ชุมชนน้ำแดงพัฒนาทำสัญญากับธนาคารที่ดินสำเร็จสู่กรรมสิทธิ์ร่วม

นักปกป้องสิทธิที่ดิน ชุมชนน้ำแดงพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ บรรลุข้อตกลงทำสัญญากับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) สำเร็จ สู่กรรมสิทธิ์ร่วม หลังเรียกร้องและผลักดันมากว่า 5 ปี ย้ำเงื่อนไข บจธ.ต้องเอื้อกับเกษตรกรคนยากจน 

ชุมชนน้ำแดงพัฒนาทำสัญญากับธนาคารที่ดินสำเร็จสู่กรรมสิทธิ์ร่วม

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง นักปกป้องสิทธิในที่ดินจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายระหว่าง สหกรณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ให้ บจธ. จัดซื้อที่ดินจำนวน 69 ไร่เศษ เพื่อให้สมาชิกของชุมชนสันติพัฒนา เข้าทำประโยชน์ โดยมีเงื่อนไขให้เช่าซื้อในราคาไร่ละ 65,000 บาทต่อปี เป็นเวลาทั้งหมด 15 ปี ซึ่งนับเป็นความสำเร็จทางนโยบายของชุมชนในการจัดการบริหารที่ดินในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม หลังจากที่สมาชิกชุมชนสันติพัฒนาได้ผลักดันในประเด็นนี้มาแล้วกว่า 5 ปี และถูกดำเนินคดีแพ่งและอาญามานับหลายคดีจากการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 

ทั้งนี้ ชุมชนน้ำแดงพัฒนา เป็นหนึ่งในห้าชุมชนของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ตั้งอยู่หมู่ 9 ตำบลคลองน้อยอำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนเกษตรกรรม สมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพเกษตกรรม ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ปาล์ม ยางและพืชอาหาร โดยปลูกเพื่อเลี้ยงชีพและจำหน่าย

การเซ็นสัญญาดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในชัยชนะที่มีการต่อสู้เพื่อผลักดันการใช้กลไกหนึ่งของธนาคารที่ดิน เนื่องจากธนาคารที่ดินนั้นเกิดจากการเรียกร้องของภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำที่ดิน ให้เกษตรกรไร้ที่ดินสามารถเข้าถึงที่ดินได้ ซึ่งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องร้องให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมาอีกด้วย ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่มีปัญหาการพิพาทเรื่องที่ดินในชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตั้งแต่ปี 2558-2559 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้พยายามผลักดัน เรียกร้อง ให้ธนาคารที่ดินจัดซื้อที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แล้วนำมาขายให้กับสหกรณ์ โดยที่ผ่านมามีความล่าช้าในการดำเนินการของธนาคารที่ดิน ปัญหาเรื่องการจัดทำสัญญาที่มีการแก้ไขมาโดยตลอด 

นิยม สารคะณา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากชุมชนน้ำแดงพัฒนา กล่าวถึงความรู้สึกในวันนี้ว่า “รู้สึกว่าเราผ่านไปอีกขึ้นหนึ่งเพื่อให้ได้สิทธิในที่อยู่อาศัย ก็ถือว่าสำเร็จในการดำเนินการทางนโยบายจุดหนึ่ง แต่สิ่งต้องสู้ต่อ และเรายังกังวลอยู่ คือเรื่องที่ดินทำกินที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจของครอบครัวและชุมชน เพราะนอกเหนือจากที่ดินตรงที่เซ็นกับบจธ.ไปนี้ ยังมีที่ดินที่เราใช้ทำกินนอกเหนือจากนั้นด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีที่ยังมีอยู่ แต่ตอนนี้ ถือว่ามีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งที่อยู่อาศัย ก็ขอขอบคุณทุกแนวร่วมที่ช่วยผลักดันมา” นิยมกล่าว

เธอยังกล่าวต่อถึงอุปสรรคในการผลักดันตลอดกว่า 5 ปีที่ผ่านมาด้วยว่า ปัญหาเรื่องกฎระเบียบในสัญญาและโครงสร้างใหญ่ของบจธ. ยังคงมีอยู่มาก “เงื่อนไขของบจธ. ที่ผ่านมาไม่รับใช้และสอดคล้องความเป็นจริงของชาวบ้าน เช่นสัญญาเช่าซื้อที่ต้องมีประกันอัคคีภัย ทางนั้นเป็นคนกำหนดและทำสัญญาเองโดยชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดสัญญาด้วย โดยอัยการสูงสุดเป็นผู้ทำสัญญามา ชาวบ้านรับไม่ได้ก็ต้องกลับไปแก้สัญญาใหม่ กว่าจะแก้สัญญาได้ก็ใช้เวลาอีกเกือบปี” 

“ตัวอย่างเช่นเงื่อนไขที่ว่าต้องมีประกันอัคคีภัยที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทั้งหมด และผู้ได้รับผลประโยชน์คือ บจธ. คำถามคือทำไมชาวบ้านจนๆ กลับต้องจ่ายค่าประกันอัคคีภัย ทั้งๆ ที่บ้านเราเป็นบ้านสวนเล็กๆ ปลูกพืชผัก ไม่ได้เป็นห้องแถวตึกสูงสี่ชั้น เรามองว่าไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีกฎเช่น หลังจากมีการตกลงทำสัญญาไปแล้ว หากผู้ให้เช่าออกเงื่อนไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้เช่าต้องยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้นโดยปริยาย ซึ่งตรงนี้ฝ่ายกฎหมายของสกต. เรายอมรับไม่ได้จึงขอให้แก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวในสัญญาออก ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาราวหนึ่งปี” นิยมกล่าว 

โดยในวันที่ 28 ม.ค. 2564 ก่อนหน้าที่จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขาย นายศิลา เส็งพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการที่ดินที่ 1 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พร้อมคณะทำงาน ได้ลงพื้นที่ดูการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่นักปกป้องสิทธิฯในที่ในที่ดินดำเนินการอยู่ มี 6 ประเภท แบ่งเป็น แปลงที่อยู่อาศัย แปลงพืชเศรษฐกิจของชุมชน แปลงพืชอาหารของชุมชน แปลงพืชของฝ่ายสตรีและเรียนรู้ของเยาวชน แปลงพืชเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ และ บจธ. เตรียมสนับสนุนเรื่องสาธารณูปโภคและอุปโภคในพื้นที่ที่จะส่งมอบ และนักปกป้องสิทธิในที่ดินได้พยายามเสนอและผลักดันให้ บจธ. จัดซื้อที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทเพิ่มเติมเป็นแปลงที่ 2 อีกกว่า 31 ไร่ ซึ่งเป็นแปลงพื้นที่อยู่อาศัยและแปลงปลูกพืชอาหารต่อไป 

สำหรับที่ที่ดินที่เป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและบริษัทเอกชนนั้น เดิมที่ดินแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวไร่ ต่อมาในปี 2518-2519 มีนายทุนสิงคโปร์ร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นบังคับกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านและได้นำไปออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ โดยครั้งแรกได้มีการออกเอกสารสิทธิโดยใช้ชื่อชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นเจ้าของ และได้มาเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองสิทธิเป็นบริษัทเอกชน และได้เปลี่ยนสภาพพื้นที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เป็นสวนปาล์มน้ำมันจำนวน 2,545 ไร่

ต่อมาในปี 2531 บริษัทประสบปัญหาหนี้สินถูกฟ้องล้มละลาย และขัดผลประโยชน์กันเองภายใน จึงปล่อยพื้นที่กลายเป็นสวนป่าทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ และในปี พ.ศ. 2550 มีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เอกชนใช้ประโยชน์ ซึ่งนายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่แปลงเอกชนใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชุมชนน้ำแดงใช้ประโยชน์อยู่ ซึ่งหลังจากการตรวจสอบดังกล่าวก็ไม่มีการจัดสรรให้กับเกษตรรายย่อยและเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินจนนำไปสู่การรวมตัวของเกษตรกรไร้ที่ดิน สหพันธุ์เกษตรกรภาคใต้ในปี 2551 ซึ่งตั้งอยู่หมู่ 5 และหมู่ 9 ของตำบลคลองน้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชุมชนน้ำแดง

ชาวบ้านจากชุมชนน้ำแดงพัฒนา ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และได้เข้าร่วมประขุมคณะรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และที่ประชุมได้มีมติร่วมกันออกมาว่า เห็นชอบให้มีการผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปรกติไปพลางก่อนในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดิน

แต่แทนที่ชาวบ้านจะได้รับการแก้ไขปัญหาตามมติดังกล่าว กลับถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในหลากหลายข้อหา ไม่ว่าจะเป็นข้อหาร้ายแรงอย่างอั้งยี่ซ่องโจร ทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุก ซึ่งในข้อเท็จจริงชาวบ้านถือครองที่ดินเพื่อทำกินเพียงแปลงเดียวแต่กลับมีโจทก์ถึง 3 รายฟ้องร้องในที่ดินแปลงพิพาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท