14] โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในระดับนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้

5.2 สำหรับยารักษาโรคผู้สูงอายุในระบบราชการมีหลายขนาน มีทั้งยาบรรเทาอาการ ยาชะลอการกำเริบ และยารักษา [15] ยาบรรเทาอาการ เช่น การลงรายการค่าใช้จ่ายให้ถูกต้อง ไม่เอารายการเงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญมารวมเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของกำลังคนภาครัฐในปัจจุบัน การขยายอายุเกษียณราชการถือเป็นยาชะลอการกำเริบ และการปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญ เช่น เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญจากระบบที่ไม่มีเงินทุนหนุนหลัง (Unfunded Pension) เป็นระบบที่มีเงินทุนหนุนหลัง (Funded Pension) นำระบบชะลอการรับบำนาญ (Suspended Pension) มาใช้กับผู้ที่ออกจากราชการก่อนพ้นวัยทำงานโดยไม่มีเหตุอันควร นำระบบปรับลดมูลค่าบำนาญ (Reduced Pension) มาใช้กับผู้ที่ออกจากราชการก่อนพ้นวัยทำงาน แต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องรับบำนาญรายเดือนทันที เป็นต้น โดยที่การปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญเป็นยารักษาโรคที่ออกฤทธิ์ช้า เพราะไม่สามารถใช้กับผู้รับราชการอยู่ในปัจจุบันได้ ต้องใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับเข้ามาใหม่ตั้งแต่วันที่เริ่มให้ยา ดังนั้น จึงต้องเร่งทานและทานควบคู่กับยาบรรเทาอาการและยาชะลอการกำเริบ

5.3 ท้ายที่สุด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการทบทวนมาตรการควบคุมขนาดกำลังภาครัฐจากการลดขนาดเป็นการมีขนาดที่เหมาะสม และมีมาตรการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุทั้งในระบบราชการและสังคมไทยโดยรวม และหวังว่ากรณีนี้จะเป็นบทเรียนของผู้ศรัทธาในลัทธิตามกระแส ลัทธิเลียนแบบคนเก่า และลัทธิเลียนแบบต่างประเทศโดยไม่ดูบริบท เหตุ และผลของการกระทำเลย

 

อ้างอิง

[1]   ศิริกัญญา ตันสกุล และ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, “ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย งบเงินเดือนเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ประสิทธิภาพ – ความโปร่งใสแย่ลง”, สถาบันอนาคตไทยศึกษา (30 มกราคม 2558), 2

[2]   เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายดนุชา พิชยนันท์ เสนอในงานสัมมนา “ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤติหนี้” ให้ลดการจ้างข้าราชการ เพราะทำให้รายจ่ายประจำสูงถึง 80% ถือว่าสูงมาก, จาก ฐานเศรษฐกิจ, ฉบับ 3615, (4 - 7 ตุลาคม 2563), หน้า 6, https://www.than
settakij.com/content/columnist/451416

[3]   ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 135, ตอนที่ 24 ก, 6 เมษายน 2561

[4]   ข่าวไทยพีบีเอส, 7 กันยายน 2563 https://news.thaipbs.or.th/content/296222

[5]   การใช้ค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐเป็นตัวบ่งชี้หรือเป็นตัวเปรียบเทียบขนาดกำลังคนภาครัฐมีข้อจำกัดและควรใช้อย่างระมัดระวัง โปรดดูบทความเพิ่มเติมของผู้เขียน เรื่อง “เจ้าหน้าที่ภาครัฐของเรามากไปจริงหรือ ?” ใน https://prachatai.com/journal/2018/12/80014 และ เรื่อง “ยิ่งเล็ก ยิ่งดี จริงหรือ ?” ใน https://prachatai.com/journal/2018/11/79812

[6]   กรมบัญชีกลาง, สถิติการคลัง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562, 115

[7]   วัชรากรณ์  ชีวโศภิษฐ, “สังคมผู้สูงอายุ: ปัจจัยการตลาดที่เปลี่ยนไป”, วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มีนาคม 2562), 40

[8]   กรมบัญชีกลาง, ระบบจ่ายตรงบำเหน็จบำนาญ, 2563

[9]   ตัวเลขในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในฝ่ายพลเรือนจำนวน 2.2 ล้านคน จาก สำนักงาน ก.พ., กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน 2562, 1

[10] มติคณะรัฐมนตรี, 2 เมษายน 2534

[11] มติคณะรัฐมนตรี 29 มิถุนายน 2542

[12] มติคณะรัฐมนตรี, 19 มีนาคม 2562

[13] มีข่าวเป็นการภายในว่าจะมีการทบทวนแผนการปฏิรูปประเทศในส่วนนี้

[14] วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล และคณะ, “การศึกษาเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาคสาธารณะเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ”, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (2555), 5-2 – 5-7

[15] โปรดอ่าน วิสูตร ประสิทธิ์ศิริวงศ์, “รายได้ยามชราภาพของข้าราชการน้อยไปจริงหรือ ?” ใน https://prachatai.com/journal/2018/10/79383

ที่มาภาพ: https://ilaw.or.th/ https://live.staticflickr.com/4222/33925475044_941db51707_o_d.png

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท